1 ใน 6 “โนเบลสีเขียว” 2559 มอบให้ผู้นำชุมชนที่ล้มโครงการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ

1 ใน 6 “โนเบลสีเขียว” 2559 มอบให้ผู้นำชุมชนที่ล้มโครงการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ

แปลสรุปความโดย: นิชา รักพานิชมณี มูลนิธิบูรณะนิเวศ

 

20161904224636.jpg

ภาพจาก: Goldman Environmental Foundation

นักศึกษาวัย 20 ปี นางสาว Destiny Watford ได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize หรือที่นิยมเรียกกันว่า “โนเบลสีเขียว” (Green Nobel) ประจำปี 2559 ซึ่งเป็นรางวัลประจำปีที่ยกย่องผู้นำการต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อม ทวีปละ 1 คน (ยุโรป เอเชีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้และกลาง และประเทศหมู่เกาะ) และเป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่า เป็นรางวัลระดับสากลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดด้านสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ Goldman Environmental Prize ระบุว่า Destiny ได้รับรางวัลนี้จากกิจกรรมที่ริเริ่มตั้งแต่เป็นนักเรียนชั้น ม.6 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันในชุมชน Curtis Bay ซึ่งเป็นย่านอุตสาหกรรมของเมือง Baltimore ประเทศสหรัฐอเมริกา 

เธอได้รวบรวมกลุ่มนักเรียน ครู และผู้ปกครองในชุมชน พูดคุยทบทวนเรื่องความเป็นธรรมของนโยบายการพัฒนาโครงการอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ที่ก่อให้เกิดมลพิษสะสมในชุมชน โดยเฉพาะมลพิษอากาศ หลายคนที่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะย้ายหนีมลพิษต้องทนอยู่อาศัยใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมและทนอยู่กับการเจ็บป่วย เช่น โรคหอบหืด และโรคมะเร็ง

Destiny ได้ร่วมก่อตั้งชมรมนักเรียนภายใต้ชื่อ Free Your Voice (เสียงอิสระ) และรณรงค์หยุดโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศอเมริกาจนสำเร็จ ด้วยข้อมูลที่ใช้รณรงค์ เช่น คำมั่นว่าโรงไฟฟ้าขยะจะก่อให้เกิดพลังงาน “สะอาด” ไม่เป็นจริง เนื่องจากจะก่อให้เกิดการนำเข้าขยะจากที่อื่นๆ มากถึง 4,000 ตันต่อวัน และงานวิจัยหลายฉบับพิสูจน์แล้วว่าการเผาขยะจะปลดปล่อยมลพิษรุนแรง เช่น ปลดปล่อยสารปรอทออกสู่สิ่งแวดล้อมมากยิ่งกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในขณะที่พื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะตั้งอยู่ใกล้โรงเรียนถึง 2 แห่ง ในชุมชนที่ยังได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากมลพิษอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งยังไม่ได้รับการแก้ไข

กิจกรรมของ Destiny และชมรมนักศึกษา นำไปสู่การรวมตัวของชุมชนโดยรวม ซึ่งระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ต้องการเป็นที่รวบรวมขยะของพื้นที่อื่นๆ และเสนอให้รัฐพิจารณานโยบายทางเลือกอื่นๆ ในการจัดการขยะ เช่น การก่อสร้างฟาร์มผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ และการส่งเสริมการลดขยะโดยคัดแยก

ท้ายที่สุด ความร่วมมือของนักศึกษาและชุมชนนำไปสู่การถอนตัวของลูกค้าที่ลงนามในสัญญาซื้อขายพลังงานทั้งหมด 22 องค์กร จนผู้เสนอโครงการต้องถอนตัวเนื่องจากไม่มีผู้รับซื้อไฟฟ้า ยิ่งไปกว่านั้น แรงกดดันของชุมชนยังทำให้องค์กรสิ่งแวดล้อมประจำมลรัฐ Maryland ออกคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงไฟฟ้าขยะเมื่อเดือนมีนาคม 2559 ที่ผ่านมา

20161904224533.jpg

ภาพจาก: Goldman Environmental Foundation

หมายเหตุ: รายชื่อผู้ได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปี 2559  ทั้ง 6 คน คือ Destiny Watford จากสหรัฐอเมริกา Zuzana Čaputová จากสโลวาเกีย Leng Ouch จากกัมพูชา Luis Jorge Rivera Herrera จากเปอร์โตรีโก Máxima Acuña จากเปรู และ Edward Loure จากแทนซาเนีย (อ่านเพิ่ม: http://www.goldmanprize.org/blog/introducing-the-2016-goldman-prize-winners/)

—–
แปลสรุปจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ: www.goldmanprize.org/recipient/destiny-watford

ชมวิดิโอ: www.youtube.com/watch?v=oF2z0wIZgqA

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม:  “This Baltimore 20-year-old just won a huge international award for taking out a giant trash incinerator” หนังสือพิมพ์ Washington Post 18 เมษายน 2559

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