‘พลเอกอนุพงษ์’ รมว.มหาดไทยมอบทะเบียนบ้านชุมชนคลองเปรมฯ 20 หลังแรก เปิดพื้นที่ให้รัฐบาลพัฒนาคลองทั้งระบบ-ป้องกันน้ำท่วม-แก้น้ำเสีย-เชื่อมคมนาคม

‘พลเอกอนุพงษ์’ รมว.มหาดไทยมอบทะเบียนบ้านชุมชนคลองเปรมฯ 20 หลังแรก เปิดพื้นที่ให้รัฐบาลพัฒนาคลองทั้งระบบ-ป้องกันน้ำท่วม-แก้น้ำเสีย-เชื่อมคมนาคม

พลเอกอนุพงษ์  รมว.มหาดไทย (กลาง) มอบทะเบียนบ้าน 20   หลังแรกให้ชาวชุมชนประชาร่วมใจ 2

ชุมชนร่วมใจ 2 เขตจตุจักร /  พลเอกอนุพงษ์ รมว.มหาดไทยมอบทะเบียนบ้านชุมชนประชาร่วมใจ 2  เขตจตุจักรที่ย้ายบ้านออกจากแนวคลองเปรมประชากร-แนวก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วม  โดยสร้างบ้านใหม่ในเฟสแรกเสร็จ 20 หลังแรก   เพื่อเปิดพื้นที่ริมคลองให้รัฐบาลพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบ  เช่น  ป้องกันน้ำท่วม   บำบัดน้ำเสีย  เพิ่มพื้นที่สีเขียว  เชื่อมโครงข่ายคมนาคม  และพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนริมคลอง  ขณะที่ พอช.เดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยในชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมฯ  โดยในคลองลาดพร้าวขณะนี้สร้างบ้านเสร็จแล้ว2,931 หลัง

               ตามที่รัฐบาลมีแผนการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ริมคลองในคลองสายหลักของกรุงเทพฯ  และก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม  โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559  เริ่มในคลองลาดพร้าว   โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดทำแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองที่ต้องรื้อย้ายออกจากแนวคลองและแนวเขื่อน   และ กทม. รับผิดชอบการสร้างเขื่อนฯ   ต่อมาในปี 2562 จึงเริ่มดำเนินการในคลองเปรมประชากร  และเริ่มรื้อย้าย-สร้างบ้านใหม่ที่ชุมชนประชาร่วมใจ  2  เขตจตุจักร  เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา  โดยมีพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี  เป็นประธานในพิธีลงเสาเอกก่อสร้างบ้าน

บ้านเฟสแรก 20 หลังที่สร้างเสร็จแล้ว

รมว.มหาดไทยมอบทะเบียนบ้าน 20 หลังแรก

               ล่าสุดวันนี้ (24 กรกฎาคม)  พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา  และคณะได้เดินทางมาที่ชุมชนประชาร่วมใจ 2  เขตจตุจักร  เพื่อตรวจเยี่ยมการพัฒนาคลองเปรมประชากร  และมอบทะเบียนบ้านให้แก่ชาวชุมชนที่สร้างบ้านเสร็จแล้วเฟสแรก จำนวน 20 หลัง  โดยมีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ  เช่น   พลโทธรรมนูญ   วิถี  แม่ทัพภาคที่ 1 นายสมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ในฐานะผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  และชาวชุมชนริมคลองเข้าร่วมงานประมาณ  100 คน

พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา  รมว.มหาดไทย  กล่าวว่า  ประชาชนหรือพี่น้องหลายๆ คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยได้เข้ามาอาศัยอยู่ที่นี่เป็นเวลานาน ซึ่งเป็นที่ดินของราชพัสดุ  ทำให้การเข้ามาอยู่ของพวกเราไม่ถูกกฎหมาย  ปัญหาหลักๆ อีกอย่างคือเรื่องน้ำเสียลงไปในคลอง   รัฐบาลจึงมีโครงการนี้ขึ้นมา  เพื่อมาดูแล จัดระเบียบ  ให้พี่น้องไม่ได้รับผลกระทบ ให้พี่น้องได้มีที่อยู่อาศัย  โดยให้ทาง พอช. หรือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาช่วยดูแลตรงนี้

พลเอกอนุพงษ์กล่าวต่อไปว่า  วันนี้ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วน  ทั้งสำนักงานเขต ทหาร การไฟฟ้า การประปา ตำรวจ มาช่วยกันสร้างที่อยู่อาศัยให้  ส่วนทางประชาชนก็มีหน้าที่ที่จะต้องผ่อนชำระบ้าน  แต่เป็นบ้านของตัวเอง  บนที่ดินราชพัสดุ  สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ พี่น้องประขาชนที่นี่ให้ความร่วมมือดีมาก ต้องขอบคุณผู้นำต่างๆ ในชุมชนประชาร่วมใจ 2  และความร่วมมือจากเด็กๆ ก็มีส่วนร่วมแรงร่วมใจกันทำ แล้วเด็กที่นี่เขาทันสมัย รู้เรื่องระบบไฟ ระบบน้ำ และอีกอย่างที่นี่ทำระบบน้ำใหม่ ของเสียจะไม่ลงไปในคลอง จะถูกส่งไปบำบัด   รวบรวมน้ำเสียไปที่อื่น เพราะฉะนั้นที่นี่จะไม่ไปก่อมลภาวะให้คลองเปรมประชากรในอนาคต

