แม่น้ำสะแกกรังและเรือนแพในช่วงที่น้ำยังไม่แห้งแล้ง
ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง จังหวัดอุทัยธานี ถือเป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทย เพราะชุมชนชาวแพแห่งอื่นๆ เช่น ชาวแพริมแม่น้ำน่าน อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งเดิมมีอยู่กว่า 100 หลัง ถูกทางราชการโยกย้ายออกจากริมน้ำน่านไปตั้งแต่ปี 2541 เป็นต้นมา ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่หลังที่ยังต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิและดำรงอัตลักษณ์ของตนเอาไว้
หากใครอยากจะไปดูวิถีชีวิตชาวแพแม่น้ำน่านก็ไปดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ชาวแพ ตั้งอยู่ในสวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเทศบาลนครพิษณุโลกจัดสร้างขึ้นในปี 2542 โดยการสร้างบ่อน้ำแล้วเอาเรือนแพจำลองมาจัดแสดงไว้ เสมือนว่าเรือนแพลอยอยู่ในน้ำ
แต่ที่ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังซึ่งมีอยู่กว่า 100 หลัง พวกเขายังสามารถดำรงชีวิตต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษ ได้นานกว่า 100 ปี แม้ว่าในวันนี้สายน้ำและสภาพสังคมจะเปลี่ยนแปลงไป จนดูเหมือนว่าชุมชนชาวแพเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ และรอผุพังไปตามกาลเวลา
กระนั้นก็ตาม ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังยังมีลมหายใจ พวกเขาเป็นเสมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต แม้ว่าปัจจุบันเรือนแพส่วนใหญ่จะทรุดโทรมเพราะอยู่กับสายน้ำมานานปี ทั้งยังเผชิญกับปัญหานานา แต่พวกเขาก็พร้อมที่จะร่วมมือกันฟื้นฟูมรดกที่ตกทอดมาปู่ย่าตายายให้ดำรงอยู่ต่อไป
พิพิธภัณฑ์ชาวแพที่พิษณุโลก มีแพจำลอง แต่ไม่มีชีวิต
สายน้ำและความทรงจำ
แม่น้ำสะแกกรังมีที่มาจากชื่อของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำและมีต้นสะแกขึ้นอยู่หนาแน่น มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในจังหวัดกำแพงเพชร ไหลผ่านนครสวรรค์ลงมายังอุทัยธานี และบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลท่าซุง อ.เมือง จ.อุทัยธานี มีความยาวประมาณ 225 กิโลเมตร หล่อเลี้ยงผู้คนมาเนิ่นนานปี โดยเฉพาะชาวเรือนแพที่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับสายน้ำนี้มานานเพราะหลายครอบครัวอยู่อาศัยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย หากจะนับย้อนไปก็คงจะไม่ต่ำกว่า 120 ปี โดยมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังในสมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นในปี 2449
ภาพเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังถ่ายในปี 2449 คราวสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองอุทัยธานี ด้านซ้ายมือเมื่อขึ้นจากตลิ่งจะเป็นตลาด ขวามือด้านบนเป็นวัดโบสถ์ (ภาพจากสมุดภาพเมืองอุทัยธานี จัดพิมพ์โดยจังหวัดอุทัยธานี)
