ชาวพุทธในยุคโควิด-19

ชาวพุทธในยุคโควิด-19

: คุยกับ พระดร.พระวิสิทธิ์  ฐิตวิสิทฺโธ อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่

หลังรัฐบาลประกาศพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนในสังคมต้องปรับตัวเพื่อดำรงชีวิตอยู่กับสถานการณ์ในตอนนี้ Social Distancing ถูกนำมาใช้ในระบบทั้งด้านการทำงาน การเดินทาง เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการติดเชื้อ รวมถึงปรับตัวของพระสงฆ์ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่นอกจากจำนวนญาติโยมจะน้อยลงแล้ว ยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 พระสงฆ์จึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ต้องปรับตัวในเรื่องวัตรปฏิบัติต่างๆ ในการป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อและไม่ให้ญาติโยมที่เข้ามาในวัดเสี่ยงอีกด้วย

องศาเหนือ Special : โควิด-19 ก้าวผ่านหื้อได้ ! วันนี้คุยกับตัวแทน พระดร.พระวิสิทธิ์  ฐิตวิสิทฺโธ อาจารย์ประจำ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่  ไปฟังความเห็น-ของพระที่ตอนนี้ทางวัดก็มีความพร้อมที่จะร่วมช่วยเหลือด้านต่าง ๆ และแนวทางในการปรับตัวของทางวัดด้วย

สถานการณ์ในปัจจุบันโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบมากมายให้กับสังคมไทย มองอีกมุมเป็นการที่เราได้กลับมาทบทวนตัวเอง บางสิ่งบางอย่างที่เราคิดว่าไม่จำเป็นก็สามารถนำเอาสิ่งเหล่านี้มาเรียนรู้ได้ สถานการณ์ของพระสงฆ์ก็ต้องปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวเรื่องของวิธีปฏิบัติ สืบเนื่องจากด้วยมหาเถรสมาคม มีมติที่ ๑๓๗/๒๕๖๓ เรื่องมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา โควิด-19 สำหรับพระภิกษุสามเณรปฏิบัติ และกระทรวงสาธารณสุข ประกาศมาตรการสำหรับสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา (วัด โบสถ์ มัสยิด ศาลเจ้า) ทำให้พระสงค์ต้องปรับตัวและปฎิบัติไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทางพระสงฆ์ไม่เคยเจอเรื่องแบบนี้มาก่อน ดังนั้นการใช้สติและกลับมาทบทวนดูแลตัวเองในวิกฤตแบบนี้ อย่างน้อยเราก็ได้เห็นบรรยากาศของการช่วยเหลือกัน ความมีน้ำใจ ร่วมกันต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นก็จริงแต่เราสามารถสู้กับกิเลสของตนเอง

ความทุกข์ในร่างกายของคนเรามีอยู่ 2 อย่าง ทางพุทธศาสนาคือทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ เราพยายามจะปกป้องร่างกายให้แข็งแรง ถ้าเรามองทางหลักพุทธศาสนาเรามองถึงทางด้านธรรมะทางจิตใจ ความทุกข์ทางใจเราจะดูแลอย่างไร สถานการณ์ในตอนนี้เอื้ออำนวยในการที่เราจะกลับมาทบทวนความทุกข์ทางใจที่เราไม่เคยจะจัดการได้สักทีเป็นโอกาสดีด้วย เราต้องตระหนักรู้ ใช้ความเชื่อศรัทธามุมมองวิธีคิด ทัศนะคติเราต้องเอากลับมาใช้เพื่อเป็นกำลังใจให้ตนเองในช่วงเวลานี้

“ให้คิดซะว่าตอนนี้เป็นช่วงการเข้าพรรษาที่มาเร็วกว่าปกติ ให้เป็นนิมิตหมายที่ดี

และ เป็นการหยุดอยู่กับที่เพื่อทบทวนตนเอง”

