ชาวบ้านและจิตอาสาช่วยกันทำแนวป้องกันไฟป่า เพื่อป้องกันไฟป่าลุกลาม ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน
เชียงใหม่/ สภาองค์กรชุมชนตำบล จ.เชียงใหม่จับมือ ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ แก้ปัญหาฝุ่นควันคลุมเมือง ชี้รากเหง้าปัญหามาจากการพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากฝุ่นควันในภาคเหนือพุ่งพรวดจาก 93 รายในปี 2560 เป็น 225 รายในปี 2562 โดยจะใช้พื้นที่ที่จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อนนำร่อง 32 ตำบลและขยายเป็น 210 ตำบลครอบคลุมทั้งจังหวัด ด้าน ม.แม่โจ้จัดอบรมชาวบ้านเพาะเห็ดป่าแก้ปัญหาเผาป่าเพื่อเก็บเห็ด นำเศษซากพืชมาใช้ประโยชน์ เช่น ทำถ่านชีวภาพ ทำปุ๋ย ผลิตจานจากใบไม้ ฯลฯ ลดการเผา ลดฝุ่นควัน
จากปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมานานนับสิบปี และรุนแรงมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จนทำให้จังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับ 1 ของโลกที่มีปัญหาฝุ่นควันมากที่สุด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ฯลฯ ทำให้ชาวเชียงใหม่กลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย นักวิชาการ แพทย์ ผู้ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ชาวบ้าน ศิลปิน ภาครัฐ สถาบันการศึกษา หอการค้า ภาคเอกชน ฯลฯ ร่วมกันจัดตั้งกลุ่ม ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ขึ้นมา ในเดือนกันยายน 2562 เพื่อรณรงค์และร่วมมือกับทุกภาคส่วนหาทางแก้ไขปัญหา
ชี้รากเหง้าปัญหาฝุ่นควันมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ-ยอดตายพุ่ง
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้ริเริ่มก่อตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า รากเหง้าของปัญหาฝุ่นควัน คือ การพัฒนาประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ มีการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง โดยมีสาเหตุหลัก 5 ประการ คือ 1.การจัดการทรัพยากรของรัฐมีปัญหา ไม่สามารถจัดการทรัพยากรให้ยั่งยืนได้ ทำให้พื้นที่สีเขียวลดลงตลอดเวลา 2.การเข้ามาของการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ไร่ข้าวโพด ซึ่งส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวแล้วใช้การเผาไร่เพื่อปลูกใหม่
ฝุ่นควันจากไฟป่า-ภาพจากกลุ่มพารามอเตอร์ จ.เชียงใหม่
3.ระบบนิเวศป่าไม้เสียสมดุล ป่าที่เชียงใหม่มีลักษณะเป็นป่าผลัดใบและป่าดิบชื้น โดยทั่วไปในเขตป่าผลัดใบ ต้นไม้จะมีการทิ้งใบจากต้นและเกิดการไหม้เองตามธรรมชาติจนลามไปถึงอีกเขต และถูกความชื้นของป่าเขตนั้นหยุดยั้งไฟโดยอัตโนมัติ แต่ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันทำให้กระบวนการนี้แปรปรวน ความชื้นจากเขตป่าดิบชื้นไม่สามารถหยุดยั้งการลามของไฟป่าได้ ทำให้ชาวบ้านต้องชิงเผาเพื่อควบคุมไฟป่า
4.ฝุ่นควันจากยานพาหนะ การเผาขยะ การเปิดแอร์ ควันไฟจากการทำครัว การปิ้งย่าง ฝุ่นควันจากโรงงาน และ 5.ฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการเผาเศษพืชไร่ ประกอบกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลกที่ร้อนขึ้น รวมถึงมีภาวะการกดอากาศสูงจากประเทศจีนเข้ามาปกคลุมเมืองเชียงใหม่ ซึ่งสภาพภูมิศาสตร์เป็นแอ่งกระทะ จึงทำให้ฝุ่นควันเกิดการสะสม เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมา
ขณะที่ข้อมูลจาก นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลทางวิชาการพบว่า ในปี 2552 มีตัวเลขผู้เสียชีวิตทั่วประเทศจากฝุ่นมรณะ จำนวน 38,410 คน สูงเป็น 4 เท่าของการเกิดอุบัติเหตุ และทำให้ประชากรมีอายุสั้นลง 0.98 ปี ในขณะที่ภาคเหนือปี 2560 มีผู้เสียชีวิต 93 ศพ ปี 2561 เสียชีวิต 107 ศพ และปี 2562 เสียชีวิต 225 คน เป็นตัวเลขที่ก้าวกระโดด หรือเพิ่มขึ้น 60% จากโรคหัวใจ ระบบทางเดินหายใจ และติดเชื้อ
“รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักและคิดให้ออกว่าจะแก้ไขปัญหาฝุ่นมรณะที่ทำให้คนเสียชีวิตจริงๆ นี้อย่างไร โดยไม่คำนึงเพียงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและจิตวิทยาเท่านั้น” นพ.ชายชาญกล่าว
ทั้งนี้นับแต่ก่อตั้ง ‘สภาลมหายใจเชียงใหม่’ ในเดือนกันยายน 2562 สภาฯ ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมรณรงค์สร้างการรับรู้ปัญหาให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ล่าสุดมีการจัดกิจกรรม ‘มหกรรมรวมพลังเชียงใหม่ลมหายใจเดียวกัน’ เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา มีกิจกรรมรณรงค์ลดการใช้ยานยนต์หันมาปั่นจักรยาน กิจกรรมระดมทุนสู้ฝุ่นควัน เวทีเสวนาวิชาการ ซุ้มกิจกรรมให้ความรู้ ลดการใช้พลาสติก ผลิตภัณฑ์จากใบไม้ การทำถ่าน ไบโอชาร์ ฯลฯ
สภาองค์กรชุมชนตำบลเชียงใหม่ 210 ตำบลจับมือสภาลมหายใจฯ แก้ปัญหาฝุ่นควัน
สภาองค์กรชุมชนตำบลจัดตั้งขึ้นตาม ‘พระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรชุมชนในตำบลเกิดความเข้มแข็ง สมาชิกองค์กรชุมชน และประชาชนทั่วไปในตำบลสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมาในแต่ละตำบล เพื่อเป็นเวทีในการปรึกษาหารือ เวทีในการวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชุมชนท้องถิ่น และสามารถนำเสนอข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานรัฐ ทั้งในระดับจังหวัด รวมถึงคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการได้ ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว 7,778 สภาฯ
การประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน
นายอุดม อินทรจันทร์ รองประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในจังหวัดเชียงใหม่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลแล้ว 210 ตำบลใน 25 อำเภอ เมื่อมีการจัดตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน สภาองค์กรชุมชนตำบลจึงเข้าร่วมด้วย เนื่องจากสภาองค์กรชุมชนฯ เป็นองค์กรของชาวบ้านในพื้นที่อยู่แล้ว และเป็นการดำเนินการตามภารกิจของสภาองค์กรชุมชนฯ ตามมาตรา 21 ที่ระบุว่า ให้สภาองค์กรชุมชนตำบลมีภารกิจต่างๆ เช่น
(2) ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
(3) เผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกองค์กรชุมชน รวมตลอดทั้งการร่วมมือกันในการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
(4) เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขและการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
(6) จัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ทั้งนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินการต้องนำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย ฯลฯ
“ในช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา สภาลมหายใจเชียงใหม่ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน โดยการลงพื้นที่ในตำบลที่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนฯ มีพื้นที่นำร่อง 32 ตำบลใน 25 อำเภอ เพื่อหาข้อมูลหาสาเหตุปัญหาฝุ่นควันที่เกิดขึ้นว่าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและอาชีพของชาวบ้านอย่างไร รวมทั้งให้ชาวบ้านเสนอความเห็นว่าหากจะแก้ไขปัญหาฝุ่นควันควรจะมีวิธีใดที่เหมาะสมแก่ชุมชนนั้นๆ” นายอุดมกล่าว
นายอุดมยกตัวอย่างว่า บางตำบลปัญหาฝุ่นควันเกิดจากการเผาซังข้าวโพด เผาเศษฟางในนาข้าวก่อนทำนารอบใหม่การตัดแต่งกิ่งลำไยแล้วนำมาเผา การ ‘ชิงเผาป่า’ เพื่อเป็นแนวป้องกันไม่ให้ไฟป่ารุกลาม รวมทั้งการเผาใบไม้-กิ่งไม้ในสนามกอล์ฟ นอกจากนี้บางตำบลชาวบ้านจะเผาป่าในช่วงหน้าแล้งก่อนฝนตก โดยมีความเชื่อว่าการเผาป่าจะทำให้ผักหวาน และเห็ดต่างๆ โดยเฉพาะเห็ดถอบออกเยอะ ราคาขายกิโลกรัมละ 300-400 บาท บางครอบครัวมีรายได้เฉพาะช่วงเห็ดถอบออก (พฤษภาคม-มิถุนายน) ประมาณ 100,000 บาท ทำให้มีการเผาเศษซากพืชและเผาป่าหมุนเวียนตลอดทั้งปี แต่ปัญหาฝุ่นควันในเชียงใหม่จะรุนแรงในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม
