การเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของคนกลุ่มใหม่ในโลกเสมือน : ห้องเรียนที่ 1 การเมืองดิจิตอล (digital politics)

การเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองของคนกลุ่มใหม่ในโลกเสมือน : ห้องเรียนที่ 1 การเมืองดิจิตอล (digital politics)

“และสุดท้ายเราจะมองโลกออนไลน์ เทคโนโลยี หรือเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ยังไง สำหรับผมใช้มันในฐานะที่มันเป็นโลกที่สัมพันธ์กันแต่ว่ามันสามารถแบ่งเป็นคนละเฉดหรือแบ่งเป็นห้อง ๆ ได้ แล้วแต่เราจะเลือกใช้ในเวลาไหน”

ชัยพงษ์ สำเนียง,  ผู้บรรยาย,  21 มิถุนายน 2563

หลายคนเชื่อมโยงวิธีคิดตัวเองจากวาระในโลกออนไลน์แบบแยกไม่ออกและผูกโยงชีวิตประจำวันเข้ากับเทคโนโลยีแบบขาดไม่ได้ ปรากฏการณ์เหล่านี้เราจะเข้าใจอย่างไร แม้ว่าในอดีตมันเป็นเหมือนเรื่องที่ไกลตัวเรา แต่พอมาถึงวันนี้  หลายคนปฏิเสธไม่ได้ว่ามันแนบชิดเราขึ้นทุกวัน

ห้องเรียนนี้  เป็นหนึ่งในความพยายามของ We Watch ที่จะพาผู้สนใจการเมืองและสังคมมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ “การเมือง” ในอีกมิติหนึ่งผ่านสายตาของนักมานุษยวิทยาผู้ศึกษาการเมืองในสนามออนไลน์ หรือ ดร.ชัยพงษ์ สำเนียง จากสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในครั้งนี้ เราต้องการเน้นคุณภาพของห้องเรียนจึงกำหนดผู้เข้าเรียนเพียง 15 คน/ห้อง ซึ่งผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมเรียน สามารถอ่านเนื้อหาบางส่วนได้ ตามนี้

การหวนกลับมาสู่การอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองผ่านดิจิทัล

เอ้! เราจะเข้าใจการเมืองแบบใหม่นี้ยังไง สิ่งที่มันเป็นปรากกการณ์สำคัญที่ทำให้ผมคิดเรื่องนี้ขึ้นมา คือ หนึ่ง ทำไมคนถึงมาเลือกพรรคอนาคตใหม่จำนวนมหาศาล สองคือ อะไรเป็นแรงจูงใจ หรือเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม 

ในฐานะเป็นนักมานุษยวิทยาผมก็คิดถึงเรื่องพวกนี้เลยกลับไปอ่านหนังสือแนวมานุษยวิทยา ในสาขาวิชามานุษยวิทยามีหนังสือเกี่ยวกับ digital politics เยอะมาก และ digital anthropology ต่าง ๆ พอสมควร เรื่องดิจิตอลมันมีการศึกษาในแนวมานุษยวิทยาตั้งแต่ทศวรรษ 2000 หมายความว่ามันมีการคิดกันเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้ว แต่มันไม่ได้ถูกคิดอย่างจริงจัง เมื่อก่อนมันคิดในระบบอนาล็อกผสมกับดิจิตอล แต่ว่าหลังจากสิ่งที่เราเห็นในสังคมไทยมันนำมาสู่มุมมองต่อปรากฏการณ์หลาย ๆ อย่าง ดังการปรากฏตัวของการเคลื่อนไหวทางการเมืองผ่านดิจิตอล ผ่านภาคที่ไม่มีตัวตนลงมาถึงภาคสนาม เริ่มตั้งแต่อาหรับสปริง หรือ การเคลื่อนไหวต่าง ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลาง เราจะเห็นว่ามันมีการเคลื่อนไหว การรวมตัวกันประท้วง  อันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้นักมานุษยวิทยาหันกลับมาดูว่ามีความคิดอะไรที่จะมาอธิบายปรากฏการณ์นี้

