2 ปี บิลลี่หายตัว 11 องค์กรสิทธิฯ ร้องเร่งหาตัว ‘บิลลี่ – เด่น คำแหล้’

2 ปี บิลลี่หายตัว 11 องค์กรสิทธิฯ ร้องเร่งหาตัว ‘บิลลี่ – เด่น คำแหล้’

20161005233929.jpg

10 พ.ค. 2559 องค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน 11 องค์กร ร่วมลงชื่อในแถลงการณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ รัฐไทยต้องดำเนินการป้องกันการบังคับบุคคลสูญหายอย่างจริงจังและเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายหลายรายที่ผ่านมา เรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับสูญหายอย่างเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

1. ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณารับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษอย่างเร่งด่วนและต้องมีการดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง เร่งด่วน อิสระ และเป็นมืออาชีพ จนทราบชะตากรรมของบิลลี่

2. จากกรณีการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2559 เพื่อให้เกิดการคลี่คลายในกรณีดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องร่วมมือกันสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง เร่งด่วน อิสระ และเป็นมืออาชีพ จนทราบชะตากรรมของนายเด่น

3. ขอให้มีการดำเนินการทั้งทางอาญาและทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐนั้นกระทำการหรืออนุญาต สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจต่อการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ

4. ขอให้ทบทวน ระเบียบ กฎ ที่เอื้อให้มีการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ โดยเฉพาะกฎหมายที่ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลไว้เป็นเวลานานและโดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวหรือโดยไม่มีการนำตัวไปศาล เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 รวมทั้งการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติดฯ เป็นต้น

5. ขอให้เร่งดำเนินการตรากฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายอย่างเร่งด่วน โดยมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ เพื่อสร้างมาตรฐานทางกฎหมายอาญาในประเทศ

5.1 กำหนดให้การทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญเป็นความผิดทางอาญา 5.2 กำหนดให้การซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายต้องได้รับการสืบสวนสอบสวนโดยทันที เป็นกลางและมีประสิทธิภาพ โดยต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แม้ไม่พบตัวหรือไม่พบชิ้นส่วนศพ 5.3. กำหนดแนวทางการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพ และชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คุ้มครองพยานต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันหรือใกล้ชิดกับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหา

5.4 กำหนดหลักประกันว่าข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพต้องถูกเปิดเผยต่อญาติและทนายความ หรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น และ 5.5. กำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการที่เข้ามาทำหน้าที่ในการป้องกันการทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระ เพื่อไม่ให้คณะกรรมการถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพล

20161005233319.jpg

ภาพ: สุภาพ คำแหล้ ภรรยาเด่น คำแล้ และมึนอ ภรรยาของบิลลี่  

ที่มาภาพ: Tai Oranuch

ทั้งนี้ แถลงการณ์ มีรายละเอียด ดังนี้

แถลงการณ์

เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่

รัฐไทยต้องดำเนินการป้องกันการบังคับบุคคลสูญหายอย่างจริงจังและเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อทราบชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายหลายรายที่ผ่านมา

ประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีแกนนำชาวบ้าน นักเคลื่อนไหว นักต่อสู่เพื่อสิทธิมนุษยชน ถูกคุกคาม ถูกสังหารหรือแม้แต่ถูกบังคับให้หายสาบสูญเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสถานการณ์การบังคับบุคคลสูญหายในประเทศไทยนั้น จากสถิติที่มีการรวบรวมจากการร้องเรียนโดยคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ระหว่างปี 2523 ถึง 2557 ประเทศไทยมีการบังคับสูญหาย 89 กรณี โดยใน 81 กรณี ยังไม่ได้รับการแก้ไข รวมถึงกรณีของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่หายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ด้วย[1] ในจำนวนนี้ยังไม่รวมกรณีนายฟาเดล เสาะหมาน อดีตผู้ต้องขังถูกที่ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ 3 คนใช้กำลังบังคับเอาตัวและหายสาบสูญไป เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2559และกรณีของนายเด่น คำแหล้ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ที่ได้ต่อสู้ในประเด็นที่ดินทำกินซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 หลังเดินทางเข้าป่าเพื่อหาเก็บหน่อไม้

