รอดจากโควิด เพราะชุมชนมีซุปเปอร์มาร์เกตขนาดหมื่นไร่

รอดจากโควิด เพราะชุมชนมีซุปเปอร์มาร์เกตขนาดหมื่นไร่

แม้ไม่มีไฟฟ้าใช้ สัญญาณโทรศัพท์เข้าไม่ถึง และมีการปิดชุมชนถึง 3 เดือน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด แต่ชาวบ้านแม่จอกกว่า 50 ครัวเรือนไม่ต้องกังวลเรื่องอาหาร เพราะมีผืนป่าที่ชุมชนร่วมกันดูแลมากกว่า 1 หมื่นไร่เป็นแหล่งอาหารหลัก เปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตที่เข้าไปเก็บอาหารได้ตลอดเวลา ต่างกันตรงที่ไม่ต้องจ่ายเป็นตัวเงิน แต่จ่ายด้วยน้ำพักน้ำแรงในการร่วมกันดูแลรักษาป่าแทน

พืชผัก ที่เก็บได้จากพื้นที่ป่าในชุมชน

บ้านแม่จอก เป็นหมู่บ้านชาวปกาเกอญอ อยู่ในตำบลป่าแป๋ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทางจากตัวเมืองประมาณ 3 ชั่วโมงเศษบนถนนสายแม่มาลัย-ปาย เลี้ยวขวาตรงบ้านแม่แสะ ลงเขาไปเพียง 5 กิโลเมตร ก็จะเจอกับหมู่บ้านเล็ก ๆ ล้อมรอบไปด้วยป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีน้ำแม่จอกไหลผ่านหล่อเลี้ยงชาวบ้านกว่า 300 ชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ทำนาขั้นบันได และบางครอบครัวยังทำไร่หมุนเวียนอยู่ จากบันทึกพบว่าบ้านแม่จอกได้ตั้งชุมชนถาวรอยู่ที่นี่กว่า 130 ปีแล้ว

ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดที่ผ่านมา บ้านแม่จอกเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ได้ปิดหมู่บ้านห้ามคนเข้าออกเด็ดขาดในระยะแรกเป็นระยะเวลา 15 วัน และต่อมามีการสร้างประตูล็อคกุญแจ จำกัดการเข้าออกเฉพาะกรณีจำเป็น รวมแล้วเป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม ทำให้ไม่สามารถจับจ่ายซื้อของจากภายนอกได้ แล้วต้องหันมาพึ่งพาอาหารที่มีอยู่ในขอบเขตชุมชนอย่างเต็มรูปแบบเหมือนในอดีต

ศุภลักษณ์ มุสุลอย หรือ “แอ๊ะถู่” กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5 ในตัวเมืองเชียงใหม่ ต้องกลับมาอยู่บ้านเนื่องจากโรงเรียนปิดทำการสอนช่วงโควิด เล่าให้เราฟังว่า “ชาวบ้านแม่จอกไม่ต้องกังวลเรื่องอาหารการกิน เพราะมีพืชป่าให้เก็บหามากมาย ทั้งพืชที่ขึ้นตามเรือกสวนไร่นา ตามข้างทาง หรือในพื้นที่ป่า มีทั้งผัก หน่อไม้ เห็ดป่า ผลไม้ป่า ในลำห้วยก็มีกุ้งหอยปูปลาให้จับ”

แอ๊ะถู่ กำลังทำอาหารจากพืชป่ารอบชุมชน

“แอ๊ถู่” เชื่อว่าเหตุที่ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหารสูงเช่นนี้ เป็นเพราะทุกคนช่วยกันดูป่าอย่างดีมาโดยตลอด พร้อมทั้งยกคำสอนสุดคลาสสิคของปกาเกอญอมากล่าวว่า 

“เอาะ ที เก่อ ตอที – เอาะ ก่อ เก่อ ตอ ก่อ” หมายถึง “ใช้น้ำให้รักษาน้ำ ใช้ป่าให้รักษาป่า” นั่นเอง 

คำบอกเล่าของแอ๊ะถู่ สอดคล้องกับข้อมูลที่เคยยื่นขอจดทะเบียนเป็นโฉนดชุมชนเมื่อปี 2554 บ้านแม่จอกมีเนื้อที่รวมทั้งสิ้น 10,713 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา แบ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัย 123 ไร่ ที่ทำกิน 758 ไร่ และพื้นที่ป่าอนุรักษ์กับพื้นที่ป่าใช้สอยรวมกันประมาณ 8800 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 88 ของพื้นที่ชุมชนทั้งหมด ในปี 2553 ระหว่างเดือนมกราคม  ถึงเดือนพฤษภาคม มีการจัดแรงงานชาวบ้านเพื่อดูแลป่า เช่น ทำแนวกันไฟ จัดเวรยามลาดตระเวนในผืนป่าอนุรักษ์ และดับไฟป่ารวมทั้งสิ้น 1,062 แรง หากคิดเป็นเงินวันละ 300 บาทตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เท่ากับว่าชาวบ้านแม่จอกใช้เงินดูแลป่าในปี 2553 จำนวน 318, 600 บาทเลยทีเดียว

แอ๊ะถู่ กล่าวกับพวกเราว่า “ในฐานะที่เป็นเยาวชน จะพยายามช่วยดูแลผืนป่าของชุมชนแบบนี้ต่อไป และหวังว่ารุ่นน้อง ๆ ก็จะทำแบบเดียวกัน เพราะตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ว่าเมื่อมีป่าสมบูรณ์แม่ในยามวิกฤติก็ไม่อดตาย” 

อ้างอิง: รายงานกิจกรรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านแม่จอก, โครงการเครือข่ายการเรียนรู้ (CMLN), สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