“เพราะฉะนั้นคลองเปรมในอนาคตก็จะสวยงาม เราก็จะมีบ้านให้ลูกหลานในอนาคต ได้มีชีวิตที่ดี เพื่อจะได้มีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง เรียนหนังสือ เขาอาจจะไปเป็นหมอ เป็นอาจารย์ หรือเป็นข้าราชการก็เป็นได้   ผมได้เห็นความเข้มแข็ง การร่วมมือร่วมใจของชุมชน   ทำการประชุม หารือ วางกฎ กติกากันเอง  เร็วๆ  นี้ทางชุมชนก็จะเริ่มย้ายเข้ามาอยู่กันแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก ผมรู้สึกยินดีด้วยอย่างยิ่ง”  พลเอกอนุพงษ์กล่าว

นางปัทมา อาทรมนัสชุม   ผู้ที่อยู่อาศัยในบ้าน 20 หลังแรก  บอกว่า  รู้สึกดีใจมากเพราะพวกเราอยู่กันที่นี่มา 40-50 ปีแล้ว   ไม่มีใครอยากย้ายไปที่ไหน   ตรงนี้เหมือนเป็นชีวิตและเป็นครอบครัวของเรา  การเข้าร่วมโครงการนี้ทำให้บ้านของเราถูกกฎหมายอยู่ได้โดยไม่หวาดระแวง และหวังว่าเรื่องยาเสพติดจะน้อยลง เพราะว่าเวลาพื้นที่พัฒนาขึ้น  สังคมก็จะพัฒนาขึ้นไปด้วย  

“พอได้บ้านใหม่ตรงนี้  สิ่งที่เรารู้สึกได้คือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน จากแต่ก่อนที่เคยอยู่กันแบบไม่มีระเบียบ  ใครอยากทำอะไรก็ทำ  เพราะเป็นสังคมแออัด  ไม่ค่อยมีความเกรงใจกัน  แต่พอเริ่มสร้างบ้านขึ้นมาใหม่  เราได้มีการวางกฎระเบียบเพื่อรักษาสังคมของเราให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น  ต่อไปสิ่งที่เราอยากจะพัฒนาก็คือ การสร้างอาชีพให้ชุมชนว่าตรงนี้เปรียบเสมือนหัวใจของชุมชน มีลานกีฬา  มีตลาด  เราอยากจะจัดทำตลาดชุมชน  เพื่อในอนาคตเมื่อมีการส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยวชุมชน  ชุมชนเราจะได้มีอาชีพ  มีรายได้ที่มั่นคง”  นางปัทมากล่าว

นางสมร  จันทร์ฉุน  ผู้นำชาวชุมชนประชาร่วมใจ 2 กล่าวว่า  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ  พอช.สนับสนุนงบประมาณครัวเรือนละ 147,000 บาท  เพื่อก่อสร้างสาธารณูปโภค  อุดหนุนการสร้างบ้าน   และงบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย  วงเงินครัวเรือนละไม่เกิน 360,000 บาท  ผ่อนชำระ 20 ปี  อัตราดอกเบี้ยคงที่ 4% 

               ส่วนแบบบ้านมีหลายขนาดเพื่อให้ชาวชุมชนได้ร่วมออกแบบและเลือกให้ตรงกับความต้องการ  ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว  เช่น  บ้านแถวชั้นเดียว  ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร  ราคา 290,000 บาท  ผ่อนชำระเดือนละ 1,500 บาท  บ้านแถวสองชั้น  ขนาด 4 X 7 ตารางเมตร  ราคา 450,000 บาท  ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท  บ้านแถวสองชั้น  ขนาด 5 X 6 ตารางเมตร  ราคา 450,000 บาท  ผ่อนชำระเดือนละ 2,600 บาท   ระยะเวลาผ่อนชำระ 20 ปี

               ชุมชนประชาร่วมใจ 2 ถือเป็นชุมชนแห่งแรกในคลองเปรมประชากรที่ชาวชุมชนร่วมใจกันรื้อบ้านออกจากแนวคลองเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบ  โดยรื้อย้ายและก่อสร้างบ้านใหม่ทั้งหมด 203 หลัง สร้างเสร็จแล้ว 20 หลัง ส่วนที่เหลือกำลังทยอยสร้าง  โดยก่อนหน้านี้หน่วยงานต่างๆ  เช่น  พอช.  กองทัพภาคที่ 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  กรุงเทพมหานคร  กรมธนารักษ์  กรมส่งเสริมสหกรณ์  สำนักงานเขตต่างๆ  และหน่วยงานในท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี  ได้ร่วมกันจัดเวทีประชุมสร้างความเข้าใจกับชาวชุมชนเพื่อให้เข้าร่วมโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย  โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมทั้งหมด  32 ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ  และ 6 หมู่บ้านในเขต จ.ปทุมธานี  รวมทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน

