เปิดผลวิจัย คนจนเมืองอ่วมผลกระทบเศรษฐกิจจากโควิด ตกหล่นมาตรการเยียวยา แนะรัฐดันสวัสดิการพลเมือง

เปิดผลวิจัย คนจนเมืองอ่วมผลกระทบเศรษฐกิจจากโควิด ตกหล่นมาตรการเยียวยา แนะรัฐดันสวัสดิการพลเมือง

วันนี้ 13 เมษายน 2563 เครือข่ายนักวิชาการนักวิจัยจากโครงการคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง เปิดแถลงผลการวิจัยเร่งด่วน “ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อคนจนเมือง” และข้อเสนอแนะทางนโยบาย  ผ่านโปรแกรม Zoom เผยแพร่ทางเพจ   คนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19  

ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ เกริ่นนำการแถลงผลการสำรวจ “คนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19” และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลว่า ผลการสำรวจครั้งนี้เกิดขึ้นจากคณะนักวิจัยในโครงการวิจัยคนจนเมืองที่เปลี่ยนไปในสังคมเมืองที่กำลังเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นการร่วมมือโดยคณาจารย์และนักวิจัยจาก 6 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ ที่เห็นว่าสภาวะโควิดจะก่อให้เกิดผลกระทบกับสังคมไทยอย่างมากมาย เพื่อจะชี้ให้เห็นว่ามาตรการของรัฐบาลที่เข้มงวด อาทิ การปิดสถานบริการ สถานที่สาธารณะอื่นๆ หรือมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ได้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตจึงได้ทำการสำรวจผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจของโรคระบาดที่มีต่อคนจนเมืองอย่างเร่งด่วนขึ้น เพื่อจะทำความเข้าใจสถานการณ์ของคนจนเมืองในสถานการณ์วิกฤติโควิดเป็นอย่างไร และจัดทำข้อเสนอต่อแนวทางต่อรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ศ.ดร.อรรถจักร์  ระบุว่า งานศึกษานี้ได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายสลัมสี่ภาค และองค์กรเครือข่ายคนจนเมืองจากทุกภูมิภาคของไทย อาทิ กรุงเทพฯและปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา ขอนแก่น และพื้นที่อื่นๆ รวม 18 จังหวัด ดำเนินการสำรวจระหว่างวันที่ 9-12 เม.ย. การทำงานวิจัยระยะสั้นนี้เป็นพันธกิจในภาวะวิกฤติที่พี่น้องคนจนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง คณะวิจัยจึงทำงานระยะสั้นนี้เพื่อสะท้อนให้สาธารณะและรัฐบาลเห็นว่าควรต้องดำเนินการต่อไปอย่างไร

ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา นำเสนอกระบวนการศึกษาว่า ได้จัดทำรวบรวมข้อมูลผ่านการแบบสำรวจ  507  ชุด โดยกระจายไปยังผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด ชุมชนเมือง แบ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ58.78 เพศชายร้อยละ 38.86 ไม่ระบุเพศและเพศทางเลือกร้อยละ 2.37 โดยอายุเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสำรวจคือ 50 ปี กระจายใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ สำหรับอาชีพของผู้ตอบแบบสำรวจ สามารถแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มอาชีพรับจ้างรายเดือนแต่อยู่นอกระบบประกันสังคม กลุ่มอาชีพรับจ้างรายวัน กลุ่มอาชีพค้าขายแผงลอย และกลุ่มอาชีพอิสระที่ครอบคลุมงานช่าง

ข้อค้นพบสำคัญ ในงานสำรวจแบ่ง 3 เรื่องหลัก ได้แก่ หนึ่ง สภาพความเป็นอยู่และการดูแลตนเองของคนจนเมืองในสถานการณ์วิกฤติโควิด สอง ผลกระทบจากมาตรการของรัฐบาลในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด สาม การเข้าถึงมาตรการเยียวยาภาครัฐ

