ล่ามชุมชนอาสาภาษาชาติพันธุ์ ป้องกันโควิด-19

ล่ามชุมชนอาสาภาษาชาติพันธุ์ ป้องกันโควิด-19

: พูดคุยกับ อาภา หน่อตา เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (คชส.)

ภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้างมากขึ้นในประเทศไทย มาตรการในการเฝ้าระวังรวมถึงการถ่ายทอดความรู้เพื่อการป้องกันตนเองของภาครัฐนอกจากจะให้ความรู้กับประชากรไทยแล้ว การให้ความรู้แก่กลุ่มคนชาติพันธุ์ที่อยู่อาศัยในประเทศไทย ก็มีความสำคัญไม่น้อย เพราะทุกคนมีความเสี่ยงในการติดโรคไม่แตกต่างกัน แต่ว่าอุปสรรคที่สำคัญ คือช่องว่างด้านการสื่อสารเรื่องภาษา ในบุคคลากรในหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาชาติพันธุ์ได้ โดยมี อาภา หน่อตา อาสาสมัครล่ามชุมชนภาษาชาติพันธุ์ ทำหน้าที่เป็นล่ามสื่อสารให้กลุ่มคนชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงราย ได้เข้าใจเป็นภาษาของเขา รวมไปถึงการแนะนำวิธีการในการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ไม่ว่าจะเป็นการล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาดอย่างถูกวิธี หรือการใช้เจลล้างมือในการทำความสะอาดเมื่อไม่สะดวกล้างมือ การแนะนำเบื้องต้น รวมไปถึงการอธิบายการป้องกันตนเองจากการติดเชื้อด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี และการเฝ้าระวังคนในชุมชน ล่าชุมชนและอาสาสมัครเค้ามีวิธีการจัดการอย่างไร ?


Live องศาเหนือ Special : โควิด-19 ก้าวผ่านหื้อได้ ! วันนี้ เวลา 17.00 น. เปิดพื้นที่พูดคุยกันเรื่อง “ล่ามชุมชนอาสาภาษาชาติพันธุ์ ดูแลคนชาติพันธุ์ป้องกันโควิด-19” ร่วมพูดคุยกับ อาภา หน่อตา / ศูนย์ประสานงานเครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง (คชส.)

ล่ามชุมชน ตำบลโป่งผา ร่วมกับกลุ่มพัฒนาสตรีบ้านจ้องหมู่ 1 และอสม.บ้านจ้อง หมู่ 1 อำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย ได้ลงพื้นที่ห้องแถวแรงงานชาติพันธุ์ในหมู่บ้าน เพื่อวัดไข้ และให้ความรู้เรื่องโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ชุมชนบ้านจ้อง หมู่ 1 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนที่มีแรงงานชาติพันธุ์จากพื้นที่สูง และแรงงานชาติพันธุ์จากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาเช่าห้องแถว บ้านเช่า เพื่อพักอาศัยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากชุมชนตั้งอยู่ใกล้ไร่สตอว์เบอร์รี่ และไร่ยาสูบ ซึ่งแรงงานกลุ่มดังกล่าวทำงาน ผู้ชายส่วนมากจะทำงานก่อสร้าง ซึ่งได้รับผลกระทบในเรื่องของการเลือกจ้าง ส่วนผู้หญิงทำงานด้านบริการเยอะ จะกระทบเยอะกว่าเพราะทางนายจ้างโดนปิดกิจการไปทำให้พวกเขาต้องหยุดงานอยู่บ้าน

ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แรงงานกลุ่มดังกล่าวมีความเสี่ยงในการติดเชื้อฯ เนื่องจากพักอาศัยในห้องแถวและบ้านเช่าแคบ ๆ ไม่เอื้อต่อการเว้นระยะห่างระหว่างคนในครอบครัว นอกจากนี้การที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยกลางในการสื่อสาร และเข้าไม่ถึงอินเตอร์เน็ต ทำให้หลายคนยังไม่รู้ถึงแนวปฏิบัติในการป้องกันตนจากโรคโควิด-19

ล่ามชุมชน ซึ่งเป็นอาสาสมัครสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อวัดไข้แรงงานกลุ่มดังกล่าว เพื่อคัดกรองโรคเบื้องต้น หากคนใดมีไข้สูงจะมีการวัดไข้ซ้ำอีกครั้งในตอนเย็น หากไข้ยังไม่ลดจะมีการประสานงานส่งต่อยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโป่งผาต่อไป นอกจากนี้ล่ามชุมชนยังได้ทำการแปลและสื่อสารแนวปฏิบัติในการป้องกันตนเองจากโรคโควิด-19 เป็นภาษาไทใหญ่ ลั๊ว และดาระอั้ง ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่เช่าห้องแถว-บ้านเช่า ในชุมชน

โดยพี่ อาภา หน่อตา เล่าให้ฟังว่า ล่ามชุมชนรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 5 ทำงานมา 6-7 ปีแล้ว และได้การสนับสนุนโดย สสส. และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ล่ามชุมชนมีแนวคิดที่ว่า เราอยู่กับชุมชนมีหน้าที่เรื่องการสื่อสารสุขภาพเป็นหลัก ความหลากหลายของล่ามชุมชนมีมากมายที่เป็นทั้งคนชาติพันธุ์ โดยเฉาะช่วงนี้ที่เป็นโรคโควิด-19 เราพยามผลิตสื่อ และร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ทำสื่อออกมาสื่อสารกับกลุ่มคนชาติพันธุ์มากมายเพื่อให้เข้าใจไปพร้อม ๆ กับสถานการณ์ให้รู้เท่าทันและทั่วถึงสถานการณ์

ตัวแทนอาสาสมัครที่เข้ามาทำงานด้วย วิธีการทำงาน คือ กระจายสื่อความรู้เรื่องโควิด-19 ต่าง ๆ บนออนไลน์ แล้วนำสิ่งนี้ไปแปลให้พี่น้องของเขาในพื้นที่ ล่ามชุมชนเราร่วมมือกับกลุ่มแม่บ้าน ชุมชน อสม. หัวหน้าชุมชน เข้าไปประกบดูแลเดินให้ความรู้ กับกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในชุมชน จริง ๆ แล้วล่ามชุมชนมีหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย และความพิเศษในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในตัว อ.แม่สาย เพราะเป็นทางเข้าออก และมีกลุ่มคนที่เข้ามาอาศัยอยู่แบบยาวนานด้วย มีกลุ่มชาวประเทศเมียนมาร์เข้ามาด้วยเช่นกัน

กลุ่มล่ามนอกจากการลงไปสื่อสารแล้วเราได้ลงไปแจกหน้ากากอนามัย และให้ความรู้ ประธาน อสม. ก็เป็นล่ามชุมชนกับเรา มีการแปลภาษาบอกวิธี ข้อมูลข่าวสาร ต้องอธิบายว่าทำไมเราถึงต้องหยุดงาน และเราต้องใช้การเว้นระยะห่างเพื่ออะไร เราจึงต้องทำความเข้าใจในการเว้นระยะห่างกัน และเราจะทำอย่างไรให้ทำได้จริง เพราะในบริบทพื้นที่ของเค้าเป็นห้องแถวเรียงติดกัน บ้านเป็นสังกะสี เพราะฉะนั้นการเว้นระยะห่างจึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก จึงแนะนำว่าให้เขาทำความสะอาดได้มาขึ้น ดูแลป้องกันตนเอง และทำความเข้าใจด้วยว่าโรคนี้อันตรายเพียงใด ถ้าสัมผัสใกล้ชิดกัน เข้าไปเพื่อหาทางเลือกให้เค้า เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาในบริบทนั้น อาจจะต้องเพิ่มมาตรการให้มากขึ้นด้วย  สถานการณ์ตอนนี้เชียงรายก็ปิดด่านทางเข้าออกระหว่างประเทศ การกลับไปก็กลับไม่ได้ ขณะนี้มีพื้นที่อื่นอีกที่มีล่ามชุมชนแบบเรา มีทั้งเชียงของ แม่ฟ้าหลวง อ.เมือง ทางนั้นเค้าก็พยายามทำกิจกรรม และให้ความรู้เรื่องนี้ และใช้ความรู้ชุดที่เราแปลไปกระจายและบอกให้คนในชุมชนนั้น ๆ