พอช.สนับสนุนการพัฒนาที่อู่อาศัยชุมชนคลองเปรมฯ 6,386 ครัวเรือน

นายธนัช  นฤพรพงศ์   ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า  ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งหมดนี้  จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกจากแนวคลองและแนวก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำ  และปรับผังชุมชนเพื่อก่อสร้างบ้านและชุมชนใหม่ในที่ดินเดิม  โดยชุมชนจะต้องรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลและร่วมกันบริหารจัดการโครงการ  (ขณะนี้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์แล้ว 33 ชุมชน  และจัดตั้งสหกรณ์แล้ว 9 สหกรณ์จาก 16 ชุมชน)  และจะต้องทำสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อสร้างบ้านจากกรมธนารักษ์อย่างถูกต้อง  เปลี่ยนสถานะจากผู้บุกรุกเป็นชุมชนที่เช่าที่ดินอย่างถูกกฎหมาย  ระยะเวลาเช่าช่วงแรก 30 ปี  ในอัตราค่าเช่าผ่อนปรน

พลเอกอนุพงษ์ดูแบบจำลองการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ

               ส่วนการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองเปรมฯ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จะสนับสนุนงบประมาณให้แก่ชุมชนและครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 6,386 ครัวเรือน  ในพื้นที่ 38 ชุมชน/หมู่บ้าน โดยคาดการณ์ว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 3,514.46 ล้านบาท   แยกเป็นงบสนับสนุนประชาชนกลุ่มเป้าหมาย 1,215.50 ล้านบาท  และเงินกู้เพื่อปลูกสร้างบ้าน  2,298.96 ล้านบาท  เริ่มก่อสร้างบ้านในปี 2563   นอกจากนี้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนให้ชาวชุมชนร่วมกันพัฒนาสิ่งแวดล้อม  การจัดการขยะ  พัฒนาและส่งเสริมอาชีพ  รวมทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทุกกลุ่มวัย

แผนพัฒนาคลองเปรมทั้งระบบ

คลองเปรมประชากรมีความยาวทั้งหมด 50 กิโลเมตรเศษ  เริ่มจากคลองผดุงกรุงเกษม  กรุงเทพฯ-ปทุมธานี-พระนครศรีอยุธยา  สภาพทั่วไปของคลองเปรมประชากรมีปัญหาการปลูกสร้างบ้านรุกล้ำคลองเป็นจำนวนมาก  ชุมชนริมคลองส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด  มีปัญหาขยะและน้ำเสีย  สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม  อีกทั้งสิ่งก่อสร้างรุกล้ำคลองเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ

ส่วนการพัฒนาคลองเปรมฯ ทั้งระบบจะใช้ระยะเวลา 9   ปี (พ.ศ.2562-2570)  แยกเป็น  1. โครงสร้างพื้นฐาน ระยะเร่งด่วน ปี 2562 – 2565 จำนวน 4 โครงการ  วงเงิน 4,448 ล้านบาท  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ  ป้องกันน้ำท่วมและบำบัดน้ำเสียคลองเปรมประชากรทั้งระบบ  ตั้งแต่กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา  โดย กทม. จะก่อสร้างเขื่อนระบายน้ำจากถนนเทศบาลสงเคราะห์–สุดเขต กทม. ระยะทางทั้ง 2 ฝั่งประมาณ  27.20  กิโลเมตร   ซึ่งขณะนี้ก่อสร้างเขื่อนฯ ช่วงแรกในเขตดอนเมือง  ระยะทาง 580 เมตรเสร็จแล้ว

กรมชลประทานดำเนินการขุดลอกคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีจากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ – คลองเชียงรากน้อย ระยะทาง 15.3 กิโลเมตร วงเงิน 16 ล้านบาท และขุดลอกคลองเปรมประชากรในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จากคลองเชียงรากน้อย – สถานีสูบน้ำเปรมเหนือบางปะอิน ระยะทาง 8.1 กิโลเมตร วงเงิน 9 ล้านบาท   ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่างๆ ร่วมสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ริมคลอง  สร้างพื้นที่สีเขียว  พัฒนาเส้นทางจักรยานเลียบคลอง  เชื่อมเส้นทางคมนาคมทั้งทางรถไฟและรถไฟฟ้า

ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาที่อยู่อาศัยในคลองลาดพร้าว  ขณะนี้ดำเนินการไปแล้ว 35 ชุมชน  รวม 3,353 ครัวเรือน  (สร้างบ้านเสร็จแล้ว 2,931 หลัง)  จากทั้งหมด 50 ชุมชน  รวม 7,069 ครัวเรือน  ในพื้นที่  7 เขต คือ  เขตสายไหม   ดอนเมือง   หลักสี่   บางเขน  จตุจักร   ห้วยขวาง  และวังทองหลาง

สภาพบ้านในคลองลาดพร้าวก่อนปรับปรุง

บ้านที่รื้อย้ายและสร้างใหม่ในที่ดินเดิม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