ส่องชีวิตเด็กชายขอบกับนโยบายเรียนออนไลน์ถ้วนหน้า

ส่องชีวิตเด็กชายขอบกับนโยบายเรียนออนไลน์ถ้วนหน้า

เรียบเรียงโดย ชัยวัฒน์ ธรรมไชย

สาขาวิชาสังคมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

ลิงค์สู่วิดีโอบันทึก Webinar ครั้งที่ 2

Webinar ครั้งที่ 2

โควิด- 19 กับความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ฤา เพียงวาทกรรมซ้ำซาก? ตอน ส่องชีวิตเด็กชายขอบกับนโยบายเรียนออนไลน์ถ้วนหน้า วันที่ 2 พ.ค. 2563 (เสาร์)ระยะเวลา 13.00-14.00 น.

โพสต์โดย The Centre of Multiculturalism and Education Policy, Chiang Mai University เมื่อ วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม 2020

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 สาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา ภาควิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคีเครือข่ายทางการศึกษาได้แก่ ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ เชียงแสน มหาวิทยาลัยขอนแก่น และกลุ่มครูขอสอน จัดกิจกรรมเสวนาออนไลน์ (Webinar) ในหัวข้อ “ส่องชีวิตเด็กชายขอบกับนโยบายเรียนออนไลน์ถ้วนหน้า” โดยวิทยากร 3 ท่านได้แก่ คุณพ่อ ดร.วินัย บุญลือ ชุมชนการเรียนรู้เซเวียร์ เชียงแสน , ผศ. ดร.จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง มหาวิทยาลัยขอนแก่น และครูธนวรรธน์ สุวรรณปาล กลุ่มครูขอสอน โดยมี รศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินรายการ กิจกรรมเสวนาออนไลน์ดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อชี้ชวนให้เกิดการถกเถียง ทบทวน และวิเคราะห์เชิงลึกถึงสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่สัมพันธ์กับโครงสร้างเชิงเศรษฐกิจการเมืองการศึกษาไทย และผลที่เกิดขึ้นในประเด็นด้านความเหลื่อมล้ำ ความเสมอภาค และความยุติธรรมเชิงสังคม

เรียนออนไลน์จากศูนย์กลาง

คุณพ่อวินัย บุญลือ กล่าวถึง การกระจายอำนาจจากศูนย์กลาง เช่น นโยบายการศึกษาออนไลน์ รวมถึงความเท่าเทียมทางการศึกษา การศึกษา คือ “ชุมชนการเรียนเรียนรู้” ทว่าการศึกษาออนไลน์จะกลายเป็นเพียงการศึกษาที่ผิวเผินที่ทำให้เด็กอาจไม่มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งความพร้อมในการเข้าถึงและการรู้เรื่องเทคโนโลยีของเด็กชายขอบซึ่งพวกเขาอาจจะไม่พร้อมในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในสภาวะของการระบาดโควิด-19 ชุมชนอาจยังไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเพียงพอ ความเสถียรภาพของอินเทอร์เน็ต และบางครั้งสัญญาณอินเทอร์เน็ตขาดหายไปเกือบเดือนไม่สามารถใช้งานได้ “ชีวิตที่อับจนของคนชายขอบ อยู่ในภาวะที่อับสัญญาณของความรู้ อับสัญญาณการสื่อสารระหว่างคนกับคน ก็อาจทำเกิดอับปัญญาความรู้ แล้วชีวิตมันก็อับเฉา”

เด็กชายขอบกับนโยบายเรียนออนไลน์ถ้วนหน้า

ผศ. ดร.จักรพันธ์ ขัดชุ่มแสง กล่าวถึง นิยามของเด็กชายขอบที่มิใช่การหมายถึงเพียงกลุ่มคนในเชิงพื้นที่อย่างเดียวเท่านั้น แต่รวมถึงเด็กชายขอบที่ไม่สัญชาติไทยที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการเดินทางออกนอกพื้นที่ไปร่วมกิจกรรม การประกวด หรือการแข่งขัน ส่งผลให้เด็กไม่ได้รับสิทธิและเสรีภาพด้วยข้อจำกัดดังกล่าว เช่นเดียวกับการเรียนการสอนออนไลน์ก็อาจเป็นอีกมิติหนึ่งที่ทำให้เด็กกลุ่มนี้เข้าไม่ถึงเช่นกัน อย่างไรก็ตามครูอาจารย์มีส่วนอย่างมากในการช่วยให้เด็กมีโอกาสและเข้าถึงการศึกษา รวมถึงมีสิทธิและเสรีภาพในด้านอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน

“การเรียนออนไลน์ถ้วนหน้าถือว่าเป็นเรื่องที่ดี” ทว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ-เอกชน กระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียน NGOs ควรจะมีส่วนร่วมในการจัดการโครงสร้างหลักสูตร กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อ การวัดและประเมินผล รวมถึงความพร้อมของอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ มาร่วมกันคิด ร่วมตั้งคำถาม และจัดการภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนไปยังประสบการณ์ของเด็กชายขอบว่า เด็กเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร ต้องเรียนรู้อย่างไร และสิ่งที่สำคัญคือ ผู้สอน บุคลากร ต้องมีทักษะในการสอนออนไลน์อย่างไร  เนื้อหาสอดคล้องผู้เรียนหรือไม่ ผู้เรียนสามารถเข้าถึงความเสถียรภาพของอินเทอร์เน็ตหรือไม่ และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการปฏิบัติจริงในพื้นที่ชุมชนของผู้เรียน

แม้ว่า การเรียนออนไลน์ถ้วนหน้าเป็นนโยบายที่ดี และสอดรับการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 แต่ก็ไม่ได้เป็นวิธีการเรียนการสอนที่ดีที่สุด และไม่เหมาะสมกับคนทุกกลุ่ม ทุกสาขาวิชา และอาจจะไม่เข้าถึงเด็กชายขอบที่มีต้นทุนชีวิตที่น้อยกว่าเด็กกลุ่มอื่น ๆ รวมถึงกลุ่มคนที่ยังไม่ได้เป็นพลเมืองของรัฐ ฉะนั้นรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องหามาตรการในดูแลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และให้มีความต่อเนื่องของการปฏิบัติ

เด็กชายขอบกับเทคโนโลยีการเรียนการสอนออนไลน์

ครูธนวรรธน์ สุวรรณปาล สะท้อนปัญหาที่เคยพบอยู่ในสภาพแวดล้อมบริบทของโรงเรียนในการเรียนออนไลน์ ซึ่งเคยมีโอกาสจัดการเรียนการสอนออนไลน์ พบว่า ผู้เรียนหรือนักเรียนมีความไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง เสถียรภาพของอินเทอร์เน็ต และเด็กส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องมือ-เทคโนโลยีสำหรับเข้าถึงการเรียนการสอนดังกล่าว

นอกจากนี้ ครูธนวรรธน์ ในฐานะที่เป็นตัวแทนกลุ่มครูขอสอน ได้จัดทำข้อมูลสำรวจข้อกังวลของครู ผู้เรียน และผู้ปกครอง ในสภาวะสถานการณ์โควิด-19 พบว่า มีความกังวลใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.การเข้าถึงการเรียนด้วยเทคโนโลยี 2.ความพร้อมของผู้ปกครอง 3.สุขภาพจิตใจ และ 4.เรื่องของการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคโนโลยี และมีเสนอว่าควรมีการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางในเรื่องของการเรียนการสอนให้โรงเรียนสามารถตัดสินได้ และการจัดการเรียนการสอนต้องตระหนักต่อความเท่าเทียมและยุติธรรมมากกว่าการเน้นผลลัพธ์ของการเรียนรู้

จากข้อเสนอของวิทยากรที่กล่าวมาข้างต้นชี้ให้เห็นข้อเสนอแนะที่ไปทิศทางเดียวกันในประเด็นของการเรียนออนไลน์ถ้วนหน้า กล่าวคือ การเรียนออนไลน์เป็นนโยบายที่ดีแต่ควรมีการกระจายอำนาจให้กับโรงเรียนและชุมชนมีส่วนร่วม การจัดการเรื่องของความพร้อมของเทคโนโลยี ความพร้อมของครู บุคลากรทางการศึกษา มากไปกว่านั้นควรเปลี่ยนการเรียนการสอนออนไลน์ไปสู่การสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน นอกจากนี้คำถามชวนคิดของวิทยากรทั้งสามคนที่มีต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 การเรียนออนไลน์ถ้วนหน้าอาจจะนำมาสู่การสร้างความเลื่อมล้ำทางการศึกษาในแบบใหม่ ใช่หรือไม่? จึงเป็นเรื่องที่ต้องคิดทบทวนและแสวงหาแนวทางการพัฒนาการศึกษาต่อไป

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