เผยสภาพความเป็นอยู่ ดูแลตนเองด้วยหน้ากาก แต่ที่อยู่อาศัยยากจะกักตัว

คนจนเมืองที่ตอบแบบสอบถามเกือบร้อยละ 90 บอกว่ามีหน้ากากอนามัยสวมใส่เมื่อออกบ้านทุกครั้ง โดยแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยราคาแพงด้วยการใส่หน้ากากผ้า บางครัวเรือนมีการปรับตัวตัดเย็บหน้ากากขายด้วย ดังนั้นความเข้าใจที่ว่าคนจนไม่สนใจเป็นผู้ละเลยไม่ดูแลตนเองและอาจเป็นกลุ่มเสียงของการแพร่เชื้อนั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน 

ขณะเดียวที่การพกเจลหรือแอลกอฮอล์เพื่อล้างมือเมื่ออกจากบ้านพบว่ามีเพียงร้อยละ 44.27 ที่พกทุกครั้ง ร้อยละ 29.45 พกเป็นบางครั้ง ส่วนร้อยละ 26.28 ไม่พก ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเจลหรือแอลกอฮอล์มีราคามีราคาแพงกว่าหน้ากากอนามัยจึงมีผู้ใช้น้อยกว่า

ในด้านสภาพที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง พบว่า คนจนเมืองไม่สามารถที่จะจัดสรรพื้นที่หากมีสมาชิกในครอบครัวมีความเสี่ยงในการติดเชื้อและต้องกักตนเอง ร้อยละ 43.79 ตอบว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้พื้นที่อาศัยเป็นที่กักสมาชิกในครอบครัว ร้อยละ 26.43 ตอบว่าสภาพที่อยู่อาศัยไม่พร้อมแต่สามารถดัดแปลงได้ ข้อเท็จจริงนี้ สะท้อนว่า รัฐจำเป็นต้องเข้ามาจัดการการดูแลให้การกักตนเองเป็นไปได้ หรือมีพื้นที่เหมาะสมรองรับ เพื่อไม่ให้คนที่มีความเสี่ยงนั้นแพร่เชื้อไปยังสมาชิกในครัวเรือน

มาตรการของรัฐส่งผลกระทบรายได้คนจนเมือง อาชีพไม่สามารถ Work form home ได้

ผศ.ดร.บุญเลิศ นำเสนอว่า ประเด็นนี้เป็นข้อค้นพบที่สำคัญในงานศึกษานี้กล่าวคือ ข้อมูลจากสำรวจแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มาตรการต่างๆ ของรัฐที่จำกัดกิจกรรมนอกบ้านอย่างเข้มงวด โดยไม่มีมาตรการรองรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ทำให้คนจนเมืองต่างประสบปัญหาความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจหลายด้าน

ประการแรก คนจนเมืองไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ อาทิ นายจ้างให้หยุดงานหรือเลิกจ้าง ร้อยละ 18.87 ให้ลดเวลาทำงานทำให้รายได้ลดลง ร้อยละ 18 ผู้ประกอบการอาชีพหาบเร่แผงลอยไม่สามารถค้าขายได้ร้อยละ 18.22 ส่วนกลุ่มที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถรับจ้าง รถตู้ ไม่มีผู้ว่าจ้างหรือมีลูกค้าใช้บริการน้อยลง ร้อยละ 18.44

“จากผู้ตอบแบบสำรวจ ร้อยละ 60.24 รายได้ลดลงเกือบทั้งหมด ส่วนงร้อยละ 31.21 รายได้ลดลงครึ่งนึง มีเพียงร้อยละ 8.55 เท่านั้นที่มีรายได้เท่าเดิม หมายความว่าคนจนเมืองมากกว่าร้อยละ 90 ได้รับผลกระทบด้านรายได้”

หากคำนวณเป็นรายได้ที่ลดลงของผู้ตอบแบบสำรวจ คนจนเมืองมีรายได้ลดลงเฉลี่ย ร้อยละ 70.84 จากเดิมที่รายได้ของคนจนเมืองโดยเฉลี่ยในช่วงปกติก่อนวิกฤติโควิด อยู่ที่ 13,387 ต่อเดือน ดังนั้น ในช่วงวิกฤติคนจึงสูญเสียรายได้ 9,490 บาทต่อเดือน หรือมีรายได้เพียง 3,906 บาทต่อเดือน

