รองนายก ‘จุรินทร์’ และ รมว.พม.เยี่ยมชาวชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ มอบสิ่งของและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

รองนายก ‘จุรินทร์’ และ รมว.พม.เยี่ยมชาวชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ มอบสิ่งของและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

นายจุรินทร์  รองนายกรัฐมนตรี (ที่ 3 จากซ้าย)

คลองเตย/ รองนายก ‘จุรินทร์’  และ ‘จุติ’ รมว.พม.เยี่ยมชาวชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ โดยนำหน่วยงานต่างๆ ช่วยเหลือชาวชุมชน  เช่น  กรมอนามัย  ร้านธงฟ้า  กระทรวงพาณิชย์  กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน  กรมการจัดหางาน  พร้อมบริษัทใหญ่เปิดรับสมัครงาน  และมอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19  เช่น  รถวีลแชร์ 42 คัน  เครื่องอุปโภค-บริโภค  553 ชุด  ข้าวกล่องจำนวน 600 กล่อง  แว่นสายตายาวและเสื้อ 500 ชุด  ด้านชาวชุมชนเสนอแผนรับมือโควิด  3 ระยะ  และตั้งกองทุนข้าวสาร  อาหารแห้ง

            วันนี้ (1 มิถุนายน) ระหว่างเวลา 9.00-10.30 น.  นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์   รองนายกรัฐมนตรี  พร้อมด้วยนายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายปรเมธี  วิมลศิริ  ปลัดกระทรวง พม. ผู้บริหารกระทรวง พม. และนายสมชาติ  ภาระสุวรรณ ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้เดินทางไปที่ลานกีฬาใต้ทางด่วน  ชุมชนรถไฟสายท่าเรือ  เขตคลองเตย  กรุงเทพฯ  เพื่อพบปะและเยี่ยมชาวชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19   โดยมีชาวชุมชนกว่า 200 คนให้การต้อนรับ

                คณะของรองนายกรัฐมนตรีได้เยี่ยมครอบครัวผู้ประสบปัญหาด้านสังคมจำนวน 5 ราย  เยี่ยมบ้านตัวอย่างที่ถูกสุขอนามัย  เยี่ยมครัวกลางชุมชน  ปล่อยขบวนรถจักรยานยนต์แจกจ่ายข้าวกล่อง  ตรวจเยี่ยมบูธของหน่วยงานต่างๆ   เช่น  กรมการจัดหางาน  สำนักงานประกันสังคม  กรมอนามัย  สายด่วน พม. 1300  ฯลฯ  รวมทั้งตรวจเยี่ยมการตรวจสุขภาพและเอ็กซเรย์ปอดเคลื่อนที่ที่มาให้บริการแก่ชาวชุมชนจำนวน 2 คัน

มอบรถวีลแชร์ให้ผู้พิการ-ผู้ป่วย  42  คัน

      นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฎ์   รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  รัฐบาลตั้งใจที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาหลายเรื่องให้กับพวกเราในเวลาเดียวกัน  ทั้งเรื่องของที่อยู่อาศัย  สุขภาพ  งานในยามที่เราประสบภัยโควิด-19  หลายคนตกงานก็มีกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงานเข้ามาช่วยคลี่คลายปัญหาให้   อย่างน้อยถือว่าเป็นน้ำใจจากรัฐบาล และภาคเอกชนสมาคมต่างๆ ที่ระลึกถึงพี่น้องและมาเยี่ยมเท่าที่กำลังจะทำได้  ที่เหลือเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะเข้ามาช่วยดำเนินการต่อไป 

