119 องค์กร เสนอนายกฯ ปกป้องเด็กในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ด้วยนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

119 องค์กร เสนอนายกฯ ปกป้องเด็กในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ด้วยนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

รายงานโดย : วาสนา ลำดี พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

22 เม.ย. 2563 คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า 119 องค์กร ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยื่นข้อเสนอปกป้องดูแลเด็กเล็กในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 ด้วยนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562เห็นชอบโครงการเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด อายุ 0-6 ปี เดือนละ 600บาท แก่เด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนหรือเสี่ยง ต่อความยากจน โดยมีการลงทะเบียนและมีการคัดกรอง รายได้เฉลี่ยของครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี แม้จะมีข้อดีกว่าเดิมจากที่จำกัดรายได้เฉลี่ยครอบครัวไม่เกิน 36,000 บาทต่อปี

แต่องค์กรภาคประชาสังคมด้านเด็ก ผู้หญิง ขบวนแรงงานทั้งในและนอกระบบ และสถาบันวิชาการ ได้มีข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา ยืนยันข้อเสนอที่มีมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558

“ขอให้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า อย่างน้อย 0-6 ปีเดือนละ 600 บาท”

เหตุผลที่ชัดเจนในการสนับสนุนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า คือ

1. มีผลการวิจัยทั่วโลกยอมรับว่า เด็กเล็ก 0-6 ปีเป็นช่วงวัยที่เป็นการลงทุนพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่คุ้มค่าที่สุด สำคัญที่สุดในช่วงชีวิตการสร้างคุณภาพชีวิตและ ศักยภาพมนุษย์ที่แข็งแกร่งในอนาคต เป็นการสร้างต้นทุนต่อความฉลาดทางสติปัญญา IQ และความฉลาดทางอารมณ์/จิตใจ EQ ซึ่งจะส่งผลต่อเด็กในวัยเรียน การประกอบอาชีพในอนาคต และการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว

2. ผลการศึกษาวิจัย เรื่องประเมินผลกระทบและประเมินการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติประเทศไทย (UNICEF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) มอบให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และสถาบันวิจัยนโยบายทางเศรษฐกิจ (Economic and Policy Research Institute : EPRI) จากประเทศแอฟริกาใต้ออกแบบและดำเนินการโดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดเก็บข้อมูลภาคสนาม ผลการศึกษาสรุปว่า การให้เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิด เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เด็กแรกเกิดที่ได้รับเงินรวมทั้งเด็กเล็กอื่นในครัวเรือนมีผลลัพธ์ทางโภชนาการดีกว่าเด็กที่มาจาก ครัวเรือนซึ่งไม่ได้รับเงินที่มีฐานะใกล้เคียงกัน ครัวเรือนที่ได้รับเงินมีการให้นมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน ครอบครัวที่ได้รับเงินเข้าถึงการบริการสุขภาพและสังคมมากกว่า ฯลฯ

3. ประเด็นที่สำคัญ ในงานวิจัยพบว่า มีอัตราการตกหล่นของกลุ่มเป้าหมายยากจน ร้อยละ 30 นั่น คือ เด็กแรกเกิดยากจนประมาณร้อยละ 30 ยังไม่ได้รับเงิน ซึ่งทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลคิดว่าจะดูแลเด็กเล็กที่ยากจนและส่งผลให้เด็กเล็กจำนวนมากไม่ได้รับการปกป้องดูแล ซึ่งจากการศึกษาทั่วโลกพบว่า การจะแก้ไขลดอัตราการตกหล่นของคนจนเป็นเรื่องยาก หากไม่ทำให้เป็นนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า

4. สังคมไทยพัฒนาการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้ามายาวนาน โดยเฉพาะการเรียนฟรีอย่างน้อย 12 ปี สวัสดิการคนพิการ สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล แต่กลับมีนโยบายและการเลือกปฏิบัติเจาะจงเด็กยากจนด้วยระบบคัดกรองที่มีเด็กยากจนตกหล่นและเข้าไม่ถึงจำนวนมาก

สถานการณ์โควิด-19 ยิ่งจำเป็นต้องมีนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบด้านสุขภาพ และด้านเศรษฐกิจสังคมต่อทุกคนหลากหลายอาชีพทั้งในเมืองและชนบทเป็นวงกว้าง รวมทั้งมีผลกระทบที่รุนแรงครอบครัวของเด็กเล็กและเด็กเกิดใหม่ เช่นการมีรายได้ลดลงอย่างมาก ผู้ปกครองไม่สามารถทำงานแบบปกติได้ ขณะที่รายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก ศูนย์เลี้ยงเด็กและโรงเรียนก็ปิด ค่าใช้จ่ายเด็กเล็กในบ้านเพิ่มขึ้น และมีผลให้ไปทำงานไม่ได้ หรือต้องหาคนมาช่วยเลี้ยงดู

