“ไปพุ่นกินปลา มาพี้กินข้าว” เสียงจากชาวนาเมืองบั้งไฟถึงพี่น้องชาวเล

“ไปพุ่นกินปลา มาพี้กินข้าว” เสียงจากชาวนาเมืองบั้งไฟถึงพี่น้องชาวเล

กว่า 1,300 กิโลเมตร คือ ระยะทางจากยโสธรดินแดนที่ราบสูงไปถึงหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ซึ่งหากนับตัวเลขเป็นที่ตั้งเส้นทางนี้คงไกลเกินกว่าจะไปมาหาสู่กันภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่หลายพื้นที่ล็อกดาวน์ และการเดินทางถูกตัดขาดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเจ้าไวรัสร้าย   

แต่ข้อจำกัดเหล่านี้ ถูกมองข้ามไปด้วยความห่วงใยและสายสัมพันธ์จากพี่น้องชาวนาเมืองบั้งไฟโก้ จ.ยโสธร ที่รวบรวมข้าวสารกว่า 9 ตัน และขนส่งโดยเครื่องบิน C-130 ของกองทัพอากาศเดินทางไปแลกปลาจากพี่น้องชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต และชาวเลหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา เมื่อวันจันทร์ที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าหลังได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่หยุดชะงักจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้พวกเขาขาดรายได้ ภายใต้โครงการ“ข้าวชาวนา แลกปลาชาวเล”

สันติ ศรีมันตะ  ผู้ผลิตภาคพลเมือง ทีมอยู่ดีมีแฮง จะพาไปพูดคุยกับ วารินทร์ ทวีกันย์  กรรมการสมาคมชาวยโสธร และเครือข่ายเกษตรกรที่ศาลากลางจังหวัดยโสธร ถึงที่มา-ที่ไป และแรงบันดาลใจในการฟื้นคืนวัฒนธรรมฐานรากชุมชน “แลก-เปลี่ยน” ที่ “วน” กลับมาในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้พวกเราก้าวผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ข้าวชาวนา แลกปลาชาวเล
พอเราได้รับรู้ว่าพี่น้องชาวเลไม่มีข้าวกิน เวลามันจำกัดจะไปรอขั้นตอน มันไม่ทัน ชาวเลไม่มีข้าวกินแล้ว เขาก็ประสานมาทางเรา เราขอคำตอบว่าชาวเลทำปลาเค็มได้ไหม เพราะว่าปลาสดเราจะไม่สามารถขนส่งได้ จากนั้นก็เกิดการตอบตกลงทั้ง 2 ฝ่าย”  วารินทร์ ทวีกันย์ เล่าถึงเหตุผลสำคัญของโครงการนี้ที่ร่วมกับเครือข่ายจากหลายภาคส่วนส่งพลังน้ำใจไปที่หาดราไวย์เพื่อขนข้าวไปแลกปลา และย้ำกับทีมงานชัดเจนว่า “เรารอให้พี่น้องชาวเลขาดข้าวไม่ได้”   

เรารอให้พี่น้องชาวเล ขาดข้าวไม่ได้  

“ขั้นตอนแรกที่เราคิดกันจริง ๆ ก็คือ เราจะหาวิธีการจัดการกันเอง เช่น การขนส่งเราจะติดต่อรถขนส่ง หารือการขนส่ง คิดหาหนทางกันภายในวันนั้น พวกเรานึกขึ้นได้ว่า พวกเราเป็นเครือข่ายเกษตรกรกองทัพอากาศ เพราะฉะนั้นในเมื่อมันเกิดวิกฤตแบบนี้ เราติดขัดปัญหาเราแก้ไขปัญหาด้านยโสธรจบ ปัญหาทางภูเก็ตจบ แต่กระบวนการแลกเปลี่ยนสินค้ากันสองฝ่าย กองทัพอากาศเขามีศักยภาพในการช่วยเหลือได้ เราเลยนำแนวคิดไปแจ้งพอเขาได้ฟังแนวคิดที่เราทำขั้นตอนการทำของเรา กระบวนการของเราเรียบร้อยแล้ว เหลือแค่การขนส่ง กองทัพนำไปพิจารณาเขาตอบรับ เราหมดความกังวลไปเลยเพราะนี่คือสิ่งที่เรากังวลที่สุด จากนั้นจึงเกิดโครงการข้าวแลกปลาขึ้นมา