จากรายได้ที่ลดลงราวร้อยละ 70 ทำให้คนจนเมืองประสบความเดือดร้อนในรูปแบบต่าง ๆ ดังนี้ ไม่มีเงินชำระหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบ  คนกลุ่มนี้จำนวนหนึ่งดำรงชีพอยู่ได้จากการช่วยเหลือจากภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปที่ทาอาหารแจกจ่ายให้ผู้เดือดร้อน จำนวนไม่น้อยต้องกู้หนี้ยืมสิน บางส่วนต้องนำข้าวของไปจำนำ นอกจากนี้ยัง มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 26.05 ประสบปัญหาไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัย ซึ่งสุ่มเสี่ยงที่จะถูกเจ้าของบ้านหรือเจ้าของห้องขับไล่ ให้กลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย

สำหรับข้อเสนอให้ปรับตัวทำงานที่บ้านนั้น คนจนเมืองผู้ตอบสอบถามร้อยละ 79 ชี้ว่าอาชีพที่ทำอยู่ไม่สามารถปรับตัวมาทำงานที่บ้านได้ ข้อเท็จจริงตอกย้ำว่า คนจนเมืองเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการของรัฐ จำกัดการออกนอกบ้าน ต่างจากคนชั้นกลางหรือผู้ประกอบอาชีพอื่นที่สามารถใช้อุปกรณ์สารสนเทศทำงานที่บ้านได้

คนจนเมืองเข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยาภาครัฐ

ส่วนการเข้าถึงมาตรการเยียวยาของรัฐ ผลการสำรวจสะท้อนว่า คนจนเมืองจำนวนมากยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ ประการแรก คนจนเมืองที่ตอบสำรวจกว่าครึ่ง ร้อยละ 66.67 ลงทะเบียนในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน แต่ลงทะเบียนสำเร็จ 51.87 และลงไม่สำเร็จ 14.60 และมีคนจนเมือง 28.99 ไม่ลงทะเบียนเพราะทราบอยู่แล้วว่าตัวเองขาดคุณสมบัติ เช่น ผู้ที่ทำงานประจำและมีสิทธิจากกองทุนประกันสังคม ผู้ที่ว่างงานอยู่ก่อนแล้ว สะท้อนว่า คนจนเมืองไม่ใช่คนฉวยโอกาส เพราะเกรงว่าหากไม่มีคุณสมบัติแล้วจะมีความผิดในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีคนจนเมืองอีก 4.54 ไม่ทราบวิธีการในการลงทะเบียน

เฉพาะคนจำนวนที่ลงทะเบียนสำเร็จมีร้อยละ 21.29 ได้รับการอนุมัติว่าผ่านเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ ส่วนอีก ร้อยละ 12.93 ไม่ผ่านการพิจารณา โดยที่ร้อยละ 65.78 ของผู้ที่ลงทะเบียนขอรับสิทธิสำเร็จที่ตอบแบบสอบถามยังอยู่ระหว่างรอผลการสำรวจ สะท้อนให้เห็นว่า มาตรการเยียวยาของรัฐออกมาล่าช้า ไม่ทันการณ์กับความเดือดร้อนของคนจน

“มีกรณีป้าสองคนที่อาศัยในชุมชนแออัดใกล้ ๆ หัวลำโพง อายุ 63 และ 67 ปี ประกอบอาชีพตั้งรถเข็นขายอยู่ภายในสถานีรถไฟหัวโพง ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน เป็นต้นมา การรถไฟหยุดบริการเดินรถไฟ ป้าทั้งคู่ต้องหยุดไปโดยปริยาย และไม่มีรายได้ นอกจากนี้ยังเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลานดูแล และอีกคนต้องดูแลลูกสาวซึ่งเป็นผู้พิการป้าทั้งสองคนเดือดร้อนขนาดไม่มีเงินซื้ออาหาร ไม่มีค่าเช่าห้องจนเจ้าของบ้านออกปากที่จะไล่ออกจากห้องเช่า” ผศ.ดร.บุญเลิศ กล่าว

