เตรียมฟ้องศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนผังเมือง EEC เปลี่ยนสีเขียวเป็นอุตสาหกรรม

เตรียมฟ้องศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนผังเมือง EEC เปลี่ยนสีเขียวเป็นอุตสาหกรรม

เครือข่ายประชาชน 3 จังหวัด ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี เตรียมรวมตัวยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด 16 ก.ค.นี้ ขอเพิกถอนแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน EEC เปลี่ยนผังเมืองสีเขียวเป็นอุตสาหกรรม

14 ก.ค. 2536 มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) แจ้งข้อมูลว่า ในวันพฤหัสบดีที่ 16 ก.ค. 2563 เวลา 10.30 น. ณ ศาลปกครองสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ เครือข่ายประชาชน 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ระยอง ชลบุรี กว่า 50 คน จะเดินทางเข้ายื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุด ขอเพิกถอนแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) เปลี่ยนผังเมืองสีเขียวเป็นอุตสาหกรรม

จากกรณีการประกาศใช้พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 เพื่อดำเนินนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้พื้นที่ 3 จังหวัด ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ถูกปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น โดยมีการออกประกาศคณะกรรมการนโยบาย EEC กำหนดแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินขึ้นใหม่มายกเลิกและบังคับใช้แทนที่ผังเมืองเดิมทุกฉบับในเขต EEC ที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัด เปลี่ยนพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมากไปเป็นเขตอุตสาหกรรม หรือแก้ไขข้อกำหนดพื้นที่ชนบทให้สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ เช่น โรงงานกำจัดขยะของเสียอันตรายและโรงไฟฟ้า

ทำให้เกิดความกังวลว่า การดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน และทิศทางการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกอย่างรุนแรง และแม้ภาคประชาชนในพื้นที่จะเคยทักท้วงเรียกร้องให้รัฐทบทวนยกเลิกแผนผังดังกล่าว เนื่องจากไม่สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่และจัดทำขึ้นโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เสียงของประชาชนก็ไม่ถูกรับฟัง

เครือข่ายประชาชน ที่ได้รับผลกระทบความเสียหายจากการประกาศใช้แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน EEC จึงรวมตัวกันยื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและคณะรัฐมนตรีต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เรื่อง “แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2562”

อีกทั้ง ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ดำเนินการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) และให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยให้ผู้ฟ้องคดีและชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการอย่างมีความหมาย ก่อนการจัดทำแผนผังขึ้นใหม่ เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ สิทธิการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ประโยชน์สาธารณะ และป้องกัน แก้ไข เยียวยาความเดือดร้อนเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีและประชาชนทุกคน

ทั้งนี้ “แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก พ.ศ. 2562” หรือแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน EEC ประกาศใช้ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2562 ตามที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (คลิกอ่าน) ซึ่งถือเป็นแผนผัง ที่ครอบคลุมการใช้ประโยชน์ที่ดินลักษณะต่าง ๆ ใน EEC ใน 5 จังหวัดหลัก ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง สมุทรปราการ รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย

ข้อมูล กรมโยธาธิการ และผังเมือง (คลิกอ่าน) ระบุว่า แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน EEC จะรองรับการ ขยายตัวของเขตเมืองอีก 20 ปี ใน 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา ครอบคลุม 8.29 ล้านไร่ รองรับประชากร 6 ล้านคนเศษ กำหนดพื้นที่ 4 กลุ่ม 11 ประเภท เช่น

1.กลุ่มพัฒนาเมืองและชุมชน พื้นที่ 1.096 ล้านไร่ คิดเป็น 13.23% ของพื้นที่ทั้งหมด โดย แบ่งเป็นประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรม (สีแดง) ประเภทชุมชนเมือง (สีส้ม) ประเภทรองรับการพัฒนาเมือง (สีส้มอ่อนมีจุดขาว) และพื้นที่ประเภทเขตส่งเสริมพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ (สีน้ำตาล)

2.กลุ่มพื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 424,854 ไร่คิดเป็นพื้นที่ 5.12% กำหนดให้รวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์ เพื่อให้ควบคุมและบริหารจัดการได้ง่าย กำหนดระยะห่าง จากพื้นที่ป่าไม้ ไม่น้อยกว่า 1 กิโลเมตร จากแม่น้ำลำคลอง ห่างจากพื้นที่ชายฝั่งทะเลไม่น้อยกว่า 500 เมตร แบ่งเป็นประเภท เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ (สีม่วง) เขต และพื้นที่ประเภทพัฒนาอุตสาหกรรม (สีม่วงอ่อนมีจุดขาว)

3.กลุ่มพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม 4.85 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินประเภทชุมชนชนบท (สีเหลืองอ่อน) โดยเป็นพื้นที่ชุมชนและเศรษฐกิจชุมชน ที่ดินประเภทส่งเสริมเกษตรกรรม (สีเขียวอ่อน) ส่วนที่ดินประเภท ที่พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขต ปฏิรูปที่ดิน (สีเหลืองมีเส้นทแยงสีเขียว) มีพื้นที่คงเดิมรวม 1.66 ล้านไร่ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ด้านตะวันออกของ EEC

และ 4.พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้น 2.93% รวมพื้นที่ประเภทนี้ทั้งหมด 1.67 ล้านไร่เศษ

ส่วนพื้นที่อื่นๆ ได้แก่ เขตทหารและแหล่งน้ำ มีพื้นที่รวม 2.39 แสนไร่ ลดลงจากเดิม 0.16%

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