หากจะว่าไปแล้ว ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังน่าจะมีอายุเก่ากว่านั้น เพราะวัดอุโปสถาราม หรือ ‘วัดโบสถ์’ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง (ตรงข้ามกับตลาดเทศบาลเมืองอุทัยธานี) ก่อสร้างขึ้นในปี 2324 หรือปลายสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีชุมชนตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อนที่จะมีการสร้างวัด โดยเฉพาะชุมชนที่ตั้งอยู่ริมฝั่งตรงข้ามกับวัดโบสถ์ ซึ่งเป็นย่านค้าขายบนบก ขณะที่ด้านล่างริมแม่น้ำสะแกกรังจะมีเรือบรรทุกสินค้า และเรือนแพเป็นที่พักอาศัยเรียงรายไปตลอดลำน้ำ
ลุงบุญสม พูลสวัสดิ์ อายุ 76 ปี เล่าว่า ตัวแกเองไม่ใช่เป็นคนสะแกกรังแต่ดั้งเดิม พ่อแม่เป็นคนอยุธยา มีอาชีพค้าไม้ไผ่ โดยใช้เรือกระแชงบรรทุกไม้ไผ่ครั้งละประมาณ 200 ลำ ล่องจากอยุธยาขึ้นมาตามลำน้ำเจ้าพระยาแล้วเข้าสู่แม่น้ำสะแกกรัง ใช้เวลาขึ้น-ล่องครั้งละประมาณครึ่งเดือน เพราะเรือไม่มีเครื่องยนต์ ต้องใช้ถ่อหรือแจว ส่วนไม้ไผ่ที่บรรทุกมาจะนำมาส่งให้ผู้รับซื้อเพื่อนำไปทำโครงงอบ (หมวกทำด้วยใบลาน ชาวไร่ ชาวนานิยมใส่ทำงานเพื่อกันแดด)
“ผมล่องเรือมาค้าไม้ไผ่กับพ่อแม่ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้นปอสี่ ประมาณ 60 ปีก่อน ต้องกินนอนอยู่ในเรือ ล่องจากอยุธยาเข้าอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท เข้าปากคลองมโนรมย์ จนถึงแม่น้ำสะแกกรัง สมัยนั้นเรือนแพและเรือสินค้าในแม่น้ำสะแกกรังยังมีเยอะ การค้าขายคึกคัก พอโตเป็นหนุ่ม ประมาณปี 2513 ผมมีครอบครัวอยู่ที่นั่น จึงปลูกแพอยู่ ตอนนั้นใช้เงินปลูกแพประมาณ 6,000 กว่าบาท พอมีครอบครัวแล้วก็ไม่ได้ล่องแพอีก เปลี่ยนอาชีพมาทำก้านธูปขาย ใช้ไม้ไผ่เหลาเป็นเส้น ส่งขายโรงงาน” ลุงบุญสมเล่าประวัติชีวิตแบบย่นย่อ
แกบอกด้วยว่า เมื่อก่อนไม้ไผ่ที่ใช้ทำลูกบวบพยุงแพขนาดยาวประมาณ 8 วา (16 เมตร) ลำขนาดเท่าขวดน้ำปลา ราคาลำละไม่กี่บาท แต่ตอนนี้ราคาลำละ 60 บาท ประมาณ 3-5 ปีจะต้องเปลี่ยนลูกบวบที่ชำรุดออก ส่วนไม้ไผ่ที่นิยมใช้คือไผ่สีสุก เพราะมีเนื้อแน่น ลำข้อใหญ่ และน้ำไม่ทะลุข้อ ทำให้ใช้งานได้นาน
ลุงทองหยด พรานปลาอาวุโส
ลุงทองหยด จุลมุสิทธิ์ วัย 78 ปี อาชีพหาปลาและเลี้ยงปลาในกระชัง บอกว่า แกยึดอาชีพหาปลาในแม่น้ำสะแกกรังตั้งแต่รุ่นหนุ่ม ราวๆ 50 ปีมาแล้ว เมื่อก่อนน้ำในแม่น้ำยังใสแจ๋ว ใช้ทั้งกินและอาบ ถ้าใช้กินก็จะตักน้ำใส่โอ่งเอาไว้ แล้วเอาสารส้มลงไปแกว่ง ทิ้งให้ตกตะกอนก็เป็นอันใช้ได้ ใช้น้ำในโอ่งมาทำกับข้าว ถ้าจะกินก็จะเอาไปต้มก่อน แต่ตอนนี้ใช้น้ำในแม่น้ำอาบและซักผ้าเท่านั้น น้ำกินต้องซื้อเอา
“เมื่อก่อนลุงยกยอวันนึงจะได้ปลาประมาณ 300-400 กิโลฯ ส่วนใหญ่เป็นปลาสร้อย ปลาแดง เอามาเคล้าเกลือแล้วตากแดด บางทีก็ได้ปลาใหญ่ พวกปลาแรด ปลาสวาย ตัวนึงหนักหลายกิโลฯ บางทีได้ตัวละหลายสิบกิโลฯ แต่ตอนนี้หาปลายาก ได้ปลาวันละ 30-40 โลฯ เท่านั้น เพราะว่าน้ำน้อยลง เริ่มจะเน่าเสีย มีสีดำ อีกอย่างคนหาปลาก็เยอะขึ้น จึงจับปลาได้น้อยลง” พรานปลาอาวุโสบอก และว่า ปีหนึ่งคนหาปลาจะหยุดจับปลาในช่วงฤดูวางไข่ 3 เดือน คือตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนจนถึงกันยายน เพื่อให้ปลาได้ขยายพันธุ์
