1 เดือนกับการงานท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และเรื่องเล่าจากครูบนดอย

1 เดือนกับการงานท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 และเรื่องเล่าจากครูบนดอย

เวลาเกือบ 1 เดือน ที่ผู้เขียนมีโอกาสได้เริ่มงานหลังเรียนจบ ความวุ่นวายสับสนอลหม่านท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่เดินทางลงพื้นที่ทำข่าวเองไม่สะดวกนัก เพราะต้องคำนึงถึงมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม  (Social Distancing) นั่นเป็นทั้งอุปสรรคและข้อท้าทายให้ต้องใช้พื้นที่สื่อสังคมออนไลน์ทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ไปทั่วประเทศ ทั้งในพื้นที่ราบสูงของภาคอีสาน และข้ามไปถึงพื้นที่ภาคเหนือบนดอยสูง ผ่านการพูดคุยออนไลน์แบบไร้พรมแดน แทนการเดินทางลงพื้นที่ด้วยตนเอง

เรียนออนไลน์กับครูบนดอย “นงนุช วิชชโลกา” ไม่มี’เน็ต ไม่มีไฟฟ้า แต่มีทักษะชีวิต

การทำงานภายใต้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ที่เชื่อมผู้คนจากหลากที่หลายถิ่นมาเจอกันในกลุ่มไลน์ “อีสานตุ้มโฮม” ภายใต้การทำงานร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ที่เครือข่ายครูจากโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งสนใจเติมความรู้ เติมทักษะการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอมได้มาพบปะแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน โดยกิจกรรมนี้เริ่มมาตั้งแต่มีนาคม 2563 ทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสรู้จักกับ “นงนุช วิชชโลกา” ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่แพน้อย ต.กองก๋อย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผู้ซึ่งมีจิตวิญญาณการเรียนรู้ และความเป็นครูอย่างเต็มภาคภูมิจนสัมผัสได้

“ครูนุช” แบ่งปันข้อมูล ภาพถ่าย เรื่องเล่าบนดอยสูง ผ่านวิถีชีวิตผู้คน และชุมชนมาอย่างต่อเนื่องภายใต้การทำงานของคณะครูและนักเรียนในโรงเรียน “เดี๋ยวจะส่งภาพให้ แต่ต้องลงไปจากดอยห่างไปราว ๆ 70 กิโลเมตรค่ะ” ครูนุชอธิบายบางส่วนของการทำงาน ที่อยากสื่อสารเรื่องราวผ่านคลิปวิดีโอข่าวพลเมือง

จินตนาการโรแมนติกกับชีวิตจริงของนักเรียนและครูบนดอย

ในยามที่หลายคนต้องกักตัว หรือ จำกัดการเดินทางเพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะสร้างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายคนอยากออกเดินทางไปในโลกกว้าง ไปในที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะบนดอยสูงห่างไกลผู้คน เพื่อหวังจะสัมผัสน้ำค้างบนยอดดอย และอากาศเย็นสบายที่จะปะทะผิวกายยามค่ำคืนหรือยามตื่นเช้า

ผู้เขียนเองก็คิดเช่นกัน หากนึกถึงชีวิตบนดอยในพื้นที่ห่างไกล ความเงียบสงบ อากาศที่เย็นสบาย เพลิดเพลินกับเสียงดนตรี ลิ้มลองอาหารพื้นเมืองคือสิ่งที่คาดกว่าจะพานพบ  แต่ด้านหนึ่งในขณะที่หลายคนขวนขวายไปหาความสะดวกสบายในเมืองใหญ่ ข้อเท็จจริง คือ มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความหวังว่า การเดินทางมายังพื้นที่แห่งนี้ จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ที่นี่ โดยหวังว่าสิ่งที่พวกเขาทำลงไปนั้น จะได้ต่อเติมโอกาส ความหวัง การเรียนรู้ ให้กับเด็ก ๆ ที่อยู่ห่างไกล แนวคิดนี้เชื่อว่า”พลังครู” ซุกซ่อนอยู่ในหลายพื้นที่รวมถึง ที่นี่บ้านแม่แพน้อย  ต.กองก๋อย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

