6 องค์กรสิทธิ์ ร้อง ‘รัฐบาล-คสช.’ หยุดคุกคามเสรีภาพการแสดงความเห็นต่อร่าง รธน.

6 องค์กรสิทธิ์ ร้อง ‘รัฐบาล-คสช.’ หยุดคุกคามเสรีภาพการแสดงความเห็นต่อร่าง รธน.

20162004022418.jpg

19 เม.ย. 2559 6 องค์กรสิทธิ์ ประกอบด้วย สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ร่วมออกแถลงการณ์ขอให้ยุติการคุกคาม แทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อร่างรัฐธรรมนูญ

แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและ คสช. 3 ข้อ คือ 1. ให้ปล่อยตัวนายวัฒนา เมืองสุข โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข เพราะการกระทำของของนายวัฒนาถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเชื่อหรือความคิดเห็นโดยสันติ ภายใต้ขอบเขตที่พันธกรณีระหว่างประเทศระบุไว้ และการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวถือเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบและตามอำเภอใจ อีกทั้งมีการควบคุมตัวในสถานที่ไม่เปิดเผย ทำให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การใช้อำนาจดังกล่าวย่อมขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม

2. รัฐจะต้องเคารพและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเชื่อและความคิดเห็นโดยสันติวิธี รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนสามารถรณรงค์ทั้งในทางสนับสนุนหรือคัดค้านได้ ซึ่งจะนำไปสู่การลงประชามติที่ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองอย่างแท้จริง (Rights to Self-Determination)

3. รัฐต้องยุติการคุกคาม ข่มขู่ แทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกความเห็น ตลอดจนยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ถูกสร้างขึ้นตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจมาปิดกั้นและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เห็นต่างจากแนวทางของรัฐ

ทั้งนี้แถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้

*****

แถลงการณ์

ขอให้ยุติการคุกคาม แทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลต่อร่างรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญเป็นกติกาสูงสุดในการปกครองประเทศซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐต่อกันเองและต่อประชาชน รัฐธรรมนูญจึงเป็นกติกาที่มีผลกระทบต่อประชาชนทั้งปวงดังนั้น กติกาที่จะออกมาบังคับใช้ดังกล่าวจำเป็นต้องผ่านการมีส่วนร่วมอย่างเข็มข้นและกว้างขว้างของประชาชน และประชาชนต้องสามารถแสดงเจตจำนงได้อย่างเสรีในการยอมรับหรือไม่ยอมรับกติกาดังกล่าว

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นต้นมา การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องด้วยการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญกระทำโดยคนเพียงบางกลุ่มและไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างเพียงพอในกระบวนการร่างส่วนในเชิงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ก็ถูกตั้งคำถามในหลายประเด็น อาทิ ประเด็นเรื่องสิทธิในการศึกษา สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค ที่มาของนายกรัฐมนตรี สส. สว. อำนาจขององค์กรอิสระ การรับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของการกระทำและการใช้อำนาจจาก คสช. เป็นต้น

แม้ผู้มีอำนาจจะกำหนดให้มีการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่บรรยากาศการมีส่วนร่วมและการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมฉบับนี้ก็ยังถูกจำกัดอยู่ โดยเฉพาะการจำกัดหรือปิดกั้นการแสดงออกในทางที่ไม่เห็นด้วยหรือวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญดังจะเห็นได้จากการที่ผู้มีอำนาจออกมาข่มขู่อยู่เสมอๆ อาทิ การขู่ห้ามไม่ให้ใส่เสื้อ Vote No หรือแม้แต่ขู่ว่าจะดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ทำการรณรงค์ในทางที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น และเห็นได้ชัดจากการพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพิ่งมีมติเห็นเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีการกำหนดโทษเกี่ยวกับการทำประชามติไว้ค่อนข้างสูง[1] ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายภายใต้สถานการณ์ที่ลุแก่อำนาจเช่นนี้ย่อมมีความเสี่ยงอย่างมากที่จะถูกตีความตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจในการไปจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

