1 ปีรัฐประหาร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร้องคืนอำนาจประชาชน

1 ปีรัฐประหาร ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ร้องคืนอำนาจประชาชน

22 พ.ค. 2558 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน Thai Lawyers for Human Rights เผยแพร่แถลงการณ์ ครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร เรียกร้อง 1.ยกเลิกและยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร 2.ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และ3.ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว

รายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร 
เผยแพร่วันที่ 22 พฤษภาคม 2558

ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ทำการเข้ายึดอำนาจการปกครองจากประชาชนเมื่อวันที่  22  พฤษภาคม 2557 อันเป็นวิธีการได้มาซึ่งอำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้บริหารประเทศผ่านประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 122 ฉบับ คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 184 ฉบับ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 17 ฉบับ และมีร่างกฎหมายซึ่งเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว 112 ฉบับ แม้ คสช.จะแต่งตั้ง สนช.ให้ออกกฎหมาย แต่คสช.ยังคงอำนาจนิติบัญญัติและบริหารไว้โดยเด็ดขาด ดังปรากฏตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557  ซึ่งขาดระบบการตรวจสอบและถ่วงดุล ปราศจากความรับผิดของเจ้าหน้าที่  ส่วนอำนาจตุลาการ คสช.ได้ประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจดำเนินคดีเหนือพลเรือน ถือเป็นการทำลายระบบนิติรัฐอย่างรุนแรงที่สุด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจหลังรัฐประหารพบว่าตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาการดำเนินการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติส่งผลกระทบด้านกระบวนการยุติธรรมและด้านสิทธิมนุษยชนจากการใช้อำนาจอย่างน้อยในเรื่องต่อไปนี้

1.การดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก และการลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน

คณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้อำนาจในการสร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชนในการใช้สิทธิเสรีภาพทั้งการเรียกบุคคลให้ไปรายงานตัวหรือเชิญตัวบุคคลไปปรับทัศนคติ กว่า 700 คน การห้ามชุมนุมทางการเมืองโดยมีจับกุมผู้ชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองกว่า 166 คน การใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกกักตัวบุคคลไม่เกินเจ็ดวัน รวมถึงกำหนดให้การดำเนินคดีพลเรือนในความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับอาวุธและคำสั่ง ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติในศาลทหาร

การใช้อำนาจในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้ประชาชนไม่กล้าใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก และประชาชนบางส่วนเลือกที่จะหลบหนีออกนอกประเทศเนื่องจากหากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในศาลทหารแล้วนั้นย่อมไม่มีหลักประกันในด้านความเป็นอิสระและเป็นกลางของผู้พิพากษาในการตัดสินคดีและความผิดซึ่งกระทำระหว่างประกาศกฎอัยการศึกยังคงไม่ได้รับสิทธิอุทธรณ์อันเป็นการขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม (Fair Trial)

2.การดำเนินการผลักดันประชาชนออกจากพื้นที่ป่า

หลังจากมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 64/2257 เรื่องการปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และการดำเนินนโยบายตามแผนแม่บท แก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งคาดการณ์ในเบื้องต้นว่ามีมากกว่า 100 ชุมชน และประชาชนหลายพันครัวเรือนได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ โดยเป็นการใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จในการเข้าไปจัดทรัพยากรป่าไม้และที่ดินโดยละเลยต่อบริบทพัฒนาการการใช้พื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่พิพาทมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่รัฐใช้วิธีผ่อนผันให้ชาวบ้านทำกินหรืออยู่ในระหว่างการเจรจาแก้ไขปัญหา จนกระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาเร่งรัดการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ โดยไม่สนใจต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา 

3.การใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว)

แม้ว่าปัจจุบันคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกแล้วเจ้าหน้าที่ทหารยังได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ซึ่งออกตามมาตรา44 รัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจมากกว่ากฎอัยการศึกเนื่องจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยสามารถเข้าร่วมเป็นพนักงานสอบสวนได้ ส่งผลให้คดีความผิดซึ่งต้องขึ้นศาลทหารนั้น สามารถมีเจ้าหน้าที่ทหารในการดำเนินการตั้งแต่จับกุมคุมขัง สอบสวน ส่งฟ้องและพิพากษาคดี ซึ่งเป็นการละเมิดต่อสิทธิในกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงเนื่องจากขัดต่อความเป็นอิสระและเป็นกลาง

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะใช้อำนาจมาตรา 44 ในเรื่องต่างๆมากยิ่งขึ้นทั้งเรื่องทางบริหารและนิติบัญญัติ รวมถึงการโยกย้ายข้าราชการ ผู้บริหารในองค์การอิสระ การกำหนดเขตเศรษฐกิจพิเศษฯลฯ ซึ่งถือเป็นอำนาจเด็ดขาดผ่านการกลั่นกรองจากบุคคลเพียงคนเดียว รวมถึงยังรับรองคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่งหรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ทำให้ปราศจากความรับผิดใดๆทางกฎหมายและไม่สามารถเยียวยาความเสียหายซึ่งอาจขึ้นจากคำสั่งหรือการปฏิบัติตามคำสั่งนั้นได้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่านอกจากที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติแล้ว การปกครองประเทศซึ่งขาดการมีส่วนร่วมและขาดการรับฟังความคิดเห็น โดยการจำกัดเสรีภาพของประชาชน และควบคุมกระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกลุ่มหนึ่ง ไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากประชาชนทุกฝ่ายไม่ได้รับความยุติธรรมอย่างเสมอภาค ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอยืนยันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

1.ยกเลิกและยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร
2.ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557
3.ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