ชาติพันธุ์ 5 พื้นที่สะท้อนภูมิปัญญาดับไฟป่าตามองค์ความรู้ของชุมชน แนะรัฐหากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบดอยสุเทพ ต้องไม่ผูกขาดการจัดการทรัพยากร กระจายอำนาจสู่ชุมชน ให้ชุมชนจัดการดูแลพื้นที่ตามความเป็นจริง
ชาติพันธุ์ 5 พื้นที่สะท้อนภูมิปัญญาดับไฟป่าตามองค์ความรู้ของชุมชน แนะรัฐหากไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบดอยสุเทพ ต้องไม่ผูกขาดการจัดการทรัพยากร กระจายอำนาจสู่ชุมชน ให้ชุมชนจัดการดูแลพื้นที่ตามความเป็นจริง
วันนี้ (4 เมษายน 2562) สภาลมหายใจ จังหวัดเชียงใหม่ จัดเวทีเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “ชุมชนชาติพันธุ์กับการจัดการฝุ่นควัน ในสถานการณ์โควิด” โดยมีผู้แทนชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ 5 พื้นที่ร่วมสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะ ได้แก่ ชุมชนบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ชุมชนบ้านห้วยหินลาด อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย, ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน, ชุมชนบ้านป่าคา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ และชุมชนบ้านกอก อ.เชียงกลาง จ.น่าน ซึ่งทั้งหมดเน้นย้ำว่าป่าแต่ละประเภทแตกต่างกัน ไม่สามารถจัดการด้วยการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จและออกนโยบายแบบเดียวใช้ทั้งประเทศได้
นายบัญชา มุแฮ ชุมชนดอยช้างป่าแป๋ อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เล่าว่า ในชุมชนของตนมีทั้งวิธีการดับไฟตามภูมิปัญญาดั้งเดิมและภูมิปัญญาสมัยใหม่ ลาดตระเวนพื้นที่พร้อมเก็บหาของป่าและเลี้ยงสัตว์ไปด้วย รวมทั้งได้รับแรงสนับสนุนจากเยาวชนเป็นม้าเร็วเข้าไปดำเนินการในพื้นที่ ปัจจุบันชุมชนดูแลพื้นที่ป่า 21,034 ไร่ ทำแนวกันไฟ 30 กิโลเมตร
“ทุกวันนี้ชาวบ้านจะเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ไปหาของป่าอยู่แล้ว เขาก็จะไปสังเกตว่ามีไฟขึ้นตรงไหน พอมีไฟขึ้นเขาก็จะบอกกล่าวรายงาน ส่วนเยาวชนเราใช้โดรนบินขึ้นไปดูว่ามีควันไฟตรงไหน ถ้าทราบพิกัดแล้วน้องเยาวชนจะเป็นม้าเร็วไปสำรวจในพื้นที่ว่าอยู่ห่างจากแนวกันไฟแค่ไหน อยู่ในเขตแนวกันไฟชั้นนอกหรือชั้นใน อีกวิธีการหนึ่งก็คือเราใช้วิทยุสื่อสารที่ได้ผลมาก รวดเร็วในการสื่อสาร อีกอันคือเรื่องของน้ำ การดับไฟเราใช้น้ำในถัง 200 ลิตรที่ไปตั้ง ขุดสระน้ำที่เป็นตาน้ำเล็กๆ หลังจากนั้นพวกเราก็ใช้วิธีการลาดตระเวน เผาชน เฝ้าระวัง ทำแนวกันไฟแนวดำ” นายบัญชากล่าว