โดยที่การบังคับสูญหายมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีการให้อำนาจเจ้าหน้าที่โดยปราศจากการตรวจสอบดังเช่นข้อมูลการศึกษาโดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ระบุว่า การบังคับสูญหายจะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หากรัฐมีนโยบายในด้านความมั่นคงหรือการปราบปรามอย่างหนัก อาทิ นโยบายการปราบปรามการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย และนโยบายสงครามยาเสพติด ในปี 2546[2] เป็นต้น และปัจจุบัน คสช. ได้ออกคำสั่งที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขว้าง โดยเฉพาะคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 3/2558 และคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 13/2559 ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวบุคคลไว้ได้ไม่เกิน7 วัน และไม่ระบุสถานที่ควบคุมตัวโดยญาติและทนายความไม่สามารถเข้าถึงหรือตรวจสอบการควบคุมตัวบุคคลที่ถูกควบคุมตัวได้ในทันที[3] จึงอาจทำให้บุคคลเหล่านั้นตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะถูกบังคับให้หายสาบสูญ

การบังคับให้บุคคลหายสาบสูญถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและผู้ที่ตกเป็นเหยื่อหรือญาติมักจะไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ดังจะเห็นได้จากที่ผ่านมารัฐบาลไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการคลี่คลายคดีและสืบสวนสอบสวนเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษอย่างเหมาะสมรวมทั้งไม่สามารถสืบสวนเพื่อทราบที่อยู่และชะตากรรมของผู้ถูกบังคับสูญหายได้ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากข้อจำกัดทางกฎหมายของประเทศไทย ที่ยังไม่ได้กำหนดให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดทางอาญารวมถึงกระบวนการสืบสวนสอบสวนค้นหาความจริงยังขาดความเป็นอิสระ หรืออาจไม่ใส่ใจที่จะสืบสวนสอบสวนโดยทันที

แม้ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance (CED)) เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาดังกล่าว และแม้รัฐไทยจะมีการยกร่างกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันการทรมานและบังคับสูญหายแล้ว แต่กระบวนการที่จะทำให้กฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้ก็เป็นไปอย่างล่าช้า หากเปรียบเทียบกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่เร่งตราออกมาอย่างรวดเร็วภายใต้รัฐบาลนี้

ดังนั้น เนื่องในโอกาสครบรอบ 2 ปีการหายตัวไปของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวบางกลอยหลังจากที่เขาถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไว้เมื่อ 17 เมษายน 2557โดยปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนักในการสืบหาตัวและนำผู้กระทำผิดมารับโทษ อันมีเหตุส่วนหนึ่งมาจากข้อบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมไทย ซึ่งความไม่คืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนกรณีของบิลลี่ดังกล่าวและการลอยนวลพ้นผิดของผู้กระทำในอดีตที่ผ่านมาประกอบกับสถานการณ์บังคับใช้กฎหมายและนโยบายภายใต้รัฐบาลนี้ที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการบังคับสูญหายได้

องค์กรที่มีรายนามแนบท้ายแถลงการณ์นี้ ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการบังคับสูญหายอย่างเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

1. ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษพิจารณารับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษอย่างเร่งด่วนและต้องมีการดำเนินการสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง เร่งด่วน อิสระ และเป็นมืออาชีพ จนทราบชะตากรรมของบิลลี่เพราะคดีนี้เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับให้บุคคลใดสูญหายเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างเด็ดขาดในการสืบสวนหาความจริง เพื่อไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก และถึงแม้ปัจจุบันประเทศไทยจะยังไม่มีการกำหนดให้การบังคับบุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา แต่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้ว ในฐานะรัฐภาคีจึงควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญหายและไม่ให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากความผิดฐานบังคับให้สูญหาย

2. จากกรณีการหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้ นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 ที่ผ่านมา โดยจากการค้นหาของเครือข่ายชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน พบหลักฐานที่บงชี้ว่าการหายตัวไปของนายเด่น อาจเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการคลี่คลายในกรณีดังกล่าว จึงขอเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ต้องร่วมมือกันสืบสวนสอบสวนอย่างจริงจัง เร่งด่วน อิสระ และเป็นมืออาชีพ จนทราบชะตากรรมของนายเด่น คำแหล้

3. ขอให้มีการดำเนินการทั้งทางอาญาและทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐนั้นกระทำการหรืออนุญาต สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจต่อการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ

4. ขอให้ทบทวน ระเบียบ กฎ ที่เอื้อให้มีการบังคับบุคคลให้หายสาบสูญ โดยเฉพาะกฎหมายที่ให้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลไว้เป็นเวลานานและโดยไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวหรือโดยไม่มีการนำตัวไปศาล เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 รวมทั้งการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติดฯ เป็นต้น

5. ขอให้เร่งดำเนินการตรากฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหายอย่างเร่งด่วน โดยมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ เพื่อสร้างมาตรฐานทางกฎหมายอาญาในประเทศในการป้องกันการกระทำผิดและมีกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ รวมถึงมีมาตรการเยียวยาผู้เสียหายที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพโดยเนื้อหาในกฎหมายดังกล่าวควรระบุหลักประกันอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

5.1 กำหนดให้การทรมานและการบังคับให้หายสาบสูญเป็นความผิดทางอาญา ฐานความผิดดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนิยามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลจากการหายสาบสูญ

5.2 กำหนดให้การซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหายต้องได้รับการสืบสวนสอบสวนโดยทันที เป็นกลางและมีประสิทธิภาพโดยต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้แม้ไม่พบตัวหรือไม่พบชิ้นส่วนศพก็ตาม และต้องตระหนักว่าสิทธิในการรับทราบความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อเป็นสิทธิโดยสมบูรณ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้

5.3. กำหนดแนวทางการคุ้มครองพยานอย่างมีประสิทธิภาพและชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่คุ้มครองพยานต้องไม่เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันหรือใกล้ชิดกับหน่วยงานที่ถูกกล่าวหาว่าทำการทรมานหรือบังคับให้หายสาบสูญ เพื่อให้ความมั่นใจว่าผู้กระทำผิดจะไม่มีอิทธิพลต่อกลไกการคุ้มครองพยาน

5.4 กำหนดหลักประกันว่าข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกจำกัดเสรีภาพต้องถูกเปิดเผยต่อญาติและทนายความ หรือผู้มีส่วนได้เสียอื่น เพื่อป้องกันการทรมานการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือทำให้เกิดการคุมขังในสถานที่ลับ และไม่ควรมีข้อกำหนดที่จะทำให้เกิดช่องว่างหรือข้อยกเว้นที่เป็นอุปสรรคต่อการป้องกันการทรมานและการบังคับสูญหายโดยเด็ดขาด

5.5. กำหนดให้องค์ประกอบของคณะกรรมการที่เข้ามาทำหน้าที่ในการป้องกันการทรมานและบังคับบุคคลสูญหาย ต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระเพื่อไม่ให้คณะกรรมการถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจและผู้มีอิทธิพลและควรกำหนดให้มีสัดส่วนของภาคประชาสังคมในจำนวนที่สมดุลกับกรรมการโดยตำแหน่งที่มาจากภาครัฐ อีกทั้งต้องพิจารณาถึงการมีส่วนร่วมของผู้เสียหายและญาติผู้เสียหายด้วย

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA)

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (UCL)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC)

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)

ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา

ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น(CPCR)

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR)

ขบวนการผู้หญิงเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)

มูลนิธินิติธรรมส่งแวดล้อม (EnLaw)

มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (JPF)

 


            [1] Human Rights Council, Report of the Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances, A/HRC/30/38, 10August 2015,P.29

            [2] โปรดดู การบังคับบุคคลให้สูญหายในประเทศไทย โดยมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ,2558

            [3] โปรดดู รายงาน  1 ปี คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 3/2558 : “อำนาจพิเศษ” ในสถานการณ์ปกติจัดทำโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่เมื่อ 1 เมษายน 2559

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