เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่: ข้อคิดเห็นบางประการต่อ “SEA แร่โพแทช” ในอีสาน

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่: ข้อคิดเห็นบางประการต่อ “SEA แร่โพแทช” ในอีสาน

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่เผยแพร่ ข้อคิดเห็นต่อการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) เพื่อการบริหารจัดการแร่โพแทชในภาคอีสาน หลังกรมทรัพยากรธรณี ว่าจ้างบริษัทเอกชนทำการศึกษาฯ ซึ่งมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางพัฒนาแร่โพแทชในพื้นที่ศักยภาพของภาคอีสาน โดยจัดประชุมระดมความคิดเห็นไปแล้วเมื่อวันที่ 1 และ 2 ก.ค. ที่ผ่านมา ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560

รายละเอียด ดังนี้

ข้อคิดเห็นต่อการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการแร่โพแทชในภาคอีสาน

ตามที่กรมทรัพยากรธรณีได้ว่าจ้างบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด เพื่อทำการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment : SEA) เพื่อการบริหารจัดการแร่โพแทชขึ้นมา โดยได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ที่จังหวัดอุดรธานีและขอนแก่น เมื่อวันที่ 1 และ 2 ก.ค. 2563 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการดำเนินกิจกรรมการมีส่วนร่วมในขั้นแรกของโครงการเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่โพแทช ตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ และระดมความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับสภาพปัญหาและการบริหารจัดการแร่โพแทชในพื้นที่ศักยภาพแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร โดยหวังที่จะลดความขัดแย้งของสังคมในการผลักดันการให้สัมปทานเพื่อการสำรวจและทำเหมืองแร่โพแทชในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคอีสาน นั้น

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ มีข้อคิดเห็นดังนี้

1. การศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการแร่โพแทช หรือ ‘SEA โพแทช’ จะไม่ส่งผลในทางที่เป็นประโยชน์อันใดต่อการลดความขัดแย้งของสังคม เนื่องจากว่าเป็นการจัดทำ SEA โพแทช ไปพร้อม ๆ กับการอนุมัติ/อนุญาตให้อาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่โพแทช และให้ประทานบัตรเพื่อทำเหมืองแร่โพแทช ไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งเป็นการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมโดยไม่คำนึงถึง ‘ยุทธศาสตร์’ อย่างแท้จริง

โดยหลักการและความเป็นจริง การจัดทำ SEA โพแทช ควรมาก่อนการอนุมัติ/อนุญาตให้อาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรโพแทช ต่อเมื่อผลการศึกษาจากการจัดทำ SEA โพแทช สิ้นสุดแล้ว ผลออกมาเป็นประการใดในเชิงยุทธศาสตร์ จึงค่อยดำเนินการอนุมัติ/อนุญาตให้อาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตร ตามผลการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ที่ได้ในภายหลัง

ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่หลายจังหวัดที่ได้ดำเนินการอนุมัติ/อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรโพแทชไปแล้วเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น

(1) พื้นที่ได้รับอนุมัติ/อนุญาตประทานบัตรแล้ว

(1.1) อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ พื้นที่ประมาณ 9,700 ไร่

(1.2) อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พื้นที่ประมาณ 9,000 ไร่

(2) พื้นที่กำลังดำเนินการขอประทานบัตร

(2.1) แหล่งอุดรใต้ที่ จ.อุดรธานี พื้นที่ประมาณ 26,000 ไร่

(2.2) อ.เมือง อ.โนนสูง และอ.โนนไทย จ.นครราชสีมา พื้นที่ประมาณ 40,000 ไร่ (ปัจจุบันกำลังกลับไปดำเนินการขออาชญาบัตรพิเศษ 130,000 ไร่ ในพื้นที่เดิมที่เคยได้รับอาชญาบัตรพิเศษไปแล้ว หลังจากจัดเวทีปรึกษาเบื้องต้นประกอบการขอประทานบัตรเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2563 ไม่ผ่าน เพราะองค์ประชุมผู้มีส่วนได้เสียไม่ครบถ้วนตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่)

(3) พื้นที่ได้รับอนุมัติ/อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษแล้ว

(3.1) อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร พื้นที่ประมาณ 120,000 ไร่ (ปัจจุบันกำลังดำเนินการขออาชญาบัตรพิเศษใหม่ ในพื้นที่เดิม หลังจากที่อาชญาบัตรพิเศษเดิมหมดอายุไปเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2563)

(3.2) อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา พื้นที่ประมาณ 40,000 ไร่

(3.3) อ.เมืองและอ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา พื้นที่ประมาณ 20,000 ไร่