ด้าน นายชัยธวัช จอมติ ชุมชนบ้านห้วยหินลาด อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กล่าวว่า วิธีการ “เผาชน” เป็นวิธีการที่จำเป็นมากหากไหม้ในพื้นที่ล่อแหลมลาดชัน ส่วนในพื้นที่ราบจะใช้วิธีการจัดขบวนเข้าไปดับ ในปีนี้แม้จะมีพื้นที่เสียหายบ้าง แต่ถือว่ารักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้ได้ โดยชุมชนดูแลรักษาผืนป่าอยู่ประมาณ 3 หมื่นไร่
“วิธีการของเราคือ หนึ่ง เราจะประเมินพื้นที่ก่อน ถ้าเป็นพื้นที่ล่อแหลมที่ลาดชัน มีความเสี่ยง เราจะใช้วิธีการเผาชน วิธีคือทำแนวกันไฟไว้ แล้วเผาชน สละส่วนน้อยเพื่อปกป้องส่วนใหญ่ เราจะมีเครื่องมือคือน้ำ เครื่องเป่าลม พร้า มีด ค่อยๆ จุดไฟเพื่อไปชนกับไฟที่เข้ามา เหนื่อยน้อยสุด ใช้แรงงานน้อยสุด และได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ หลังจากนั้นต้องรอให้ไฟดับเพื่อป้องกันกิ่งไม้ ตอไม้ที่จะกลิ้งลงไปไหม้ต่อ ถ้าไหม้ในพื้นที่ที่ไม่เสี่ยงมากเช่นที่ราบ เราก็จะเข้าไปเผชิญหน้ากับไฟโดยให้น้ำนำหน้า ใช้มีดแผ้วถาง ตามด้วยคราดและเครื่องเป่าลม จัดเป็นขบวน ตั้งแต่ดับไฟมายังไม่เคยสูญเสียถึงชีวิต” ชาวกะเหรี่ยงจากห้วยหินลาดอธิบาย
เช่นเดียวกับ นางรินรดา สุต๋า ผู้ใหญ่บ้านบ้านกอก อ.เชียงกลาง จ.น่าน ที่กล่าวว่าวิธีการเผาชนเป็นวิธีที่ได้ผลที่สุดหากเกิดไฟป่าในพื้นที่ล่อแหลมลาดชัน โดยสามารถรักษาผืนป่าไว้ได้ประมาณ 1 หมื่นไร่
“เวลามีไฟมา ชุมชนจะแบ่งกำลังกันไป ผู้ชายไปตอนกลางคืน ผู้หญิงไปตอนกลางวัน ส่วนวิธีในการควบคุมไฟคือมีเวรยามไฟเฝ้า ถ้าไฟขึ้นตรงไหนใช้โทรศัพท์สื่อสาร มีคณะกรรมการดูแล ในพื้นที่ลาดชันที่ไปลำบากชาวบ้านก็จะทำการเผาชนเหมือนกัน แต่ต้องดูเรื่องควันไฟ ป้องกันคนที่เป็นโรคประจำตัวด้วย จะไม่ให้เขาไป ยกเว้นคนที่แข็งแรงที่ขึ้นดอยลงดอยได้ พื้นที่ที่ดับง่ายๆ คือพื้นที่ไม้เล็กๆ แต่พื้นที่ไม้ใหญ่ต้องใช้เวลาหลายวัน การแก้ปัญหาคือ เวลาใช้น้ำมันลำบาก เดินทางลำบาก สิ่งที่ชุมชนทำคือทำแนวกันไฟกันไว้ไกลๆ แล้วเผาชน” นางรินรดากล่าว
นายพฤ โอ่โดเชา บ้านป่าคา อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ที่ดูแลผืนป่าจิตวิญญาณกว่า 24,000 ไร่ เสนอว่า การจัดการไฟป่าต้องจัดการตามความเป็นจริงของสภาพพื้นที่ โดยต้องให้ชุมชนเป็นหลักในการจัดการ แล้วเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสนับสนุน ไม่เช่นนั้นจะเกิดเหตุการณ์ที่ไฟไหม้รุนแรงจนไม่สามารถควบคุมได้ขึ้นอีก
“แต่ละที่เราจะจัดการอย่างไรต้องไปถามชาวบ้าน ชาวบ้านเขารู้ แล้วเปิดให้ชาวบ้านใช้วิธีการที่ทำให้ไฟไหม้เบาที่สุด ต้องอนุโลมบ้างให้มีการชิงเผา เพราะถ้าทับถมกันมันจะไหม้อย่างแรงเหมือนออสเตรเลีย อย่างเจ้าหน้าที่รัฐจะดูแลเองไม่ได้ ต้องมีประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม อย่างบ้านเราคือให้เราดูแลเอง แล้วเจ้าหน้าที่มาสนับสนุน หรือพื้นที่ไหนเข้าหน้าที่กับชาวบ้านร่วมกันได้ก็โอเค แต่มันมีกฎหมายและข้อบังคับที่ไม่เปิดให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม หรืองบประมาณที่เอาไปใช้กันเองกินกันเอง เราก็ต้องหาทุนเอง นอกจากนั้นคืออยากเปิดโอกาสให้คนในเมืองที่อยากให้อากาศสะอาดมาเรียนรู้ในพื้นที่ว่าไฟมันจัดการอย่างไร ให้เข้าใจข้อเท็จจริงแล้วนำออกไปสื่อสาร” ชาวกะเหรี่ยงแห่งบ้านป่าคาเสนอ
ด้าน นายสมชาติ รักษ์สองพลู ผู้ใหญ่บ้านบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เสนอแนะว่า การอนุรักษ์จนไม่ยอมให้เกิดไฟขึ้นในพื้นที่ป่าเลย หรือที่เรียกว่า Zero Burning อาจไม่ใช่คำตอบ เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อเพลิงมาก ทำให้ไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรงและไม่สามารถควบคุมได้ จึงเสนอว่าในพื้นที่ใดที่เป็นป่าผลัดใบควรชิงเผาเป็นระยะๆ และสังคมควรเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตคนและป่าอีก
ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นคำถามว่า สภาพพื้นที่แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน อย่างบ้านผมเป็นป่าดิบแล้ง ป่าเบญจพรรณ สภาพเป็นป่าไผ่ การสะสมของเชื้อเพลิงมันเร็วมาก ถึงแม้ชาวบ้านจะเอาอยู่ แต่ในอนาคตผมตอบไม่ได้ว่าจะเอาอยู่ไหม เพราะการอนุรักษ์ไม่ให้เกิดหมอกควันของชาวบ้าน ไม่ให้ไฟเข้า สุดท้ายมันจะเข้ามาทิ่มแทงเรา ในเรื่องของต้นไม้และชีวิต พ่อผมบอกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนมันก็เกิด แต่ไฟไม่เกิดแรงแบบนี้ เพราะเราชิงเผาเป็นช่วงๆ เพราะมันเป็นเชื้อเพลิง เราต้องมาทบทวนแล้วครับ ไม่งั้นจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้ในอนาคตแน่นอน” นายสมชาติย้ำ
นายประยงค์ ดอกลำใย ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) เสนอว่า รัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องอำนาจการจัดการทรัพยากร และต้องแก้ไขกฎหมายและนโยบายที่ไม่เป็นธรรมเพื่อให้ชุมชนมีสิทธิในการดูแลจัดการอย่างแท้จริง รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณที่จำเป็น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการไฟของชุมชนด้วย
“ถ้าต้องเสียงบประมาณ รัฐต้องเปลี่ยนวิธีคิด กระจายอำนาจมาที่ อบต. แล้วมาสนับสนุนให้ชุมชนดูแลจัดการไฟป่า แล้วชุมชนไหนที่มีความพร้อมในท้องถิ่นนั้นก็มาใช้งบประมาณตรงนี้ได้ อันนี้เป็นเรื่องนโยบาย ส่วนต่อมาคือกฎหมาย อย่างน้อยพี่น้องจากบ้านกลาง หินลาดใน ได้สะท้อนชัดเจนแล้วว่าเมื่อชุมชนเข้าไปดูแลจัดการแล้ว เขาต้องมีสิทธิในการใช้ประโยชน์ และมีอำนาจในการควบคุมดูแลพื้นที่ด้วย ตอนนี้สิทธิไม่มีเลย ซึ่งจะเชื่อมโยงกับ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงกระบวนการสำรวจ 240 วัน อันนี้แน่นอนว่าตัว พ.