ชีวิตและการศึกษาของเด็กไทยชายแดนใต้กับนโยบายเรียนออนไลน์ถ้วนหน้า

ชีวิตและการศึกษาของเด็กไทยชายแดนใต้กับนโยบายเรียนออนไลน์ถ้วนหน้า

เรียบเรียงโดย ยุทธกร ณรงค์ศักดิ์สุขุม

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์การจัดงาน

FB Live: ขอเชิญร่วมฟังและแลกเปลี่ยน Webinar 4 โควิด-19 กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฤา เพียงวาทกรรมซ้ำซาก ตอน ชีวิตและการศึกษาของเด็กไทยชายแดนใต้ กับนโยบายเรียนออนไลน์ถ้วนหน้าZoom ID: 971 9679 4848

โพสต์โดย Multied Cmu เมื่อ วันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2020
วิดีโอบันทึกรายการ Webinar ตอนที่ 4

เมื่อวันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เวลา 13.00 – 14.30 น.  สาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา ภาควิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ในประเด็นวิกฤติ Covid-19 กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฤาเพียงวาทกรรมซ้ำซาก ตอนที่ 4 “ชีวิตและการศึกษาของเด็กไทยชายแดนใต้กับนโยบายเรียนออนไลน์ถ้วนหน้า” งานเสวนาออนไลน์ที่เน้นการวิเคราะห์เชิงลึกถึงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่สัมพันธ์กับโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจการเมืองของระบบการศึกษาไทย และผลที่เกิดขึ้นในประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาค และความยุติธรรมเชิงสังคม โดยมีวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ ผศ. ดร. เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คุณรอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล นายกสมาคมกรีนเคร้สเซนท์ ประเทศไทย คุณยามารุดดีน ทรงศิริ กลุ่ม The Education โดยมี อ. ดร. นันท์นภัส แสงฮอง ภาควิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ

การสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้มุ่งเน้นการวิเคราะห์เชิงลึกถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid – 19 ที่มีความสัมพันธ์กับการจัดการศึกษาภายใต้นโยบายการเรียนออนไลน์ที่ส่งผลกระทบทั้งในด้านการใช้ชีวิตประจำวันและการศึกษาของนักเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผศ. ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวถึงปัญหาทางการศึกษาที่พบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีผลสืบเนื่องมาจากภูมิหลังในด้านสังคมและวัฒนธรรม การจัดการศึกษาที่มีความแตกต่างจากที่อื่น การมีภาษาและวัฒนธรรมเฉพาะของตนเองที่แตกต่างจากการจัดศึกษาที่รัฐส่วนกลางกำหนดไว้ ซึ่งอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาอยู่ในระดับรั้งท้ายของประเทศ

“จากสถิติและผลสัมฤทธิ์ในหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีผลสัมฤทธิ์คะแนน O-NET ต่ำกว่าระดับประเทศ และมีมาตรฐานการศึกษาต่ำกว่าที่อื่น”

การเข้ารับการศึกษาในแต่ละระดับช่วงชั้น มีอัตราส่วนการศึกษาในสถานศึกษาของรัฐและสถานศึกษาเอกชนตามหลักอิสลามที่แตกต่างกัน ในช่วงปฐมวัยจะมีอัตราส่วนที่ใกล้เคียงกัน ส่วนในช่วงประถมศึกษา จะมีจำนวนนักเรียนในสังกัดสถานศึกษาของรัฐมากกว่า แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงชั้นมัธยมศึกษา จำนวนของนักเรียนที่อยู่ในสังกัดเอกชนจะมีจำนวนที่มากกว่าหลายเท่าตัว

ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้การศึกษาได้รับผลกระทบ การปรับตัวเพื่อจัดการศึกษาตามนโยบายเรียนออนไลน์ของภาครัฐ ทำให้ส่งผลให้เกิดปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาที่แย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากความไม่พร้อมของการเข้าถึงอุปกรณ์และเทคโนโลยีทางการศึกษา

ผศ. ดร. เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ให้ความเห็นในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ว่าเป็นทางเลือกที่ดี แต่ความไม่พร้อมของผู้ปกครองอาจจะทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ในการเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ และการใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์อาจใช้ไม่ได้กับเด็กเล็ก นอกจากนี้ยังมีความห่วงใยในเรื่องของการเข้าถึงเทคโนโลยีของเด็กเล็กว่าควรมีผู้ปกครองดูแลอย่างใกล้ชิด

“เทคโนโลยีควรใช้ผ่านครูหรือผู้ปกครอง เด็กยิ่งเล็กยิ่งไม่ควรใช้เทคโนโลยีโดยตรงกับตัวเด็ก”

คุณรอซีดี เลิศอริยะพงษ์กุล นายกสมาคมกรีนเคร้สเซนท์ ประเทศไทย มีความเห็นเกี่ยวกับนโยบายของภาครัฐและบทบาทของภาคประชาสังคม ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของเด็กในจังหวัดชายแดนใต้ว่า นโยบายการเรียนออนไลน์ถ้วนหน้านั้น ไปไม่ถึงนักเรียนในกลุ่มที่ด้อยโอกาสในสังคม ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และมี 4 ปัจจัยที่ควรคำนึงถึง ได้แก่ 1.ระบบและอุปกรณ์เทคโนโลยีทางการศึกษา 2.การสร้างเสริมแรงจูงใจของเด็ก 3.ระบบสนับสนุนทางการศึกษา 4.สภาพภูมิประเทศและจุดอับสัญญาณ เพื่อพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพมากขึ้น

“นโยบายการเรียนออนไลน์ถ้วนหน้านั้น ไปไม่ถึงนักเรียนในกลุ่มที่ด้อยโอกาสในสังคม ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ”

คุณยามารุดดีน ทรงศิริ กลุ่ม The Education ชี้ให้เห็นถึงประเด็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้น กับเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ในประเด็นที่เกี่ยวกับการเข้าถึงการศึกษา และคุณภาพการศึกษาที่ต่ำ จากสถิติคือ มีเพียง 3 โรงเรียนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ติดอันดับ 400 โรงเรียนที่มีคะแนนสอบ O-NET สูงที่สุดในประเทศ ความเหลื่อมล้ำเกิดทั้งภายในและภายนอก 3 จังหวัดชายแดนเอง และผลของโควิด-19 ที่ทำให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น พร้อมทั้งยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ในเรื่องของการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตเมื่อเปรียบเทียบกับที่อื่นในประเทศ

“เด็กใน 3 จังหวัดบ้านไหนที่มีไวฟายถือเป็นบ้านที่มีเงินแล้ว ในขณะเดียวกันการมีไวฟายตามบ้านถือเป็นสภาพปกติของที่อื่น”

สำหรับทางออกในการแก้ไขปัญหาทางการศึกษาภายใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่ผู้ร่วมเสวนาได้พูดถึงในหลายประเด็นนั้นมีความน่าสนใจและควรค่าแก่การนำไปพิจารณาเพื่อการตัดสินใจในการออกนโยบายจัดการศึกษาของรัฐ เช่น การจัดการเชิงพื้นที่ให้สามารถจัดการเองได้ ไม่จำเป็นที่กระทรวงศึกษาธิการต้องรับภาระทุกอย่างเพียงลำพัง การกระจายอำนาจการศึกษาไปสู่พื้นที่ พิจารณานโยบายที่เหมาะสมตามบริบทในแต่ละท้องที่ การแก้ไขปัญหาความยากจน เพราะในระยะยาวจะส่งผลต่อการพัฒนาระบบคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้นได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