เหตุการณ์ลมพายุพัดแรงในช่วงวันที่ 2-3 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้ต้นทุเรียน กิ่งก้าน รวมถึงผลทุเรียน หักโค่นและร่วงหล่นเป็นจำนวนมาก เกษตรกรกว่า 700 คนต้องสูญเสียผลผลิตที่กำลังออกลูกและใกล้จะเก็บเกี่ยวไปกว่าครึ่ง
พายุ “ซินลากู” สร้างความเสียหายสวนทุเรียนส่งออก
จากเหตุวาตภัยในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบในพื้นที่จังหวัดระนองทั้ง 5 อำเภอ มีบ้านเรือนเสียหาย ต้นไม้หักโค่น สวนเกษตรได้รับผลกระทบ แต่สิ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด น่าจะเป็นสวนเกษตรที่ตำบลในวงเหนือ และตำบลในวงใต้ อำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง ที่รู้จักกันในชื่อ “บ้านในวง” ซึ่งมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญคือ ทุเรียน ที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่แห่งนี้ปีละกว่า 1 พันล้านบาท
ข้อมูลจาก Facebook สมชาย ทิศกระโทก บ้านในวง ซึ่งเป็นสารวัตกำนันบ้านในวง ระบุว่าจากการสำรวจเบื้องต้นพบ
- เกษตรกร 80 ครอบครัว
- ต้นทุเรียนล้มถาวร 236 ต้น
- ต้นทุเรียนหักโค่นบางส่วน 1,050 ต้น
- ผลทุเรียนร่วง 184,000 ก.ก.
- ความเสียหายประมาณ 18.4 ล้านบาท
และยังมีครัวเรือนที่ยังไม่สำรวจอีกราว 700 ครัวเรือน
กระทบหนักสุดในชีวิตเกษตรกร
ณัฐพงษ์ คล้ายตั้น หรือ ต้อม หนึ่งในเกษตรกรบ้านในวงเล่าให้ฟังว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ถ้าเกิดลมพายุหมุนเข้ามาในพื้นที่เป็นระลอก ทำให้กิ่งก้านของต้นทุเรียนฉีกขาด ลูกทุเรียนซึ่งอยู่บนต้นหลุดร่วงลงมาเป็นจำนวนมาก และต้นทุเรียนหักโค่นลงหลายสิบต้น เมื่อลมพายุผ่านไปจึงได้ออกสำรวจภายในสวนและเก็บลูกทุเรียนที่ร่วงหล่นออกมา มีน้ำหนักรวมกว่า 10 ตัน ซึ่งเป็นผลผลิตกว่าครึ่งของทั้งหมดที่จะได้รับในแต่ละปี
นับเป็นความเสียหายที่มากที่สุดตั้งแต่เกิดมา ซึ่งถ้ารอจนถึงช่วงเก็บเกี่ยวปลายเดือนสิงหาคมถึงกันยายน จะสามารถขายทุเรียนได้กิโลกรัมละประมาณ 130 บาท ซึ่งตอนนี้ตนเองยังทำใจไม่ได้ เพราะต้องคัดทุเรียนที่ร่วงหล่นที่เริ่มติดแป้งแล้วขายให้กับพ่อค้าในกิโลกรัมละ 3 บาทเท่านั้น ส่วนที่เหลือที่ยังไม่ติดแป้งต้องนำเอาออกไปทำลาย เพื่อป้องกันเชื้อราที่จะเกิดขึ้นภายในสวน
จิรัชญา เข็มสม เกษตรกรรายใหญ่อีกคนหนึ่งในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า ครั้งนี้เป็นความสูญเสียที่หนักมากที่สุดเท่าที่เคยเจอมา รอบนี้มีทุเรียนร่วงหล่นเสียหายไปกว่า 1 หมื่นลูก น้ำหนักราว 20 – 30 ตัน ซึ่งในแต่ละปีจะมีผลผลิตได้ราว 50-60 ตัน โดยลมพายุที่พัดเข้ามาใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งคงต้องเริ่มต้นกันใหม่ในการดูแลต้น กิ่งก้านที่หัก ซึ่งต้องลงทุนเพิ่มในการรักษาแผลของต้นทุเรียน ซึ่งต้องใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะให้ผลได้อีกครั้ง โดยครั้งนี้มีความเสียหายไม่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท
ด้านสฤษดิ์ สัตยวงศ์ เกษตรกรอีกคนหนึ่งบอกว่ารอบนี้โดนหนักมาก หนักที่สุดเท่าที่เคยเจอมา แต่ก็ต้องทำใจเพราะเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติและต้องลุกขึ้นสู้ต่อไป เพื่อนเกษตรกรบางคนถึงกับนั่งร้องไห้ เพราะทำอะไรไม่ได้ ซึ่งสวนของตนเสียหายราว 10 ตัน มูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาท
ทุเรียนในวงให้ผลผลิตปิดท้ายฤดูกาลทุเรียนไทย
สำหรับผลผลิตทุเรียนในพื้นที่บ้านในวง จะให้ผลผลิตออกมาช้าที่สุดในประเทศ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละราว 1 พันล้านบาท ซึ่งเหตุวาตภัยที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ได้ให้สร้างความสูญเสียไปมากกว่าครึ่ง มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท
- ขอบคุณภาพและเรื่องราวจากคุณพรชัย เอี่ยมโสภณ ทีมสื่อพลเมือง จ.ระนอง