จากใจครูดารินทร์ถึงเด็กชายขอบการศึกษา

จากใจครูดารินทร์ถึงเด็กชายขอบการศึกษา

“ฉันเชื่อว่าหลายๆคนชอบการเดินทาง ซึ่งดิฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น”

ดารินทร์ คันธาลังการ อาสาสมัครครูชายขอบ

ดารินทร์ คันธาลังการ หรือ เฟิร์น เธอเป็นเยาวชนชาติพันธ์ุกะเหรี่ยง ที่เติบโตในจังหวัดเชียงใหม่ เธอเป็นหญิงสาวที่หลงรักการท่องเที่ยวและการผจญภัย และวันนี้เธอจากถ่ายทอดเรื่องราวของเธอ ผ่านการเป็นครูอาสาสมัครในค่ายผู้พลัดถิ่นในรัฐกะเหรี่ยงให้เราได้อ่านกัน

“ฉันเชื่อว่าหลายคน คงชอบการเดินทางและฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น อาจจะมีหลายเหตุผลของผู้คนที่เลือกออกเดินทางไม่ว่าจะเป็น การท่องเที่ยวเพื่อผ่อนคลาย พักผ่อน และเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และอีกหลายเหตุผลสำหรับคนที่ชอบการเดินทาง แต่สำหรับฉันการเดินทาง คือโชดลากที่นำพาฉันให้ได้ค้นพบประสบการณ์ที่ไม่คาดฝันในชีวิต”

“เรื่องราวชีวิตอาสาสมัครของครูชายขอบหญิงสาวเยาวชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ ชื่อ ดารินทร์ คันธาลังการ จะเริ่มนับจากนี้”

เรื่องราวของการเป็นอาสาสมัครครูชายขอบเริ่มต้นในช่วงต้นเดือนสิงหาคม ปี 2562 การเดินทางครั้งนั้นได้เปลี่ยนมุมมอง ความคิดด้านการใช้ชีวิตของฉันไปอย่างสิ้นเชิง ดิฉันเป็นนักศึกษาที่อยู่ในความดูแลของคณะเยซูอิต (คณะนักบวชของศาสนาคริสต์) ในจังหวัดเชียงราย การเดินทางครั้งนั้นเริ่มต้นจากความไม่รู้อะไรเลย เรียกง่ายๆ คือไม่มีเหตุผล หรือเป้าหมายอะไรเลยสำหรับการเดินทาง ตอนที่เดินกำลังจะเดินทางเข้าไปในรัฐกะเหรี่ยงเป็นครั้งและเริ่มต้นชีวิตครูอาสาสมัครกับเด็กชายขอบนั้น มีผู้ร่วมเดินทางเพียงสามคน คือ ตัวฉันเอง และเพื่อนอีก 2 คน แต่หนึ่งในกลุ่มพวกเราเคยไป ณ ที่นั้นแล้ว เราออกเดินทางจากเชียงรายไปเชียงใหม่ใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง

เมื่อเรามาถึงสถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ก็มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งมารับพวกเราและพาเราไปส่ง ณ จุดหมายปลายทางที่เรากำลังจะเดินทาง เราไปพักกันที่แม่สะเรียงหนึ่งคืนที่โบสถ์แห่งหนึ่ง

เช้าวันต่อมาเราก็รีบออกเดินทางไป ตำบลแม่สามแลบ อำเภอแม่สะเรียง เพื่อที่จะติดต่อคนขับเรือ ที่จะพาเราข้ามฝั่งเพราะการเดินทางข้ามชายแดนไทย ไปยังค่ายผู้พลัดถิ่น ในรัฐกะเหรี่ยงนั้นต้องใช้เวลาเดินทางประมาณเกือบ 2 ชั่วโมงโดยใช้แม่น้ำสาละวินเป็นช่องทางการเดินทาง ระหว่างเดินทางนั้นตามสองข้างแม่น้ำจะเป็นป่าที่มีต้นไม้ที่อุดมสมบูรณ์และจะสังเกตเห็นบ้านหลังเล็ก ๆ ตามข้างแม่น้ำทางฝั่งไทยและเมียนมาร์

บ้านแต่ละหลังปลูกห่างกันมาก ความห่างประมาณซัก 500 เมตรได้ ผ่านไปประมาณครึ่งชั่วโมง เรือจอดตรงจุดด่านตรวจ ซึ่งมีทหารพรานประจำการอยู่พร้อมทั้งถือปืนเดินเข้ามาใกล้ และเช็คของในเรือ ณ ตอนนั้นใจของฉันเต้นเร็วมากและทำอะไรไม่ถูก รู้สึกกลัวเพราะไม่เคยเจอปืนจ่อใกล้ขนาดนี้มาก่อนในชีวิต คือ ตอนนั้น ทหารเดินผ่านตรงที่ฉันนั่งและใจของฉันก็หายวับตกไปถึงตาตุ่มเลยทีเดียว หลังจากตรวจสอบเสร็จเราก็ออกเดินทางต่ออีกครึ่งชั่วโมง ก็มาถึงฝั่งชายแดนรัฐกะเหรี่ยง ในค่ายผู้พลัดถิ่น ซึ่งมีเด็กๆ มาต้อนรับและช่วยเราขนของ เราต้องเดินทางเข้าหมู่บ้านหนึ่งเพื่อจากเข้าไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งที่ชื่อ อิตุท่า ซึ่งตั้งอยู่ในกองพลน้อยที่ 5 ของรัฐกะเหรี่ยงที่ปกครองโดยกองกำลังสหภาพกะเหรี่ยง KNU ( Karen National Unions ) ในประเทศเมียนมาร์

