22 เม.ย. 2563 ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด-19 เผยแพร่แถลงการณ์ซึ่งร่วมลงนามโดย 44 องค์กร ด้านแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน และภาควิชาการ รวมทั้งคณะบุคคลอีกกว่า 20 รายชื่อ เรื่องข้อเสนอต่อมาตรการการแก้ไขปัญหาแรงงานในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ถึงรัฐบาล โดยระบุทั้งในส่วนแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ รวมทั้งแรงงานข้ามชาติ
รายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์
ข้อเสนอต่อมาตรการการแก้ไขปัญหาแรงงานในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19
โดย ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิด-19
สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ดำเนินต่อเนื่องมาในปัจจุบันมีผลกระทบต่อแรงงานทุกประเภท ในปัจจุบันรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือแรงงานในระยะเฉพาะหน้า แต่มาตรการต่างๆ ยังมีช่องโหว่ที่ทำให้การเยียวยาไม่บรรลุผล จึงเป็นหน้าที่ของภาคประชาสังคมกลุ่มต่าง ๆ ที่จะต้องระดมความคิดเห็นเพื่อให้เกิดทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน ภาคีสังคมแรงงานสู้วิกฤตโควิดซึ่งประกอบด้วยองค์กรแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน และนักวิชาการ ได้มีการศึกษาข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นและมีข้อเสนอต่อมาตรการการแก้ไขปัญหาแรงงานในสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับแรงงานในระบบและนอกระบบดังต่อไปนี้
1.ข้อเสนอการบรรเทาผลกระทบต่อแรงงานที่เป็นลูกจ้างในระบบประกันสังคม
1.1 ในปัจจุบันมีการหยุดกิจการชั่วคราว ในธุรกิจต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นคือในบางกิจการนายจ้างมีการใช้สิทธิปิดกิจการชั่วคราวโดยอ้าง “เหตุสุดวิสัย” ตามมาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ทั้ง ๆ ที่ยังมีความสามารถจ่ายค่าจ้างและสวัสดิการให้ลูกได้ตามปกติอยู่ โดยมีการปฏิบัติใน 4 ลักษณะคือ 1) จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างปิดกิจการชั่วคราวร้อยละ 75 2) จ่ายเงินในอัตราต่ำกว่าร้อยละ 75 โดยทำข้อตกลงสภาพการจ้างเป็นรายบุคคล 3) จ่ายเงินให้เฉพาะในวันที่ลูกจ้างมาทำงานเท่านั้น ตามอัตราค่าจ้างที่ตกลงกัน และ4) งดการจ่ายสวัสดิการที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงาน เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร เป็นต้น และส่งผลการดำเนินชีวิตที่ยากลำบากของลูกจ้างมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ยังพบกรณีการเลิกจ้าง โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานเหมาค่าแรง สัญญาจ้างชั่วคราว แรงงานรายวัน แต่นายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า และเงินอื่นๆ ตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กำหนดไว้ และให้ลูกจ้างไปร้องเรียนผ่านกระบวนการยุติธรรม ที่มีระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปี กว่าจะได้รับเงินดังกล่าว
1.2 ในปัจจุบันได้มีการออกกฎกระทรวงเรื่องการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ทั้งนี้ภาคีฯ มีความห่วงใยว่าสถานประกอบการบางแห่งอาจมีการฉวยโอกาสผลักภาระให้กองทุนประกันสังคม โดยอ้างเหตุสุดวิสัยจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามประกาศฉบับนี้ เพื่อให้ลูกจ้างรับสิทธิประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ62 จากกองทุนประกันสังคม แทนที่นายจ้างจะปิดกิจการชั่วคราว ตามมาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างในระหว่างปิดกิจการชั่วคราวร้อยละ 75
ข้อเสนอคือ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ต้องจัดตั้งกลไกที่เป็นความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน สหภาพแรงงาน ลูกจ้าง ภาควิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาสังคม เพื่อตรวจสอบสถานประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อย่างเคร่งครัด
1.3 สำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จะพบปัญหาที่มีความซับซ้อนกว่าแรงงานไทย ดังนี้
