Gen C-reporter: ‘ศูนย์บาท’ ไม่สูญเปล่า เมื่อขยะแทนเงินได้

Gen C-reporter: ‘ศูนย์บาท’ ไม่สูญเปล่า เมื่อขยะแทนเงินได้

‘ฝนตก น้ำท่วม’ สภาพปัญหาที่กรุงเทพฯ ต้องผจญอยู่ในขณะนี้ สาเหตุหลักๆ ที่ถูกพูดถึงในสังคม นั่นคือ ขยะจำนวนมากที่เข้าไปอุดตันตามท่อระบายน้ำ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเข้ามาร่วมกันหาทางแก้ปัญหา นักข่าวพลเมือง Gen-C reporter จึงอยากนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหา ‘ขยะล้นเมือง’ ด้วยโมเดลการจัดการกับขยะในโครงการร้านศูนย์บาท ของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ หรือชุมชนซาเล้ง เขตประเวศ กรุงเทพฯ

20152506191247.jpg
 
“เริ่มจากพี่น้องซาเล้ง พี่น้องซาเล้งเวลาหาของหาขยะได้เนี่ยนะ ก็ต้องไปขายเพื่อให้ได้เงินมา ไปซื้อสินค้าอยู่ดี มันมีคำถามช่วงนั้น ผมไปตลาดนัดนะ เชื่อไหมทุกคนมาตลาดนัด ทุกคนต้องมีเงิน ถามในใจว่าตัวเองไม่มีเงิน เราจะแก้ปัญหาอย่างไงทั้งๆ ที่อยากจะได้ของ” พีรธร เสนีย์วงศ์ ผู้ริเริ่มโครงการร้านศูนย์บาทร่วมกับชาวบ้านในชุมชน บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นแนวความคิดใช้ขยะแทนเงิน
 
พีรธรเล่าด้วยว่า ครั้งแรกเขาและเพื่อนเอาเงินมารวมกัน ได้เงินมาประมาณ 6,000 บาท แล้วเอาไปซื้อสินค้า ซื้อสิ่งที่จำเป็น แล้วจึงเริ่มไปตามที่ชุมชนต่างๆ โดยมีข้อแม้คือ ทุกคนไม่ต้องเอาเงินมา แต่ให้เอาขยะมาแลกสินค้าในร้านศูนย์บาท

20152506191301.jpg

โครงการร้านศูนย์บาทจัดตั้งขึ้นมาเพื่อทุกคนในชุมชน นอกจากช่วยลดค่าครองชีพแล้วยังช่วยสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้น และเด็กๆ ในชุมชนก็ได้เห็นความสำคัญกับการเก็บขยะด้วย
 
“หนูช่วยพ่อแม่เก็บของขายค่ะ”
 
“เก็บของเอาไปขายครับ เอาเงินให้พ่อแม่ซื้อข้าวกินครับ”
 
“เอาไปซื้อกับข้าวมากินทั้งครอบครัว แล้วเงินที่เหลือก็เก็บไว้ครับ”

 
เหล่านี้ คือเสียงบอกเล่าจากเด็กๆ ในชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่
 
การจัดตั้งร้านศูนย์บาทเป็นการส่งเสริมให้ทุกคนในชุมชนได้มีส่วนร่วมในการคัดแยกขยะ  ซึ่งสามารถสร้างรายได้และอาชีพให้ผู้คนที่นี่ นอกจากนั้น ขยะรีไซเคิลที่ได้ก็สามารถนำมาต่อยอดด้วยการ ประดิษฐ์เป็นสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าได้ เช่น การนำกระดาษมาทำเป็นลูกปัด นำซองกาแฟมาทำเป็นกระเป๋า ส่วนขยะเปียกและเศษอาหารสามารถใช้ประโยชน์ในการเลี้ยงสัตว์และทำเป็นปุ๋ยสำหรับปลูกผักได้ ที่สำคัญรายได้จากร้านศูนย์บาท ยังถูกแบ่งสรรนำมาเป็นกองทุนสวัสดิการให้แก่สมาชิกในโครงการ

20152506191405.jpg
 
“ช่วงแรกเรามีการระดมหุ้น ประเด็นคำถามเลยคือว่า ถ้าลงหุ้นแล้วฉันได้อะไร สุดท้ายเขาก็บอกว่ากำไร 5เปอร์เซนต์เนี่ยเขาแบ่งไป 5 ส่วน 15 เปอร์เซนต์แรกคือค่าหุ้น 15 เปอร์เซนต์หลังคือให้ทุกคนเอาขยะมาแลกที่ร้านศูนย์บาท อีก 20 เปอร์เซนต์จะมีเจ้าหน้าที่ดูแล อีก 50 เปอร์เซนต์เอาไปสู่การพัฒนา” พีรธร เล่าถึงการจัดการ

โครงการร้านศูนย์บาทของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ รวมทั้งโครงการต่างๆ ในชุมชน ตอบสนองความต้องการของคนในชุมชนทั้งด้านการบริโภคสินค้า เศรษฐกิจครัวเรือน และการแก้ปัญหาใหญ่ของสังคมอย่างปัญหาขยะ จากจุดเล็กๆ คือชุมชน ทั้งยัง ต่อยอดไปถึงการจัดกิจกรรมให้เด็กๆ ในชุมชน เช่น การแข่งขันต่อยมวยทะเล เพื่อสานความสัมพันธ์และแก้ปัญหายาเสพติด สร้างความเข้มแข็งในชุมชนด้วย

20152506191428.jpg
 
ปัจจุบัน ร้านศูนย์บาทที่เริ่มจากที่ชุมชนอ่อนนุช ได้ขยายสาขาไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประทศ กว่า 8 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ น่าน สตูล เชียงใหม่ โดยส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น
 
ขยะอาจไม่ใช่เพียงสิ่งไร้ค่า หากทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและร่วมกันจัดการจากที่ตัวเรา ชุมชนของเรา ปัญหาขยะล้นเมืองอาจไม่ใช่เรื่องแก้ยากอีกต่อไป

20152506191443.jpg

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: นักข่าวพลเมือง : ศูนย์บาท ไม่สูญเปล่า

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