ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีโครงการ ‘พม.เราไม่ทิ้งกัน’ โดยการลงพื้นที่ 286 ชุมชนในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อสำรวจข้อมูลครัวเรือนและกลุ่มเปราะบาง เช่น คนตกงาน ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง แม่เลี้ยงเดี่ยว ฯลฯ ที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเริ่มสำรวจข้อมูลตั้งแต่วันที่ 20-30 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลมาให้ความช่วยเหลือให้ตรงกับความต้องการของผู้เดือดร้อนนั้น
ล่าสุดวันนี้ (29 พฤษภาคม) เวลา 15.30 น. นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง พม. นางสาวพรรณทิพย์ เพชรมาก รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) และผู้แทนสำนักงานเขตบางบอน ได้เดินทางไปที่ชุมชนซอยเอกชัย 70 และชุมชนหน้าหมู่บ้านเอกชัยเลควิลล์ เขตบางบอน กรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมเยียนชาวชุมชนที่ประสบปัญหา พร้อมทั้งมอบถุงยังชีพและสิ่งของจำเป็นให้แก่ชาวชุมชน
นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวง พม.
นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวง พม. กล่าวว่า กระทรวง พม. เป็นกระทรวงที่ดูแลความเป็นอยู่ด้านสังคมของพี่น้องอยู่แล้ว วันนี้เราพาหน่วยงานในกระทรวง พม. เช่น กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ เข้ามาให้ความช่วยเหลือพี่น้องชุมชนในทุกด้าน และตอนนี้ทางกระทรวง พม. มีหมายเลขสายด่วน หากพี่น้องได้รับความเดือดร้อนสามารถโทรไปที่เบอร์ 1300 สายด่วน เพื่อขอรับความช่วยเหลือได้
โดยในวันนี้นายปรเมธีได้มอบถุงยังชีพ จำนวน 160 ชุดให้กับชาวชุมชนเอกชัย 70 และอีก 30 ชุดให้กับชุมชนเอกชัยเลควิลล์ นอกจากนี้พี่น้องเครือข่ายบ้านมั่นคงเขตบางบอนได้มอบข้าวกล่องจำนวน 500 ชุดให้แก่ชาวชุมชน รวมทั้งภาคเอกชนมอบให้อีก 450 ชุด
นายนพดล ชมฝัน ผู้นำชุมชนเอกชัย 70
นายนพดล ชมฝัน ผู้นำชุมชนเอกชัย 70 กล่าวว่า เดิมพวกเราอยู่บริเวณท้ายซอยเอกชัย 70 แล้วโดนไล่ที่ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนปัจจุบันมาอยู่ที่ต้นซอย 70 ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด -19 พี่น้องในชุมชนได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะขาดรายได้ ไม่มีการจ้างงาน และค้าขายไม่ได้ ทำให้มีปัญหาด้านอาหารการกิน และเงินที่จะมาใช้จ่ายในครอบครัว และ
“ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเหลือ เพราะเราเป็นชุมชนตกสำรวจ วันนี้เรารู้สึกดีใจมากที่มีกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มาเยี่ยม เพราะชุมชนของเรามีเด็กและคนแก่เยอะ อยากให้หน่วยงานช่วยเรื่องอาหารการกิน และอยากให้ช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย เพราะที่อยู่กันทุกวันนี้เป็นที่ดินเช่าเอกชนบ้าง เป็นผู้บุกรุกแบบผิดกฎหมายบ้าง จึงอยากให้หน่วยงานของรัฐช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย เพราะเราไม่รู้ว่าเจ้าของที่ดินจะให้เราออกไปเมื่อไหร่” ผู้นำชุมชนเอกชัย 70 บอกถึงปัญหาและความต้องการของชุมชน
ทั้งนี้ชุมชนซอยเอกชัย 70 มีจำนวน 160 ครัวเรือน เป็นชุมชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กทม. จึงเข้าไม่ถึงสวัสดิการและบริการต่างๆ ที่ตั้งชุมชนอยู่บริเวณซอยเอกชัย 70 แบ่งเป็น 3 แถว(โซน) ลักษณะการอยู่อาศัยมีทั้งบุกรุกที่ดินเอกชน และเช่าที่ดินเอกชน (เป็นที่ดินของเอกชนหลายเจ้าของ) อยู่อาศัยมานานกว่า 20-30 ปี มีชาวบ้านอยู่อาศัยทั้งหมด 431 คน แบ่งเป็น เด็ก 0-3 ปี 25 คน เด็ก 4-12 ปี 30 คน หญิงตั้งครรภ์ 1 คน (35 ปี) พิการ 3 คน (54-59 ปี) สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 27 คน (ป่วยติดเตียง 2 คน อายุ 64, 84 ปี) ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป มีรายได้น้อย
ส่วนชุมชนหน้าหมู่บ้านเอกชัยเลควิลล์ เป็นชุมชนที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ กทม. เช่นกัน เดิมเคยเป็นที่พักของคนงานก่อสร้างของหมู่บ้านแห่งนี้มาก่อน จึงสร้างบ้านพักชั่วคราวที่หน้าหมู่บ้าน ต่อมาได้ใช้บ้านพักชั่วคราวเป็นที่อยู่อาศัยเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 20 ปี โดยเช่าที่ดินเอกชน (ค่าเช่าปีละกว่า 3,000 บาท จ่ายเป็นราย 6 เดือน) ชาวชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นพนักงานในโรงงานละแวกชุมชน มีทั้งหมด 20 ครัวเรือน