ทุกวันนี้ลุงทองหยดมีอาชีพหลักคือเลี้ยงปลาในกระชัง มีปลาเทโพ นิล สวาย แรด และสังกะวาด แต่ส่วนใหญ่เป็นปลาสังกะวาด (ปลาในตระกูลปลาสวาย แต่ตัวเล็กกว่า) ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 8 เดือน ราคากิโลกรัมละ 70 บาทขึ้นไป จะมีพ่อค้ามารับซื้อแล้วเอาไปขายทางภาคอีสาน เพราะชาวบ้านแถบนั้นนิยมกิน เอาไปทำปลาแดดเดียว หรือย่างเกลือ รสชาติอร่อย กินกับข้าวเหนียวยิ่งเหมาะ
สะแกกรังแล้ง-แม่น้ำเริ่มป่วยไข้
หากเป็นมนุษย์ แม่น้ำสะแกกรังคงผ่านร้อนผ่านหนาวมายาวนาน แต่เมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล โดยเฉพาะในประเทศไทย น้ำในเขื่อนทางตอนเหนือของประเทศมีปริมาณลดน้อยลง ส่งผลให้แม่สายน้ำหลักเริ่มแห้งแล้ง แม่น้ำสายรองเช่นสะแกกรัง ไม่มีน้ำจากเจ้าพระยาเข้าไปเติมเต็ม
วันนี้แม่น้ำสะแกกรังกำลังป่วยไข้ อันเนื่องมาจากวิกฤตน้ำแล้ง ท้องน้ำหดแคบลง เรือนแพหลายสิบหลังเกยตื้นขึ้นมาอยู่ชายตลิ่ง กอผักตบชวาไหลมารวมกันขวางกั้นการเดินเรือ แม่น้ำบางช่วงเริ่มเน่าเสีย เพราะปริมาณน้ำลดน้อยลงทำให้น้ำไม่ไหลเวียน เกิดดินตะกอนในท้องน้ำ ประกอบกับน้ำเสียจากชุมชนในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานีไหลทิ้งลงสู่แม่น้ำจึงยิ่งซ้ำเติมแม่น้ำสะแกกรังให้วิกฤต ฝูงปลาที่เคยชุกชุมและเป็นแหล่งอาหาร สร้างรายได้ให้ชาวเรือนแพหลบลี้ไปอยู่วังน้ำอื่น
เรือนแพบริเวณใกล้ตลาดเทศบาลหนาแน่นไปด้วยผักตบชวา
ศักดิ์ชัย เต๊ะปานัน ชาวแพวัย 48 ปี อาชีพขับเรือจ้างและเลี้ยงปลา บอกว่า แม่น้ำสะแกกรังเริ่มแห้งแล้งตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 พอเข้าหน้าแล้งปีนี้ยิ่งส่งผลกระทบหนัก เพราะผักตบชวาแพร่พันธุ์ไปทั่วคุ้งน้ำ โดยเฉพาะในช่วงที่ท้องน้ำหดแคบลง ผักตบชวาจะไหลไปรวมกันหนาแน่น เรือเล็กไม่สามารถผ่านได้ เห็นได้ชัดเจนบริเวณเหนือวัดโบสถ์ขึ้นไป นอกจากนี้กอผักตบชวาที่มีอยู่เต็มท้องน้ำ ทำให้แสงแดดส่องลงไปไม่ถึงใต้น้ำ อ๊อกซิเจนในน้ำจึงมีน้อย จึงมีผลทำให้แม่น้ำบางช่วงเริ่มเน่าเสีย ปลาจึงหนีไปอยู่วังน้ำลึก ส่วนคนที่เลี้ยงปลาในกระชังก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำเน่าเสีย เพราะทำให้ปลาตาย
สมคิด คงห้วยรอบ อายุ 52 ปี อาชีพค้าขายในตลาดเทศบาลเมืองอุทัย บอกว่า เรือนแพของเธอผูกอยู่ตรงท่าน้ำวัดโบสถ์ หากเป็นช่วงปกติ เธอจะต้องใช้เรือเล็กหรือใช้สะพานไม้ไผ่ข้ามไป-มาระหว่างท่าน้ำกับเรือนแพของเธอ แต่ตอนนี้ไม่จำเป็นแล้ว เพราะแม่น้ำแห้งจนสันทรายโผล่ขึ้นมา เรือนแพที่เคยผูกอยู่ที่ท่าน้ำตอนนี้เกยตื้น
“มันเริ่มแล้งตั้งแต่เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว แต่ปีนี้หนักสุด เกิดมา 50 กว่าปี ไม่เคยเห็นแม่น้ำสะแกกรังแล้งขนาดนี้ พอน้ำแล้ง แม่น้ำก็จะแคบลง ทำให้ผักตบชวาไหลมาอยู่รวมกัน คนใช้เรือก็ลำบาก ส่วนเรือนแพที่เกยตื้น ลูกบวบก็จะแตกหักเสียหาย ต้องหาเงินมาซ่อมใหม่ แต่ชาวแพส่วนใหญ่มีรายได้น้อย หาเช้ากินค่ำ ถ้าไม่หาปลา ก็จะไปรับจ้าง หรือค้าขายเล็กน้อยๆ อยู่ในตลาด จึงอยากให้หน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ” สมคิดบอก
