เรียบเรียงโดย ทศพล กรรณิกา
นักศึกษาระดับปริญญาโทสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ลิงค์เข้าสู่บันทึกการเสวนา https://www.facebook.com/nongyao.naowarat.3/videos/1581565861998559/
เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา สาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา ภาควิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ (Webinar) ในหัวข้อ “ วิกฤติ Covid-19 กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฤาเพียงวาทกรรมซ้ำซาก” โดยวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ รศ. ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ. ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณธีรพงษ์ ภักดีสาร ครูโรงเรียนอนุบาลด่านซ้าย จ. เลย และสมาชิกกลุ่มพลเรียน โดยมี อ. ดร.ออมสิน จตุพร คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ กิจกรรมเสวนาออนไลน์ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อชี้ชวนให้เกิดการถกเถียง ทบทวน และวิเคราะห์เชิงลึกถึงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่สัมพันธ์กับโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจการเมืองของระบบการศึกษาไทย และผลที่เกิดขึ้นในประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาค และความยุติธรรมเชิงสังคม
Covid-19 กับปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมไทย
รศ. ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ กล่าวถึงผลกระทบทางโอกาสของเด็กและเยาวชนในสังคมไทยโดยแบ่งเป็นสองประเด็นหลัก คือ สิทธิทางการศึกษา และสิทธิในการดำรงชีพที่จะสัมพันธ์กับสถาบันอื่นๆ จากการศึกษาพบว่า ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา หนึ่งในสี่หรือ หนึ่งในห้าของครอบครัวไทยซึ่งเป็นครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจยากจนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ได้เกิดคนจนกลุ่มใหม่ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติ Covid-19 เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้อยู่ในสถานะ “เปราะบาง” ซึ่งมีจำนวนโดยประมาณเกือบล้านคน และหากมองปัญหาอย่างซับซ้อนจะเห็นได้ว่าสถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัวยังสัมพันธ์กับสถาบันอื่นๆ ด้วย ดังกรณี ในภาคเกษตรกรรม ครอบครัวในชนบทได้รับผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจ และมีผลโดยตรงต่อมูลค่าและจำนวนผลผลิตทางการเกษตร ในสถานการณ์เช่นนี้ เมื่อรายได้หดหาย ภาวะหนี้สินก็เพิ่มขึ้น จึงส่งผลกระทบในวงกว้างถึงการแบกรับภาระต้นทุนทางการศึกษาที่ครอบครัวในชนบทต้องรับผิดชอบเอง
อย่างไรก็ตาม วิทยากรมองความหมายของ “การศึกษา” ในช่วงวิกฤติ Covid-19 เป็นสี่ประการ ประการแรก คือ กลไกที่จะสร้างโอกาสการหลุดพ้นจากความยากจน ประการที่สอง สถานที่เลี้ยงเด็กมีบทบาทเข้ามาแทนที่สถาบันครอบครัว เมื่อเกิดวิกฤติ Covid-19 การที่เด็กไม่สามารถไปโรงเรียนได้เท่ากับว่าครอบครัวจะต้องแบกรับบุตรหลานไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมระหว่างวันหรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ประการที่สาม ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ สถาบันการศึกษาและโรงเรียนในระดับต่างๆ ได้กลับกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนที่อาจจะถูกทำร้ายร่างกาย ล่วงละเมิด หรือการกระทำความรุนแรงในมิติต่างๆ ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจจากสังคมภายนอก ประการที่สี่ โรงเรียนและสถาบันการศึกษาเป็นสถานที่ฟื้นฟูสันทนาการทางอารมณ์และความรู้สึก หากเด็กและเยาวชนเหล่านั้นได้พบกับกลุ่มเพื่อน หรือครูอาจารย์ที่สามารถพูดคุยอย่างไว้ใจได้ อาจจะส่งผลเชิงบวกต่อสภาวะทางจิตใจ อารมณ์ สังคม และพัฒนาการในชีวิตของเด็กและเยาวชนได้อย่างมีนัยสำคัญ