สำหรับผู้พิการ   คณะกรรมการส่งเสริมพัฒนาคนพิการแห่งชาติที่ตนเป็นประธานและมีรัฐมนตรีจุติ ไกรฤกษ์ ดูแล  เรามีมติหลายเรื่องในการช่วยเหลือผู้พิการ  เช่น  เงินกองทุนให้คนละ 1,000 บาท  โอนเข้าบัญชีโดยตรงให้กับผู้พิการทั่วทั้งประเทศ 2 ล้านกว่าคน  นอกจากนั้นผู้พิการที่เป็นหนี้กองทุนผู้พิการก็พักชำระหนี้ให้ 1 ปี   ผู้พิการที่ต้องการเงินไปประกอบอาชีพอนุมัติให้รายละไม่เกิน 10,000 บาท   โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน  ไม่มีดอกเบี้ยและให้ผ่อนชำระหนี้ได้ถึง 5 ปี 

“รัฐบาลตั้งใจที่จะช่วยให้คนพิการได้มีอาชีพมีงานทำ   โดยล่าสุดคณะรัฐมนตรีโดยการเสนอของท่านรัฐมนตรี  จุติ ไกรฤกษ์ให้ความเห็นชอบที่จะช่วยเพิ่มเบี้ยคนพิการจากเดือนละ 800 บาทเป็น 1,000 บาท  สำหรับผู้พิการที่มีบัตรลงทะเบียน 1 ล้านคน ส่วนผู้พิการอายุต่ำกว่า 18 ปี  จำนวนกว่า 1 แสนคนจะได้เพิ่มเบี้ยผู้พิการตั้งแต่  800 เป็น 1,000 บาทเช่นกัน  โดยส่วนนี้เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณถัดไป  คือ 1 ตุลาคม 2563 นี้   สำหรับผู้พิการ  กลุ่มเปราะบาง  เช่น  ผู้พิการ  ผู้สูงอายุ  เด็กเล็ก เป็นต้น  เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาศูนย์โควิดแห่งชาติ   โดยข้อเสนอของกระทรวง พม.ให้ความเห็นชอบในหลักการที่จะช่วยให้กลุ่มเปราะบางได้มีโอกาสได้รับเงินเพิ่มเติมอีกเดือนละ 1,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือนต่อเนื่องกัน  รวมแล้วประมาณ 13 ล้านคน  ขณะนี้กำลังดูชื่อบุคคลที่จะไม่ซ้ำซ้อนกับคนที่ได้รับเงินเยียวยาไปแล้ว  ทั้งหมดนี้คือเรื่องที่อยากจะเรียนทุกท่านทราบ  และขอให้พี่น้องทุกคน ผ่านพ้นความยากลำบากในช่วงวิกฤตภาวะโควิดไปได้ด้วยดี  รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

นอกจากนี้รองนายกรัฐมนตรีและคณะได้เข้ารับฟังปัญหาและความต้องการของชุมชน  พร้อมทั้งหารือร่วมกันถึงแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนต่อไป   โดยในเบื้องต้นชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือได้ร่วมกับเครือข่าย 43 ชุมชนในเขตคลองเตยและสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย  วางแผนและแนวทางในการรับมือต่อสถานการณ์โรคโควิด-19  โดยแบ่งออกเป็น 1. แผนระยะสั้น   การสำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อนและผู้ได้รับผลกระทบ  รวมทั้งจัดทำครัวกลางชุมชน   2. แผนระยะกลาง โดยจัดทำระบบคูปองอาหาร  และคัดกรองกลุ่มเปราะบางในชุมชนเพื่อเร่งช่วยเหลือต่างๆ และจัดทำเป็นต้นแบบ  และ 3. แผนระยะยาว โดยติดตั้งระบบกองทุนข้าวสาร  อาหารแห้ง

นายจุติ  ไกรฤกษ์  รมว.พม.

                นายจุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.  กล่าวว่า  ในนามของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันนี้เราตั้งใจมาหลายกระทรวง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้อง วันนี้เราไม่ได้มาแจกของ  แต่เราจะมาแจกงานให้พี่น้องได้ทำกัน เพราะในขณะนี้ได้ทราบว่า มีคนตกงานเยอะ อยากจะเรียนทุกท่านว่า ถ้าใครตกงานถ้าเราไม่เลือกงาน ในกรุงเทพมหานครท่านจะมีงานทำแน่นอน

