มาตรการเยียวยาการช่วยเหลือลดค่าไฟของรัฐ กับกลุ่มผู้ไม่ได้รับการเหลียวแล

มาตรการเยียวยาการช่วยเหลือลดค่าไฟของรัฐ กับกลุ่มผู้ไม่ได้รับการเหลียวแล

ไม่ได้จับผิดกับการออกมาตรการของรัฐในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน แต่สิ่งที่ปรากฏให้เห็นทุกครั้งคือความไม่รอบคอบ ความคิดไม่รอบด้านของผู้ออกมาตรการ ส่งผลให้มีกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเยียวยาของรัฐ

ผลกระทบการแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกคนในประเทศ รวมถึงทั่วโลก คนทำงานจำนวนมากต้องตกงาน ขาดรายได้ หยุดงานชั่วคราว รายได้น้อยลง พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ คนรับจ้างทำงานรายวันไม่มีใครจ้างทำงาน เด็กๆ ต้องหยุดเรียน  คนดูแลบ้านที่เคยได้รับเงินจากลูกหลานก็ไม่ได้รับเพราะลูกหลานตกงาน มันเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ของการดำรงชีพของครอบครัว เช่นเดียวกันกับผลกระทบต่อภาคธุรกิจแบบโซ่ห่วงการผลิต

ทุกอย่างมันชะลอตัวและสะดุดไปหมด แต่มีสิ่งหนึ่งที่อยู่บนบ่าของทุกคนไม่ลดหรือหายไปเลยก็คือหนี้สินและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน บางคนอาจได้รับเงินเยียวยาจากกระทรวงการคลัง หรือสำนักงานประกันสังคม แต่เงินจำนวน 5,000 บาท หรือ 62 เปอร์เซ็นต์ของค่าจ้าง ช่วยให้มีเงินซื้อกินไปวันๆ เพื่อไม่ให้อดเท่านั้น  บางคนต้องเจียดเงิน 5,000 บาทไปจ่ายหนี้สิน ค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไม่สามารถผ่อนผันได้ เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกเดือน หากขอผัดผ่อนก็อาจต้องย้ายไปนอนข้างถนนแทน

ภาพจากเว็บไซต์: กฟผ

เพราะฉะนั้นมาตรการการช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนจึงจำเป็นอย่างยิ่งกับสถานการณ์วิกฤตปัจจุบัน อย่างน้อยก็เพื่อช่วยให้มีเงินเหลือพอที่จะซื้อข้าวและกับข้าวให้กับคนในครอบครัวได้กินนานขึ้นอีกหลายวัน  ก็ดูเหมือนว่ารัฐบาลเองก็เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ออกมาตรการการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟประเภทบ้านที่อยู่อาศัยโดยมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ให้มีการลดค่าไฟฟ้าลง 3 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนเมษายน ถึง เดือนมิถุนายน เป็นเวลา 3 เดือน (สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท)  ต่อมามีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายนนา 2563 มาตรการค่าไฟฟ้าฟรีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ไม่เกิน 90 หน่วย ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง มิถุนายน เป็นเวลา 3 เดือน และขยายระยะเวลาชำระไฟฟ้าสำหรับการชำระค่าไฟฟ้าที่ใช้เกิน  90 หน่วยขึ้นไปไม่เกิน 150 หน่วย เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตามใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน – มิถุนายน 2563 และมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  21 เมษายน 2563 (1) ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.1 หรือใช้ไม่เกิน 5 แอมป์  ใช้ไฟฟรีสามเดือนกรณีไม่เกิน 150 หน่วย ตามใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 (2) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 1.2 หรือ มากกว่า 5 แอมป์ และใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วยให้ใช้ฐานค่าใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เป็นฐานในการจ่ายค่าไฟฟ้าสำหรับเดือนเมษายน ถึง มิถุนายน 2563หรือมียอดค่าใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าเดือนฐานคำนวณให้จ่ายตามจริง ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะมีผู้เข้าถึงมาตรการนี้ประมาณ 22.17 ล้านราย

จากจำนวนที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้เข้าถึงมาตรการดังกล่าวเพียง 22.17 ล้านราย แสดงให้เห็นว่ายังมีจำนวนประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มคนที่เข้าไม่ถึงมาตรการนี้ก็คือกลุ่มผู้เช่าหอพักเพื่ออยู่อาศัย

ระบบการจัดเก็บข้อมูลจำนวนหอพักและผู้เช่าหอพักเพื่ออยู่อาศัยในประเทศยังคงมีข้อบกพร่อง อาจเป็นเพราะเจ้าของหอพักไม่ดำเนินการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลและจัดเก็บข้อมูลและจัดทำข้อมูลมีข้อบกพร่องในการการปฏิบัติ ผู้เขียนจึงได้หยิบยกตัวเลขบางส่วนที่มีการเผยแพร่จากสามแหล่งข้อมูลที่อาจสามารถทำให้เห็นภาพรวมของผู้เช่าหอพักเพื่ออยู่อาศัยได้มากขึ้นไม่มากก็น้อย

แหล่งที่หนึ่งได้ข้อมูลมาจากรายงานหอพักในกรุงเทพมหานคร กองนโยบายและแผนงาน สำนักงานวางผังและพัฒนาเมือง ปี 2561ระบุว่ามีประชากรแฝงกลางคืนในกรุงเทพมหานครจำนวน 2,053,219 คน ประชากรแฝงกลางคืนหมายถึงประชากรที่เข้ามาทำงานและส่วนหนึ่งเข้ามาศึกษาในกรุงเทพมหานครที่ต้องเช่าหอพักเพื่ออยู่อาศัย

