แถลงการณ์ร่วม 6 องค์กรสิทธิมนุษยชนประณามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 13/2559 พร้อมเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่งนี้โดยทันที
(กรุงเทพฯ, 5 เมษายน 2559) – คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists – ICJ) ฮิวแมนไรท์ว็อชท์ (Human Rights Watch – HRW) แอมแนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International – AI) สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Forum for Human Rights and Development – FORUM-ASIA) สหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights – FIDH) และฟอร์ติฟายไรท์ (Fortify Rights – FR) กล่าวพร้อมกันในวันนี้ว่า ประเทศไทยต้องยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2559 ซึ่งให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่เจ้าหน้าที่ของกองทัพไทยโดยทันที เนื่องจากเป็นคำสั่งที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อ้างอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557เพื่อประกาศใช้คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 13/2559 ซึ่งกำหนดให้แต่งตั้ง “เจ้าพนักงานป้องกันและปราบปราม” และผู้ช่วยจากข้าราชการทหารซึ่งมียศร้อยตรี รวมถึงทหารประจำการ ทหารกองประจำการ และอาสาสมัครทหารพราน โดยมอบอำนาจหลายประการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิด 27 ประเภท รวมทั้งปราบปรามผู้กระทำการให้เกิดความไม่สงบในที่สาธารณะ ความผิดต่อเสรีภาพและชื่อเสียง การตรวจคนเข้าเมือง การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด และการค้าอาวุธ
วิลเดอร์ เทเลอร์ (Wilder Tayler) เลขาธิการคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลกล่าวว่า “การปฏิบัติตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 13/2559 ย่อมส่งผลให้ประเทศไทยละเมิดพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและหลักนิติธรรมอย่างแน่นอน นับเป็นคำสั่งที่ต้องถูกยกเลิกโดยทันที”
“ที่ผ่านมาทางองค์กรสังเกตว่า นับตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในไทยได้เสื่อมถอยลงมาโดยตลอด คำสั่งนี้เป็นสัญญาณที่น่าตกใจอีกครั้งหนึ่ง และสะท้อนให้เห็นแนวโน้มแบบเดียวกัน”
คำสั่งนี้ส่งผลให้เกิดข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนหลายประการ รวมทั้ง
1.การมอบอำนาจให้เจ้าพนักงานที่ปฏิบัติตามคำสั่งนี้ พ้นจากการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี อันส่งผลให้เกิดการลอยนวลเมื่อกระทำผิด นับว่าขัดต่อหลักการว่าด้วยความรับผิดตามหลักนิติธรรม
แบรดอดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการแผนกเอเชียของฮิวแมนไรท์ว็อชท์กล่าวว่า “แทนที่จะสนับสนุนให้มีการฟื้นคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐบาลทหารไทยกลับขยายอำนาจของตนเพื่อให้ทำได้ในทุกสิ่งที่ต้องการ รวมทั้งการปฏิบัติมิชอบโดยไม่ต้องรับผิดแต่อย่างใด”
“การปราบปรามกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นรายวันในประเทศไทย มีลักษณะที่นำไปสู่ความเป็นเผด็จการทหารมากขึ้นเรื่อยๆ”
2.การปฏิบัติตามคำสั่งนี้ ไม่อยู่ภายใต้การตรวจสอบโดยอำนาจศาล ซึ่งขัดกับสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาอย่างเป็นผล สิทธิที่จะให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบการละเมิดเสรีภาพ และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม ซึ่งได้รับการรับรองตามข้อ 2 9 และ 14 ของ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR)
แชมพา พาเทล (Champa Patel) รักษาการผู้อำนวยการประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า “คำสั่งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการลิดรอนอำนาจตุลาการอย่างร้ายแรงที่จะสามารถตรวจสอบการปฏิบัติของกองทัพ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมถอยของการคุ้มครองสิทธิและหลักนิติธรรม”
3.การให้อำนาจบังคับใช้กฎหมายอย่างกว้างขวางและคลุมเครือแก่เจ้าพนักงานทหารที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรม ย่อมมีแนวโน้มนำไปสู่การปฏิบัติมิชอบ ซึ่งไม่สอดคล้องตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน รวมถึงไม่สอดคล้องต่อประมวลหลักปฏิบัติแห่งสหประชาชาติของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (UN Code of Conduct for Law Enforcement Officials) และหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (UN Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials)
เอเวอลีน บาลาอิส-เซอร์ราโน (Evelyn Balais-Serrano) ผู้อำนวยการบริหารสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชียกล่าวว่า “คำสั่งนี้ให้อำนาจเจ้าพนักงานทหารในการบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่มีประสบการณ์และไม่ทราบขั้นตอนในการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียกตัวบุคคล การค้น และการจับกุมบุคคล”
“การขาดการกำกับดูแลจากกระบวนการยุติธรรมยิ่งทำให้เกิดความกังวลมากขึ้นเนื่องจากคำสั่งนี้อาจนำไปสู่การใช้อำนาจอย่างมิชอบ และการใช้กำลังอย่างไม่ได้สัดส่วนเหมาะสมของเจ้าพนักงานทหาร ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศ รวมทั้งประมวลหลักปฏิบัติแห่งสหประชาชาติของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและหลักการพื้นฐานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธปืนของเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายและมีความเสี่ยงอย่างมากที่อาจมีการใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ เพื่อจำกัดสิทธิอันชอบธรรมของประชาชน รวมทั้งสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม และการสมาคม”
4.คำสั่งนี้ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลาไม่เกินเจ็ดวันในสถานที่ซึ่งไม่เปิดเผย โดยไม่มีการตรวจสอบจากศาล ย่อมเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย
คาริม ลาฮิดจี (Karim Lahidji) ประธานสหพันธ์สิทธิมนุษยชนสากลกล่าวว่า “แม้จะอ้างว่าการบังคับใช้คำสั่งนี้เป็นไปเพื่อปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา แต่คำสั่งนี้มีแนวโน้มให้เกิดการกระทำผิดทางอาญาระดับร้ายแรง ซึ่งเป็นข้อห้ามตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ลงนามหรือให้สัตยาบันรับรองไว้”
5.ในทางปฏิบัติแล้ว คำสั่งนี้เปิดโอกาสให้มีการนำไปใช้อย่างมิชอบ เพื่อปราบปรามและปิดปากผู้ที่ทางการมองว่ามีความเห็นแตกต่างจากรัฐซึ่งรวมถึงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คำสั่งดังกล่าวขัดแย้งกับกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
เอมี สมิท (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ติฟายไรท์กล่าวว่า “คำสั่งนี้เปรียบเสมือนการราดน้ำมันบนกองไฟที่ทำให้เกิดการตอบโต้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในไทย”
“ประเทศไทยมีพันธกรณีที่ต้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และคำสั่งนี้อาจถูกใช้เพื่อพุ่งเป้าโจมตีและขัดขวางการปฏิบัติงานอันชอบธรรมของพวกเขา”