วิกฤติ Covid – 19 กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฤาเพียงวาทกรรมซ้ำซาก “ปิดโรงเรียน! เปิดประตูสู่ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง?”

วิกฤติ Covid – 19 กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฤาเพียงวาทกรรมซ้ำซาก “ปิดโรงเรียน! เปิดประตูสู่ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง?”

เรียบเรียงโดย อังกฤษ วันชัย

นักศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 เวลา 13.00 – 14.30 น. สาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา ภาควิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ (Webinar 3) ในประเด็นหัวข้อ วิกฤติ Covid – 19 กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฤาเพียงวาทกรรมซ้ำซาก “ปิดโรงเรียน! เปิดประตูสู่ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง?” โดยมีวิทยากร 4 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คุณวรภัทร แสงแก้ว ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลปทุมธานี คุณทันตา เลาวิลาวัณยกุล มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ และ อ.ดร.ออมสิน จตุพร เป็นผู้ดำเนินรายการ

การสัมมนาออนไลน์ครั้งนี้มุ่งเน้นการวิเคราะห์เชิงลึกถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ Covid – 19 ที่มีความสัมพันธ์กับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง และระบบการศึกษา อีกทั้งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาค และความยุติธรรมเชิงสังคม

“ครอบครัว” อาจไม่เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยเด็กและผู้หญิง ในภาวะวิกฤติ Covid – 19 ผ่านมุมมองแนวคิดสตรีนิยม

ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท จากแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ชี้ให้เห็นความวิตกกังวลต่อพื้นที่ภายในครอบครัวซึ่งอาจจะไม่เป็นพื้นที่ปลอดภัย

“ถ้าดูจากสถิติผู้หญิงในประเทศไทยเมื่อ 10 ปีก่อน พบว่าเคยมีประสบการณ์ใช้ความรุนแรงโดยคู่ของตนเอง หรือถูกใช้ความรุนแรงทางเพศโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่คู่ของตนเองโดยการล่วงละเมิดทางเพศ”

ซึ่งสถิติดังกล่าวมีการเก็บข้อมูลในหลายองค์กรและมีการสนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า 44% ของผู้หญิงเป็นผู้ตอบแบบสำรวจ ช่วงอายุ 15 – 49 ปี บอกว่าเคยประสบเหตุและถูกกระทำรุนแรงจากคู่ครองของตนเองและบุคคลอื่น ล่าสุดปี 2560 โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ทำการสำรวจอีกครั้งโดยมีเป้าหมายในระดับครอบครัว และได้ซักถามสมาชิกครอบครัวใน 9 จังหวัดทั่วประเทศ เกี่ยวกับกระทำความรุนแรงทางกาย ทางจิตใจ และความรุนแรงทางเพศ พบว่า 34 % ของครอบครัวที่ตอบแบบสำรวจใน 9 จังหวัด มีการกระทำความรุนแรงเกิดขึ้นในครอบครัวของผู้ตอบแบบสำรวจ

จากตัวเลขที่ได้กล่าวมาข้างต้นถือได้ว่าเป็นค่าเฉลี่ยที่สูงกว่าระดับโลก เพราะค่าเฉลี่ยในของระดับโลกจะอยู่ที่ประมาณ 33 % ของผู้หญิงที่ถูกกระทำรุนแรงในช่วงชีวิตที่ผ่านมา สถานการณ์ในประเทศไทยจึงมีเรื่องของความรุนแรงในครอบครัวค่อนข้างสูง ดังปรากฎในพื้นที่ข่าวในหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ หรือสื่อโซเชียลมีเดีย ในทุก ๆ สัปดาห์จะเห็นข่าวการกระทำความรุนแรงมากกว่าหนึ่งข่าวที่เกิดจากการกระทำของคู่ตนเอง การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก ต่อผู้สูงอายุ หรือต่อคนที่พึ่งพาตนเองไม่ได้ในครอบครัว

ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์ Covid – 19 มีข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นจากการโทรเข้าเบอร์สายด่วน 1300 ศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ตัวเลขบุคคลที่แจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือจากการใช้ความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้น 10 % และสอดคล้องไปในทิศทางกับตัวเลขของต่างประเทศ

สุดท้ายวิทยากรได้ทิ้งประเด็นไว้ว่า “โรงเรียนปิด อาจจะเกิดความรุนแรง ไม่ปลอดภัย ดังกรณีการข่มขืนที่มุกดาหาร” กล่าวคือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนและสถานที่ใดก็สามารถเกิดความรุนแรงได้เช่นกัน ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นโรงเรียน และมิใช่ว่าทุกโรงเรียนจะปลอดภัย หรือทุกบ้านจะปลอดภัย แต่ถึงอย่างไรโรงเรียนและบ้านก็อาจจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย แต่ใช่ว่าจะปลอดภัยเสมอไป