ในทางมานุษยวิทยามีข้อถกเถียงสำคัญ 2 อย่าง หรือ “ดีเบตใหญ่ของเรื่องดิจิตอล คือ หนึ่ง เราจะมองมันในฐานะที่เป็นโลกแห่งความจริง เป็นโลกที่มีปฏิบัติการ เห็นตัวตน หรือสอง เป็นโลกเสมือนที่เราสร้างแต่งขึ้น เรานึกถึงโลกสองโลก ผมไปคุยกับนักเศรษฐศาสตร์บางท่านก็ไม่ค่อยเห็นด้วยกับพวกเราหมายความว่าเขาไม่เห็นด้วยกับพวก Anthropologist ที่บอกว่าเรามีสองโลก ในโลกเสมือนเราสร้างตัวตนแบบไหนก็ได้ สร้างตัวตนแบบอยากทำให้โปรไฟล์ดีต่าง ๆ นานา อยากแสดงความคิดเห็นอะไรก็ได้ แต่ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงเราก็พยายามปิดบังซ่อนเร้นตัวตนไว้” 

ในสังคมวิทยา/มานุษยวิทยาบอกว่า การที่มีพื้นที่ออนไลน์มันเป็นการเปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองให้มากขึ้น คือ สังคมออนไลน์เป็นสังคมที่อยู่นอกเหนือจากภาคกายภาพ มันทำให้เป็นสื่อกลางของการเคลื่อนไหวทางสังคม คือ นำคนที่แตกต่างกันมาสนทนาร่วมกัน สนทนายังไงครับ ตัวอย่างการสนทนาทางการเมือง เช่น แฮชแท็ก (#) อย่างล่าสุด #saveโรม #ตามหาวันเฉลิม เราก็จะเห็นว่ามันเชื่อมร้อยคนต่าง ๆ ซึ่งอาจจะไม่คิดเหมือนกันเลย อาจมองวันเฉลิมอีกแบบหนึ่ง หรือมองโรมอีกแบบนึงแต่ว่ามันเชื่อมร้อยกันจนมาสู่การถกเถียงในทวิตเตอร์ 

ผมเน้นพื้นที่ทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กเพราะว่าพื้นที่อื่นหรือพื้นที่ไลน์ การสื่อสารมันเป็นการสื่อสารส่วนตัวมากกว่า ผมก็เลยเลือกศึกษาเฉพาะทวิตเตอร์กับเฟสบุ๊ค สองพื้นที่นี้มันสามารถเชื่อมคนต่าง ๆ  มาถกเถียงได้มากกว่า ผมคิดว่าเราสามารถยกตัวอย่างได้ง่ายสุด ใครอยู่ ม.ช. เราจะเห็นเรื่องเตีย ม.ช. มันนำคนที่รักหมา บางคนบอกว่าคลั่งหมาในหลาย ๆ ที่มารวมกันแล้วกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถกเถียงกันต่าง ๆ นานา จนกลายเป็นประเด็นดราม่า 

สังคมออนไลน์นำมาสู่ประเด็นทั้งในเชิงคุณภาพ คือ เกิดการถกเถียงกัน และประเด็นดราม่าหรือการสร้างข่าวปลอมต่าง ๆ นานาก็มีจำนวนมาก  ในขณะเดียวกันมันก็นำมาสู่การเติบโตทางการเมือง ผมคิดว่าพื้นที่ออนไลน์มันคือการสื่อสารที่รวดเร็ว ใครก็สามารถเป็นนักข่าว ใครก็สามารถที่จะเป็นผู้ที่ส่งสารได้ เวลาที่จะโพสต์อะไรลงไป ผมยกตัวอย่าง คือ เราไม่เคยรู้จักตัวตนของเขามาก่อนเลย แต่ว่าเขาสามารถเขียนสื่อสารเรื่องทางการเมือง สื่อสารประเด็นทางสังคมได้ มันก็นำมาสู่การติดตามเป็นจำนวนหลักแสน 

เฮ้ย! เราก็จะเห็นว่าคนเหล่านี้นำมาสู่การถกเถียงเล็ก ๆ น้อย ๆ คนที่ไม่เคยสนใจการเมืองก็มาเห็นการเมืองผ่าน # อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ 

