13 เมษายน ตามปฏิทินล้านนา แล้ววันนี้เป็นวันสังขารล่อง ถือเป็นวันสิ้นสุดของปีเก่า คือราศีมีนย้ายเข้าราศีเมษ
แต่ปีนี้ไม่เหมือนเช่นเคย สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้รัฐบาลออกมาตรการลดการเคลื่อนย้ายของผู้คน โดยการงดจัดกิจกรรมที่มีการพบปะผู้คนจำนวนมาก และเลื่อนวันหยุดในช่วงวันสงกรานต์ ออกไป
ที่จริงการประกาศเลื่อนวันปี่ใหม่เมือง ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้เคยเลื่อนไหลไปตามทางการ แต่แท้จริงปี๋ใหม๋เมือง หรือสงกรานต์ล้านนายังคงอยู่ตามหลักคิดเดิมของล้านนา ไม่ได้เลื่อนไปไหน
เกริก อัครชิโนเรศ ผู้เชี่ยวชาญด้านล้านนาคดี พูดถึงธรรมเนียมปฏิบัติของป๋าเวณีปี๋ใหม๋เมืองของคนทางภาคเหนือ ว่าปี๋ใหม๋เมืองไม่ใช้แค่การกลับบ้าน การสาดน้ำ หรือสังสรรค์ ปี๋ใหม๋เมืองสำหรับคนล้านนา เป็นทั้งเรื่องส่วนบุคคลและเป็นเรื่องสายใยของครอบครัว ปี๋ใหม๋เมืองเราก็จะมีกิจกรรมที่ทำร่วมกันใน 3 วัน คือ สังขารล่อง, วันเนาหรือวันเน่า, วันพญาวัน(วันปีใหม่) โดยวันสังขารล่อง คนในครอบครัวก็จะทำความสะอาดเก็บกวาดภายในบ้านของต้นเอง และวันเนา ก็เป็นวันที่ทุกคนต้องสำรวมในด้านวาจาที่ต้องสุภาพ ความเชื่อเกี่ยวกับวันเนา คือ ห้ามด่า ห้ามพูดคำหยาบ หากไม่ปฏิบัติตามจะเกิดอุบัติเหตุเจ็บตัว ผู้ที่ถูกด่าก็จะอับโชคตลอดปีเช่นกัน รวมไปถึงกิจกรรมขนทรายเข้าวัด พอถึงวันปี๋ใหม๋หรือวันพญาวัน จะเป็นวันที่มีการทำกิจกรรมหลายอย่าง เช่น การเข้าวัดทำบุญ รดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่
“การคำนวณวันขึ้นปีใหม่ในแต่ละปี โหราจารย์หรือผู้รู้ด้านวัฒนธรรมล้านนาจะเป็นผู้คำนวณ และประกาศปีใหม่เมืองของปีนั้นๆ เรียกว่า ปักขะทืนล้านนา หรือหนังสือปีใหม่เมือง โดยถือเอาวันที่ราศีมีนย้ายเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกันในแต่ละปี”
โดยตามปฏิทินล้านนา วันสังขารล่อง ถือเป็นวันสิ้นสุดของปีเก่า ปีนี้ ตรงกับวันที่ 13 เมษายน 2563 ในวันนี้คนล้านนาจะตื่นแต่เช้าตรู่ จุดสะโปก หรือประทัด ยิงปืน เพื่อขับไล่เสนียด จัญไร ไหลล่องไปกับปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์ ซึ่งจะแบบรับเอาสิ่งที่ไม่ดีไม่งามในชีวิตไปเททิ้งที่มหาสมุทร การไล่สังขานต์ด้วยเสียงประทัดหรือสะโปกที่ดังแต่เช้าตรู่ จึงทำให้ทุกคนตื่นขึ้นมาเพื่อทำความสะอาดบ้านเรือน ซักที่นอน หมอนมุ้ง แล้วอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดผ่องใสสิ่งสมมุติว่าเป็นปู่สังขานต์ ย่าสังขานต์นั้น แท้จริงคือ ตัวตนของเราที่กำลังไหลล่องไป ตามวัยของสังขาร มีอายุที่มากขึ้น จึงต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ให้ดีนั้น จะต้องขว้างทิ้งเสียสิ่งเศร้าหมอง ทีมีอยู่ในกาย วาจา และใจนั่นเอง
ต่อมาวัน 14 และ15 เมษายน 2563 เป็นวันเนา หรือวันเน่า ในแง่ของโหราศาสตร์ เป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรอยู่ระหว่างราศีมีนและราศีเมษ อันเป็นวันที่ถัดจากวันสังขารล่อง แต่ในการออกเสียงแล้วทั่วไปมักเรียกวันเน่า ทำให้เกิดความคิดที่ห้ามการกระทำสิ่งที่ไม่เป็นมงคล โดยเฉพาะห้ามการด่าทอทะเลาะวิวาทกันประเพณีทางศาสนาด้วย เช่น การขนทรายเข้าวัด