(4) พื้นที่กำลังดำเนินการขออาชญาบัตรพิเศษ (ไม่รวมการขออาชญาบัตรพิเศษตามข้อ 2.2 และ 3.1) ใน จ.กาฬสินธุ์ นครราชสีมา มหาสารคาม ชัยภูมิ ขอนแก่น สกลนคร อุดรธานี หนองคาย ยโสธร และร้อยเอ็ด รวมกันทั้งหมด 3,186,645 ไร่

ซึ่งพื้นที่เหล่านี้ตามข้อ (1) – (4) ต้องถูกยกเลิกให้หมดเสียก่อนในระหว่างการจัดทำ SEA โพแทช

2. กฎหมายแร่ฉบับใหม่ (พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560) ระบุไว้ชัดเจนว่า ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560 – 2564 ฉบับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2561 จะต้องไม่เป็นพื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่ กล่าวคือ พื้นที่ที่จะกําหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทําเหมืองต้องไม่ใช่พื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เขตโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามกฎหมายว่าด้วยโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑ์ สถานแห่งชาติ เขตพื้นที่ที่มีกฎหมายห้ามการเข้าใช้ประโยชน์โดยเด็ดขาด พื้นที่เขตปลอดภัยและความมั่นคงแห่งชาติ หรือพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม

แต่แผนแม่บทฯ ภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวกลับดำเนินการยกเว้น โดยกำหนดให้พื้นที่ที่ถูกประกาศกำหนดเป็นเขตสำหรับ ดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัย เกี่ยวกับแร่ที่ออกตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า (พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2510) ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่ (พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560) มีผลใช้บังคับ เฉพาะพื้นที่ภาคอีสานที่มีแร่โพแทชและเกลือหินเป็นชนิดแร่เป้าหมายของการประกาศที่มีผลสำรวจพิสูจน์ได้ว่าเป็นแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เป็น ‘เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง’ ไปเลย โดยยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นพื้นที่ตามมาตรา 17 วรรคสี่ ที่ควรสงวนหวงห้ามไว้ไม่ให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองหรือไม่ อย่างไร

จึงเป็นการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ และแผนแม่บทฯ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแร่ใหม่ หรือเป็นยุทธศาสตร์ฯ และแผนแม่บทฯ ที่มีเนื้อหาเกินไปกว่าบทบัญญัติในกฎหมายแร่ใหม่

ด้วยเหตุนี้เอง การจัดทำ SEA โพแทช จึงต้องคำนึงถึงสาระสำคัญและปฏิบัติให้สอดคล้องตามกฎหมายแร่ฉบับใหม่ โดยต้องสำรวจและพิสูจน์เสียก่อนว่า พื้นที่ที่ถูกประกาศกำหนดเป็นเขตสำหรับ ดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษาหรือการวิจัย เกี่ยวกับแร่ที่ออกตามกฎหมายแร่ฉบับเก่า ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่กฎหมายแร่ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ ในพื้นที่ภาคอีสานที่มีแร่โพแทชและเกลือหินนั้น ไม่ว่าจะถูกระบุว่าเป็นแหล่งแร่โพแทชอุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงหรือไม่ก็ตาม เป็นหรือไม่เป็น “เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง” หรือไม่ อย่างไร

และระหว่างรอการสำรวจและพิสูจน์ในสาะสำคัญดังกล่าวจะต้องระงับหรือยกเลิก (1) พื้นที่ที่ได้รับอนุมัติ/อนุญาตประทานบัตรโพแชแล้ว (2) พื้นที่ที่กำลังดำเนินการขอประทานบัตรโพแทช (3) พื้นที่ที่ได้รับอนุมัติ/อนุญาตอาชญาบัตรพิเศษโพแทชแล้ว (4) พื้นที่ที่กำลังดำเนินการขออาชญาบัตรพิเศษโพแทช เอาไว้ให้หมดเสียก่อน

มิใช่ดำเนินการจัดทำ SEA โพแทช โดยละเว้นสาระสำคัญนี้

หาไม่แล้ว การจัดทำ SEA โพแทช หรือการศึกษาและประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการแร่โพแทช ที่กรมทรัพยากรธรณีในฐานะเป็นเลขานุการร่วมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.​) ในคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ (คนร.) ที่กำลังดำเนินการโดยว่าจ้างบริษัท ยูไนเต็ด แอนนาลิสต์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด อยู่ในขณะนี้ จะไม่ชอบด้วยกฎหมายแร่ฉบับใหม่ทุกประการ

ด้วยความเคารพ

เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่

16 ก.ค. 2563

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