แนะรัฐต้องปรับวิธีคิดเปลี่ยนสงเคราะห์สู่สวัสดิการพลเมือง

รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล สรุปข้อเสนอแนะในระยะเฉพาะหน้าจากงานศึกษาว่า 1. รัฐควรปรับเปลี่ยนหลักคิดและวิธีการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในภาวะวิกฤตินี้ จากการสงเคราะห์ผู้เดือดร้อน เป็นการให้สวัสดิการถ้วนหน้า หรือเปลี่ยนวิธีการจาก “คัดคนเข้า” เป็น “คัดคนออก” กล่าวคือ แทนที่รัฐจะคัดคุณสมบัติอย่างเข้มงวดเฉพาะผู้ที่ยื่นพิสูจน์และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ รัฐควรใช้หลักคิดใหม่ว่า คนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดต่างได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐทั้งสิ้น ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ คงมีเฉพาะคนส่วนน้อยที่ไม่ได้รับผลกระทบ เช่น ข้าราชการประจำของรัฐ พนักงานประจำรายเดือนที่ไม่ถูกลดชั่วโมงการทำงานยังคงมีรายได้เท่าเดิม

“รัฐต้องยอมรับว่ามีคนตกหล่น หรือตกเกณฑ์คุณสมบัติเพราะฐานข้อมูลของรัฐเองก็ไม่ชัดเจน ไม่ครบถ้วนหรือทันสมัย อีกทั้งยังเชื่อมั่นระบบการคัดกรองของ “ปัญญาประดิษฐ์” มากเกินไป ยกตัวอย่าง สมบุญ คงคา ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค ประกอบอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง แต่เข้าเรียนโรงเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม กลับถูกระบบปัญญาประดิษฐ์เข้าใจว่าคุณสมบัติเป็นนักเรียน/นักศึกษา และตัดสิทธิในที่สุด”

รศ.สมชาย ขยายความว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2562 ประเทศไทยมีแรงงานรวม 37.5 ล้านคนเป็นแรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งคือ 20.5 ล้านคน ซึ่งก็ใกล้เคียงกับตัวเลขผู้ลงทะเบียนในโครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน หากรัฐให้การช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ก็ใช้เงินราว 300,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินเพียงครึ่งของงบประมาณที่ตั้งไว้ที่ 600,000 ล้านบาท รัฐจึงควรกระจายเงินออกไปให้กว้างขวางที่สุดเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างถ้วนหน้าและทันท่วงที มากกว่าการตั้งเกณฑ์เพื่อกีดดันคนออก ซึ่งจะทำให้คนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เทคโนโลยีตกหล่นไป

2. จากบทเรียนการจ่ายเงินช่วยเหลือในโครงการไม่ทิ้งกันที่ผ่านมา จะพบว่า ปัญหาสำคัญคือการขาดการมีส่วนของภาคประชาชน ดังนั้นในงบประมาณที่รัฐบาลจะตั้งงบประมาณต่อไปอีก 400,000 ล้านบาท สำหรับฟื้นฟูและเยียวยาเศรษฐกิจ โดยการจัดสรรผ่านหน่วยงานต่างๆ นั้น รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณส่วนนี้จำนวนหนึ่งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรชุมชน คณะกรรมการกองทุนชุมชนและหมู่บ้าน สำหรับฟื้นฟูชีวิตของคนระดับรากหญ้า ที่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนเริ่มต้นประกอบอาชีพใหม่และเข้าไม่ถึงเงินกู้ในระบบ การจัดสรรงบประมาณผ่านเครือข่ายภาคประชาชน จะทำให้เข้าถึงกลุ่มผู้เดือดร้อนจริงและเกิดการตรวจสอบกันในระดับพื้นที่

“การจัดสรรงบประมาณควรใช้กระบวนการเยียวยาและผ่านสถาบันทางสังคม จะทำให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิมากยิ่งขึ้น” 