มูลนิธิชุมชนไท ที่ดูแลกลุ่มเครือข่ายชาวเล กลุ่มชาติพันธุ์ เขาประสานงานกับเครือข่ายที่พวกเราทำโครงการทัพฟ้าช่วยชาวนาด้วยกันมา คุณสุวรรณา บุญกล่ำ หรือ พี่ติ๊ก อดีตรองผู้อำนวยการสถานีข่าวโทรทัศน์ TNN 24 ดิจิทัลทีวีช่อง 16 ปัจจุบัน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสื่อสารมวลชน เทคโนโลยี สารสนเทศ  ในคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ หรือ สช. และผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน ) หรือ บจธ. เป็นผู้ประสานงานหลักในการที่จะเอาข้อมูลจากมูลนิธิชุมชนไทแจ้งมาทางเรา พอพูดคุยเรียบร้อยก็ตั้งกลุ่มไลน์ในการสื่อสารและประสานงานกันได้อย่างรวดเร็วภายใน 1 วัน 

เบื้องต้นพอเรารู้ว่าการขนส่งไม่เป็นปัญหาแล้ว เราเลยคิดว่าทำอย่างไรจะได้ข้าวเยอะขึ้น นอกจากเครือข่ายเกษตรกรกองทัพอากาศที่เราสามารถโทรพูดคุยได้ประเภทมองตาก็รู้ใจแล้ว  เราจึงประสานไปทางกรมส่งเสริมการเกษตร และทางเกษตรจังหวัดเราก็ไปช่วยแจ้งข่าวเกษตรกร ทั้ง 9 อำเภอในเครือข่าย ใช้เวลาประมาณ 2 วัน ซึ่งทำให้การขยายจำนวนข้าวได้เยอะขึ้น ความร่วมมือของพี่น้องเรามีเยอะมาก ส่วนหนึ่งก็มีพี่น้องที่เป็นศิลปินคนยโสธร เช่น ไผ่ พงศธร ที่มาร่วมด้วย หรือ หม่ำ จกม๊ก ก็ออกมาช่วยประชาสัมพันธ์ ด้วยระยะเวลาสั้นเลยต้องรีบ เรารอให้พี่น้องชาวเลขาดข้าวไม่ได้ ต้องรีบทำทันที”

เงินทองของมายา ข้าวปลา(จำเป็น)ของจริง

“ตอนเราเป็นเด็ก วิถีการแลกเปลี่ยนพวกเราคุ้นเคยกันดี ในอดีตจะมีปลาร้าแลกข้าว บ้านพี่อยู่ทางแม่น้ำชี มีปลาทำปลาร้าเยอะ บางครั้งทำ “นาดอน” ไม่ได้ข้าว ก็จะเอามาไปแลกคนที่เขามี “นาลุ่ม” พอโตมาสักพักก็จะมี “ข้าวแลกเกลือ เกลือแลกข้าว” เราคุ้นเคยกับวิถีนี้ บางครั้งก็มี “หมอลำขอข้าว” เป็นอะไรที่ซึมซับอยู่ในจิตใต้สำนึกอยู่แล้ว ไม่ได้เอาเรื่องเงินเข้ามาคิดเลย พอเรารู้ว่าเขาไม่มีข้าวกิน เขาหาปลาได้ปลาสด ๆ ไม่รู้จะเอาไปขายไหนพอล็อกดาวน์ไม่มีเงิน ไม่รู้จะเอาเงินไหนไปซื้อข้าว ก็มาคิดว่า ขนาดเวลาคนต่างประเทศเดือดร้อน คนไทยเรายังระดมบริจาคไปที่นั่นที่นี่ เราเชื่อว่าพี่น้องเกษตรชาวนาไทยเป็นคนน้ำใจดี พอเราเอ่ยขึ้นพี่น้องเครือข่ายก็ช่วยทันที แต่ไม่คิดว่าจะใหญ่ขนาดนี้ คิดว่าจะทำกันแค่ในเครือข่ายขนส่งกันเองง่าย ๆ เอาไปให้พี่น้องชาวเลง่าย ๆ แค่นั้น

