‘คณะอนุกรรมการวิศวกรรมสถานแหล่งน้ำ’ คัดค้านการพิจารณาเห็นชอบรายงาน EHIA เขื่อนแม่วงก์

‘คณะอนุกรรมการวิศวกรรมสถานแหล่งน้ำ’ คัดค้านการพิจารณาเห็นชอบรายงาน EHIA เขื่อนแม่วงก์

18 พฤศจิกายน 2557 – คณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. ออกแถลงการณ์คัดค้านการพิจารณาเห็นชอบรายงาน EHIA เขื่อนแม่วงก์ และเรียกร้องให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน (คชก.) ที่กำลังจะพิจารณา ได้รับฟังข้อคิดเห็นต่างๆให้รอบด้าน ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ มุ่งนำเสนอเฉพาะความจำเป็นที่ต้องมีเขื่อนเป็นหลัก แต่ขาดการพิจารณาและศึกษาถึงทางเลือกการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการ โดยเนื้อหาในแถลงการณ์มีรายละเอียดดังนี้

20141811162053.jpg

แถลงการณ์คณะอนุกรรมการวิศวกรรมสถานแหล่งน้ำ วสท.
เรื่อง คัดค้านการพิจารณาเห็นชอบรายงาน EHIA เขื่อนแม่วงก์

ตามที่มีกระแสข่าวเกี่ยวกับความพยายามผลักดันให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน (คชก) พิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนแม่วงก์ ผ่านความเห็นชอบรายงานฯ เพื่อให้เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์นั้น คณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการด้านวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ และแหล่งน้ำจากหลากหลายสถาบัน ขอคัดค้านความพยายามดังกล่าว เนื่องจากรายงานการศึกษาฯ ฉบับนี้มีความบกพร่องอย่างกระจ่างชัด กล่าวคือ 

1. แม้ว่าได้มีการศึกษารายละเอียดต่างๆที่ปรากฏในรายงานฯ ฉบับนี้มีเวลานานแต่การปรับแก้ฯ ในส่วนต่างๆ ที่มีความสำคัญยังไม่รอบด้าน ไม่ครบถ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนการวิเคราะห์ทางเลือกของโครงการเพื่อหาทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดนั้น ยังไม่ถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ โดยมีการนำเสนอเฉพาะความจำเป็นที่ต้องมีเขื่อนเป็นหลัก แต่ขาดการพิจารณาและศึกษาถึงทางเลือกการบริหารจัดการในเชิงบูรณาการซึ่งใช้มาตรการหลายอย่างประกอบกัน เช่น การพัฒนาสระน้ำร่วมกับฝาย หรือการสร้างเขื่อนความจุขนาดปานกลางที่มีผลกระทบต่อพื้นที่ป่าอุทยานน้อยกว่า เป็นต้น อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของการแก้ปัญหาและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติแบบบูรณาการ

2. การระบุปัญหาการขาดแคลนน้ำยังขาดความชัดเจน ทั้งนี้ จากการสำรวจภาคสนามพบว่า การขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง เกิดขึ้นเฉพาะเพียงบางบริเวณเท่านั้น ซึ่งควรมีการประเมินและหาทางออกว่า หากจะแก้ปัญหาเร่งด่วนในบริเวณนั้นๆ ควรจะดำเนินการอย่างไร มีทางเลือกอื่นซึ่งไม่ได้พิจารณา (ตามกล่าวแล้วในข้อที่ 1.) และควรวิเคราะห์เปรียบเทียบอย่างไม่ลำเอียงอย่างไรบ้าง 

3. ตามที่มีการกล่าวอ้างถึงประโยชน์ของการสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น จากการวิเคราะห์จากนักวิชาการจากหลายสถาบัน เป็นที่ยอมรับแล้วว่า การสร้างเขื่อน ไม่มีนัยสำคัญต่อการป้องกันน้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง สำหรับในส่วนของปัญหาน้ำท่วมในเขตอำเภอลาดยาวนั้นมีข้อมูลเชิงประจักษ์ว่าเป็นปัญหาเฉพาะถิ่น ที่เกิดจากการขาดการบริหารจัดการระบบระบายน้ำที่ถูกต้องในพื้นที่บริเวณนั้น สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องมีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ 

4. จากการตรวจสอบของผู้ทรงคุณวุฒิด้านบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโครงการเขื่อนแม่วงก์จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการเฉพาะด้าน (3 ด้าน) คือ ด้านทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ด้านการบริหารจัดการน้ำ และด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ซึ่งแต่งตั้งโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเอง เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม  2556 ได้ให้ความเห็นอย่างชัดเจนว่า การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ อาจก่อให้เกิดผลกระทบในหลายๆด้านในระดับสูง ที่ไม่สามารถกำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ จึงสมควรให้ยกเลิกโครงการ

อย่างไรก็ตาม ความเห็นนี้รวมถึงข้อสังเกตของความไม่ครบถ้วน ไม่รอบด้าน และไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการในประเด็นการศึกษาด้านอื่นๆ ไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในขั้นตอนการให้ความเห็นชอบต่อรายงานการศึกษาฯ ฉบับที่กำลังมีความพยามจะผลักดันอยู่นี้

คณะอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. จึงขอคัดค้านการพิจารณาเห็นชอบรายงาน EHIA เขื่อนแม่วงก์ฉบับนี้ และเรียกร้องให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงาน (คชก.) ที่กำลังจะพิจารณา ได้รับฟังข้อคิดเห็นต่างๆให้รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นที่มีขอขัดแย้งเป็นวงกว้างอยู่ในสังคม ซึ่งแสดงถึงความไม่เหมาะสมโดยเบื้องต้ของโครงการฯ นี้

อนึ่ง คชก. ควรตระหนักถึงการใช้อำนาจหน้าที่ ในการพิจารณารายงาน EHIA ของท่าน ว่ามีความเหมาะสม หรือถูกต้องตามหลักวิชาการในการบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติหรือไม่ ซึ่งการตัดสินใจที่ผิดพลาดของท่านอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งของสังคมเป็นวงกว้างและส่งผลกระทบในระดับที่ท่านไม่อาจรับผิดชอบได้ 

18 พฤศจิกายน 2557

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