วันนี้กรมอนามัยและตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น  กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน  กรุงเทพมหานคร  ทิพยประกันภัย และธงฟ้าจากกระทรวงพานิชย์  และหน่วยงานในกระทรวง พม. มาทั้งหมด  วันนี้กรมการจัดหางานมาพร้อมบริษัทใหญ่ 3 บริษัท ซึ่งจะมารับพนักงานเข้าทำงาน  และในวันนี้ใครก็ตามที่กลัวว่าเราจะไม่เก่ง  จะทำไม่เป็น  เรามีกรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดหางานให้ตามที่นายจ้างต้องการ  และระหว่างที่ฝึกงานจะมีเบี้ยเลี้ยงให้วันละ 150 บาท  ฉะนั้นอยากจะเรียนว่ารัฐบาลจะพยายามแก้ปัญหาให้เบ็ดเสร็จ  ทั้งเรื่องการศึกษา  เรื่องอาชีพ  เรื่องที่อยู่อาศัย  เพื่อให้ผลของการแก้ไขปัญหานั้นมีความยั่งยืน  วันนี้อยากจะให้ทุกท่านใช้ประโยชน์จากการที่เราเข้าหาทุกท่านในชุมชนนี้  และเราก็มีตัวแทนอยู่ในชุมชนด้วย ท่านสามารถติดต่อผ่านตัวแทนในชุมชนได้ ไม่ว่าจะเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข   และอาสาสมัครพัฒนาสังคม  ทุกท่านพร้อมที่จะประสานงานให้กับท่าน”  รมว.พม.กล่าว

                นายปานชัย  แก้วอัมพรดี  เลขานุการชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ กล่าวว่า   ชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือตั้งอยู่ในที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย  มีทั้งหมด 518 หลังคาเรือน  รวม  3,200 คน  ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป  ตอนนี้ในชุมชนมีคนที่ตกงานเยอะมาก  เนื่องจากภาวะโควิด 19 และในชุมชนมีผู้สูงอายุ  คนพิการ  และผู้ป่วยติดเตียงเยอะ  ทำให้ประสบปัญหาด้านรายได้  ค่าใช้จ่ายในครอบครัว

นายปานชัย  ผู้แทนชุมชนริมทางรถไฟสายท่าเรือ

“ขณะเดียวกันตอนนี้ทางการท่าเรือฯ ก็มีโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการพาณิชย์  ต้องมีการรื้อย้ายชุมชน  มีการสำรวจของการท่าเรือฯ และมหาวิทยาลัยมหิดล  ตอนนี้จึงอยากจะให้หยุดสำรวจการไล่รื้อ เพราะชาวชุมชนกำลังตกงาน  รายได้ไม่มี  ครอบครัวเดือดร้อน  หลายคนคิดมาก  บางคนคิดถึงขั้นจะฆ่าตัวตาย  จึงอยากจะขอให้หยุดตรงนี้ไว้ก่อน  แล้วค่อยมาตกลงกันใหม่   อยากให้ประชาชนมีงานทำ  ไม่อยู่ในภาวะเดือดร้อน   เพราะตอนนี้ความเป็นอยู่ของคนในชุมชน  เรื่องปากท้องสำคัญที่สุด  ช่วงนี้ขอให้ห่างออกไปก่อน”  นายปานชัยบอกถึงความเดือดร้อนของชุมชน

รองนายกฯ และ รมว.พม.ปล่อยคาราวานรถมอเตอร์ไซค์แจกข้าวกล่องให้ผู้เดือดร้อน

                ในการเยี่ยมเยียนชาวชุมชนคลองเตยในครั้งนี้  รองนายกรัฐมนตรี และคณะ ได้มอบสิ่งของให้แก่ตัวแทนชาวชุมชน  เช่น  รถเข็นหรือวีลแชร์สำหรับผู้พิการ ผู้ป่วย  จำนวน 42  คัน  มอบเครื่องอุปโภค-บริโภค  จำนวน  553 ชุด  ข้าวกล่องจำนวน 600 กล่อง  แว่นสายตายาวและเสื้อ 500 ชุด 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