กว่า 100 แชร์โพสต์ ในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมง “ผมตั้งตัวไม่ทัน ไม่คิดว่าจะมีคนสนใจเยอะขนาดนี้” ดร.พสุธา โกมลมาลย์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร บอกเล่าความรู้สึกหลังจากเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 63 ได้โพสต์รายละเอียดกิจกรรม “นักศึกษาสโมสรคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ช่วยชุมชนเผชิญหน้าการเรียนยุคออนไลน์”
“กิจกรรมสโมสรคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ว่าพร้อมเผชิญหน้าและช่วยเหลือชุมชนในสถานการณ์การความกังวลและปัญหาของการทดลองเรียนในระบบออนไลน์ เพราะเราเห็นร่วมกันแล้วว่าชุมชนหลาย ๆ ชุมชน โดยเฉพาะชุมชนชนบทยังมีปัญหาด้านความไม่พร้อม ทั้งด้านเทคโนโลยีและบุคลากรที่จะเข้ามาช่วยเป็นกลไกลผลักดันให้การเรียนการสอนออนไลน์เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความเท่าเทียม ดังนั้นทางงานกิจกรรมนักศึกษา โดยทีมทำงานสโมสรนักศึกษาได้เล็งเห็นปัญหาทางสังคม ในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 จึงได้จัดทำโครงการนักศึกษาสโมสรคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ช่วยชุมชนเผชิญหน้าการเรียนยุคออนไลน์” นี่คือที่มาและเป้าหมายของกิจกรรมซึ่งมีปรึกษา คือ อาจารย์อนรรฆ สมพงษ์ พร้อมแจ้งรายละเอียดคุณสมบัตินักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ
เปิดรับสมัคร นักศึกษาสโมสรนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และคณะอื่น ๆ ที่สนใจ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงในชุมชนช่วยเหลือกระบวนการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ โดยคุณสมบัติของนักศึกษาที่จะเข้าร่วมโครงการนี้มีดังนี้ คือ
1) เป็นนักศึกษาที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่เผชิญปัญหา
2) มีกลุ่มเด็ก ๆ เยาวชนในพื้นที่หมู่บ้านของตนเอง เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการทำหน้าที่ช่วยเหลือกระบวนการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในชุมชน
3) มีความรู้และมีความสามารถ ในการช่วยเหลือกระบวนการจัดการเรียนก่อนสอนออนไลน์ในชุมชนได้
4) สามารถช่วยเหลือติดต่อประสานงานกับคุณครูในโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนได้
พร้อมกันยังได้ย้ำถึงลักษณะงานที่สำคัญคือ “ให้นักศึกษาสร้างกลุ่มเด็กในชุมชนประมาณ 4-5 คน แล้วจัดการช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ในขณะที่เด็ก ๆ กำลังเรียนออนไลน์ โดยนักศึกษาจะทำหน้าที่คอยดูแลให้เด็ก เรียนรู้อย่างเต็มที่ และคอยช่วยเหลือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเรียนรู้ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กเยาวชนในชุมชน เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง เป็นการลดภาระที่ครอบครัวต้องแบกรับในช่วงที่พื้นที่โรงเรียนไม่สามารถเปิดได้ โดยในกระบวนการติดตามการทำงาน นักศึกษาสามารถทำได้โดยการถ่ายรูปกิจกรรม ขณะที่กำลังทำการดูแลเด็ก ๆ ในแต่ละวัน แล้วเขียนบรรยายเหมือนบันทึกประจำวัน ว่าทำอะไรในวันนั้นบ้าง มีปัญหาอุปสรรค หรือข้อติดขัดอะไร และได้เรียนรู้อะไรในการทำกิจกรรม โดยส่งทุกวันผ่านทาง face book ซึ่งจะได้ค่าตอบแทน เป็นค่าขนมที่คุณจะได้รับในการทำงานประมาณ 30 วัน คือ 3,000 บาท”
“เงินน้อยนิด แต่สิ่งที่คุณทำนั้นยิ่งใหญ่ จึงเรียนมาเพื่อ พิจารณาขยับชุมชนร่วมกัน” คือ
อีกข้อความสำคัญในโพสต์แจ้งรายละเอียดดังกล่าว
เพื่ออธิบายให้นักศึกษาที่สนใจได้เห็นรายละเอียดและเป้าหมายร่วมกัน
“ใครไม่ขยับ เราขยับ ใครไม่กล้าหาญที่จะเป็นผู้นำทำสิ่งที่ถูกต้อง เราจะเป็นผู้นำทำเอง งานกิจการนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มาแล้ว อย่าให้ใครมองว่าเด็กมหาวิทยาลัยราชภัฏต้องตามหลังคนอื่น เราจะทำให้ดูเพราะจุดแข็งของเราคือ การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ไม่ใช่หากินกับท้องถิ่นให้เด็กได้ทำงาน ให้ชุมชนได้รับการช่วยเหลือ และเด็ก ๆ ต้องไม่ถูกทอดทิ้ง เพราะเราเชื่อว่าเราสามารถเป็นส่วนหนึ่ง ที่ช่วยสังคมเผชิญหน้ากับสถานการร์โควิด-19 ได้อย่างมีพลัง องค์กรอื่น ๆ ถ้าสนใจ สามารถช่วยกันไปทำในพื้นที่ของท่านได้นะครับ”
หลังจากโพสต์นี้ถูกสื่อสารออกไป คนในสื่อสังคมออนไลน์ก็เข้ามาให้กำลังใจและชื่นชมสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว และโครงการนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมแล้วรวม 8 คน ทั้งในพื้นที่ จ.สกลนคร และนครพนม เช่น บ้านนาจาน ต.บ้านโพน อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร บ้านดอนปอ ต.เหล่าพัฒนา อ.นาหว้า จ.นครพนม ครับ บ้านหนองหัวงัว ต.นาคูณใหญ่ อ.นาหว้า จ.นครพนม และบ้านนายอ หมู่6 ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร
นางสาวพิมพ์ลพัฒณ์ อังคะจันทร์ นักศึกษาสาขาวิชาสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ อาสาช่วยสอนในพื้นที่เทศบาลตำบลกุสุมาลย์ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร บอกว่าเป้าหมายของเธอนอกจากทำกิจกรรมระหว่างปิดภาคเรียนแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือชุมชนไปในคราวเดียวกัน
“หนึ่ง เพื่อช่วยเหลือเด็กในชุมชนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ สอง เพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครองที่ไม่มีเวลาดูแลบุตรหลานในระหว่างการเรียนออนไลน์ และเพื่อแนะนำ ชี้แนะ เนื้อหาในการเรียนออนไลน์ ที่ผู้เรียนไม่เข้าใจ”
เช่นเดียวกับนางสาวนุจรินทร์ นามุลทา นักศึกษาสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ที่บอกว่าเล่าเป้าหมายในการทำกิจกรรมครั้งนี้ “คือเพื่อเป็นช่วยเหลือน้อง ๆ ในชุมชนในการเรียนออนไลน์ และกระตุ้นให้น้อง ๆ มีความตั้งใจที่จะเรียนค่ะ”
ส่วนนายธีรนพ อินทะประเสริฐ นักศึกษาสาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ซึ่งอาสาช่วยสอนในพื้นที่ บ้านนายอ หมู่6 ต.อากาศ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร บ้านของเขาเองบอกว่า เขาเองต้องการช่วยเหลือ ดูเเลเเบ่งเบาภาระผู้ปกครองเด็กในช่วงเรียนออนไลน์