แหล่งที่สองคือข้อมูลรายงานสำมะโนอุตสาหกรรม พ.ศ.2560 จังหวัดชลบุรีจำนวนคนทำงานในส่วนต่างๆ ส่วนมากอยู่ในส่วนการผลิตมีจำนวนทั้งหมด 605,110 คน คงมีคนในพื้นเพียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นคนที่มาจากพื้นที่อื่น จังหวัดอื่นและพวกเขาก็ต้องเช่าหอพักเพื่ออยู่อาศัย

และแหล่งที่สามกองเศรษฐกิจแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุว่าในเดือนมกราคม 2563 มีผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวนทั้งหมด 11,650,226 คน ซึ่งคนในจำนวนนี้เป็นส่วนหนึ่งคนประชากรแฝงกลางคืนในกรุงเทพมหานคร และส่วนหนึ่งเป็นคนทำงานในจังหวัดชลบุรี และส่วนที่เหลือก็กระจายทำงานในพื้นที่ต่างๆ ที่มีสถานประกอบการทั่วประเทศไทย  กลุ่มคนทำงานเหล่านี้เป็นกลุ่มคนที่ย้ายมาจากบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองเพื่อเข้ามาทำงานในเมืองชั้นใน เมืองหลวง หรือเมืองอุตสาหกรรม ซึ่งคนกลุ่มนี้ต้องเช่าหอพักเพื่ออยู่อาศัย  นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนที่ไม่มีที่ดินและบ้านเป็นของตนเอง กลุ่มคนทำงานนอกระบบ และกลุ่มนักเรียนและนักศึกษา ที่ต้องเช่าหอพักเพื่ออยู่อาศัยเช่นเดียวกัน

มีกฎหมายออกมาควบคุมห้ามมิให้มีการจัดเก็บค่าไฟฟ้าเกินมาตรฐานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือการไฟฟ้านครหลวง แต่ดูเหมือนว่าการบังคับใช้จะไม่ได้ผลจริง เพราะความเป็นจริงที่เกิดขึ้นผู้เช่าหอพักเพื่ออยู่อาศัยต้องจ่ายค่าไฟฟ้าที่เกินมาตรฐานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือการไฟฟ้านครหลวง  พวกเขาต้องจ่ายค่าไฟฟ้าตามที่เจ้าของหอพักกำหนด โดยเฉลี่ยค่าไฟฟ้าที่ผู้เช่าห้องพักต้องจ่ายคือ 7 -10 บาทต่อหน่วย    

ก่อนมีการบังคับใช้กฎหมาย
หลังจากมีการบังคับใช้กฎหมายห้ามเก็บค่าไฟเกินกว่ามาตรฐานไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือนครหลวง

มีตัวอย่างของอพาร์ทเม้นท์แห่งหนึ่งก่อนหน้าที่จะมีการบังคับใช้กฎหมายห้ามมิให้เก็บค่าไฟฟ้าเกินกว่ามาตรฐานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง ทางเจ้าของอพาร์ทเม้นท์ระบุค่าไฟฟ้าในใบเสร็จว่าเก็บหน่วยละ 7 บาท  แต่เมื่อมีกฎหมายออกมาควบคุมทางเจ้าของหอพักได้ เปลี่ยนข้อความในใบเสร็จ “ค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.50 บาท และมีค่าบริการไฟฟ้า คิดปริมาณเป็นหน่วยตามค่าไฟฟ้า  หน่วยละ 2.50 บาท” ก็เท่ากับผู้เช่าห้องพักยังคงต้องจ่ายค่าไฟฟ้า 7 บาทต่อหน่วยเท่าเดิม

แรงงานในจังหวัดภูเก็ตให้ข้อมูลว่าเธอเช่าห้องพัก โดยเจ้าของหอพักติดตั้งมิเตอร์ให้หนึ่งตัวแต่ให้ใช้สำหรับสองห้อง พอครบกำหนดจ่ายค่าไฟฟ้าก็หารค่าใช้จ่ายกันระหว่างสองห้อง โดยเจ้าของหอพักกำหนดค่าไฟฟ้าหน่วยละ 7 บาท ซึ่งเธอยืนยันว่าไม่ได้รับการลดค่าไฟฟ้าแม้แต่บาทเดียว

ในสภาวะปกติกลุ่มคนที่เช่าหอพักเพื่ออยู่อาศัยก็ต้องแบกภาระในการจ่ายค่าไฟฟ้าที่สูงกว่ามาตรฐานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือการไฟฟ้านครหลวง เราอาจไม่ค่อยได้ยินเสียงพร่ำบ่นของพวกเขามากนักกับการถูกขูดรีด พวกเขายอมจ่ายด้วยความจำยอมเนื่องจากไม่มีทางเลือกมากนัก เพราะหอพักทุกที่เก็บค่าไฟฟ้าต่อหน่วยในราคาเท่าๆ กัน

ในเมื่อทุกคนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคติดต่อไวรัสโควิด -19  เหตุใดเมื่อรัฐบาลมีมาตรการออกมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยาจึงไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เหตุใดกลุ่มคนที่เช่าหอพักเพื่ออยู่อาศัยจึงไม่มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือลดค่าไฟฟ้าของรัฐ?

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