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั้งในบ้านและในโรงเรียน ผ่านมุมมองของเพศภาวะ วัย และอื่น ๆ ภายใต้วิกฤติ Covid – 19 กรณีศึกษาของศูนย์พึ่งได้

คุณวรภัทร แสงแก้ว จากศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลปทุมธานี ได้กล่าวว่า ประเด็นความรุนแรงต่อบุคคลหรือต่อเด็ก ซึ่งเป็นความรุนแรงระหว่างบุคคลอย่างหนึ่ง ความรุนแรงระหว่างบุคคลจะมีหลายกลุ่ม เป็นความรุนแรงต่อครอบครัว ผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือผู้ด้อยโอกาส หรือว่าความรุนแรงในสถานศึกษาและในสถาบันของความรุนแรงระหว่างบุคคลเช่นกัน

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid – 19 ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการออกมาตรการในการป้องกันในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าเป็นการปิดเมือง หรือสถานที่ที่จะต้องนำผู้คนมาอยู่ด้วยกันเป็นจำนวนมาก

“รวมถึงสถานศึกษาซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานหนึ่งที่อยู่ในช่วงที่โรงเรียนปิดภาคเรียนและปิดยาวไปเนื่องด้วยสถานการณ์ Covid – 19 ในส่วนนี้ก็จะมีทั้งข้อดีและข้อเสียในช่วงระยะเวลานี้ และต่อมาคือช่วงความรุนแรงต่อเด็กหรือความรุนแรงในครอบครัว มาตรการตรงนี้อาจจะเป็นผลเสียต่อเด็กและครอบครัวในบางเรื่อง โดยเฉพาะครอบครัวที่มีพื้นฐานหรือการใช้ความรุนแรงในครอบครัวและปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวอยู่แล้ว”

ยกตัวอย่างสถานการณ์ของศูนย์พึ่งได้ พบว่า มีการใช้ความรุนแรงเป็นจำนวนมาก เฉพาะเดือนมีนาคม 2562 และเดือนมีนาคม 2563 เมื่อเทียบในช่วงเดือนเดียวกัน เดือนมีนาคม 2562 มีเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวทั้งด้านร่างกาย เพศ และจิตใจ ประมาณ 16 ราย  แต่ในเดือนมีนาคม 2563 มีเด็กถูกกระทำความรุนแรงทั้งด้านร่างกาย เพศ และจิตใจ มีทั้งหมด 34 ราย เพิ่มเป็นเท่าตัวจากปีที่แล้ว

ทั้งนี้ ศูนย์พึ่งได้ของกระทรวงสาธารณสุขมีมาตรการดูแลความรุนแรงทั้งหมด 5 ด้าน ได้แก่ 1. ความรุนแรงทางเพศ 2. ความรุนแรงทางร่างกาย 3. ความรุนแรงทางด้านจิตใจ 4. ความละเลยและทอดทิ้ง และ 5. การค้ามนุษย์ ซึ่งการบริการให้กับเด็กหรือผู้หญิงที่เข้ามารับบริการมักจะเผชิญกับความรุนแรงในด้านใดด้านหนึ่ง จากสถิติพบว่าบ้านเป็นสถานที่ที่ใช้ความรุนแรงมากกว่าสถานที่อื่น ๆ ด้วยปัจจัยในหลาย ๆ ด้าน เพราะฉะนั้นแล้วบ้านก็ไม่ได้ปลอดภัยเสมอไป ส่วนสถานที่อื่น ๆ จะมีการใช้ความรุนแรงน้อยกว่า โดยส่วนใหญ่แล้วการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นพ่อแม่ แต่อาจจะเป็นผู้ปกครอง ญาติ หรือบุคคลใกล้ชิด ในมุมมองของเพศภาวะส่วนตัววิทยากรมองว่า การใช้ความรุนแรงทั้งเด็กหรือผู้หญิงเพศสภาวะในปัจจุบันที่ค่อนข้างที่จะรุนแรงและมีมากกว่า

 “บ้านคือพื้นที่บ่มเพาะความรุนแรงในสถาบันครอบครัว”

คุณทันตา เลาวิลาวัณยกุล ผู้ประสานงานจากมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ ได้ชี้ให้เห็นว่า มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ เป็นมูลนิธิมีที่การบริการให้สำหรับผู้หญิง ส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริการที่มีอยู่ถึง 80% เป็นแม่ อีก 20% เป็นผู้ที่ต้องดูแลครอบครัว และผู้หญิงส่วนใหญ่มีภาระหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นแม่หรือดูแลครอบครัวก็ตาม ซึ่งนอกจากจะมีการคิดมูลค่าทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีความจำเป็นที่ผู้หญิงจะต้องแบกรับโดยที่ไม่มีใครมองเห็น ดังกรณีของความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือในโรงเรียน

“ส่วนมากครอบครัวมักจะไม่มีเวลาด้วยเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่จำเป็นต้องมีการออกไปทำงาน ทำให้การดูแลลูกค่อนข้างน้อย จึงทำให้เด็กที่เกิดมานั้นที่ไม่มีผู้ใหญ่ดูแลในบ้านและทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีพอ”