3. เป็นข้อเสนอต่อกองทุนประกันสังคม กล่าวคือ เงินของผู้ใช้แรงงานต้องกลับคืนสู่ผู้ใช้แรงงาน คนทำงานจำนวนมากที่จ่ายเงินเข้าระบบประกันสังคมเป็นประจำ แต่ได้รับผลกระทบจากการหยุดงานของนายจ้าง ปรากฏว่ากองทุนประกันสังคมช่วยเหลือผู้ประกันตามสิทธิ์ล่าช้า การกล่าวอ้างเรื่องความจำเป็นต้องสำรองเงินตอบแทนชราภาพเป็นเรื่องของอนาคต แต่สถานการณ์ที่ผู้ประกันตนเป็นสถานการณ์เฉพาะหน้า

4. รัฐควรผ่อนปรนเปิดพื้นที่ค้าขายและการใช้พ้นที่สาธารณะอย่างมีการจัดการ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่บาดได้คลี่คลายลงและการดำเนินชีวิตของประชาชนก็ต่างตื่นตัวในการป้องกันตัวเอง ดังนั้นการเปิดพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ค้าขายอย่างมีการจัดการ ผ่านกระบวนการที่ชุมชนมีส่วนร่วม หรือมีกลไกของรัฐอย่างอสม. เข้ามาจัดการอย่างเหมาะสม จะช่วยฟื้นชีวิตทางเศรษฐกิจให้คนจนเมืองอีกครั้ง และมีความปลอดภัยด้วย

“การปิดพื้นที่ไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ทำให้คนจนเมืองจำนวนมากซึ่งไม่มีทุนในการดำรงชีวิตที่บ้านหรือทำงานที่บ้านได้ ปิดเมืองไม่ใช่การปิดตาย ประชาชนต้องหายใจได้ด้วยการดึงชุมชนประชาชนมามีส่วนร่วมกับมาตรการเหล่านี้”

5.ในช่วงภาวะวิกฤติ รัฐควรเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุคนละ 600-800 บาท เป็น 2,000 บาท เพราะครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุต่างก็ประสบภาวะฝืดเคืองในช่วงวิกฤติ การเพิ่มเงินในส่วนนี้อย่างน้อยจะช่วยแบ่งเบาภาระของครัวเรือนต่างๆ ได้”

รศ.สมชาย กล่าวสรุปว่า “มันควรมีมาตรการเฉพาะหน้าที่เสริมเบี้ยยังชีพหรือประคับประคองให้คนเปราะบางผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตินี้ไปพร้อมๆ กับคนกลุ่มอื่นได้  นี่เป็น 5 ข้อเสนอในสถานการณ์เฉพาะหน้าที่ควรรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะรับฟัง เพื่อจะปรับมาตรการและนโยบายของรัฐมีประสิทธิภาพและเข้าถึงผู้คนมากขึ้น”

ภายหลังจากการนำเสนอผลการสำรวจแล้ว คณะตัวแทนผู้ศึกษายังตอบคำถามจากผู้รับชมออนไลน์ ผู้สนใจสามารถรับชมรับฟังจากคลิปบันทึกการแถลงฯ ได้ตั้งแต่นาทีที่ 58:00 น. เป็นต้นไป มีประเด็นที่บางส่วนที่ถูกไฮไลท์ตรงนี้

ถาม-ตอบสนทนาตามประสาพลเมือง

FB Live ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อคนจนเมือง

Facebook Live การแถลงผลการสำรวจ "ผลกระทบด้านเศรษฐกิจของโควิด-19 ต่อคนจนเมือง" และข้อเสนอแนะทางนโยบาย โดย ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล และ ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชาสามารถรับฟังและแลกเปลี่ยนผ่าน Zoom ได้ตามรายละเอียดด้านล่างนี้Join Zoom Meetinghttps://us02web.zoom.us/j/85147422268?pwd=M0ZTcnhEQlV3TG8rUUZwQ2hxMEtoUT09Meeting ID: 851 4742 2268Password: 607364One tap mobile+13126266799,,85147422268#,,#,607364# US (Chicago)+13462487799,,85147422268#,,#,607364# US (Houston)Dial by your location +1 312 626 6799 US (Chicago) +1 346 248 7799 US (Houston) +1 669 900 6833 US (San Jose) +1 929 205 6099 US (New York) +1 253 215 8782 US +1 301 715 8592 USMeeting ID: 851 4742 2268Password: 607364Find your local number: https://us02web.zoom.us/u/kbKcrp11mF