พวกเราทั้งสามคนไปพักกันที่หอพักแห่งหนึ่งซึ่งมีผู้ดูแลชื่อพาตี่บ่อ วันแรกของการไปถึงที่นั้นพวกเรายังไม่ได้เริ่มทำกิจกรรมอะไรเลย นอกจากพักผ่อน แต่เช้าวันรุ่งขึ้นฉันสังเกตุว่าเด็กที่หอพักตื่นเช้ามาก พวกเขาตื่นมาทำกับข้าวตั้งแต่ 3.30 น. หรือ 4.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย เพราะที่เมียนมาร์เวลาจะช้ากว่าประเทศไทย 30 นาที ทุกเช้าหอพักเด็กนักเรียนที่ฉันพักอยู่เด็กนักเรียนจะตื่นมารวมตัวกันเข้าแถวเช็ดชื่อก่อนแยกย้ายกันไปทำหน้าที่ของตัวเองที่ได้รับมอบหมายไว้ ไม่ว่าจะเป็นการตักน้ำ ผ่าฝืน ถอนหญ้า ถางหญ้าที่สวนซึ่งห่างออกไปจากหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด ฉันไม่รู้ว่าต้องทำอะไรดีเพราะน้อง ๆ เขาตื่นเช้ามาก เพื่อนอีกสองคนก็ นอนอีกที่หนึ่ง จะนอนต่อก็ไม่กล้านอนเพราะ น้องที่อาศัยอยู่ในหอพักที่ฉันพักอยู่ตื่นเข้ามากทุกคน พอถึงเวลาทานข้าว ตามธรรมเนียมเขา คือ แขกต้องทานข้าวก่อน เขาถึงจะทานได้ รู้สึกทั้งเกรงใจและอายมากที่ไม่สามารถช่วยอะไรน้อง ๆ ได้

พอกินข้าวเสร็จน้อง ๆ ที่พักอยู่หอพักเดียวกับที่ฉันนอนก็ล้างจานให้ฉัน ซึ่งฉันรู้สึกละอายใจตัวเองมากที่ไม่ได้ช่วยอะไรเขาเลยแต่ต้องมาให้เขาล้างจานที่ฉันได้ทานข้าว หลังจากเสร็จธุระเรียบร้อยเสร็จแล้ว ภารกิจต่อไปของฉันคือ เริ่มต้นการสอน ซึ่งพวกเราที่เป็นอาสาสมัครครูจะสอนวันละ 3-4 คาบ คาบเรียนละ ประมาณ 1 ชั่วโมง ช่วงสอนครั้งแรกฉันรู้สึกเจ็บคอมากเพราะต้องใช้เสียงในการสอนเด็ก และเด็ก ๆ แต่ละห้องมีเด็กนักเรียนประมาณ 50-60 คนและในค่ายผู้พลัดถิ่นนั้น ไม่มีสัญญาโทรศัพท์ใด ๆ ทั้งสิ้นและไม่สามารถติดต่อทางบ้านได้เลย

ฉันและเพื่อนของฉันได้ใช้ชีวิตกับน้อง ๆในหอพักและกับเด็กนักเรียนในโรงเรียนค่ายผู้พลัดถิ่นเป็นเวลาเกือบ 3 อาทิตย์ และแล้ววันเวลาก็สั้นจนนับไม่ทัน เมื่อถึงวันที่เราต้องรำลากัน คืนสุดท้ายก่อนที่เราจะกลับไทย มีการจัดพิธีอำลาให้แก่พวกเราอาสาสมัครในหอพักที่เราอาศัยอยู่ เด็กนักเรียนร้องเพลงให้กับเราฟัง และมอบของขวัญให้กับเราและพวกเขาได้กล่าวความรู้สึกให้แก่พวกเราอาสาสมัคร ณ ช่วงเวลานั้นฉันรู้สึกว่า มีอะไรบางอย่างที่ฉันต้องแบกรับและกำลังจะจากพวกเขาไป แต่อีกใจหนึ่งก็ดีใจที่จะได้กลับบ้าน ช่วงเช้าของวันที่จะกลับบ้านเราพยายามไม่พูดและไม่อะไรและไม่ทำอะไรเลย ฉันและเด็กนักเรียนต่างนั่งเฉย ๆ กลัวไปคุยกับเขาแล้ว ทั้งเราและเขาจะร้องไห้ เราเดินมาถึงตรงจุดที่ต้องขึ้นเรือ เด็ก ๆ ก็เข้ามากอดเราเป็นกลุ่มใหญ่และร้องให้ ครั้งแรกของฉันที่รู้สึกถึงความเป็นครู แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ แต่พวกเขาก็ทำให้ฉันรู้สึกถึงความเป็นครูจริง ๆ

เด็กๆเข้ามากอดเราเป็นกลุ่มใหญ่และร้องให้ ครั้งแรกของฉันที่รู้สึกถึงความเป็นครู

แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ”

“จากประสบการณ์ที่สำคัญมากในครั้งนี้ ฉันได้สัมผัสถึงความจริงใจ ความซื่อสัตย์ และความซื่อตรง และอีกมุมหนึ่งในความเป็นผู้ใหญ่ของพวกเขา โดยที่ไม่มีใครต้องมาบอกมากล่าวอะไรเลย ทุกอย่างมาจากจิตใจที่บริสุทธิ์ของพวกถึงแม้ว่าสภาพความเป็นอยู่จะไม่ได้มีครบทุกอย่าง และไม่สะดวกสบายเท่าที่ฉันอาศัยในประเทศไทย แต่พวกเขากลับมีความสุขในแบบของพวกเขา และเปี่ยมล้ด้วยความเผื่อแผ่ และสุดท้ายถ้าฉันมีโอกาสอีกสักครั้งฉันจะกลับไปเยี่ยมพวกเขาอีก”

ดารินทร์ คันธาลังการ อาสาสมัครครูชายขอบ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