ความเป็นพนักงานหรือความเป็นผู้หญิงนั้นจึงบ่งบอกถึงการทำงานของความเป็นแม่ที่สำคัญมาก หากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ พบว่า ต่างประเทศมีสวัสดิการให้สำหรับคนเป็นแม่หรือครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้สูงอายุอยู่ในครอบครัว มีสวัสดิการในการดูแลและเลี้ยงครอบครัวของตนเอง ซึ่งในสถานการณ์ Covid – 19 ทำให้ต้องอยู่เฉพาะในบ้าน ทำให้ผู้ชายหรือคู่ของตนเองมีภาวะเครียด โดยที่ไม่ได้ออกไปทำงานหรือออกไปข้างนอกเหมือนอย่างปกติก็ตามจึงทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงหรือการล่วงละเมิดทางเพศได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่าง ภาระหน้าที่ การดูแลครอบครัว เช่น ดูแลเด็ก ดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้พิการ เป็นต้น เพราะฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะให้อำนาจกับผู้หญิงในการตัดสินใจต่าง ๆ เพื่อให้ผู้มีสิทธิในร่างกายของตนเองมากยิ่งขึ้น

 “โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยจริงหรือไม่”

รศ. ดร. นงเยาว์ เนาวรัตน์ จากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ได้อธิบายให้เห็นว่า

“พื้นที่ในสังคมไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น พื้นที่โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ทำงาน หรือแม้แต่พื้นที่สวนสาธารณะก็ไม่ใช่พื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง เช่นเดียวกับ “ครอบครัว” เป็นพื้นที่ส่วนบุคคล แต่ก็ไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยหรือพื้นที่สีขาวเสมอไปทั้งหมด”

ฉะนั้นพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนบุคคลในทุก ๆ มิติของสังคมมักแฝงไปด้วยพื้นที่สีดำซึ่งแสดงให้เห็นความรุนแรงต่อผู้หญิง และพื้นที่สีขาวเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้แสดงพลังในความเป็นตัวตนใหม่และสามารถแสดงจุดยืนของตนได้ แนวคิดแบบนี้ได้ช่วยทำให้มีพื้นที่สีขาวเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างกรณี อสม. อดีตไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่บ้านของพวกเขาได้ในฐานะพื้นที่ส่วนตัว แต่ในภายหลังเมื่อมีการแพร่พันธุ์ของยุงลายในอ่างน้ำตามบ้านก็สามารถขออนุญาตเข้าไปในบ้านเพื่อทำการฉีดพ่นยากำจัดยุงลายได้ภายในบ้าน จนทำให้รู้สึกว่ามีอำนาจในการเข้าดูแลเพื่อทำให้รู้สึกว่ามีความปลอดภัย ถ้าพื้นที่สีดำที่เป็นพื้นที่การใช้ความรุนแรงหากมีแนวคิดแบบพื้นที่สีขาวไม่ว่าจะเป็นพื้นที่โรงเรียน โรงพยาบาล หรือที่ทำงาน ก็อาจทำให้มีพื้นที่สีขาวเพิ่มมากขึ้นกว่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะต้องทำให้พื้นที่สีขาวมีเพิ่มมากในหลายพื้นที่ไม่ว่าจะพื้นที่สีดำหรือสีขาวก็ตาม

จากที่กล่าวมาข้างต้นในแต่ละประเด็นมีหลายแง่คิดและกรณีศึกษาในฐานะที่เป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาเหล่าที่เกิดกับเด็กและผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนบุคคล มากไปกว่านั้นวิทยากรทั้ง 4 ท่านได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า “โรงเรียนควรจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้หญิงด้วย”

ชมไลฟ์บันทึกเสวนา

Webinar ครั้งที่ 3

Webinar ครั้งที่ 3 วิกฤติ Covid-19 กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฤาเพียงวาทกรรมซ้ำซาก: “ปิดโรงเรียน! … เปิดประตูสู่ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง?”เสวนาออนไลน์ที่เน้นการวิเคราะห์เชิงลึกถึงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่สัมพันธ์กับโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจการเมืองของระบบการศึกษาไทย และผลที่เกิดขึ้นในประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาค และความยุติธรรมเชิงสังคมชวนคุยโดยรศ. ดร. นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดร. วราภรณ์ แช่มสนิท แผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)คุณวรภัทร แสงแก้ว ศูนย์พึ่งได้ (OSCC) โรงพยาบาลปทุมธานีคุณทันตา เลาวิลาวัณยกุล มูลนิธิเอ็มพาวเวอร์ผู้ดำเนินรายการ: อาจารย์ ดร. ออมสิน จตุพร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าร่วมเสวนาและแลกเปลี่ยนมุมมองในวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม 2563 เวลา 13.00 – 14.30 น.

โพสต์โดย The Centre of Multiculturalism and Education Policy, Chiang Mai University เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