แพของสมคิดเกยตื้นอยู่หน้าวัดโบสถ์
เสียงสะท้อนจากชาวแพ
เรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังปัจจุบันมีทั้งหมดประมาณ 200 หลัง แพบางหลังเป็นของคนมีเงิน หรืออดีตข้าราชการที่สร้างไว้เพื่อพักผ่อน หรือสร้างไว้เพื่อทำเป็นที่พัก-แพอาหารรองรับรับนักท่องเที่ยว ส่วนที่ป็นแพของชาวบ้านใช้อยู่อาศัยและทำกระชังเลี้ยงปลาตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 130-140 ครอบครัว
ความเดือดร้อนของชาวแพกลุ่มชาวบ้านได้ถูกร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนในท้องถิ่นและส่วนกลางในช่วงเดือนสิงหาคม 2562 เริ่มจากปัญหาผักตบชวาที่หนาแน่นกีดขวางการเดินเรือ ซึ่งขณะนั้นน้ำในแม่น้ำสะแกกรังยังมีปริมาณมาก แต่พอย่างเข้าสู่ช่วงปลายปี แม่น้ำเริ่มลดระดับลง เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง ทำให้เรือนแพบางส่วนเกยตื้น และเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียติดตามมา
ชาวเรือนแพจึงร้องเรียนต่อทางจังหวัดให้การช่วยเหลือ รวมทั้ง ‘มนัญญา ไทยเศรษฐ์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเป็นนักการเมืองในพื้นที่ จนเรื่องมาถึง ‘จุติ ไกรฤกษ์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งมีหน่วยงานในสังกัดดูแลคุณภาพชีวิตและที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อย รมว.พม.จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกับจังหวัดอุทัยธานีเพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม 2563
สมชาติ ภาระสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่จากกระทรวง พม. ทั้ง พอช. พมจ.(พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี) ร่วมกับชุมชนชาวแพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดได้จัดกระบวนการสำรวจข้อมูลปัญหาของผู้เดือดร้อนตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นมา โดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น
การลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชุมชนชาวแพ สำรวจข้อมูล ถ่ายรูป จับพิกัด GPS จัดทำแผนที่ทำมือ ทำผังชุมชน สำรวจปัญหาและความต้องการ ถอดข้อมูลการซ่อมแซมเรือนแพผู้เดือดร้อน ฯลฯ และจัดตั้งคณะทำงาน โดยมีผู้แทนชุมชนชาวแพจำนวน 13 คนร่วมเป็นคณะทำงาน หลังจากนั้นจึงมีการจัดประชุมเพื่อสรุปข้อมูลและร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาเพื่อนำไปสู่การวางแผนฟื้นฟูชุมชนชาวแพทั้งระบบ
“จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีชุมชนชาวแพที่ได้รับผลกระทบและมีความเดือดร้อนจากปัญหาแม่น้ำสะแกกรังแห้งแล้ง ทั้งหมด 127 ครัวเรือน โดยชุมชนชาวแพมีข้อเสนอและความต้องการแก้ไขปัญหารวม 8 ด้าน เช่น ปัญหาน้ำแล้ง สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิตชาวเรือนแพ เรื่องอาชีพ-รายได้ การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ด้านวัฒนธรรม และการจัดการท่องเที่ยวชุมชน” ผอ.พอช.ยกตัวอย่างข้อเสนอของชาวแพ
วิถีชีวิตชาวแพยังใช้เรือพายสัญจรไปมา
(ติดตามตอนต่อไปวันพฤหัสที่ 16 กรกฎาคม)