การทำความเข้าใจคนกลุ่มชาติพันธุ์ ความยากคือ อสม.จะได้เรียนรู้ด้วยว่าเค้ามีบริบท และวัฒนธรรมแบบนี้การดำรงชีวิตเค้าเป็นแบบนี้ ให้เป็นประเด็นให้คอยแก้ไขต่อไป ถ้าเราพบเจอผู้ที่มีไข้สูงทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ คนชรา เราต้องกลับไปคอยดูแลตลอด เพื่อลดความเสี่ยง และใช้กระบวนการในการดูแลกันแบบต่อเนื่อง ในตอนนี้มีกลุ่มแรงงานที่ยังตกค้างอยู่ที่นี้ เพราะในตอนที่กำลังจะปิดด่านก็มีผู้ที่ยังเดินทางออกไม่ได้ จึงต้องมีมาตรการในการจัดการสิ่งเหล่านี้ในการช่วยเหลือกัน บางคนไปพักอาศัยบ้านญาติพี่น้องบ้าง ความน่ากังวลในตอนนี้คือเรื่องปากท้อง เพราะแรงงานตกค้างเหล่านี้ไม่มีรายได้ และไม่มีที่ไป เรื่องปัญหาปากท้องจากการสอบถามคนเหล่านั้น โรคนี้น่ากลัวอยู่แต่การไม่มีจะกินน่ากลัวกว่า คนกลุ่มนี้ก็ไม่มีบัตรประชาชนด้วย ไม่มีสัญชาติไทย เข้าถึงสิทธิต่าง ๆ ไม่ได้ในประเทศไทยทั้งด้านสุขภาพและสิทธิด้านอื่น ๆ  ดังนั้นชุมชนต้องรู้ และเก็บข้อมูลเพื่อส่งต่อไปยังกลุ่ม Ngo เพื่อหาหนทางแก้ไขต่อไป

การออกแบบการดูแลต่อจากนี้ เราจะส่งต่อการดูแลจากชุมชนในชุมชนด้วยกันเอง จะช่วยกันสอดส่องดูแลแล ช่วยกันคิดวิธีการออกแบบ ล่ามชุมชนนอกจากจะทำสิ่งนี้แล้ว ก็ยังเป็นอาสาในการดูแลสุขภาพของคนในชุมชน ทั้งด้านสิทธิในการรักษา สิทธิในการไปหาหมอ เป็นที่ปรึกษาถ้าอาการไม่ดีเราก็ส่งต่อไปยัง รพสต. ส่งไปเรื่อย ๆ หลังจากเขาออกจากโรงพยาบาล เราก็ต้องติดตามการกินยาของเขาและการดูแลอย่างต่อเนื่อง เพราะกลุ่มคนเหล่านี้อยู่ในชุมชนอยู่แล้ว เราจะรู้ประวัติของคนในชุมชนอยู่แล้วพอเรารู้เรื่องการกรอกประวัติคนไข้ก็จะง่ายดายได้เร็ว ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากได้ ทำให้เค้ารู้ถึงสิทธิคุณภาพของเขา ถ้าไม่มีเงินจะพาเขาไปที่ไหน ขอความช่วยเหลือจากใครได้บ้าง และนำเขาไปสู่ด้านบริการ เพราะฉะนั้นการที่ล่ามไปส่ง คนไข้ที่เป็นชาติพันธุ์เองเค้าจะไม่รู้สึกว่าโดดเดี่ยวและไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ แล้วเราก็ทำงานเพื่อคนในชุมชนของเราเองก็จะง่าย การทำงานเราไม่ได้ทำจบในตอนเริ่มแรก

