‘เงินบำรุงพิเศษ’ กับ ‘ผลประโยชน์พิเศษ’ ต้นเหตุความรุนแรงที่เหมืองทองคำจังหวัดเลย

‘เงินบำรุงพิเศษ’ กับ ‘ผลประโยชน์พิเศษ’ ต้นเหตุความรุนแรงที่เหมืองทองคำจังหวัดเลย

20142905091648.jpg

บทความโดย เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์

ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่

๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗

……………….

มีเงินสองก้อนใหญ่ ๆ อยู่ในความดูแลของอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่โดยตรง ที่จนป่านนี้ยังเป็นความลับดำมืดว่าเงินสองก้อนดังกล่าวมีจำนวนเท่าไหร่และถูกนำไปใช้อะไรบ้าง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเงินสองก้อนนั้นหรือไม่

พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๑๐ ในมาตรา ๔๔ วรรคแรก ระบุว่า “ผู้ใดประสงค์จะขอประทานบัตร ให้ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่พร้อมด้วยหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่าพบแร่หรือมีแร่ชนิดที่ประสงค์จะเปิดการทำเหมืองอยู่ในเขตคำขอนั้น และผู้ยื่นคำขอจะเสนอให้ผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐในกรณีที่ได้รับประทานบัตรตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนดด้วยก็ได้”

ส่วนมาตรา ๕๕ ระบุว่า “นอกจากค่าธรรมเนียมการออกประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตร ให้ผู้ถือประทานบัตรชั่วคราว หรือผู้ถือประทานบัตร เสียค่าธรรมเนียมเพื่อใช้เนื้อที่ในการทำเหมืองทุกปีตามจำนวนเนื้อที่ตลอดเขตเหมืองแร่ โดยต้องชำระล่วงหน้าแต่ละปี และต้องเสียเงินบำรุงพิเศษในอัตราไม่เกินร้อยละสิบของค่าภาคหลวงแร่ที่ผลิตได้จากประทานบัตรชั่วคราว หรือประทานบัตร ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เก็บรักษาเงินบำรุงพิเศษดังกล่าวไว้เพื่อจัดสรรสำหรับใช้จ่ายในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้ใช้ทำเหมืองแล้ว การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และการใช้จ่ายในการบำรุงท้องถิ่นในจังหวัดที่มีการทำเหมือง

อัตราการเสียเงินบำรุงพิเศษ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกเก็บเงินบำรุงพิเศษ รวมตลอดทั้งการจัดสรรเงินบำรุงพิเศษ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง”

ภารกิจแรก ๆ ของการเข้ามาเป็นอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ของนายปณิธาน จินดาภู คือการผลักดันให้คณะรัฐมนตรีปรับปรุงนโยบายการให้อาชญาบัตรและประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำใหม่ โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญตรงที่จะปรับส่วนแบ่งรายได้ภาครัฐจากสัมปทานเหมืองแร่ทองคำให้เพ่ิมขึ้นเป็นร้อยละ ๔๐ ถึง ๖๐ จากปัจจุบันที่ได้รับเพียงร้อยละ ๒๐ ถึง ๒๕ ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับภาคปิโตรเลียมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดยส่วนแบ่งรายได้ภาครัฐดังกล่าวจะเพิ่มในส่วนผลประโยชน์พิเศษเป็นหลัก

ดูเหมือนจะดี แต่คำถามสำคัญอยู่ตรงที่ว่าที่ผ่านมา (รวมถึงในกาลข้่างหน้าด้วย) กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ได้นำเงินผลประโยขน์พิเศษไปใช้อะไรบ้าง และภาคประชาชนโดยเฉพาะที่อาศัยอยู่ในรัศมีผลกระทบด้านต่าง ๆ จากการทำเหมืองจะสามารถตรวจสอบหรือได้รับคำชี้แจงถึงที่มาของเงินและการใช้เงินผลประโยชน์พิเศษได้หรือไม่ อย่างไร

เพราะที่ผ่านมาเงินผลประโยชน์พิเศษส่วนใหญ่ที่ กพร. รับมามักนำไปใช้เพื่อการพัฒนา ฝึกอบรม ดูงาน ดำเนินโครงการวิจัย ทุนการศึกษา แก่บุคลากรของ กพร. และเพื่อประโยชน์ทั่วไปของทางราชการในองค์กรตนเองเป็นหลัก แทบไม่ได้นำมาใช้เพื่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมีผลกระทบด้านต่าง ๆ จากการทำเหมืองเลย ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม การชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน รวมทั้งการปิดเหมืองด้วย