วันสุดท้ายวันสำคัญ วันปี๋ใหม๋ วันพญาวัน หรือวันเถลิงศก เป็นวันเริ่มศักราชใหม่ปีนี้ตรงกับวันที่ 16 เมษายน 2563 วันนี้ป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาและมีการไป “ดำหัวผู้ใหญ่” วันนี้แต่เวลาเช้าผู้คนจะไปทำบุญที่วัด ถวายภัตตาหารหรือที่เรียกกัน“การทานขันข้าว”เป็นการทำทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ บรรพบุรุษหรือญาติมิตร บิดามารดาที่ล่วงลับไปแล้วด้วย ส่วนพระก็จะคอยนั่งรับทานขันข้าวและทำพิธีหยาดน้ำหมายทานอุทิศส่วนกุศล ไปให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการเลื่อมใสในพระบวรพุทธศาสนา และมีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ จากนั้นก็มีการ”ดำหัวผู้ใหญ่” ซึ่งการดำหัว คือการเตรียมน้ำขมิ่นส้มป่อย ของเครื่องใช้ไปมอบ เพื่อขอสุมาลาโทษ กับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ซึ่งจะไม่มีการรดน้ำ นะ แต่ผู้ที่รับจะเอามือจุ่มในน้ำขมิ้นส้มป่อย แล้วเอามาแปะไหล่หรือหัว เจ้าตัว
ปัจจุบันคนในชุมชนที่ออกทำงานในต่างพื้นที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลให้ประเพณีปี๋ใหม๋เมืองที่เป็นการพบปะญาติพี่น้องหรือคนในครอบครัวนั้น อาจจะต้องงดไปก่อนในบ้างส่วน อีกทั้งทางรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกวัยหยุดสงกรานต์ออกไป ทำให้คนในชุมชนที่ออกไปทำงานต่างพื้นที่ไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาได้ แต่ประเพณีปี๋ใหม๋เมืองของคนในชุมชนก็ยังปฏิบัติตามประเพณีเดิมต่อไป
ส่วนการจัดสงกรานต์ของหน่วยงานภาครัฐ และวันหยุดของทางราชการที่ผ่านมา ก็ส่งผลต่อการเคลื่อนของวันปี๋ใหม๋เมืองมาหลายปีแล้ว เนื่องจากวันที่ทางราชการประกาศนั้นไม่ตรงไปตามปฏิทินล้านนาหรือไม่ตรงไปตามวันปี๋ใหม๋ของทางล้านนา จึงต้องมาการปรับตัวตามวันเวลาที่ทางราชการจัดขึ้น และในปี 2563 นี้รัฐบาลได้ประกาศยกเลิกวันหยุดสงกรานต์ออกไป อาจจะเป็นโอกาสที่คนในชุมชนจะถือธรรมเนียมปฏิบัติอย่างระมัดระวัง
เมื่อปี๋ใหม่เมืองและสงกรานต์จะถูกประกาศเลื่อนแบบนี้ บางพื้นที่ก็มีการปรับตัว เช่นเราได้เห็น การตานขันข้าวเดลิเวอรี่ เมื่อเช้าวันที่ 12 เม.ย.2563 โดย พระครูโฆษิตสมณคุณ เจ้าอาวาสวัดแม่ห่าง ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า ได้เริ่มออกไปรับทานหรือรับการตานขันข้าว จากชาวบ้านศรัทธาวัดแม่ห่าง ในพื้นที่ตำบลเวียงกาหลง อำเภอเวียงป่าเป้า เพื่อให้ศรัทธาวัด ได้สืบสานตามประเพณีช่วงปี๋ใหม่เมือง หรือสงกรานต์ ที่ด้วยสถานการณ์ของการระบาดไวรัสโควิด 19 ทางกระทรวงวัฒนธรรม ได้ออกประกาศงดกิจกรรมการรวมตัวกัน ทางเจ้าอาวาสวัด จึงได้ออกแบบ “ตานขันข้าวเดลิเวอรี่” คือไปรับทานถึงหน้าบ้านศรัทธาญาตโยม เพื่อลดปัญหาการชุมนุมของคนจำนวนมาก หลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อ จึงประยุกต์ใช้วิธีการเดินสายแก่ญาติโยม
โดย”ตานขันข้าวเดลิเวอรี่ “พระครูโฆษิตสมณคุณ เจ้าอาวาสวัดแม่ห่าง ท่านกำหนดจะดำเนินต่อไปจนถึงวันที่ 16 เมษายน 63 ส่วนข้าวของที่ได้ ท่านก็ได้บริจาคให้กับเจ้าหน้าที่ ที่ปฎิบัติหน้าที่ ที่ด่านตรวจ คัดกรองอำเภอเวียงป่าเป้า
และอีกหนึ่งพื้นที่ ทีมสื่อพลเมืองคุณสร้อยแก้ว คำมาลา รายงานจาก ตำบลหารแก้ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ บอกว่า ประเพณีปี๋ใหม่เมืองของคนล้านนา ปกติคนเมืองเหนือจะพากันเข้าวัดทำบุญในวันพญาวัน เพื่อเป็นสิริมงคลเริ่มต้นปีใหม่ แต่เนื่องจากปีนี้สถานการณ์ของโรคโควิด19 ทำให้ต้องงดทุกกิจกรรมที่มีการชุมนุมของผู้คนจำนวนมาก จึงมีการจัดวันให้คนทยอยมาทำบุญ โดยยึดหลักของ Social distancing
หลายหมู่บ้านจึงได้เริ่มทยอยมาทำบุญตานขันข้าว หรือทานขันข้าว ซึ่งเป็นการนำสำรับอาหารไปถวายพระหรือผู้ใหญ่ที่ตนนับถือ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลถึงบุพการี หรือบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เพื่อแสดงถึงการรำลึกคุณผู้ให้กำเนิด และเป็นสิริมงคลในการเริ่มต้นปีใหม่ของคนล้านนา ซึ่งเริ่มกันมาตั้งแต่ 10 เมษายน ไปจนถึง 16 เมษายน 2563 เพื่อไม่ให้ไปแออัดทำบุญในวันเดียวกันทั้งหมด