เสนอทางออก ‘เพาะเห็ดป่า-ถ่านไบโอชาร์-จานใบไม้-ปุ๋ย’ ลดการเผา
จากข้อมูลปัญหาที่พบ สภาลมหายใจเชียงใหม่ร่วมกับสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงใหม่และภาคีเครือข่าย เช่น มหาวิทยาลัยแม่โจ้ นำข้อมูลที่ได้มาศึกษาเพื่อเสนอเป็นทางออกให้แก่ชาวบ้านและชุมชน โดยศูนย์วิจัยเห็ดป่า มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จัดอบรมการเพาะเชื้อเห็ดป่า เช่น เห็ดฮ้า (เห็ดตับเต่า) ให้แก่ชาวบ้านแม่กำปอง อำเภอแม่ออน เมื่อวันที่ 26 มกราคมที่ผ่านมา โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมอบรมประมาณ 50 คน และมีแผนอบรมการเพาะเห็ดป่า เห็ดถอบ ในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลใน 5 อำเภอในช่วงต่อไป
การฝึกอบรมการทำถ่านไบโอชาร์ (Biochar) หรือถ่านชีวมวลจากใบไม้ กิ่งไม้ หญ้า ฟางข้าว เหง้ามันสําปะหลัง ซังและต้นข้าวโพด โดยสำนักงานพลังงานจังหวัด เพื่อนำถ่านไบโอชาร์มาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงดิน ช่วยเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ลดระยะเวลาการปลูก ใช้เป็นวัสดุเพาะต้นกล้า ช่วยทำให้พืชเติบโตได้ดี เช่น ไบโอชาร์เปลือกกาแฟใช้เพาะต้นกล้วย ไบโอชาร์แกลบใช้เพาะผัก โดยใช้เพียงดินปลูกผสมไบโอชาร์ตามสูตรแม่โจ้ สามารถใช้ปลูกผักสลัด ผักสวนครัว โดยที่ไม่ต้องเติมปุ๋ยเพิ่มเติม และช่วยป้องกันแมลงศัตรูพืช ช่วยลดต้นทุนการผลิต ฯลฯ
ส่งเสริมการทำวนเกษตร ปลูกพืชยืนต้น หรือพืชหลายชนิดแทนพืชเชิงเดี่ยว เช่น กาแฟ ไผ่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน นำฟางข้าว กิ่งลำไยมาบดย่อยทำปุ๋ยอินทรีย์ การทำแปลงสาธิตเปรียบเทียบการชิงเผา-ไม่เผาเพื่อเป็นแนวป้องกันไฟป่าฯลฯ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังคิดค้นนวัตกรรมจากเศษซากวัสดุทางการเกษตร เช่น นำใบไม้นำมาทำจานใส่อาหาร ทดแทนการใช้พลาสติก และลดการเผาใบไม้ ฯลฯ
ข้อเสนอจากสภาลมหายใจ-สภาองค์กรชุมชนฯ
นายอุดม อินทรจันทร์ รองประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของสภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาองค์กรชุมชนตำบล และภาคีเครือข่ายในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีข้อมูลปัญหาและข้อเสนอทางออกที่มาจากพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลจำนวน 32 ตำบล (จากทั้งหมด 210 ตำบลใน 25 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่) และได้นำข้อมูลมานำเสนอเป็นนโยบายสาธารณะต่อหน่วยงานระดับจังหวัด รวมทั้งมีการเชื่อมประสานความร่วมมือกับประชาชนในเขตเมืองเพื่อจัดการปัญหาฝุ่นควันร่วมกัน เช่น
1.ขอให้มีการสนับสนุนงบประมาณตำบลที่มีพื้นที่ติดป่าเพื่อเพิ่มมาตรการป้องกัน ตั้งแต่การทำแนวกันไฟ ชิงเผา การลาดตระเวน การดับไฟ 2.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้งบกลางในการสนับสนุนชุมชนป้องกันฝุ่นควัน 3.ให้มีกองทุนเพื่อดูแลนักผจญไฟป่า เมื่อได้รับอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต 4.การทำแปลงสาธิตเปรียบเทียบระหว่างแปลงจัดการไฟป่าโดยใช้ไฟ-ไม่ใช้ไฟ 5.ให้องค์กรปกครองท้องถิ่นสร้างห้องปลอดฝุ่นที่ศูนย์เด็กเล็ก ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 6.อบรมให้ความรู้เรื่องฝุ่นควัน การป้องกัน การทำห้องปลอดฝุ่นควัน 7.ให้มีการสื่อสารเตือนภัยฝุ่นควัน คุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง ฯลฯ
“ล่าสุดนี้ ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้อนุมัติงบประมาณสนับสนุนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว จำนวนประมาณ 1,800,000 บาท โดยทางเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลจะนำไปขับเคลื่อนในตำบลต่างๆ เพิ่มเติมจากพื้นที่สภาองค์กรชุมชนตำบลนำร่อง 32 ตำบล ขยายเป็น 210 ตำบลต่อไป” รองประธานที่ประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวในตอนท้าย