ครอบครัวเล็กๆกับผลกระทบการระบาดไวรัสโคโรน่า 2019
ชลและครอบครัวย้ายไปทำงานที่จังหวัดภูเก็ตมานับสิบปี โดยเช่าห้องพักอยู่ในตำบลศรีสุนทร อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต มีอาชีพเป็นผู้รับเหมารายย่อยรับจ้างทำทรายล้างหินขัด นับแต่รัฐบาลมีการประกาศเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 ให้สถานบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม สถาบันการศึกษา ฯลฯ หยุดให้บริการจนกว่าจะมีคำสั่งให้สามารถเปิดทำการได้เพื่อป้องกันการระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 ครอบครัวของชลก็ต้องสูญเสียงานที่ได้มีการตกลงกับสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งไว้ เพราะทางสถาบันดังกล่าวต้องปิดให้บริการตามคำสั่งของรัฐบาล ต่อมาจังหวัดภูเก็ตมีประกาศลงวันที่ 29 มีนาคม 2563 ฉบับที่ 11/2563 เรื่องปิดช่องทาง – เข้าออกจังหวัดภูเก็ต ทำให้การหางานทำมีความยุ่งยากมากขึ้นไปอีก ไม่สามารถออกไปรับงานนอกจังหวัด ทำได้แค่การหารับทำงานเล็กๆ น้อยๆ ภายในจังหวัดภูเก็ตซึ่งก็หาได้ยากเพราะกิจการส่วนใหญ่ถูกสั่งปิด
หวังเข้าถึงเงินเยียวยาพยุงชีวิตให้รอดกับสถานการณ์วิกฤต
ในวันที่ 28 มีนาคม 2563 เวลา 18.00 น. ชลเล่าให้ฟังว่าเธอและสามีนั่งอยู่ที่หน้าคอมฯ เพื่อกรอกข้อมูลในเว็บไซต์ “เราไม่ทิ้งกัน” โดยมีความหวังว่าจะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาลเพราะครอบครัวได้รับความเดือนร้อนจากคำสั่งปิดสถานประกอบการ แม้ว่าครอบครัวตนนั้นไม่ได้เป็นเจ้าของสถานประกอบการ แต่การสั่งปิดของรัฐส่งผล กระทบต่อโซ่ห่วงการผลิต เธอและครอบครัวมีความวิตกกังวลอย่างมากเมื่อการลงทะเบียนล้มเหลว เพราะระบบล่ม แต่ก็พอใจชื้นขึ้นมาเมื่อมีหลายคนที่ประสบเช่นเดียวกัน ในวันที่ 29 มีนาคม 2563 เธอและครอบครัวก็สามารถลงทะเบียนได้สำเร็จ ชลบอกว่าหลังจากที่ลงทะเบียนก็ใช่ว่าจะคล้ายความกังวล เพราะมาตรการการคัดเลือกของรัฐบาลที่บอกกว่า 24 ล้านคนลงทะเบียน แต่ทางรัฐจะให้เงินเยียวยาคนลงทะเบียนเพียง 8-9 ล้านคนเท่านั้น นับแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ 22 เมษายน 2563 เธอและครอบครัวยังไม่ได้รับเงินเยียวยาแต่อย่างไร ได้แต่นั่งรอด้วยความหวังว่าจะได้รับข้อความแจ้งว่าได้รับเงินเยียวยาจากรัฐ แต่ใจหนึ่งก็คิดว่าตนนั้นไม่ได้แน่ เพราะหลายคนก็ถูกคัดออก ชลบอกว่าถ้าได้รับเงินก้อนนี้มันก็จะช่วยพยุงให้ครอบครัวเธอผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้
ความทุกข์ถาโถม