1.3.1 แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 และจ่ายสมทบประกันสังคมมาไม่ถึง 6 เดือนใน 15 เดือน จะไม่มีโอกาสได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงาน
1.3.2 แรงงานข้ามชาติและแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานไทยพลัดถิ่น ที่ไม่มีสัญชาติไทยกลุ่มต่าง ๆ ที่ทำงานในกิจการที่ยกเว้นประกันสังคมและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จะไม่สามารถเข้าถึงมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ได้ เพราะกำหนดให้เฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น
1.3.3. พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ได้กำหนดระยะเวลาในการเปลี่ยน/หานายจ้างใหม่ภายหลังที่ลูกจ้างเลิกจ้าง/ไม่ต่อสัญญาจ้าง ภายใน 30 วัน จึงส่งผลต่อการเข้าถึงประโยชน์ทดแทนการว่างงานตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 , การไม่สามารถหางานใหม่-นายจ้างใหม่ได้ในช่วงเวลาวิกฤติ ตลอดจนไม่สามารถกลับประเทศต้นทาง ส่งผลต่อการผลักให้กลายเป็นแรงงานไม่ถูกกฎหมายและต้องหลบซ่อนในประเทศไทยต่อไป
ข้อเสนอคือ
ขอให้กระทรวงแรงงานพิจารณาดำเนินการจัดตั้งกลไกการทำงานร่วมกันของภาคส่วนต่าง ๆ ในรูปแบบของคณะทำงานความร่วมมือในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในช่วงการระบาดของโรคโควิด และจัดทำแผนรองรับการฟื้นฟูการจ้างงานหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดต่อไป ทั้งนี้เพื่อให้เกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหาผลกระทบอย่างรอบด้าน
1.4 ข้อเสนอเพื่อการแก้ปัญหาในระยะยาว
1.4.1 ควรมีการปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ ในการทำหน้าที่ในการบริหาร จัดการจากภาครัฐ เพื่อประกันสังคมให้มีความโปร่งใส มีระบบธรรมาภิบาล มีประสิทธิภาพ มีประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ประกันตน โดยให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพื่อให้สามารถเป็นหลักประกันด้านสวัสดิการให้แก่แรงงานในภาวะวิกฤติได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธภาพในการทำงานมากขึ้น
1.4.2 พิจารณาจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงทางรายได้ของผู้ประกันตน เพื่อให้สามารถจ่ายเงินชดเชยให้แก่ลูกจ้างให้ได้รับค่าจ้างครบตามจำนวนในภาวะวิกฤต
2.ข้อเสนอการบรรเทาผลกระทบต่อแรงงานนอกระบบ
2.1 มาตรการจ่ายเงินเยียวยาคนละ 5,000 บาทเป็นเวลา 3 เดือน พบว่า มีปัญหาเรื่องระบบการคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์ทำให้แรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากยังคงไม่ได้รับการเยียวยา
ข้อเสนอคือ
2.1.1 กรณีผู้มีสิทธิ์แต่ไม่ได้รับเงิน ซึ่งมีการยื่นร้องเรียนเข้ามา ต้องมีการพิจารณาใหม่โดยรวดเร็วและยืดหยุ่น และควรมีการปรับปรุงระบบการคัดกรองที่เป็นปัญหาโดยเร็วเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อแรงงานนอกระบบซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่แล้ว
2.1.2 พิจารณาหลักเกณฑ์ผู้ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาใหม่สำหรับการจ่ายเงินในเดือนถัดไปโดยขยายให้ครอบคลุมประชากรวัยทำงานทั้งหมดรวมถึงเกษตรกรที่ไม่ใช่บุคลากรของภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และผู้อยู่ในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33
2.2 แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ต้องสูญเสียอาชีพและรายได้จากมาตรการจำกัดการใช้พื้นที่สาธารณะ การห้ามรวมกลุ่มสังสรรค์ และการให้ทำงานที่บ้าน(Work from home) ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการขาดรายได้ที่ไม่อาจทดแทนได้โดยการให้เงินเยียวยาเพียงเดือนละ 5,000 บาท
ข้อเสนอคือ
2.2.1 รัฐต้องพิจารณาเรื่องการผ่อนปรนพื้นที่การทำงานภาคบริการและการใช้พื้นที่สาธารณะโดยมีการจัดระเบียบอย่างเหมาะสมเพื่อให้แรงงานนอกระบบสามารถกลับมาทำงานมีรายได้โดยเร็ว
2.2.2 รัฐควรมีมาตรการสนับสนุนในการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในภาวะที่แรงงานอกระบบไม่สามารถหารายได้ตามปกติ เช่นการมีนโยบายบังคับหรือขอความร่วมมือให้มีการผ่อนปรนค่าเช่าร้านอาหารและสถานประกอบการายย่อย ลดค่าเช่ารถรับจ้างสาธารณะ พักชำระหนี้ทั้งในและนอกระบบ ฯลฯ
องค์กรลงนามสนับสนุนข้อเสนอ
- สภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย
- สภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย
- สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์
- สมาพันธ์แรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย
- สมาพันธ์แรงงานเด็นโซประเทศไทย
- สมาพันธ์แรงงานอีซูซุประเทศไทย
- สมาพันธ์แรงงานชิ้นส่วนยานยนต์แห่งประเทศไทย
- สมาพันธ์แรงงานไทยซัมมิทแห่งประเทศไทย
- สหพันธ์แรงงานธุรกิจโรงแรมและบริการภูเก็ต
- สหพันธ์แรงงานโตโยต้าประเทศไทย
- เครือข่ายสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเครื่องเรือนและคนทำไม้แห่งประเทศไทย
- สหภาพแรงงานยานยนต์และอะไหล่อีซูซุ
- สหภาพแรงงานคูคาติ มอเตอร์ประเทศไทย
- สหภาพแรงงานโตโยต้า โกเซประเทศไทย
- สหภาพแรงงานไอซินสัมพันธ์
- สหภาพแรงงานโตโยต้าประเทศไทย
- สหภาพแรงงานผู้บริหารโตโยต้าประเทศไทย
- สหภาพแรงงานซูมิโตโม รับเบอร์ประเทศไทย
- สหภาพแรงงานฮอนด้าแห่งประเทศไทย
- สหภาพแรงงานเอสซี
- สหภาพแรงงานฮีโน่ประเทศไทย
- สหภาพแรงงานสยามโตโยต้า
- สหภาพแรงงานไทยดีคัล
- สหภาพแรงงานโรเด้นสต๊อกประเทศไทย
- สหภาพแรงงานไทยออโต้คอนเวอร์ชั้น
- สหภาพแรงงานรถยนต์มิติซูบิชิแห่งประเทศไทย
- สหภาพแรงงานล็อกไทยโอโรเทกซ์
- สหภาพแรงงานไพโอเนียร์แห่งประเทศไทย
- สหภาพแรงงานทีทีเค โลจิสติกส์ ประเทศไทย
- สหภาพแรงงานโบการ์ทไทยแลนด์
- สหภาพแรงงานเอ็ฟซี
- สหภาพแรงงานผู้บริหารฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย
- สหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย
- สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมกระจกแก้ว และเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย
- สถาบันแรงงานเพื่อการค้นคว้าวิจัยและฝึกอบรม มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย
- สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม
- มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์
- มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน
- มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ
- มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน
- มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก
- องค์กรคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม
- วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
บุคคลลงนามสนับสนุนข้อเสนอ
- รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์
- รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
- รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ อาจารย์พิเศษ คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- ผศ.ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
- ผศ.ดร.เสาวลักษณ์ ชายทวีป คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
- ดร.โชคชัย สุทธาเวศ อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- อ.อานันท์ หาญพาณิชย์พันธ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
- อ.อนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- ดร.อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดี วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- ผศ.พิมพ์ณัฐชยา สัจจาศิลป์ อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- อ.สุนี ไชยรส รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
- อ.ภัทรมน สุวพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา สถาบันรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- ผศ.พิมพ์ณัฐชยา สัจจาศิลป์ อาจารย์ประจำ วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
- อ.ชิราภรณ์ วรรณโชติ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
- นายกฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นักวิชาการอิสระ
- นางสาวบุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ นักวิชาการสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม
- นางสาวจุฑิมาศ สุกใส นักวิชาการอิสระ
- นายวิทยา ไชยดี นักวิจัยอิสระ
- นายอดิศร เกิดมงคล นักวิชาการเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
- นายบัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง