เดินจ่ายกาดข่วงอินทรีย์เชียงใหม่ในสมัยของโควิด

เดินจ่ายกาดข่วงอินทรีย์เชียงใหม่ในสมัยของโควิด

“เงินทองคือมายา ไม่มีข้าวผักปลาอินทรีย์คือลำบากของจริง”

มิตรสหายสายออร์แกนิกบ่นออกมาดัง ๆ เมื่อรู้ว่าตลาดอินทรีย์ใกล้บ้าน อยู่ในขอบข่ายสถานที่พึงระวังการแพร่ระบาดของโควิด

นับตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคมเป็นต้นมา ด้วยคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจ.เชียงใหม่ ฉบับที่ 2/2563 ทำให้สถานศึกษา สถานประกอบการและตลาดหรือสถานที่ที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด19 ต้องปิดและปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน สำหรับข่วงเกษตรอินทรีย์ เชียงใหม่ ณ ริมถนนเลียบคลองชลประทานระหว่างเส้นทางเชียงใหม่-แม่เหียะ พื้นที่อาหารและการเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ จำหน่ายสินค้าอาหารอินทรีย์-พืชผักผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าการเกษตร ที่คนปลูก คนรับประทานสบายใจ ก็ต้องปิดการแลกเปลี่ยนทั้งสินค้าและความรู้ลงไปทันที 

ผ่านไปประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ วันพฤหัสที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ข่วงเกษตรอินทรีย์ เชียงใหม่ก็กลับมาเปิดบริการอีกครั้งนึง

เกียรติศักดิ์ ฉัตรดี หน่วยจัดการกลางสินค้าเกษตรอินททรีย์จังหวัดเชียง โดยสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน (ISAC) ที่เข้าไปส่งเสริมและช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์ และเป็นหน่วยเชื่อมเกษตรกรกับผู้บริโภคในจ.เชียงใหม่เป็นหลัก เล่าให้ฟังว่า สถานการณ์โควิดที่ผ่านมา กระทบกับภาคเกษตรกรทำให้รายได้ลดลงอย่างแน่นอน แต่สำหรับเกษตรกรที่ทำเรื่องเกษตรอินทรีย์อาจไม่รุนแรงมาก เพราะมีการตั้งรับและลดค่าใช้จ่าย บางกลุ่มจะปลูกไว้กินเหลือจึงเอามาขาย หรือปลูกพืชที่มีความต้องการสูง ส่วนผู้บริโภคคงจะไม่ได้ซื้อผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ตามปกติ ไม่ได้กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ

“การรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ผ่านการสื่อสารผ่านเพจ “ข่วงเกษตรอินทรีย์” ที่จะเป็นพื้นที่กลางในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต หากผู้บริโภคต้องการอะไรก็สามารถแจ้งหรือสอบถามมายังหน่วยจัดกลางได้ เช่น ต้องการผักชนิดไหน ปริมาณเท่าใด หน่วยจัดการกลางฯ ก็จะทำหน้าที่ประสานให้ผู้ผลิตกับผู้บริโภค โดยมีการนัดหมายจุดรับส่งของ เพื่อลดการเดินทางหรือการเข้ามาชุมนุมกัน”

เกียรติศักดิ์ เล่าอีกว่า อยากให้ผู้บริโภคใช้เวลาเข้ามาเพจนี้เพื่อเชื่อมโยงกับผู้ผลิต ดูพื้นที่ดูแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร ผู้บริโภคจะไม่ใช่แค่ผู้ซื้อ แต่เพจจะเป็นอีกพื้นที่หนึ่งเชื่อมโยงสินค้า ความรู้ ประสบการณ์มาแบ่งปันกันจนเป็นชุมชนใหม่ของเพื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนในรูปแบบออนไลน์ เพิ่มเติมจากตลาดสดที่เป็นที่พูดคุยของพี่น้องที่รักสุขภาพและคนที่ทำเกษตรอินทรีย์

“ผมเชื่อว่าช่องทางนี้จะทำให้เกิดช่องทางและพื้นที่ในการพัฒนาอาหารที่ดีปลอดภัยต่อสุขภาพและการผลิตอินทรีย์ในจังหวัดเชียงใหม่”

“ข่วงเกษตรอินทรีย์ เพิ่งกลับมาเปิดวันแรกเมื่อวันที่ 2 เม.ย. พ่อกาด แม่กาด (พ่อค้าแม่ค้า) ลดลงไปประมาณครึ่งนึง 50% จากปกติ เนื่องจากเกษตรกรส่วนหนึ่งสามารถกระจายสินค้าหรือขายภายในหมู่บ้านของตัวเองได้ ขณะที่จำนวนผู้บริโภคที่นับจากจำนวนสติกเกอร์ที่ติดตรงจุดวัดอุณหภูมิมีกว่า 400 คน จากปกติที่ไม่ต่ำกว่า 600 คน หรือลดลงประมาณ 25% มันจึงเป็นสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ผลิตว่าผู้บริโภคมีความต้องการ และทางข่วงเกษตรอินทรีย์ก็มีมาตรการคัดกรองผู้ที่เข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนภายในข่วงเกษตรอินทรีย์แบบ 100% เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของโควิด” เกียรติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้ายในช่วงเวลาไม่นานก่อนจะถึงเวลาปิดตลาดข่วงอินทรีย์

วันนี้ (26/3/63) ข่วงเกษตรอินทรีย์เชียงใหม่ ได้ดำเนินการล้างทำความสะอาดพื้นที่ พร้อมกับฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อโรค…