อีกอย่างหนึ่ง คือ โลกออนไลน์มันมีสองมิติที่มีการถกเถียงกัน “หนึ่ง มันมีการหลุดพ้นจากการปิดกั้นทางการเมืองก็คือมันอยู่เหนือตัวตนเรา หมายความว่าในทางกายภาพเราไม่รู้ชื่อปลอมแต่อาจจะโดนจับได้นะครับ (ขำ) แต่มันก็ทำให้เราดูปลอดภัย ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่มันปลอดพ้นจากอำนาจรัฐ” หรือที่ Soja (1996) เรียกว่า “พื้นที่ปราศจากการควบคุมแบบสมบูรณ์ของรัฐ” แต่ว่าก็จะมีข้อถกเถียงกันอีกว่า ในพื้นที่ออนไลน์มันมีคุณภาพจริงไหม สามารถสร้างการถกเถียงเรียนรู้ หรือว่าเป็นข่าวจริงไหม อันนี้สำคัญ คือเราพูดถึงข่าวปลอม หรือว่าเป็นข่าวที่ง่าย ๆ ใครก็สามารถสร้างกดอะไรก็ได้เราปล่อยข่าวปลอมอะไรก็ได้ สามารถสร้างวาระทางสังคมได้มากมาย จนมีนักวิชาการบอกว่า “มันเป็นพื้นที่ที่เป็นมายาภาพ ประชาธิปไตยไม่ได้มีคุณภาพจริง ๆ” (Hindman 2008)

อีกข้อถกเถียง คือ การเคลื่อนไหวออนไลน์ไม่สามารถที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมได้ เราจะเห็นได้ว่า ในหลาย ๆ ครั้งไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวได้ แม้จะสามารถนำผู้คนมารวมกันแต่ว่าผู้คนที่มารวมกันเป็นกลุ่มคนที่มีความหลากหลายเชื่อมโยงกัน แต่จะเชื่อมกันได้บางเรื่อง เช่น เซฟวันเฉลิม เซฟโรม ซึ่งก็มีความแตกต่างกัน

ขณะที่ Daniel Miller (2016; 2562) บอกว่า “ชีวิตจริงกับชีวิตโลกเสมือนมันเป็นชีวิตเดียวกัน มันเคียงคู่กันไป มันสร้างชุมชน” อันนี้คือสิ่งที่ผมใช้มันในฐานะที่มันไปคู่กัน ชีวิตจริงในโลกออนไลน์กับชีวิตจริงในโลกทางกายภาพมันคือชีวิตเดียวกันไม่ได้แยกขาดออกจากกันแต่ว่าเราจะแยกบางเฉดบางห้อง “สิ่งที่เราเป็นกับสิ่งที่เราโพสต์มันคืออันเดียวกัน”

และสุดท้ายเราจะมองโลกออนไลน์ เทคโนโลยี หรือเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์ สำหรับผมใช้มันในฐานะที่มันเป็นโลกที่สัมพันธ์กันแต่ว่ามันสามารถแบ่งเป็นคนละเฉดหรือแบ่งเป็นห้อง ๆ ได้ แล้วแต่เราจะเลือกใช้ในเวลาไหน 

ระบบเลือกตั้งและภูมิทัศน์ทางการเมือง 

การสื่อสารในโลกออนไลน์มันมากับคนกลุ่มใหม่ คนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นคนที่ใช้การสื่อสารประเภทนี้เป็นจำนวนมหาศาล เราจะเห็นว่าจำนวนคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ/เสียงในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีประะมาณ 6 – 7 ล้านคน ซึ่งเสียงเหล่านี้เป็นเสียงที่เกิดมาพร้อมกับยุคดิจิตอล วิถีชีวิตพวกเขาเกิดมาพร้อมกับตอนเช้าเปิดเช็คข่าวต่าง ๆ นานา ถ้าสมมติว่าคนที่อยู่ในระบบเก่า หรือคนที่มีอายุโดยประมาณ 50 ปีขึ้นไปเกิดมาภายใต้โลกแบบอนาล็อก (analog) วิธีการสื่อสารของพวกเขาเราจะนิยมช่องทางไลน์ กลุ่มไลน์แบบนี้จะมีข้อความประเภท “สวัสดีตอนเช้า” ส่งข่าวอย่างรวดเร็ว เร็วกว่าพวกเรานะครับ ผมอยู่ในกลุ่มบางกลุ่มเหมือนกัน ส่งข่าวปุ๊ป ๆ แต่ข่าวพวกนี้เป็นข่าวที่ไม่ได้กรองและก็เป็นการติดต่อสื่อสารทางเดียว คือ ให้นึกถึงทวิตเตอร์กับเฟสบุ๊ค หมายความว่าเวลาคุณโพสต์อะไรสักอย่าง หรือโพสต์อะไรต่าง ๆ นานา มันก็จะมีคนเข้าไปตอบโต้ บางกรณีตอบโต้จำนวนมหาศาล คุณสามารถเข้าไปต่อสู้อะไรได้ แต่ว่าถ้าเป็นไลน์ข่าวจะไวมาก และผมคิดว่าเป็นการสื่อสารทางเดียว หรือมันอาจมีการตอบโต้กันไปมาแต่มันจะไปอยู่เฉพาะกลุ่มปิด หมายความว่าการสื่อสารแต่ละแบบมันนำมาสู่สำนึกทางการเมืองของคนแต่ละกลุ่มที่ไม่เหมือนกัน