 วิธีปฏิบัติของสงฆ์เปลี่ยนไปหรือไม่

ในตอนนี้วัดต้องมีการป้องกันเนื่องจากมีโรคโควิค-19ระบาด ถามว่าวิธีปฏิบัติของสงฆ์เปลื่ยนไปไหนก็ยังมีส่วนที่คงเดิมแต่ต้องปรับใหเมันสอดคล้องกับสถานการณ์ เนื่องจากวิถีชีวิตของพระต้องเอื้อต่อประชาชน ยังมีการที่จะต้องออกไปบิณฑบาตอยู่บ้าง เพราะการบิณฑบาตคือการดูแลตนของสงฆ์อย่างหนึ่ง แต่ในช่วงวิกฤตแบบนี้เป็นการเสี่ยงต่อการนำเชื้อเข้ามาในวัด เพราะฉะนั้นบางวัดออกไปบิณฑบาต ก็อาจจะมีออกไปบ้างแต่ในช่วงนี้แนะนำให้อยู่กับที่และทำตามคำสั่งของภาครัฐ ถ้าจำเป็นต้องออกบิณฑบาต ต้องป้องกันตัวเองพยายามที่จะดูแลสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างให้มากขึ้นกับญาติโยม ต้องระมัดระวังเรื่องนี้มากขึ้น กลับจากบิณฑบาต ก็ต้องดูแลความสะอาด ก่อนเข้าวัด อีกวิธีหนึ่งคือ ให้ญาติโยมเข้ามาที่วัด ใช้การคัดกรองเพื่อความปลอดภัยและป้องกันให้พระไม่เป็นกลุ่มเสี่ยงด้วย และในเวลานี้พระบางรูปยังใช้การกักตัวเองเป็นการฝึกธรรมะไปในตัว บางสิ่งบางอย่างยังเป็นการไม่ห้ามปฎิบัติเพราะเป็นพระธรรมวินัยในการปฏิบัติ ญาติโยมสามารถไปทำบุญได้แต่อาจจะต้องเปลี่ยนวิถี มีเจ้าหน้าที่ อสม. รพสต. หรือเจ้าหน้าที่ของวัดต่าง ๆ ในการตรวจคัดกรองก่อนเข้ามาทำบุญ ตอนนี้ทางวัดมีหน้ากากอนามัย มีเจลล้างมือ ก่อนเข้ามาในวัดเว้นระยะห่าง

ส่วนในเรื่องกิจนิมนต์ในช่วงนี้จำเป็นต้องลดลง งานบุญ งานแต่งงาน งานอุปสมบท งานที่เป็นคนเยอะๆ ตอนนี้ทางคณะมหาเถรสมาคม คือสั่งงดทั้งหมดเพื่อไม่ให้มีการรวมกลุ่มกัน และเป็นการหลีกเลี่ยงความเสี่ยง สำหรับงานที่งดไม่ได้จริง ๆ ต้องมีระบบป้องกันที่ดี เช่น งานที่งดไม่ได้คืองานศพ อาจจะต้องลดจำนวนคนเอาแค่ญาติพี่น้องจริง ๆ และกำหนดวันให้น้อยลงในการทำพิธี

ในขณะนี้บทบาทพระก็ปรับเปลี่ยนไป พระเริ่มปรับตัวในการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น เช่น ในการฟังเทศ การสอนหนังสือ เป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้ญาติโยมทุกคนและตัวพระเองลดความเสี่ยงของการมาพบปะกัน ในการจัดการในวัดทางวัด มีการทำความสะอาดสิ่งต่าง ๆ ในวัดเสมอเช่น พรมสีเขียวสีแดงในโบสถ์สิ่งนี้ก็อันตรายเราเข้าไปเวลากราบพระหรือนั่งสมาธิ จำเป็นต้องนำออกมาฆ่าเชื้อ ทุกวัดควรจะต้องจัดการสถานที่ให้ปลอดภัยและ ทำให้ญาติโยมที่เข้าไปในวัดอุ่นใจด้วย

กิจกรรมทางสงฆ์ และการบวชฤดูร้อนเป็นอย่างไรบ้าง

          ช่วงนี้จะเป็นฤดูการของการเข้ามาศึกษาของภาคฤดูร้อนของเยาวชนที่เข้ามาเป็นวิถีที่เราทำมาโดยตลอด แต่ในสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้เป็นการรวมกลุ่ม ทางคณะมหาเถรสมาคมสั่งงดการบวชเพราะเป็นการรวมตัว แม้แต่ตัวผู้ปกครองก็ไม่อยากจะให้ลูกหลานมาเสี่ยงอาจได้รับเชื้อได้