ส่วนเงินอีกก้อนหนึ่งยิ่งลึกลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก นั่นคือเงินบำรุงพิเศษ เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้จนถึงบัดนี้ว่า กพร. มีเงินก้อนนี้อยู่ในกระเป๋าเท่าไหร่ ใช้เพื่อประโยชน์อะไรไปแล้วบ้าง เป็นไปตามเจตนารมณ์ของเงินก้อนนี้หรือไม่ ตัวอย่างที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้เมื่อประมาณกลางปี ๒๕๕๕ คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ภายใต้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เรียกตรวจสอบหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับกรณีร้องเรียนของประชาชนเกี่ยวกับการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ฉบับใหม่ของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน โดยเป็นการขอประทานบัตรในชุมเหมืองเก่าที่ยังมีถ่านหินอยู่ในระดับลึกลงไปใต้ชุมเหมืองเดิม เพื่อต้องการนำเงินที่ขายถ่านหินลิกไนต์มาปรับสภาพและฟื้นฟูขุมเหมืองต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการขุดถ่านหินลิกไนต์ไปขายก่อนหน้านี้ ถึงแม้ภารกิจการฟื้นฟูเหมืองจะเป็นความรับผิดชอบของผู้ประกอบการโดยตรง แต่หน่วยงานรัฐต้องเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไมได้ เพราะต้องกำกับดูแลผู้ประกอบการว่าได้ปฏิบัติภารกิจครบถ้วนสมบูรณ์หรือไม่ อย่างไร แต่ กพร. กลับไม่สามารถตอบคำถามต่อคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนฯ ได้ว่าทำไมถึงไม่นำเงินบำรุงพิเศษตามมาตรา ๕๕ ของกฎหมายแร่ มาใช้เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองไปแล้ว เงินส่วนนี้ไปอยู่เสียที่ไหน ที่ผ่านมา กพร. นำเงินก้อนนี้ไปใช้อะไร?

แท้จริงแล้ว สาระสำคัญของการผลักดันให้เปลี่ยนส่วนแบ่งรายได้ภาครัฐจากสัมปทานเหมืองแร่ทองคำให้เพ่ิมขึ้นเป็นร้อยละ ๔๐ ถึง ๖๐ คือแรงกดดันจากนักลงทุนหลายรายที่รอคอยการอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำ ๑ ล้านกว่าไร่ และรอคอยการอนุมัติประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำแปลงใหม่หลายหมื่นไร่ในอนาคต (ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ติดปัญหาตรงที่เป็นพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น ๑ และชั้น ๒ ซึ่งเป็นพื้นที่อ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เพราะเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารสำคัญ จึงไม่อาจพิจารณาอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรให้โดยง่าย ต้องผ่านกระบวนการขั้นตอนมากมาย จนทำให้นักลงทุนหลายรายหงุดหงิดกับข้อกฎหมายที่ยุ่งยากของไทย) แต่เมื่อไ่ม่อาจต้านทานแรงกดดันจากนักลงทุนหลายรายได้จึงได้เสนอให้มีข้อแลกเปลี่ยน นั่นก็คือถ้าจะให้ กพร. ผลักดันให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ทองคำอีกกว่าล้านไร่ และอนุมัติประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำแปลงใหม่อีกหลายหมื่นไร่ กพร. ต้องขอส่วนแบ่งจากสัมปทานเหมืองแร่ทองคำโดยเฉพาะในส่วนที่เป็นผลประโยชน์พิเศษเพ่ิมขึ้น

ในแง่นี้ ดูเหมือนว่า กพร. มีเจตนาดีที่คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนไทย แต่คำถามสำคัญก็ยังคงวงเวียนมาที่เดิม นั่นคือ “เราจะสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายเงินบำรุงพิเศษและผลประโยชน์พิเศษที่ กพร. ครอบครองไว้ได้อย่างไรว่าได้นำไปใช้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนผู้ที่อยู่ในรัศมีผลกระทบด้านต่าง ๆ อย่างไรบ้าง ทั้งในอดีตที่ผ่านมา และที่กำลังจะได้ก้อนใหม่ในอนาคต ?

อย่างน้อยที่สุด ณ ขณะนี้ มีสองบริษัทที่ครอบครองพื้นที่อาชญาบัตรพิเศษและประทานบัตรแปลงใหญ่มาก นั่นคือ บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด และบริษัทลูกที่จดทะเบียนในชื่ออื่น ได้ยื่นขออาชญาบัตรพิเศษไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ แปลง บนเนื้อที่ประมาณ ๑ ล้านไร่ ในเขตรอยต่อ ๓ จังหวัดของพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก มาตั้งแต่ปี ๒๕๕๐ และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ได้ยื่นขอประทานบัตรไว้แล้ว ๑๐๖ แปลง บนเนื้อที่ประมาณ ๓ หมื่นกว่าไร่ ซึ่งเป์้นพื้นที่ต่อเนื่องจากเหมืองทองคำภูทับฟ้า-ภูซำป่าบอน ในเขตตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ที่มีปัญหาการนำกองกำลังแก๊งทหาร ๓๐๐ นาย เข้าไปขนแร่ในกลางดึกคืนวันที่ ๑๕ ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ด้วยการใช้ความรุนแรงกับชาวบ้านตามที่ปรากฎเป็นข่าว

ด้วยเป้าหมายการผลักดันให้เปลี่ยนส่วนแบ่งรายได้ภาครัฐจากสัมปทานเหมืองแร่ทองคำให้เพ่ิมขึ้นเป็นร้อยละ ๔๐ ถึง ๖๐ โดยนำส่วนแบ่งรายได้ภาครัฐที่จะได้เพ่ิมขึ้นมาไว้ที่ผลประโยชน์พิเศษเพื่อ กพร. จะได้บริหารเงินก้อนนี้โดยตรงนี่เอง จึงเป็นเหตุให้ กพร. ออกใบอนุญาตขนแร่ให้กับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ขนแร่ผสมระหว่างทองคำ ทองแดงและเงิน ออกไปในคืนวันที่ ๑๕ ต่อเนื่องจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ โดยไม่มาสนใจกำกับดูแล ตรวจสอบว่าบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จะจ้างกองกำลังติดอาวุธที่เป็นแก๊งทหาร ๓๐๐ ราย ใช้ความรุนแรง โหดร้าย ป่าเถื่อนอย่างไรกับประชาชน.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