มองว่า ทุกคนมีของในมือแต่พอเกิดการขนส่งไปมาหาสู่กันไม่ได้ การจะแลกเปลี่ยนเป็นเงิน ระบบเศรษฐกิจมันชะงักทันที พอชะงักทันที ต่อให้มีของในมือคนบางคนอยากซื้อแต่ซื้อไม่ได้ตัวเงินมันหายไป  เราเลยคิดว่าวิถีแลกดั้งเดิมไม่มีการคิดเรื่องเงินเลย เพราะถ้านำคำว่า “เงิน” เข้ามาจะแลกเปลี่ยน มันจะยากขึ้น เพราะต้องคิดแล้วว่า ปลากิโลกรัมละกี่บาท? มันจะคุ้มไหม? จะกลายเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น  ในกลุ่มของเราตกลงกันว่าการเจรจาจะต้องเกิดประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เลยไม่เอาเรื่องของผลประโยชน์เรื่องเงินเป็นตัวตั้ง แต่ต้องให้เหมาะสม

ปัญหาตอนนี้ คือ ถ้าเป็นเมืองใหญ่ๆ มีการล็อกดาวน์ และในเมืองใหญ่นั้นจะไม่มีการทำเกษตร แม้จังหวัดยโสธรของเราเองก็มีความเดือดร้อน แต่ว่าไม่ร้ายแรง ซึ่งในที่นี้ คือ ยังทำมาหากินได้  แต่ถ้าชีวิตสังคมคนเมือง เช่น เมืองภูเก็ต คนกรุงเทพฯ ที่อาศัยอยู่ตามคอนโดมิเนียม กลุ่มประชากรแฝงจะมีปัญหามากที่สุด คนยังเดือดร้อนอีกมาก”

ระดม 6 วัน ได้ข้าวสาร 9 ตัน แต่จริง ๆ มีมากกว่านี้

“ด้วยน้ำหนักการขนส่งโดยเครื่องบิน จำเป็นต้องลดจำนวนการแลกเปลี่ยนลง เกือบ 4-5 ตัน และยังมีชาวบ้านถามมาอีกว่าจะมีการรับมาอีกตอนไหน มีโครงการ 2 ไหม ซึ่งตรงนี้เป็นนิมิตหมายที่ดีว่า ได้รับการตอบรับเลยถือโอกาสจุดกระแสว่า แต่ละคนขาดความช่วยเหลืออะไร ถ้ามีการแลกเปลี่ยนที่ยุติธรรมได้ เราจะนำสิ่งที่เราทำนี้ มาเป็นโมเดลไปแบ่งปันความรู้ ถ้าเรามีความสามารถไปช่วยเหลืออะไรได้ หรือเราทำเอง เราพร้อมที่จะเริ่มโครงการที่ 2 สำคัญที่สุดต้องเป็นความต้องการของคนทั้ง 2 กลุ่ม จึงจะเกิดขึ้นได้”  

ชุมชนต้องเข้มแข็งด้วยตนเอง มีวิกฤตอะไรเราก็ช่วยกันได้

“ในสถานการณ์วิกฤติแบบนี้ ถ้าเรามีอะไรพอช่วยกันได้ เราต้องช่วยกันก่อน คือ เราเคยคุยในกลุ่มเกษตรกรอยู่แล้ว พวกเราต้องเข้มแข็งด้วยตนเองก่อน การเข้มแข็งด้วยตนเอง มันจะตอบโจทย์ว่า ใครจะไปจะมา ใครจะขึ้นใครจะลง อย่างน้อย ๆ ความเข้มแข็งเราจะเป็นตัวช่วยพยุงกลุ่มเกษตรกรให้เข้มแข็ง ข้าวจะราคาตกเราก็ช่วยกันได้ มีวิกฤตอะไรเราก็ช่วยกันได้ พอเรามีความเข้มแข็งมันจะเกิดภาพนี้ทันที