โพสต์โดย ข่วงเกษตรอินทรีย์ เชียงใหม่ เมื่อ วันพุธที่ 25 มีนาคม 2020

ลุงช่วย เรายึดตลาดที่นี่เป็นที่ระบายสินค้าให้ผู้บริโภค เราก็ลำบากใจเหมือนกันเพราะไม่รู้จะไปขายที่ไหน  อีกอย่างผู้บริโภคก็หาซื้อสินค้าลำบาก ถ้าขายที่นี่ไม่ได้ก็คงขายออนไลน์หรือขายในชุมชนที่กินอินทรีย์แต่หลายชุมชนก็มีการปลูกผักเหล่านี้กินเหมือนอัน ในระยะยาวก็เปลี่ยนจากปลูกผักพวกล้มลุก ไปเป็นผักที่ยืดอายุได้ เช่น มะเขือยาว พริก แตงกวา ถั่วฝักยาว ที่มันพอยือดอายุได้ ถ้ามันยาวเป็นปี เราก็ยังสามารถอยู่ในไร่ในสวนได้ แต่ผู้บริโภคนี้แหละที่น่าเป็นห่วงมากกว่า

ป้าศรี มาขายที่ตลาดนี้ลูกหลานก็ไม่อยากให้มา แต่เฮาอยู่เฉยๆ ไม่ได้ รายจ่ายมันจะเกิน ถ้าข่วงอินทรีย์ต้องปิดก็จะเก็บเอาไว้กินเอง ขายส่งให้คนรับต่อในหมู่บ้าน ก็มีคนสั่งน้ำพริกเป็นโลๆ ช่วงนี้มันแล้งก็ปลูกๆ พอกิน เท่าที่มีน้ำรด ภัยแล้งน่าจะหนักกว่าโควิด ก็ปล่อยไปตามมีตามเกิดก็แบ่งกันใช้น้ำไป อย่างเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ที่ลงก็ตายไปหมด เพราะไม่มีน้ำรด

นานาทัศนะ พ่อกาด-แม่กาด ผลกระทบและการปรับตัว

ป้ารอง กลุ่มเต้าเจี้ยวอินทรีย์ “ผลกระทบกับเกษตรกรก็มีบ้าง แต่เรายังมีกินอยู่ เป็นห่วงแต่คนอื่นที่ไม่ได้เพาะปลูก ลูกหลานก็เป็นห่วงบ้างแต่เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ อยู่ที่ไหนก็อันตราย ยิ่งชุมชนมีทั้งงานหลวงงานราษฎร์ แต่ข่วงเกษตรอินทรีย์มันเป็นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทกว่าสถานที่ปิด ถึงร้อนก็ต้องใส่หน้ากากอนามัยขายของ”

ฝน ขนมไทยแม่ทา ครัวผักกาดฮ่องเต้ “โควิดกระทบในแง่รายได้ลดลง ตลาดออแกนิกก็ปิดทั้งหมด เราก็ปรับตัวเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เช่น การขายออนไลน์บ้างแต่มันก็ยังไม่ดีมาก เพราะว่าตัวขนมไทยมันเก็บไม่ได้นาน แต่การอยู่บ้านก็ทำให้ได้พัฒนาทั้งการปรับปรุงคุณภาพของสินค้าให้ดีขึ้น หรือปรับปรุงสวนของเราให้ดีขั้น ถ้ามันนานกว่านี้ก็คิดว่าคงพออยู่ได้ เพราะเรามีที่ดินทำกิน แต่การทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีสินค้าที่มีคุณภาพก็เป็นโจทย์ที่ต้องคิดต่อ”

เพิก เกษตรกรจากบ้านแม่ทา “ผลกระทบจากโควิด คิดว่ากระทบเหมือนกันทั้งปากท้อง วิธีรับมือตอนนี้ทุกคนก็พยายามจะแก้ไขปัญหา ในส่วนของข่วงเองก็มีการวัดไข้ ใส่แมส สวมถุงมือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสเงินโดยตรง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ แทนที่จะเข้ามาในเมืองหลาย ๆ คน ก็ส่งตัวแทนเข้ามารวบรวมผลิตภัณฑ์ เข้ามาขายในเมือง เป็นจุดเริ่มต้นการปรับตัวของเกษตรกรกับอนาคต ที่น่าสนใจ”

คนทำเกษตรอินทรีย์รุ่นใหม่ “ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น การรับมือในอนาคต คือ การสร้างแหล่งอาหารให้มีพอกินพอใช้ในครอบครัว เราสามารถปลูกผักเลี้ยงไก่ เพื่อกินไข่ หรือปลูกต้นไม้สร้างแหล่งอาหาร ในอนาคตข้างหน้าคนก็สนใจมาทำเกษตรมากขึ้น เพราะการตื่นตัวรับมือโควิดที่ไม่สามารถออกจากบ้านไปหาอาหารที่ปลอดภัยได้ ส่วนช่องทางการขายสิ้นค้าก็จะมีทั้งออนไลน์และไปยังตลาดที่ไม่ไกลจากบ้านมาก อาทิตย์ละ 1-2 วัน”

อนึ่ง ข่วงอินทรีย์เชียงใหม่ เป็นชุมชนแลกเปลี่ยนสินค้าและผลิตภัณฑ์จากเกษตรอินทรีย์ เปิดให้บริการในช่วงของโควิดเป็นประจำทุกอังคาร และพฤหัส ตั้งแต่เวลา 14:00 – 18:00 น. สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

https://www.facebook.com/khuangkasetinsee.chiangmai/

เอื้อเฟื้อภาพถ่ายและบทสัมภาษณ์: อรภัคค รัฐผาไท

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