ช่วงอายุกับการเมืองที่สัมพันธ์กันส่งผลต่อวิธีการหาเสียงที่แตกต่างกัน

ขอยกตัวอย่างพร้อมภาพประกอบที่แสดงให้เห็นว่า คนในแต่ละช่วงอายุพวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้างซึ่งจะพบว่า อายุกับการเมืองมักสัมพันธ์กัน และจะส่งผลต่อลักษณะและวิธีการหาเสียงที่แตกต่างกันไปด้วย  กล่าวคือ การสื่อสารจะต้องใช้ “คอนเทนต์” อีกแบบหนึ่ง เช่น ข้อความอะไรที่สั้น ๆ และเชื่อมร้อยผู้คนได้ แต่คนที่เป็นผู้ใหญ่ก็จะเขียนอะไรยาว ๆ 

ดิจิตอลมันมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง อันนี้ผมยกตัวอย่างบุคคลสำคัญที่มีอายุเขียนโพสต์ จะมีลักษณะที่ไม่เหมือนคนรุ่นใหม่ ยกตัวอย่างแฮชแท็กฮิตติดเทรนทวิตเตอร์ เช่น #สามพระจอมจะยอมได้ไง #KKU ขอโทษที่ช้าโดนสลิ่มลบโพสต์ คือ ถ้าคนไม่มีอะไรอย่างนี้มันจะคิดไม่ถึง คนที่ไม่เคยปฏิสัมพันธ์กันมาเชื่อมร้อยผ่าน#อะไรอย่างนี้ เราจะเห็นว่าเกิดขึ้นเป็นหมื่นเป็นแสน ถามว่าถ้าเป็นโลกแบบเก่า โลกแบบกระดาษ โลกแบบหนังสือพิมพ์มันขึ้นแบบนี้ไหม คือตอบว่า มันก็สร้างวาระอีกแบบ ถ้าเราอยากเห็นคุณป้าทั้งหลายก็จะเป็นแบบนี้ ห้อยนกหวีด มีสัญลักษณ์

มีอะไรอยากจะแลกเปลี่ยนไหมครับ? 

คำถาม “จริง ๆ แล้วภาพการเมืองในโลกออนไลน์มันสะท้อนภาพการเมืองจริง ๆ หรือเปล่า เพราะอย่างล่าสุดที่เราเห็น คนที่เกลียด “…” แต่ปรากฏว่า “…” ลงไปช่วยหาเสียงก็ปรากฏว่าก็ชนะเฉยเลย อย่างที่อาจารย์พูดถึงเมื่อก่อนมันอาจจะมีบอร์ดอะไรต่าง ๆ ในการแลกเปลี่ยน มันเป็นแค่การย้ายพื้นที่มาในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นหรือเปล่า แต่มันไม่ได้มีคนฝั่งตรงข้าม ถึงมีก็มีเฉพาะพวกไอโออะไรกระจอก ๆ อีกประเด็นก็คือ การเลือกตั้งที่ผ่านมาเราก็เกิดคำถามว่า เอ้! ใครมันกาพรรคนี้นักหนา ชอบกาพรรคนี้จัง คือ เลือกตั้งครั้งนี้เขาชนะได้ไง เหมือนกับว่าเลือกตั้งเราก็เหมือนคุยกันในโลกยุคดิจิตอลของเรากันเองแต่พบว่าการเมืองในสนามจริงมันเป็นอีกแบบหนึ่งไปเลย ชาวบ้านเขาไม่ได้สนใจเรื่องที่พวกคุณมาคุยกันในทวิตเตอร์หรอก เขาสนใจเรื่องเบี้ยคนชรา ประกันสังคมอะไรของเขาเนี้ย หรือหัวคะแนน ผู้มีอิทธิพล หรือคนที่ให้ประโยชน์เขาได้ ไม่มาเสียเวลาเถียงกับพวกคุณในออนไลน์หรอก

