“ดีแท้” เสียงสะท้อนขอผู้สูงอายุใน ต.โนนสะอาด อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ในวันที่มีทั้งผู้นำหมู่บ้าน ประธานชมรมผู้สูงอายุ ทีม อสม. และเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลโนนสะอาด ออกมาเดินแจกเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุและผู้พิการถึงบ้าน โดยไม่ต้องออกจากบ้านไปรอรับเงินที่ศาลาประชาคมของหมู่บ้านเหมือนที่เคยทำมา
จากสภาวะวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่มีการแพร่ระบาดขยายจากชุมชนเมืองมาถึงชุมชนชนบทมากขึ้น คณะทำงานในระดับหมู่บ้านที่มีองค์ประกอบจาก ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการหมู่บ้าน ประธานชมรมผู้สูงอายุ และทีม อสม. บ้านโนนคูณ หมู่ 11 และบ้านหนองแวง หมู่ 7 ได้ริเริ่มทดลองใช้ มาตรการชุมชนป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 โดยหารือร่วมกับเทศบาลในการปรับเปลี่ยนวิธีการแจกเบี้ยผู้สูงอายุและผู้พิการจากการนัดที่ศาลาประชาคม แล้วจัดเตรียมเจลแอลกอฮอล์ เครื่องวัดไข้ และจัดโต๊ะเก้าอี้ระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตรให้ผู้สูงอายุและผู้พิการนั่งรอเพื่อรับเบี้ย เป็นการเดินแจกเบี้ยตามบ้านแทน โดยผู้สูงอายุและผู้พิการไม่ต้องออกนอกบ้านมารวมตัวกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด – 19
วันนี้วิธีการแจกเบี้ยยังชีพในหมู่บ้านตำบลโนนสะอาดจึงมีแนวทางใหม่ตามมาตรการชุมชนฯ โดยทีมเทศบาล ทีมผู้นำหมู่บ้าน และทีมอสม. ร่วมกันออกเดินเพื่อแจกเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุและผู้พิการ ประมาณ 1,800 คนกันถึงบ้าน
สัญญา ใจกล้า ผู้ใหญ่บ้านบ้านโนนคูณ กล่าวว่า หลังจากโควิด – 19 เริ่มระบาด คณะทำงานฯ ได้เริ่มสำรวจข้อมูลเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อในหมู่บ้าน ในเบื้องต้นพบว่า ใน 97 ครัวเรือนมีกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ ผู้สูงอายุ 51 คน เป็นผู้สูงอายุที่มีโรคซ้ำซ้อน 3 คน ผู้ป่วย 54 คน เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ เบาหวาน ความดัน เส้นเลือดในสมองตีบ โรคปอดติดเชื้อ โรคหอบหืด มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี 19 คน ในขณะที่ปัจจุบันมีลูกหลานทั้งจากต่างประเทศ กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ กลับมาอยู่บ้าน 11 คน ทุกคนอยู่ในระยะกักตัวในครอบครัว 14 วัน และคาดว่าจะมีมีลูกหลานที่จะกลับบ้านเพิ่มเติมอีกประมาณ 30 คน
“ถ้าเราใช้แนวปฏิบัติตามมาตรการชุมชนก็สามารถลดความเสี่ยงให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในหมู่บ้านได้มากขึ้น การเดินแจกเบี้ยยังชีพตามบ้านในครั้งนี้จะเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติที่เป็นตัวอย่างในการออกแบบวิธีการทำงานของคณะทำงานและ อสม.ที่สามารถแจกเบี้ยยังชีพร่วมกับการตรวจสุขภาพ ความเป็นอยู่ พฤติกรรมในครัวเรือนและในชุมชน และปัญหาความจำเป็นของกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงได้เป็นประจำทุกเดือน เพื่อสามารถเฝ้าระวัง ดูแล และช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มที่มีความสูงให้มีความปลอดภัยที่สุดจนกว่าการระบาดของโรคจะคลี่คลาย” ผู้ใหญ่บ้านกล่าว
ด้านอุดร วงษ์ษาหาญ ประธานชมรมผู้สูงอายุบ้านโนนคูณ กล่าวถึงข้อดีของการเดินแจกเบี้ยยังชีพตามบ้าน นอกจากจะเป็นแนวปฏิบัติที่ลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง และอำนวยความสะดวกโดยผู้สูงอายุและผู้พิการไม่ต้องเดินทางออกมาจากบ้านเพื่อรับเบี้ยยังชีพแล้ว ยังเป็นการได้เยี่ยมเยียนผู้สูงอายุและผู้พิการกันถึงบ้าน ช่วยดูแลให้ความอบอุ่น เสริมสร้างความรักสามัคคีของคนในชุมชน โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อให้ชุมชนปลอดโรค
“ถ้าหมู่บ้านไหนพร้อม ทุกหมู่บ้านมีชมรมผู้สูงอายุอยู่แล้ว แนวปฏิบัตินี้สามารถประสานทำงานร่วมกับ อสม. เทศบาลแล้วนำไปใช้ได้เลยในทุกหมู่บ้าน” ประธานชมรมผู้สูงอายุ กล่าว
ส่วนเสียงของผู้สูงอายุและผู้พิการในวันนี้ที่ตำบลโนนสะอาด ทุกคนกล่าวถึงการทำงานร่วมกันของทีมเทศบาลและคณะทำงานในหมู่บ้านตามแนวปฏิบัติของมาตรการชุมชนในครั้งนี้ด้วยรอยยิ้ม
“ดีแท้ ไม่ต้องออกไปนอกบ้าน มีคนมาเยี่ยมถึงบ้าน”
ทั้งนี้ ทีมงานทุกคนมีความหวังว่า การริเริ่มมาตรการชุมชนป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 และแนวทางปฏิบัติในระดับหมู่บ้าน ซึ่งนำไปสู่นโยบายของเทศบาล จะทำให้ทุกคนในชุมชนสามารถปรับตัว เปลี่ยนพฤติกรรม สามารถเฝ้าระวังและปกป้องตนเองและชุนชนในสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดได้ และในระยะยาวชุมชนจะมีความสามารถในการตอบรับกับสถานการณ์ และการสร้างระบบในการตอบสนองกับวิกฤตโรคระบาดที่เข้มแข็งขึ้น