ร.บ. นี้ยังเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะได้มาซึ่งการกระจายสิทธิ อำนาจ และงบประมาณ สุดท้ายอยากฝากสังคมและทุกหน่วยงาน แทนที่เราจะรองบประมาณจากรัฐ เท่าที่ฟังมาชุมชนต้องการแค่ 3 อย่าง หนึ่งคือวิทยุสื่อสาร สองคือเครื่องดับไฟ ซึ่งราคาไม่สูงมากนัก สามคืออาหาร สามเรื่องนี้มันไม่เหลือบ่ากว่าแรง ถ้าเราจะร่วมมือกันระดมอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ทำให้ชุมชนมีประสิทธิภาพในการดูแลไฟป่าเพิ่มมากขึ้น ไม่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ” นายประยงค์เสนอ
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจ จังหวัดเชียงใหม่ มองว่า ในสถานการณ์วิกฤตทั้งเรื่อง PM2.5 และ COVID-19 นี้ รัฐควรเปิดโอกาสให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมทั้งสังคมเมืองต้องประบทัศนคติที่ยังไม่ยอมรับองค์ความรู้และภูมิปัญญาของชนบท เพราะนี่คือทางรอดเดียวหากต้องการแก้ไขปัญหาที่เหมือนไม่มีทางออกมาอย่างยาวนาน
“จากนี้ไปชุมชนจะเป็นฐานที่สำคัญมากๆ อันนี้อยากให้ทางรัฐและภาคีต่างๆ โดยเฉพาะภาคเมืองได้เข้าใจและเห็นประเด็นนี้ การพัฒนาที่จะยั่งยืนต่อไปเราต้องให้ความสำคัญกับชุมชนที่เป็นฐานสำคัญของสังคม เพราะชุมชนเขาดูแลพื้นที่ทุกตารางนิ้วของสังคมไทย แต่ตอนนี้มันมีเรื่องทัศนคติที่ไม่ยอมรับ อคติที่มองด้านลบหลายเรื่อง ถึงเวลาที่ต้องมาเรียนรู้กันใหม่เกี่ยวกับศักยภาพชุมชนแล้วเปิดโอกาสทั้งกฎหมาย นโยบาย การบริหารจัดการทั้งหมด ต้องให้ชุมชนมีส่วนร่วม เอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง เพราะการทำงานทุกอย่างแต่ละที่ไม่เหมือนกันเลย เขามีชุดความรู้ไม่เหมือนกัน สภาพพื้นที่ไม่เหมือนกัน อันนี้แหละ ถ้าให้ชุมชนที่อยู่ตรงนั้น เข้าใจลึกซึ้งในพื้นที่ มีสิทธิ มีบทบาทสำคัญ ปัญญาจะถูกดูแลและแก้ไข จาการทำงานแบบบนลงล่าง ก็ให้ชุมชนเป็นแกนหลัก” ประธานสภาลมหายใจเสนอ
ในสถานการณ์ไฟป่าหมอกควันที่ทวีความรุนแรงขึ้น และจากการระดมความคิดเห็น สะท้อนข้อเท็จจริงในระดับพื้นที่ อาจารย์ ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวทิ้งท้ายถึงความหวังที่ชุมชนกับหน่วยงานรัฐจะได้ทำแผนการจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่าร่วมกัน โดยการรวบรวมองค์ความรู้จากชุมชนที่แตกต่างกันแต่ละพื้นที่ สื่อสารกับหน่วยงานรัฐและสังคมเมือง ไม่เพียงแต่เรื่องการจัดการไฟป่าเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องการพัฒนาบนพื้นที่สูง เป็นโอกาสดีให้คนในเมืองได้เรียนรู้องค์ความรู้การจัดการทรัพยากรของกลุ่มชาติพันธุ์ นำไปสู่การพัฒนาที่อย่างยืนโดยแท้จริง