ในกรณีโรงเรียนที่เข้ามาศึกษาประจำที่วัด จะเห็นโรงเรียนที่วัดมีสามเณรอยู่ถ้าสมัครบวช เพื่อศึกษาต่อในปีนี้คงจะไม่ทันในการเปิดภาคการศึกษา ปกติจะบวชทีละ 100 – 200 รูป เพราะฉะนั้นในตอนนี้การแก้ปัญหาของทางวัดได้คือ มีการทยอยบวชกันทีละ 1-2 รูป เพื่อที่จะแก้ปัญหาในการหาที่เรียนและไม่ให้เด็กเกิดความสับสน เป็นการแก้ปัญหาไปก่อนในการบวชเพื่อศึกษาต่อ และงดไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนเป็นปกติ

ข้อเสนอในการปรับที่ปฏิบัติธรรม “กักตัวกับธรรมะ

วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนคู่กับสังคมไทยมานับแต่โบราณตราบจนปัจจุบัน วัดไม่เพียงแต่เป็นที่พำนักของพระภิกษุสามเณร แต่ยังเป็นสถานที่สาธารณ ที่สงเคราะห์ของชุมชนด้วย จึงสมควรที่จะให้วัดที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ประสบความยากลำบากในสถานการณ์โรคระบาด ใช้สถานที่ปฏิบัติธรรมให้เป็นสถานที่กักตัว กักตัวในที่นี้คือการกักตัวกับธรรมะ ถ้าเราพูดถึงสถานที่ของชุมชนและชาวบ้าน วัดเป็นสถานที่ที่ทุกคนมาร่วมกันทำบุญเป็นส่วนรวม มีปัญหาอะไรต่าง ๆ เราจะใช้วัดเป็นสถานที่เหมาะสมในการพบปะกัน บางทีเรามีสถานที่ในการปฏิบัติธรรมด้วย แต่ในช่วงนี้เนื่องจากภาวะวิกฤต คนมาปฏิบัติธรรมจะลดลงและของด พอมีการงด สถานที่ตรงนี้เป็นสถานที่ว่าง ทำให้สถานที่นี้อาจเป็นที่รองรับผู้ที่ป่วย ป่วนในที่นี้คือป่วยใจ ถ้าป่วยใจโรงพยาบาลก็เอาไม่อยู่ เราควรนำผู้ป่วยเหล่านั้นมาฝึกจิตใจ อาจมีทั้งกลุ่มที่ตัวเองคิดว่าป่วยหรือไม่ป่วย ถ้าอยู่ที่บ้านและสภาวะเครียดเกินไปอยากจะทบทวนตนเอง วัดเป็นอีกที่หนึ่งที่เปิดพื้นที่ให้คนเหล่านี้มาทบทวนตัวเองในช่วงภาวะวิกฤตินี้ได้ แถมยังช่วยให้จิตใจอาจได้ทบทวนตนเองมากขึ้น เราสามารถอาศัยวัดเป็นการปฏิบัติธรรมในการดึงจิตใจช่วยให้ลดความตึงเครียด ช่วยดึงช่วยให้จิตใจได้ปรับทัศนะคติต่าง ๆ ทั้งยังช่วยขัดเกลาจิตใจไปในตัวด้วย แต่ในการมาต้องมีการคัดกรอง ตรวจคนเข้ามา ใช้การบริหารจัดการในชุมชนเข้ามาช่วยวัดในการจัดการ

“อย่างน้อยเชื่อว่าการปฏิบัติธรรมในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตนี้

จะช่วยให้ผู้ที่ป่วยหรือผู้ไม่ป่วย ทำให้เรามองเห็นรอบทิศ มีสติ และเป็นการทบทวนตัวเอง

เปลี่ยนวิกฤติตอนนี้ให้เป็นโอกาส นำสติและปัญญามาแก้ปัญหา

เป็นภูมิคุ้มกันให้ตนเองและสังคม ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกันไปให้ได้ “

Live องศาเหนือ Special 2 เม.ย.63

Live องศาเหนือ Special : โควิด-19 ก้าวผ่านหื้อได้ !เย็นนี้ (2 เม.ย.63) คุยกับพระดร.วิสิทธิ์ ฐิตวิสิทฺโธ กับวิธีปฏิบัติของชาวพุทธในยุคโควิด-19 พร้อมข้อเสนอ กักตัวกับธรรมะ#TheNorthองศาเหนือ #ThaiPBS

โพสต์โดย The North องศาเหนือ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 2 เมษายน 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