“เออ…อันนี่ละพ่อแม่เอย เมษายนกายไปแล้ว พฤษภาผัดมาต่อ ฝนตกลงจากๆ จ้น ใบหญ้ากะป่งมา พวกชาวนากะเตรียมไว้ทั้งไถกับคราด ฟั่นเชือกไว้สิไถดั้นว่าฮุดนา…” ยกมาบางวรรคตอนจากกลอนลำล่องชีวิตชาวนา โดยคุณแม่ฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) ประจำปีพุทธศักราช 2536 ได้เกริ่นถึงวิถีชาวนาที่รอคอยฝนฟ้าก่อนเริ่มต้นการเพาะปลูก
เมื่อผู้เขียนได้ฟังอีกครั้ง ก็ชวนให้นึกถึงชีวิตของคนอีสานในสมัยก่อน ที่เคยได้สัมผัสบรรยากาศ เคยได้ขี่คอคุณตา (พ่อใหญ่) ลงทุ่งนา และพาน้องนอนในเปลอยู่ใต้ต้นมะขาม คุณแม่ถอนกล้า พ่อไถนา และเมื่อน้องหลับตัวเองก็ได้เล่นน้ำในท้องนาที่กำลังรอการปักดำ
สิ่งเหล่านี้ได้ย้ำถึงความสำคัญของ “น้ำ” ไม่ว่าจะมาจากฟ้าที่เรียกว่า “ฝน” และ “น้ำท่า” ในห้วย หนอง คลอง บึง ที่สัมพันธ์กับวิถีการเกษตรอย่างแยกไม่ออก เพราะที่ดิน น้ำ แรงงาน เงินทุน ปุ๋ย พันธุ์พืช การจัดการ หรืออาจจะมีสิ่งอื่นเพิ่มเติม ล้วนคือปัจจัยการผลิตในการเกษตร
แต่ปีนี้ หรือย้อนไปปีก่อนหน้านี้ และปีก่อน ๆ หน้านี้ เรามักพบว่า “น้ำ” กลายเป็นปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรประสบปัญหาขาดแคลนจนเกิดปัญหา “ภาวะแล้ง” ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
ผู้เขียนจะพามารู้จักกับ สวนลุงโหนกนานาพรรณ ที่บ้านหม้อ ต.เขวา อ.เมือง จ.มหาสารคาม โดยสวนแห่งนี้ เป็นพื้นที่ทดลองการทำเกษตรของ ดร.จตุพร เทียรมา อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ที่นิยามตัวเองว่า เป็นเกษตรกรฝึกหัด ไม่ใช่นักวิชาการ เพื่อมาพูดคุยถึงวิธีการทำเกษตรที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี และทำอย่างไรให้การทำเกษตรในสวนแห่งนี้ใช้ต้นทุนน้อย หรือไม่มีต้นทุน ซึ่งอาจารย์บอกว่า จุดเริ่มต้นของการทำเกษตรในที่ดินแปลงนี้ เพราะอยากพิสูจน์คำบอกเล่าของคนในชุมชน ที่ว่า ดินผืนนี้มีปัญหาดินเค็มไม่สามารถปลูกอะไรได้ จึงทดลองปลูกพื้นต่าง ๆ เพื่อหาคำตอบให้กับปัญหาและนำไปสู่การแก้ไข
รู้ว่ามีปัญหาต้องหาทางแก้ไข
“แรกเริ่มเดิมที ที่ผมรู้ว่าดินที่นี่มันเค็ม เราก็เห็นว่าดินเราเค็ม เราก็ควรจะเอาพืชสายพันธุ์ที่มันตอบสนองต่อดินเค็มมาทดลอง อย่าง ส้มโอ” ดร.จตุพร เทียรมา บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจและการเริ่มต้นที่ท้าทายในผืนดินนี้จากการเจอปัญหาดินเค็ม