โพสต์โดย คนจนเมืองในภาวะวิกฤติโควิด-19 เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน 2020

สมชาย ศิลปะปรีชากุล: การแจกเงินไม่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แต่จำเป็นต้องแจกและกระจายออกไปให้คนที่ควรได้รับอย่างกCว้างขวางที่สุด มันเป็นสิ่งที่หลายๆ ประเทศก็ดำเนินการกัน เพราะตัวระบบเศรษฐกิจตามปกติมันไม่ทำงาน ข้อเสนอเรื่องอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ จนเป็นเหมือนฉันทามติทางสังคม ข้อมูลจากการสำรวจมันชี้ให้เห็นว่าผู้คนที่อยู่ร่วมในสังคมนี้ไม่สามารถอยู่ที่บ้าน บนฐานเดิมทุนที่ตัวเองมีได้

“รัฐบาลต้องคิดถึงการบริหารจัดการงบประมาณจากส่วนงานที่ยังไม่มีความจำเป็น หรือมีความฟุ่มเฟือย เช่น การดูงาน สัมมนา หรือค่าตอบแทนที่เกินความจำเป็น ต้องถูกนำมาใช้ในช่วงนี้”

ประภาส ปิ่นตบแต่ง: การอยู่ในบ้านของคนจนหรือการตีกรอบให้ทำงานที่บ้านโดยไม่มองความหลากหลายทางสังคม จะสร้างปัญหา การปิดกั้นในการใช้พื้นที่สาธารณะโดยสิ้นเชิง หรือใช้อำนาจสั่งการ การคืนชีวิตในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่การทำมาหากินให้กับผู้คน แต่ดำเนินการในการจัดระยะห่าง สำคัญกว่าการปิดไปทั้งหมด

อรรถจักร สัตยานุรักษ์: โควิดทำให้ความเหลื่อมล้ำจะเพิ่มมากขึ้น รุนแรงมากขึ้น จากผลการศึกษาพบว่าคนจนเมืองจำนวนมากมีชีวิตอยู่ด้วยเงินกู้ ที่กำลังจะหมดลง ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เงิน 4 แสนล้านมันสร้าง productive กับคนรากหญ้าให้มากที่สุด และผลักดันเรื่องสวัสดิการพลเมือง ไม่งั้นเราจะเจอกองทัพคนจนที่รออยู่ข้างหน้า

“เราเสนอเหล่านี้ด้วยความห่วงใยรัฐและสังคม และหวังว่าจะสร้างฐานทางสังคมที่งดงาม อยากจะเรียกร้องให้รัฐ หน่วยงานต่าง ๆ ภาคประสังคมได้หยิบไปพิจารณา”

บุญเลิศ วิเศษปรีชา: คนจนหน้าใหม่และคนจนที่จนกว่าเดิม คิดถึงคนจำนวนมากที่ใช้เงินทุนหมุนเวียนรายวัน หากเขาจะกลับมาสู่การผลิตอีกครั้งเขาจำเป็นต้องทุนก้อนใหญ่ เงิน 5000 บาท เป็นขั้นตั้น เงิน 4 แสนล้านบาทมีความจำเป็นที่ทำให้เขารีสตาร์ทได้

“ตอนนี้ความคิดว่า เราควรช่วย 5,000 บาท หรือไม่ ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นการหลงประเด็น เพราะมาตรการของรัฐทำให้เขาไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ มาตรการเหล่านี้คือการขอความร่วมมือของรัฐ จึงจำเป็นต้องช่วยเหลือกับทุกคนที่ได้รับผลกระทบนี้ เห็นว่าการช่วยเหลือของภาคประชาชนเป็นสิ่งที่ดี แต่งานวิจัยนี้ต้องการจะชี้ให้เห็นการจัดสรรทรัพยากรส่วนรวมของรัฐที่ไม่ควรละเลยประเด็น”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