ถ้าเรามีอะไรพอช่วยกันได้ เราต้องช่วยกัน

ย้อนกลับไปถ้าพวกเรารวมกลุ่มกันไม่ได้ ประสานงานกันไม่ได้ วิกฤตนี้เราจะกลายเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน แทนที่เราจะเป็นผู้ช่วย ในขณะเดียวกันที่เราเข้มแข็ง พี่น้องจะได้หันมามองว่า เห็นไหมเขารวมกลุ่มกันได้ ในเวลาเกิดวิกฤตเขาก็อยู่ได้ ตอนนี้มันอาจจะยังไม่สมบูรณ์ 100% ต้องมีการปรับ แต่อย่างน้อย ๆ ก็ยังเป็นการเริ่มต้นที่ดี สิ่งที่เราทำวันนี้มันสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าทำแล้วเป็นประโยชน์จริง ๆ ผมเชื่อมั่นว่าทุกคนก็อยากทำเหมือนกัน”  วารินทร์ ทวีกันย์   กล่าวน้ำเสียงหนักแน่นถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพของชุมชนและแนวทางในการทำงานของกลุ่มเครือข่ายว่า เราต้องช่วยกันก่อน

กำลังใจสำคัญในการก้าวผ่านวิกฤตโควิด-19

“โควิด-19 ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทยเป็นกันทั่วโลก และในขณะเดียวกันในสถานการณ์ที่วิกฤต ยังมีสถานการณ์ความหิวโหย การดำรงชีพ  สิ่งที่พวกเราทำมานี้ อยากให้ทุกคนมองว่ายังมีช่องทาง หนทาง โอกาส ในการดำรงชีวิตให้กลับสู่ปกติ ถึงจะไม่ 100%  แต่อย่างน้อย ๆ เราต้องหันมาช่วยตนเอง ประชาชนตัวเล็ก ๆ อย่างเรา ถ้ารวมกันได้จะแข็งแกร่ง มันจะมีพลัง อยากให้ทุกคนคิดว่า “ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ” คนนั้นทำสิ่งนั้นได้ คนนี้ทำสิ่งนี้ได้ เพราะไม่ใช่คน ๆ เดียวจะสามารถทำได้ทุกอย่าง พวกเรารวมตัวกันแล้วองค์ประกอบครบวันไหน สิ่งที่คิดว่ายากจะเกิดขึ้นได้แน่นอน อยากให้ทุกคนมีกำลังใจ ดิ้นรน อย่าหมดหวัง” วารินทร์ ทวีกันย์  กล่าวทิ้งท้ายการสนทนา ก่อนที่เขาจะส่งกำลังใจและพูดคุยกับพี่น้องเครือข่ายเกษตรกรที่ขนข้าวสารส่งต่อไปบนรถบรรทุกและออกเดินทางแทนความห่วงใยจากดินแดนที่ราบสูงในเมืองบั้งไฟโก้ จ.ยโสธร ไปถึงพี่น้องชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต

อยากให้ทุกคนมีกำลังใจ ดิ้นรน อย่าหมดหวัง

“ไปพุ่นกินปลา มาพี้กินข้าว” เป็นวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนอาหารตามวิถีอีสานดั้งเดิมที่ถูกนำมากล่าวซ้ำ และย้ำเตือนให้เห็นถึงความสำคัญของการเข้าถึงทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า และทะเล ซึ่งเป็นแหล่งอาหารในแต่ละบ้าน เพราะเมื่อชาวอีสานยังมีที่นา และชาวเลยังหาปลาได้จากท้องทะเลที่สมบูรณ์ อยู่ดีมีแฮง เชื่อว่า เราจะผ่านวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