“ผมไปคุยกับสวนส้มโอ ที่นครปฐมเขาบอกว่าต้องไปเอาขี้แดดนาเกลือมาใส่ เพื่อให้ส้มโอหวาน แต่พอมาเจอของเรา เราไม่ต้องทำอะไรเลย เขาก็บอกว่าอาจารย์โชคดีมากเลย เพราะดินของอาจารย์มันเค็ม มันทำให้ส้มโอหวาน มันจะมี “พืชทนเค็ม” หมายความว่า ค่าความเค็มของดินที่มันสูงขึ้นมันจะมีพืชบางชนิด ที่สามารถตอบสนองอยู่ได้ ฉะนั้นถ้าเราปลูกพืชตามระบบเศรษฐกิจ ดินเค็มก็จะกลายเป็นปัญหาของเรา แต่ถ้าเราเลือกพืชที่มันเหมาะกับดินมันก็จะไม่ใช่ปัญหาของเรา”
รู้สาเหตุ หาวิธีแก้ไข นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
“เราต้องเข้าใจว่าดินเค็ม มันเค็มเพราะว่ามันแล้ง มันแล้งเพราะว่ามันไม่มีน้ำ ถ้าเราไม่ให้ความเค็มมันขึ้นมา เราก็เอาความชื้นกดมันลงไป” หลักการเหมือนจะง่าย แต่ทำเอาเกษตรกรนอกเวลาอย่างผู้เขียนงุนงง แบบที่เรียกว่าไม่เข้าใจและต้องขอคำอธิบายอีกที
“เวลาน้ำละลายกับเกลือที่อยู่ใต้ดินมันก็เป็นน้ำ ที่นี้เวลาที่มันแล้งเราไม่มีน้ำใส่ให้มัน ก็จะเผาน้ำก็จะละเหย การละเหยของน้ำจะค่อย ๆ ยกระดับเกลือขึ้นมา ใกล้ผิวดินมากขึ้น ฉะนั้นการกดเขาลงข้างล่างเราต้องใช้ความชื้น หรือที่เรียกว่า “น้ำ” กดเขาไว้ ฉะนั้นในอีสานก็ไม่ได้มีปัญหาดินเค็ม ในอดีตทำไมต้นไม้เต็มไปหมดเลย ทั้งที่ดินเค็ม เพราะต้นไม้รักษาความชื้น ทำให้เกลือที่อยู่ในระดับลึกไม่สามารถขึ้นมารบกวนระดับรากพืชได้ ทีนี้ความเค็มของดินนั้นไม่ได้ทำให้ต้นไม้ตาย เพียงแต่ว่าเกลือที่ละลายน้ำนั้นมันมีมวลโมเลกุลหรือน้ำหนักที่เบากว่าน้ำ บังเอิญพืชมันเอาน้ำที่มีความเค็มเข้ามาก่อน จนน้ำที่มีธาตุอาหารเข้ามาไม่ได้ พืชก็เลยตายอย่างทรมาน ตรงที่เอาน้ำเข้าไปแต่ในน้ำนั้นไม่มีธาตุอาหารอะไรเลย ”
ค่อยเป็นค่อยไปไม่ต้องรีบ
“ฉะนั้นเราไม่ต้องรีบทำให้ดินทั้งแปลงเป็นดินดี เราทำเฉพาะบริเวณรากพืชของเรา เปลี่ยนสภาพเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์แบบนี้ เดี๋ยววันข้างหน้ามันก็จะดำออกมาได้เรื่อย ๆ สิ่งที่พืชต้องการ คือ พืชต้องการดินแบบนี้” ดร.จตุพร เทียรมา พูดพลางใช้มือขุดดินสีดำร่วนยกขึ้นมาให้ดูพร้อมอธิบายสิ่งที่อยู่ในมือ
“ในนี้คือปุ๋ยคืออินทรีย์วัตถุ นี่คือสารฮิวมิก (humic substances) คือ ผักตบชวา คือ เศษพืช ที่ถูกย่อยสลายไปและก็ให้ธาตุอาหารแก่พืช มองให้เห็นเป็นระบบ หลักการนี้ง่ายเลย เพราะมีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้ ถ้ามีสิ่งนี้จึงมีสิ่งนี้ เราจะทำยังไงให้มันมีสิ่งนี้ที่เป็นตัวเริ่มต้น แล้วเดี๋ยวมันจะส่งสัญญาณของมันไปเอง ซึ่งเกษตรสมัยใหม่สนใจอยู่อย่างเดียวว่าไปซื้อปุ๋ย ไปซื้อยาไปเอาสารเคมีมาใส่ ส้มโอ 1 ต้น ใช้ผักตบชวาไม่เกิน 10 กิโลกรัม เพียงพอแล้วที่จะเกิดความหวาน ที่จะมีรสชาติหรือที่จะมีน้ำหนัก 2 กิโลกรัม ฉะนั้นทำไมเราจึงต้องไปพึ่งปุ๋ยเคมี”
หลังจากได้เที่ยวชมพืชพรรณต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นส้มโอที่มีรสชาติหวานจนทำให้ติดใจไม่รู้ลืม หรือมะม่วงสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่ไม่เคยรู้จักหลายสิบสายพันธุ์ แถมยังได้ความรู้การจัดการกับปัญหาดินเค็ม ซึ่งนอกจากเรื่องดินเค็มที่เกษตรกรส่วนใหญ่มองว่าเป็นปัญหา อีกหนึ่งสิ่งที่ส่งผลต่อการเพาะปลูก ก็คือเรื่อง น้ำ ที่อาจจะไม่เพียงพอในหน้าแล้ง หรือแม้แต่ฟ้าฝนไม่ตรงตามฤดูกาลอย่างที่กล่าวมาในตอนต้น ซึ่งอีกสิ่งผู้เขียนสังเกตเห็นระหว่างที่เที่ยวชมพืชพรรณนานาชนิด พร้อมกับรับฟังความรู้ในการทำเกษตร ในสวนแห่งนี้จะเต็มไปด้วยหญ้า และต้นไม่เล็ก ๆ ที่คลุมหน้าดินรอบโคนต้นของผลไม้ในสวน ซึ่ง ดร.จตุพร เทียรมา เล่าให้ฟังว่า เหตุผลที่ปล่อยให้หญ้า หรือต้นไม่เล็ก ๆ ขึ้นรอบโคนต้น ของพืนผลในสวน เพราะต้องการใช้คลุมดิน เพื่อลดการระเหยของน้ำ ทำให้ใช้น้ำน้อยลง
เกษตรกรรมแบบธรรมชาติดูแลกันเอง
“เวลาที่เราพูดถึงการใช้น้ำของพืชโดยหลักวิชาการ เขาจะคิด 2 ส่วน ส่วนที่ 1 ก็คือพืชดูดน้ำขึ้นไปใช้และก็พาธาตุอาหารขึ้นไป อีกส่วนหนึ่งคือการระเหย ซึ่ง การระเหยของน้ำในภาคอีสานเรานั้น มันจะอยู่ประมาณ 4 มิลลิเมตรโดยเฉลี่ย แล้วพอเราเอาพวกหญ้านี้คลุมเขาไว้ เราก็จะเหลือเฉพาะส้มโอที่ใช้นำวันละ 7 มิลลิเมตร เราเติมน้ำแค่วันละ 7 มิลลิเมตร ก็เพียงพอแล้วสำหรับส้มโอ แต่ถ้าบวกการระเหยไปอีก 4 มันก็จะกลายเป็นวันละ 11 มิลลิเมตร ฉะนั้นเราจะทำยังไงไม่ให้ 4 มิลลิเมตรนั้นเสียไป ดังนั้น เราก็ใช้หญ้าพวกนี้คลุมไว้ ซึ่งการระเหยของน้ำนั้นธรรมชาติของมันก็คือการโดนแดดเผาแล้วมันก็กลายเป็นไอน้ำ เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเราทำให้มันเผาบริเวณนี้ให้น้อยที่สุด เราจะเสียน้ำน้อยลง แล้วเราก็จะเอาน้ำที่เรามีอยู่มาใช้น้อยลงเหลือก็ไปทำอย่างอื่นต่อไป”
แหล่งน้ำในการเกษตรต้องออกแบบและวางแผน
“เดิมทีการขุดสระน้ำเราจะมีข้อมูลปริมาณฝนเฉลี่ย 30 ปีมันมีกี่มิลลิเมตร เพราะถ้าเราขุดสระแล้วฝนตกลงมาถ้าน้ำไม่เต็มสระแปลว่าเราเสียที่ดิน หรือถ้าเราขุดสระเล็กเกินไป น้ำฝนจำนวนหนึ่งก็จะถูกระบายออกเสียดายมัน ฉะนั้นเราจะคำนวณหมดเลยว่า ในแต่ละปีมีปริมาณน้ำกี่มิลลิเมตร ซึมลงไปในดินเท่าไหร่ ระเหยเท่าไหร่ เรือน้ำไหลบ่าเท่าไหร่ เราก็เลยคำนวณว่าเราจะเก็บน้ำได้กี่ลูกบาศก์เมตร เพื่อให้ฝนตกมาทั้งหมดหยดสุดท้ายต้องอยู่ในสระเรา” ดร.จตุพร เทียรมา เล่าถึงแนวคิดการควบคุมน้ำในแปลงและออกแบบจัดการเหมือนว่า “ง่ายดาย”
“ทีนี้การเก็บน้ำไว้ ปกติเกษตรกรมักจะเสียดายพื้นที่ ซึ่งถ้าเราคิดวางแผนเราจะรู้เลยว่าเราจะใช้เท่าไหร่ ฉะนั้นถ้าเราจะเอาแค่พอปลูกผักปลูกหญ้ากินก็ไม่จำเป็นต้องทำขนาดนี้ ทำแค่เล็ก ๆ พอให้มีน้ำเอาไว้รดผักให้เรากิน แต่ถ้าเราจะขุดสระน้ำเพื่อทำนา มันก็คือการขี่ช้างจับตั๊กแตน ใน 1 ไร่ ใช้น้ำ 1,000 กว่าลูกบาศก์เมตร เพื่อทำนา แต่ผลตอบแทนมันต่ำมาก ทีนี้ฤดูกาลทำนาเราเอาฤดูฝนเป็นหลักแค่ปีละครั้งเพื่อให้เราอยู่รอด แล้วเรามาสร้างมูลค่าเพิ่มจากสิ่งอื่น อย่างส้มโอต้นนั้น ใช้พื้นที่เพียง 10 ตารางเมตร มันสามารถสร้างมูลค่าได้ถึง 5,000 บาทต่อปี แล้วเรื่องอะไรเราจะไปทำ 1,600 ตารางเมตรเพื่อให้ได้กำไร 2,000 บาทต่อปี ผมว่าไม่มีใครทำมั้ง”
“น้ำ” อย่างเดียวไม่พอ ต้องเข้าใจพืช เข้าใจดิน และเข้าใจน้ำ
“ในสระในแหล่งน้ำที่อยู่ในสวนของผม มีน้ำอยู่เกือบ 6,000 ลูกบาศก์เมตร ฉะนั้นเหลือเฟือที่เราจะใช้ คือ เราไม่จำเป็นต้องไปอัดน้ำมันเยอะ เราเข้าใจพืช เข้าใจดิน และเราก็เข้าใจน้ำ เราจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำไม่พอ ฉะนั้นเราอย่าไปคิดแค่ว่าต้องมีน้ำ ๆ ก็ต้องพูดต่อไปว่ามีน้ำแล้วยังไงต่อ ก็ต้องจัดการ ถ้าเราจัดการน้ำได้ บางทีน้ำก็ไม่ต้องมาก พืชไม่ได้ต้องการน้ำมาก เช่น คุณกินข้าว 1 จาน คุณอิ่ม คุณก็ไม่สามารถกินข้าวจานที่ 3 จานที่ 4 ได้ แต่เราจะเอายังไงให้ใน 1 จานนั้นเต็มไปด้วยสารอาหารครบ 5 หมู่ ที่เรากินเข้าไป ฉะนั้นความเขียวของสวนผมนี้มันเป็นความเขียวที่เกิดจากธรรมชาติไม่ใช่ความเขียวจากการปรุงแต่ง ต้นไม่โตแต่มันก็ควรแล้วที่มันจะมีผลผลิต ทีนี้ราคา 10 บาท 20 บาทนั่นก็คือกำไรเพราะต้นทุนเราไม่มี”
เดินวน ๆ ถือกล้องในมือมองไปมาบนผืนดินราว ๆ 8 ไร่ ขณะฟังการบรรยายพูดคุยกับเจ้าของสวน ได้ชวนให้ผู้เขียนนึกถึงทุ่งนาที่บ้านใน ต.นาเกษม อ.ทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี ของพ่อแม่ ตายาย ที่ปีนี้ยังคงรอ “น้ำฝน” หล่นจากฟ้า เพื่อเริ่มต้นสัญญาณการทำ “นาปี” เรื่องราวการพูดคุยกันในวันนี้ดึงเอาความทรงจำวัยเด็กให้กลับมาอีกครั้ง ทั้ง ท้องนา ปู ปลา และบรรยากาศวัยเด็กเมื่อครั้งโน้น แต่พลันสติก็ดึงกลับมาในภาวะปัจจุบันที่การขี่คอคุณตาไปดูแม่ทำนาปักดำ ดูพอ “ไถฮุด” ผืนนาคงยากยิ่งเสียแล้ว เพราะตัวเองได้กลายเป็นมนุษย์เงินเดือน แม้อยากจะเป็นเกษตรกรวันหยุดก็ยุ่งยากเต็มที นั่นเพราะตอนนี้จับเมาท์ และปากกาแทนต้นกล้ามานานพอควร แต่สัญญากลับบ้านหลังโควิด-19 สร่างซา จะไปถ่ายรูปทุ่งนามาฝากทุกคนครับ