การควบคุมตัวนายวัฒนา เมืองสุข เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2559 ที่ผ่านมาโดยเจ้าหน้าที่ทหาร หลังจากที่เขาแสดงความคิดเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการจำกัดและปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นกรณีล่าสุด ซึ่งกรณีดังกล่าวนอกจากจะเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นแล้ว ยังเป็นการควบคุมตัวโดยอำเภอใจ ไม่มีเหตุผลอันสมควรและไม่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย แม้เจ้าหน้าที่จะอ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ในความผิดฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 39/2557 ก็ตาม แต่คำสั่งเหล่านี้ต่างเป็นกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐ/นิติธรรม (Rule of Law) เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ออกมาอย่างไร้เหตุผลหรือตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ[2] อีกทั้งไม่สอดคล้องกับหลักแห่งความจำเป็นและหลักสัดส่วน (necessity and proportionality)[3] ประกาศหรือคำสั่งในลักษณะเช่นนี้ จึงไม่ควรถูกรับรองว่าเป็นกฎหมาย ด้วยเหตุนี้ การควบคุมตัวบุคคลโดยอาศัยอำนาจตามประกาศหรือคำสั่งของ คสช.ในกรณีดังกล่าวจึงขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองไว้ในมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 9

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ ยืนยันว่า เสรีภาพในการแสดงความเห็นเป็นสิทธิที่ได้รับการประกันตามมาตรา 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ข้อ 19 ที่กำหนดให้บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะถือเอาความเห็นใดก็ได้โดยปราศจากการแทรกแซงและบุคคลทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพแห่งการแสดงออก รวมถึงเสรีภาพที่จะแสวงหา รับและกระจายข่าวและความคิดเห็นทุกรูปแบบโดยไม่คำนึงถึงพรมแดน [4] เนื่องจากถือว่า หลักการนี้เป็นเงื่อนไขที่จำเป็นในการที่จะส่งเสริมให้เป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ [5] และเสรีภาพดังกล่าวถือเป็นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนซึ่งความคิดเห็นอันนำไปสู่การพัฒนาทางสังคม ส่งเสริมให้หลักความโปร่งใส (transparency) และความรับผิดชอบ (accountability) เกิดขึ้นเป็นจริงได้ และที่สำคัญหลักการดังกล่าวจะนำมาซึ่งการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

องค์กรสิทธิมนุษยชนตามที่ปรากฏรายชื่อแนบท้ายแถลงการณ์นี้ จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและ คสช. ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ให้ปล่อยตัวนายวัฒนา เมืองสุข โดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข เพราะการกระทำของเขาถือเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเชื่อหรือความคิดเห็นโดยสันติ ภายใต้ขอบเขตที่พันธกรณีระหว่างประเทศระบุไว้ และการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐดังกล่าวถือเป็นการควบคุมตัวโดยมิชอบและตามอำเภอใจ อีกทั้งมีการควบคุมตัวในสถานที่ไม่เปิดเผย ทำให้บุคคลที่ถูกควบคุมตัวตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง การใช้อำนาจดังกล่าวย่อมขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและการเมือง ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติตาม

2. รัฐจะต้องเคารพและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความเชื่อและความคิดเห็นโดยสันติวิธี รวมทั้งสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเต็มที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้างถึงข้อดีและข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนสามารถรณรงค์ทั้งในทางสนับสนุนหรือคัดค้านได้ ซึ่งจะนำไปสู่การลงประชามติที่ประชาชนทั้งปวงมีสิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเองอย่างแท้จริง (Rights to Self-Determination)

3. รัฐต้องยุติการคุกคาม ข่มขู่ แทรกแซงและปิดกั้นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนทุกกลุ่ม ทุกความเห็น ตลอดจนยุติการใช้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ถูกสร้างขึ้นตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจมาปิดกั้นและจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เห็นต่างจากแนวทางของรัฐ

ด้วยความเคารพในหลักการสิทธิมนุษยชน

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

 


[1]โปรดดูรายละเอียดในพระราชบัญญัติตามลิ้ง  http://library2.parliament.go.th/giventake/content_nla2557/d040759-01.pdf(ยังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา)

[2]Siracusa Principles on the Limitation and Derogation of Provisions in the International Covenant on Civil and Political Rights ข้อ 15 – 18

[3] Human Rights Committee, International Covenant on Civil and Political Rights, General Comment No.34, 12 September 2011, para.22

[4] International Covenant on Civil and Political Rights article 19 (1) (2)

[5] Human Rights Committee, International Covenant on Civil and Political Rights, General Comment No.34, 12 September 2011, para.2

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