ที่นี่บ้านแม่แพน้อย ชุมชนบนดอยพื้นที่เรียนรู้ของทุกคน

ผู้เขียนเองยังไม่เคยไปเยือน แต่จะพาทำความรู้จักจากข้อมูลการพูดคุยออนไลน์กับ “ครูนุช” ชุมชนที่นี่มีโรงเรียน ที่โรงเรียนมีคุณครู  พวกเขาบอกว่า ที่เลือกเดินทางขึ้นมาทำงานที่นี่ เพราะต้องการที่จะสอนเด็ก ๆ แต่พวกเขาก็อยากมาทำหน้าที่ โรงเรียนบ้านแม่แพน้อยแห่งนี้ คล้ายกับโรงเรียนบนพื้นที่สูงอื่น ๆ แค่การเดินทางขึ้น-ลง เพื่อมาทำหน้าที่สอนซึ่งต้องผ่านเส้นทางลาดชันนั้นก็ท้าทายและชวนตั้งคำถามในใจครู “มาที่นี่ทำไม” และเมื่อเข้าสู่หน้าฝนแล้ว เส้นทางก็จะยากลำบากมากขึ้นยิ่งเพิ่มความลำบากให้กับคนที่ใช้ทาง โดยเฉพาะ  “ครู” ที่ต้องมาสอนที่นี่ หลายคนเลือกเดินทางที่ไปกลับทุกวัน แต่บางคนก็เลือกที่จะนอนที่โรงเรียน

โควิด-19 กับชาวโรงเรียนบ้านแม่แพน้อย

จากการแผ่ระบาดของโควิด-19  ทำให้โรงเรียนหยุดทำการเรียนการสอนเป็นเวลานานทั่วประเทศ รวมถึงที่นี่ นั่นเป็นโจทย์สำคัญให้ “คณะครู” ต้องวางแผนออกแบบการเรียนเพิ่มเติมจากโจทย์เดิมที่เล่ามาข้างต้น ว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนของเขาได้มีโอกาสเรียน ได้มีโอกาสรู้ และอยู่อย่างเท่าทันโลกและเท่าทันโรคอุบัติใหม่นี้ “นักข่าวน้อย 2 ภาษา” จึงเป็นอีกบทเรียนในสถานการณ์นี้ เพราะชุมชนที่นี่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ ภาษาไทยกลางจากราชการ ไม่อาจสื่อสารได้ครบถ้วนและเข้าใจ สิ่งที่ครูและนักเรียนทำได้ คือ ทำความเข้าใจข้อมูลการป้องกันตนเองจากโรคใหม่ โควิด-19 และบอกเล่าสื่อสารออกไปในชุมชน ผ่านหอกระจายข่าว การผลิตสื่อเพื่อสร้างความตระหนักและให้ความรู้โควิด-19 ด้วยเพลงที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยที่ขับร้องโดยนักเรียนโรงเรียนบ้านแม่แพน้อย ให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ และอีกโจทย์สำคัญคือการป้องกันตนด้วยหน้ากากผ้า จากเครือข่ายการทำงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.)แจกจ่ายให้ความช่วยเหลือเด็กและครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ปิดเทอม ปิดโรงเรียน แต่ไม่ปิดการเรียนรู้

“ในช่วงที่มีการกักเก็บตัวเด็ก ๆ ก็จะได้เรียนรู้ว่า วิถีชีวิตของบรรพบุรุษหรือว่าในกลุ่มชาติพันธุ์หรือพ่อแม่เขาในชุมชน เขามีอาชีพยังไง แทนที่เราจะเรียนวิชาการจากโรงเรียนอย่างเดียว ในเมื่อโรงเรียนเราได้หยุดการเรียนการสอนก็กลับไปเรียนในเรื่องอาชีพเรื่องของปราชญ์ชาวบ้านในเรื่องของเครื่องมือในการประกอบอาชีพการทำไร่ ทำสวน ก็ถือว่าเป็นการเล่นการเรียนรู้อีกอย่างหนึ่งของเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน” เหล่านี้คือสิ่งที่ครูในระบบออนไลน์ทางไกลไม่สามารถสอนเด็ก ๆ ได้ เพราะที่หมู่บ้านแห่งนี้ สัญญานโทรศัพท์ไม่ครอบคลุมพื้นที่ ไม่มีอุปกรณ์รองรับในการเรียนการสอนและ ความไม่พร้อมของผู้ปกครอง บางบ้านไม่มีแม้แต่โทรทัศน์หรือโทรศัพท์ แต่มีทักษะชีวิตและวิถีชุมชนรายล้อมพวกเขาตลอดเวลา