ในตอนนี้สถานการณ์เรื่องฝุ่นควันตอนนี้ดีขึ้นเพราะมีฝนตกใน 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้อากาศดีขึ้น แต่มันทำให้คนไม่ใส่หน้ากากอนามัย เราก็ต้องเข้าไปบอกและเตือนเขาว่า ฝุ่นควันมันหายไปแต่ไวรัสไม่หายไปนะ ในตอนนี้ที่หน้ากากอนามัยหายากจึงร่วมกันกับกลุ่มแม่บ้านต่าง ๆ ผลิตหน้ากากอนามัย และแจกให้กับกลุ่มที่เปราะบางก่อน และก็แจกจ่ายไล่ลงมาตามความสำคัญ เรื่องต่าง ๆ ภัยพิบัติมันเกิดขึ้นมาก่อนแล้วเหมือนในสถานการณ์ก่อนหน้านี้เด็กติดถ้ำหลวง เราทำกระเป๋าฉุกเฉินขึ้นมา ข้างในนั้นมีอาหารแห้ง เราจึงมาปรับบูราณาการกับตอนนี้ในการกักตัวเพียงแต่เพิ่มเจลล้างมือ หน้ากากอนามัยเข้าไป สิ่งเหล่านี้นำมาปรับเปลี่ยนและมาใช้ในยามฉุกเฉิน เล่าย้อนไปว่า กระเป๋าฉุกเฉินโมเดลเริ่มมาจากเด็กติดถ้ำหลวง และทางด้าน ม.แม่ฟ้าหลวงก็คุยเรื่องนี้กันมาเรื่อย ๆ และวางแผนเมื่อพ้นเหตุการณ์นี้แล้ว จะทำอย่างไร ที่จะทำให้คนในชุมชนรู้ ต้องสร้างความเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อเป็นแนวทางในการรับมือ และมานำเครื่องมือเหล่านี้ เป็นแนวทางในการทำกระเป๋าฉุกเฉิน ถ้าเผื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นจริง ๆ เราวางแผนเอาไว้ ในสถานการณ์ต่าง ๆ จะใช้สิ่งนี้เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ เมื่อเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน เราสามารถนำเรื่องนี้ต่อยอดได้ ในส่วนของตัวล่ามชุมชนเองก็รู้สึกดีใจมาก ที่เค้าต้องรู้ว่าการดูแลตัวเองมากขึ้น วิกฤตเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหาร แต่ตามชุมชนชนบทยังสามารถแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหารกันได้ แต่เพียงว่าวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ มันแตกต่างกัน ทั้งงานศพ งานบุญ เป็นเรื่องที่ละเว้นยาก อาจจะต้องออกแบบกันว่าจะทำอย่างไรให้เข้ากับสถานการณ์นี้  

จากรายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จังหวัดเชียงรายโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย วันที่ 11 เมษายน 2563 พบว่า จังหวัดเชียงรายมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 9 คน รักษาหายแล้วครบทุกคน แม้สถานการณ์ฯจะยังไม่รุนแรง แต่หน่วยงานต่าง ๆ ก็ใช้มาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ล่ามชุมชนซึ่งเป็นอาสาสมัครในชุมชนชาติพันธุ์ ก็เป็นอีกพลังภาคประชาชนที่มีส่วนในการหยุดการระบาดของติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในอนาคตอันใกล้

ทุกอย่างที่ล่ามชุมชนทำงาน เราอยากจะให้สนับสนุน เรามีความคาดหวังว่าเค้าจะช่วยดูแลชุมชนร่วมมือกับผู้นำชุมชน มันควรจะเป็นวัฎจักรแบบนี้ คนในชุมชนเองออกมาทำเพื่อชุมชน จะเป็นสิ่งที่ยั่งยืนมากที่สุด

Live องศาเหนือ Special 15 เม.ย.63

Live องศาเหนือ Special : โควิด-19 ก้าวผ่านหื้อได้ !เย็นนี้ (15 เม.ย.63 ) "ล่ามชุมชนอาสา กับการลดการระบาดโควิด19คุยกับ : คุณอาภา หน่อตา เครือข่ายสุขภาพชาติพันธุ์และโครงการสตรีนานาชาติพันธุ์

โพสต์โดย The North องศาเหนือ เมื่อ วันพุธที่ 15 เมษายน 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