โอกาสและความเป็นไปได้ของการศึกษาเรียนรู้ภายใต้สภาวะวิกฤติ Covid-19
สภาวะวิกฤติได้เข้ามาสั่นคลอนโครงสร้างสถาบันการศึกษา ซึ่งเปรียบเสมือนช่องลมที่ท้าทายต่อการบริหารจัดการของสถาบันการศึกษาในภาวะ Social Distancing อ.ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ ตั้งคำถามหลักอยู่สองคำถาม ข้อแรก เรา (ภาคประชาชน) จะจัดการเรียนรู้ที่บ้านได้อย่างไร ข้อที่สอง โรงเรียน-รัฐ จะปรับตัวอย่างไรให้ส่งเสริมการเรียนรู้ กระบวนการจัดการศึกษาของรัฐที่เป็น Public Education ทำให้ครอบครัวและชุมชนท้องถิ่นสูญเสียอำนาจในการนิยามและการจัดการศึกษาด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เน้นย้ำว่า การจัดการศึกษาเป็นภารกิจของหลายฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบทำหน้าที่อย่างสัมพันธ์กัน เน้นการมีส่วนร่วมของครอบครัว ชุมชน เอกชน องค์กรชุมชน สถาบันทางสังคมต่างๆ และแหล่งเรียนรู้ที่เด็กและเยาวชนสามารถศึกษาเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
แต่ในสภาวะที่เป็นอยู่นี้ (รวมถึงสภาพการจัดการศึกษาก่อนวิกฤติ Covid-19) บ้าน ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่น จะมีบทบาทในการจัดการเรียนรู้ของบุตรหลานลดลง โรงเรียนจึงเข้ามามีบทบาทแทน “พื้นที่แห่งความขี้เกียจ” ของครอบครัว กล่าวคือ นับตั้งแต่กระแสการศึกษาในยุคสมัยใหม่ (Modern Education) โรงเรียนทำหน้าที่อบรมสั่งสอนและให้การศึกษาทดแทนสถาบันครอบครัว ในที่นี้จะเห็นได้จากการสร้างอุดมการณ์ทางการศึกษากระแสหลักผ่านการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาในแบบเทคโนแครต เช่น ครูและบุคลากรทางการศึกษา การผลิตองค์ความรู้และวิธีคิดทางครุศาสตร์-ศึกษาศาสตร์เชิงเทคนิค และกระบวนการของระบบทุนนิยมทางการศึกษา
วิทยากรยังเน้นย้ำว่า การสร้างสิทธิพิเศษผ่านระบบโรงเรียนภายใต้ระบบการศึกษาไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา หรือหลังปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2542 ประเด็นปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกลับคงอยู่และเพิ่มขึ้นตลอดมา โดยเฉพาะการมองว่าการศึกษาเป็นสินค้าที่อยู่ในระบบตลาด และการนำระบบทุนและตลาดเข้ามาจัดการการศึกษา ดังนั้นคุณภาพการศึกษาจึงเป็นตัวแปรที่ผกผันตามตลาดและทุน กรณีที่ชัดเจนคือ การกระจายตัวของโรงเรียนทางเลือกและโรงเรียนนานาชาติที่มักจะตั้งอยู่ในเขตเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ และคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีเท่านั้นจะสามารถเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียนลักษณะนี้ได้ ขณะที่วิกฤติ Covid-19 ทำให้เกิดสภาวะการเปลี่ยนถ่ายอำนาจการจัดการศึกษาให้สถาบันครอบครัว ดังนั้นบ้าน ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่นจึงเป็นศูนย์กลางการศึกษาเรียนรู้ วิทยากรได้ตั้งข้อสังเกตและให้นิยามความหมายว่า “การเรียนรู้” มักจะหมายถึงบ้าน ครอบครัว และชุมชนท้องถิ่น โดยที่ความเข้าใจในประเด็นการให้การเรียนรู้แก่บุตรหลานในครอบครัวของชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานดูจะมีวิถีที่เหลื่อมซ้อมกันอยู่ ส่วน “การศึกษา” จะหมายถึง การจัดการศึกษาที่เป็นทางการโดยรัฐหรือโรงเรียน ซึ่งเป็นไปตามพลวัตรของอำนาจทุน ตลาด โรงเรียน และรัฐ