นอกจากนี้อัตราการตกหล่นครอบครัวยากจนตามเกณฑ์เดิมก็อาจสูงขึ้นจากปัญหาและอุปสรรคในการลงทะเบียนเด็กเล็กรายใหม่ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ต้องมีผู้รับรองรายได้ ต้องกรอกแบบฟอร์ม ต้องตรวจสอบ ซึ่งทำได้ยากขึ้นในสถานการณ์ที่ต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคมเช่นปัจจุบัน ผลกระทบอีกประการหนึ่งคือการเกิดคนจนใหม่จำนวนมากกว่าเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด ครอบครัวที่เคยมีรายได้สูงกว่าเกณฑ์ในภาวะปกติและไม่ได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด แต่ผลกระทบจากโควิด-19 ได้ทำให้ครอบครัวเหล่านี้จำนวนมากกลายเป็นครอบครัวยากจน ในขณะที่ยังคงไม่ได้รับความช่วยเหลือในส่วนนี้

การให้ความช่วยเหลือเด็กเล็ก 0-6 ปี ให้เป็นแบบถ้วนหน้า จะทำให้ความช่วยเหลือไปถึงเด็กเล็กอย่างทันที เพียงพอ และครอบคลุม ลดความจำเป็นด้านเอกสารและการตรวจสอบ แม้งบประมาณที่ใช้จะสูงกว่าการให้เงินอุดหนุนแบบเฉพาะเจาะจงแต่ถือว่าเป็นการลงทุนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับการลงทุนด้านอื่น ๆ ของประเทศ และอัตราเด็กเกิดที่มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ การใช้งบประมาณในอนาคตก็มีแนวโน้มที่ลดลง ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ควรเห็นเป็นภาระ หากแต่เป็นการใช้งบประมาณลงทุนที่คุ้มค่า

“การให้สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กอายุ 0-6 ปี แบบถ้วนหน้า” จึงเป็นสวัสดิการพื้นฐานเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับเด็กทุกคน โดยไม่ต้องแบ่งแยก “ยากดี-มีจน” แต่ให้เด็กเล็กทุกคนได้รับการดูแลจากรัฐอย่างเสมอภาคเท่าเทียม สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2560 ในมาตรา 54 วรรคสองระบุไว้ว่า “รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา…เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย”

และมาตรา 48 “สิทธิของมารดาในช่วงระหว่าง ก่อน และหลังคลอดบุตรย่อมได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ” ทั้งยังยืนยันว่า ประเทศไทยเคารพต่อข้อผูกพันที่มีต่อกติการะหว่างประเทศที่เป็นภาคี อาทิ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ระบุว่า เด็กทุกคนมีสิทธิเข้าถึงระบบความคุ้มครองทางสังคมที่เหมาะสม รวมทั้งพันธะสัญญาสากลขององค์การสหประชาชาติ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน(SDGs) ที่มีนัยสำคัญถึง “การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้าและองค์กรเครือข่าย ตามรายชื่อในท้ายจดหมายนี้ ขอให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นชอบต่อการที่ประเทศไทยจะมีนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า เพื่อเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานตลอดจนป้องกันที่จะไม่ทิ้งเด็กให้ตกหล่นอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

และในวาระเฉพาะหน้า เสนอเพิ่มเงินอุดหนุนจาก 600 บาทต่อเดือน เป็น 2,000บาทต่อเดือน จนกว่าการระบาดจะบรรเทาลงเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ถ้าให้เงินเด็ก 0-6 ปี แบบถ้วนหน้าจากเด็ก 3.538 ล้านคนรายละ 2,000 บาท 12 เดือน ใช้งบประมาณ 84,924.88 ล้านบาท คิดเป็น 0.5% ของ GDPเท่านั้น

แนวทางนี้นอกจากจะแก้ปัญหาช่องว่างเรื่องเด็กตกหล่นแล้ว ยังสามารถทำให้สวัสดิการไปถึงเด็กได้ทันที พอเพียง ครอบคลุม ช่วยให้มีฐานข้อมูลเด็กทุกคนในระยะยาว ลดการทำงานคัดกรองของภาครัฐที่เป็นภาระทั้งงบประมาณ กำลังคน เกิดระบบประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