คำตอบ “อันนี้ผมขอแลกเปลี่ยน….ผมคิดว่าการเมืองพื้นที่มันก็มีการเมืองในระหว่างกลุ่มต่าง ๆ หมายความว่าหกสิบเปอร์เซ็นที่ผ่านมาผมคิดว่าคนที่ไปเลือกตั้งส่วนใหญ่คือคนที่อยู่ติดพื้นที่ คนอยู่ในหมู่บ้าน ซึ่งคนเหล่านั้นเขาใช้โลกอีกแบบหนึ่ง ก็ไม่ได้ผิดอะไร เขาก็ไม่ได้อยู่ในเฟสบุ๊คในทวิตเตอร์อยู่แล้วหมายความว่าไม่ได้อยู่ในการถกเถียง แต่ว่าสิ่งที่ผมสนใจในการเมืองดิจิตอล คือ การที่จะสร้างวาระต่าง ๆ คือ คนรุ่นใหม่ อันนี้ต่างหากที่ผมสนใจ อันนี้ คือหัวข้อเลยนะครับ กลับไปที่ อันนี้ก็คือกันตัวเองไว้ (ยิ้ม) หมายความว่าคนกลุ่มใหม่ในโลกเสมือน หมายความว่า ผมไม่ได้เข้าใจการเมืองทั้งหมดนะครับ ถ้าอยากกลับเข้าใจการเมืองพื้นฐานก็ต้องกลับไปดูการเมืองเชิงสถาบัน Actor ขบวนการเคลื่อนไหว ฯลฯ แต่มันไม่ได้แยกขาดจากกัน แต่มีลักษณะบางอย่างจำเพาะ อีกอันหนึ่ง สิ่งที่ผมกำลังนำเสนอก็คือ เราเข้าใจคนกลุ่มใหม่ คนเลือกตั้งครั้งแรก คนพวกนี้ไม่สามารถชนะระบบเขตได้อยู่แล้ว อาจจะแพ้แต่หมายความว่ามันสามารถที่จะสร้างวาระทางสังคมได้ ถามว่ามันมีผลกระเทือนไหมผมก็คิดว่ามันมีผลสะเทือนนะในหลาย ๆ ครั้ง

สิ่งที่น่าสนใจ ผมเรียกมันว่า “เวิ้งว้างของการเชื่อมต่อ” เมื่อก่อนเหมือนกับว่าลูกดูทีวีเล่นเกมต่าง ๆ ไม่ได้เข้าใจอะไร สังคมไทยมันมีเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม อนาล็อก ดิจิตอล ข่าวปลอม และสถานะมันเชื่อมกันในแง่ของประเด็นการเมืองหรือปรากฏการณ์ทางสังคมหรือว่าในทางกลับกันมันก็ถ่างความสัมพันธ์ของผู้คนในหลายระดับเหมือนกัน เช่น คนที่มีความคิดทางการเมืองต่างกันเล่นแพลตฟร์อม (Platform) ที่ต่างกันก็นำมาสู่วิธีคิดที่ต่างกัน หรือคนที่อายุมาก ดูข่าวต่าง ๆ เช่น ข่าวปลอมก็สร้างสถานะตัวตนอีกแบบหนึ่ง

ผมยกตัวอย่างอันหนึ่ง ผมรู้จักอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านนึงเป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมาก ตอนแรกท่านก็เกลียดคนนี้ แต่ว่าพอมีเหตุการณ์ “สึนามิทางการเมือง” ตอนแรกท่านจะเลือกพรรค…คือมีความกลาง ๆ จะเลือกพรรค…ก็ถอนรากถอนโคนเกินไป จะเลือกพรรค…ก็รับคนนี้ไม่ได้ จะเลือกพรรค…ไปไม่ไหวแล้ว สุดท้ายเลือกพรรคนี้เพราะว่า “กลาง ๆ” สำหรับเขา 

อ่านเพิ่มเติม

Horst, Heather A. Miller, Daniel. (Editor).  

2012     Digital Anthropology  London : Berg.

Hindman, Matthew. 

2008     The Myth of Digital Democracy  Princeton, NJ: Princeton University Press.  

Miller, Daniel.

2562     (ฐณฐ จินดานนท์: แปล)  Why We Post: ส่องวัฒนธรรมโซเซียลมีเดียผ่านมานุษยวิทยาดิจิตอล กรุงเทพ ฯ : bookscape. 

Miller, Daniel. 

2016     How the World Changed Social Media  London : UCL Press.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