 “กิจกรรมนี้มันส่งผลทำให้เกิดการตื่นตัวทั้งหมู่บ้านในเรื่องของการเฝ้าระวัง และการให้ความรู้นะคะ ผู้คนก็จะได้รู้แนวทางในการที่จะปฏิบัติตัวของเขาในสถานการณ์แบบนี้ รวมไปถึงการใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่เราถูกปิดเมืองเช่นนี้  นอกจากนี้เด็ก ๆ จะได้เกิดความกล้าที่จะแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของถ่ายทำมีความรู้ในเรื่องของการออกเสียงตามสาย การใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในหมู่บ้าน รวมไปถึงการใช้ชีวิตกับพ่อแม่แล้วก็เป็นการถ่ายทอดความรู้จากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น”

1 เดือน กับกระบวนการเรียนรู้ออนไลน์ของคุณครูในการผลิตสื่อร่วมกันกับเครือข่าย “อีสานตุ้มโฮม” พลังจากยอดดอย ท้องทุ่ง และภูเขา ส่งผ่านมาเป็นงานข่าวพลเมือง 2 เรื่อง ที่ออกอากาศผ่านหน้าจอทีวีของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส บ้างอาจมองว่า ข่าว “เพียง 3 นาที” แต่ ณ ตอนนี้หัวใจของผู้เขียนและคณะครูบ้านแม่แพน้อยกลับพองโตและรู้สึกว่ามันคือ “ข่าวตั้ง 3 นาที” ที่ยืนยันถึงความอดทน พยายาม และการเรียนรู้แบบไม่สิ้นสุด ไม่จำกัดพื้นที่ และไร้พรมแดนโดยแท้ ภายใต้หัวใจและการร่วมมือของคณะครูและนักเรียนที่เฝ้าเพียรถ่ายภาพบนดอยสูง เดินทางลงมาที่ชุมชนบนพื้นราบ ทยอยส่งคลิปและภาพวิดีโอมายังทีมงาน ปรับเนื้อหาร่วมกัน กว่าจะเป็นข่าวออกอากาศสักเรื่อง ผลงานครั้งนี้จึงเป็นเหมือนครูในการทำงานชิ้นแรก ๆ ของผู้เขียนที่สอนให้เคารพและศรัทธาในความมุมานะของครูในบทบาทนักสื่อสารพลเมือง

“ถ้ามีเวลามาถ่ายรูปบนดอยกันนะคะ หลังโควิด-19 ซาลง” ครูนุช พิมพ์ข้อความเอ่ยชวนเพื่อนเครือข่ายในกลุ่มไลน์ที่พบเจอกันยามว่างเว้นจากโลกความจริง ซึ่งมีการโต้ตอบสนทนาทันทีจากพี่น้องเครือข่ายครูบนพื้นที่ราบสูงภาคอีสาน

การงาน พลัง และรอยยิ้ม เป็นสิ่งที่ผู้เขียนได้สัมผัสได้เรียนรู้จากหัวใจครูและผู้เรียนทุกพื้นที่ ซึ่งเชื่อมต่อกันผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ที่แม้โควิด-19 ตัวร้ายจะทำให้เราห่างกัน แต่นั่นก็ทำให้เรารับรู้ถึงพลังความพยายามจากทุกพื้นที่เพื่อสื่อสารเรื่องราวออกไปให้เราได้รู้จักเข้าใจกันมากขึ้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