จังหวัดภูเก็ตออกประกาศที่ 1908/2563 ลงวันที่ 9 เมษายน 2563 เรื่องปิดสถานที่และกำหนดควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโควิด 19 จังหวัดภูเก็ต ระหว่างวันที่ 13 ถึง 26 เมษายน 2563โดยมีการปิดพื้นที่รอยต่อระหว่างตำบลทุกตำบลและได้ขอให้ประชาชนลดการเดินทางออกนอกเขตเคหสถานหรือที่พำนัก ประกาศดังกล่าวทำให้ชลและสามีไม่สามารถออกจากตำบลพื้นที่ที่อาศัยได้ ไม่สามารถไปทำงาน ได้แต่นั่งอยู่ในห้องมองหน้ากันพร้อมความกลัดกลุ้มว่าจะเอาเงินที่จากไหนมาซื้อกิน จ่ายค่าห้อง ค่าน้ำค่าไฟ ส่วนค่ารถนั้นได้ขอพักชำระหนี้ไปแล้ว ชลบอกว่าก่อนหน้านี้ยังพอออกไปหางานทำเล็กๆ น้อยๆ พอมีรายได้มาซื้อกับข้าวกินบ้าง แต่ตอนนี้ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะตำบลที่อาศัยอยู่ไม่มีงานให้ทำเลย
ชลได้ลงทะเบียนรับการช่วยเหลือจากตำบลที่อาศัยและเพิ่งได้รับถุงยังชีพเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563 ประกอบด้วย ข้าวสาร 5กิโลกรัม ไข่ไก่ 1 แผง น้ำมันพืช 1 ขวด น้ำปลา 1 ขวด และปลากระป๋อง 6 กระป๋อง เธอบอกว่าตอนนี้ข้าวสารสำคัญมาก 5 กิโลกรัมจะกินได้สักกี่มื้อกับคนในครอบครัว 4 คน ชลทราบข่าวมาว่ามีการขยายเวลาการปิดพื้นที่รอยต่อระหว่างตำบลไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 และมีความกังวลจะปิดเพิ่มอีกหนึ่งเดือน เพราะว่าวันที่ 22 เมษายน 2563 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มอีกสามรายในจังหวัดภูเก็ต “ตายแน่มีการช่วยเหลือด้านอาหาร แต่ค่าใช้จ่ายอื่นล่ะเอาที่ไหนเดือนร้อนกันทุกคน” นี่คือเสียงโอดครวญจากชล
ทำอย่างไรขณะที่ไม่สามารถทำงานได้ไม่มีรายได้
ตอนนี้ก็ต้องประหยัดกิน ประหยัดใช้ ที่ผ่านมาก็เอาทองไปจำนำแต่เงินที่ได้มามันก็ร่อยหรอไปเรื่อยๆ สุดท้ายก็ขอให้ทางครอบครัวช่วย เราก็เกรงใจคนในครอบครัว แต่มันจำเป็นก็ต้องขอให้เขาช่วย ได้ทำงานและมีเงินเมื่อไรค่อยทยอยคืนเขา ไม่รู้ว่าจะอยู่ในสภาพนี้ไปนานเท่าไร เพราะยังไม่มีวี่แววว่าทางจังหวัดภูเก็ตจะมีมาตรการเปิดพื้นที่เมื่อไร ก็ได้แต่หวังว่า แม้ว่าจะยังคงปิดจังหวัด แต่ก็ขอให้เปิดพื้นที่รอยต่อระหว่างตำบล พวกเราจะได้ออกไปหางานทำได้บ้าง แต่ถ้าทางจังหวัดยังไม่ประกาศเปิดพื้นที่รอยต่อระหว่างตำบลเพราะต้องการสกัดกั้นการแพร่ระบาดไวรัสโคโรน่า เราก็พร้อมให้ความร่วมมือ แต่ภาครัฐก็ต้องเห็นใจคนหาเช้ากินค่ำแบบพวกเราด้วย การดำรงชีวิตไม่ใช่แค่การกินข้าวไปวันๆ เท่านั้น แต่เรายังมีภาระมีหนี้สินที่ต้องจ่าย เราก็คงต้องไปติดต่อกับอำเภอเพื่อทำเรื่องขอข้ามพื้นที่เพื่อจะได้เดินทางไปหาทำงานในพื้นที่อื่น เราไม่สามารถมานั่งรอได้อีกเดือน เราจะอดตายกันเสียก่อน