มุมมองของครูผู้ปฏิบัติการจริงในสภาวะวิกฤติ Covid-19
คุณธีรพงษ์ ภักดีสาร ครูระดับประถมศึกษาในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เสนอมุมมองผลกระทบจากวิกฤติ Covid-19 โดยเฉพาะในบริบทโรงเรียนและชุมชนชนบท ซึ่งชนบทในที่นี้อาจจะเป็นตัวเมืองที่มีระดับการพัฒนาแตกต่างกันไป จากการศึกษาพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ในชนบทเป็นแรงงานรับจ้างและทำงานภาคเกษตรกรรม ซึ่งอาจจะไม่สามารถดูแลบุตรหลานของตนเองได้อย่างเต็มที่ ในมุมมองของคนกลุ่มนี้ การไปโรงเรียนหรือการไปศึกษาเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาที่เป็นทางการ เป็นหนทางในการเลื่อนสถานภาพของบุตรหลานและครอบครัวให้ดีขึ้นได้ และที่สำคัญโรงเรียนนับเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ปัญหาที่พบในชนบทที่ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนเหล่านี้ได้แก่ ปัญหาการหย่าร้าง ครอบครัวแหว่งกลาง และปัญหายาเสพติด
หากพิจารณาบริบทโรงเรียนและผลกระทบที่จะมีผลต่อเด็กและเยาวชนในสภาวะวิกฤติ Covid-19 ด้านหนึ่งคือเรื่องสวัสดิการของรัฐ ซึ่งสวัสดิการด้านการศึกษาเป็นโอกาสในชีวิตของเด็กและเยาวชนที่ยากจน ชีวิตในโรงเรียนจึงเป็นพื้นที่ปลอดภัย หรือเป็นพื้นที่สันทนาการสำหรับเด็กและเยาวชนที่ไม่สามารถหาได้ในชีวิตที่บ้านและครอบครัว อีกปัญหาหนึ่งที่เด็กและเยาวชนอาจจะได้รับผลกระทบไปด้วยก็คือ การกระจายอำนาจทางการศึกษาผ่านการออกคำสั่งหรือนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งบางกรณีบางพื้นที่บริบทชุมชนกับตัวคำสั่งจากทางการไม่สอดคล้องกัน การแก้ไขปัญหาที่เป็นไปได้คือ ควรให้อำนาจโรงเรียนและชุมชนท้องถิ่นดำเนินการตัดสินใจโดยอิสระอย่างแท้จริง แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักการรับผิดชอบต่อสาธารณะชน รวมทั้งการเข้าถึงอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือสื่อการเรียนรู้สำหรับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในภาคการศึกษาที่จะถึงนี้ ครู ผู้บริหารโรงเรียน และชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องประเมินศักยภาพความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และความท้าทายที่จะเกิดขึ้นต่อไปหลังจากนี้
สรุปได้ว่าการเสวนาออนไลน์ในครั้งนี้ ข้อเสนอของวิทยากรทั้งสามคนมีส่วนที่คล้ายคลึงและต่างกันออกไปโดยนัย ในประเด็นเกี่ยวกับศักยภาพและความเป็นไปได้ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษา หากกล่าวในภาพรวมแล้ววิทยากรทั้งสามท่านมีมุมมองไปในทิศทางเดียวกันคือ โรงเรียนและสถาบันการศึกษายังเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชนที่ได้รับแรงกระแทกจากสภาวะวิกฤติ ส่วนในด้านปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และการศึกษา นับได้ว่าเป็นผลกระทบหลักจากวิกฤติ Covid-19 ข้อเสนอของวิทยากรเป็นทั้งข้อเสนอแนะและคำถามชวนคิดต่อว่า สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้นและยังคงดำรงอยู่ต่อไปมีความสัมพันธ์กับโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจการเมืองของระบบการศึกษาไทย และผลที่เกิดขึ้นในมิติอื่นๆ อย่างไร