ชวนบริจาคโลหิตต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ หลังโควิด-19 ส่งผลคนมาบริจาคน้อย

ชวนบริจาคโลหิตต่อชีวิตเพื่อนมนุษย์ หลังโควิด-19 ส่งผลคนมาบริจาคน้อย

“เลือดจำเป็นอยู่แล้วสำหรับผู้ป่วยที่เขาต้องการใช้เลือดจริง ๆ ยังไงก็ต้องให้เลือด เพราะใช้อย่างอื่นทดแทนไม่ได้”ราศิณี ชัยมณี หัวหน้าภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 6 จ.ขอนแก่น สภากาชาดไทย ย้ำถึงความสำคัญของการรับบริจาคโลหิต และเชิญชวนอาสาสมัครที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงมาร่วมแบ่งปันด้วยการบริจาคโลหิตเพื่อใช้ในการดูแลรักษาผู้ป่วย หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19 ส่งผลให้มีผู้มาบริจาคโลหิตลดลงกว่าร้อยละ 50       

ธันวา ศรีสุภาพ ทีมข่าวพลเมืองและอยู่ดีมีแฮง จะพาไปคุยกับ ราศิณี ชัยมณี หัวหน้าภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 6 จ.ขอนแก่น สภากาชาดไทย ที่รับผิดชอบสนับสนุนโลหิตให้กับโรงพยาบาลในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน 9 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี  หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภู สกลนคร ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์  ซึ่งให้ข้อมูลว่าช่วงนี้มีผู้มาบริจาคโลหิตมีจำนวนลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง  และแต่เดิมที่มีแผนออกหน่วยรับบริจาคโลหิตเคลื่อนที่ 24 – 26 หน่วยต่อเดือน ปัจจุบันถูกยกเลิกไปกว่าครึ่งเช่นกัน เพราะปรับการทำงานไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ซึ่งด้านหนึ่งได้ส่งผลให้ยอดโลหิตที่คาดว่าจะได้รับ 3,000 – 4,000 ยูนิตต่อเดือน ปัจจุบันลดเหลือ 1,000 ยูนิต    

ความสำคัญของการรับบริจาคโลหิตกับชีวิตผู้ป่วย  

ราศิณี ชัยมณี  : ความจำเป็นของการใช้เลือด ปกติเลือดก็จำเป็นอยู่แล้วสำหรับผู้ป่วยที่เขาต้องการใช้เลือดจริง ๆ ยังไงก็ต้องให้เลือด เพราะใช้อย่างอื่นทดแทนไม่ได้  เลือดที่เราจ่ายให้กับโรงพยาบาลที่ขอมาจะอยู่ที่ 50  – 60% ของยอดที่ขอมา เช่น ขอมาวันนี้ พรุ่งนี้เราก็สามารถจ่ายให้ได้ แต่ปัจจุบัน นี้หลังจากสถานการณ์โควิด – 19 เข้ามา เราจะจ่ายให้ได้ประมาณวันที่เจ็ดของการขอมาและจ่ายได้เพียงแค่ 20% เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่นอนรอเลือดอยู่ที่โรงพยาบาลก็จะต้องรอนานขึ้น

ในส่วนของเลือดที่เราใช้อยู่ 100% แบ่งออกเป็น 30% เราจะใช้กับผู้ป่วย โรคธาลัสซีเมีย  อีก 30% ต้องรับเลือดประจำ ซึ่งโรงพยาบาลก็อาจจะนัดผู้ป่วยมารับเลือดทุกเดือนหรือทุก 2 สัปดาห์   แล้วก็จะมีในส่วนของอุบัติเหตุรวมถึงการผ่าตัดจะใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหัวใจ รวมถึงการเปลี่ยนถ่ายตับหรือไต แต่ที่แน่ ๆ  30% จะใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจาง เพราะฉะนั้นผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินในช่วงสถานการณ์ที่เลือดไม่เพียงพอก็ต้องเลื่อนการให้เลือดไปก่อน เช่น นัดผ่าตัดก็อาจจะต้องเลื่อนผ่าตัด จะใช้เฉพาะผู้ป่วยที่จำเป็นจะต้องให้เลือดจริง ๆ ถึงจะให้ อุบัติเหตุมาเสียเลือดก็จำเป็นต้องให้ เพราะถ้าไม่ให้ผู้ป่วยก็จะเสียชีวิต

โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นเองที่ออกหน่วยรับบริจาคเลือดได้ประมาณเดือนละ 3,000 ถุงก็ยังไม่พอ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ที่สามารถมีเลือดสำรองไว้ ก็ได้เดือนละประมาณ 3,000 ถุง ก็ไม่พอเหมือนกัน ของภาคบริการโลหิตที่ออกมารับบริจาคเลือดก็อยู่ที่ประมาณ 2,000 ถุง ซึ่งในขอนแก่นเราสามารถหาเลือดได้ประมาณ 7,000 – 8,000 ถุง ที่จะใช้แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

ในสถานการณ์แบบนี้ผลกระทบก็คือโรงพยาบาลต้องรอเลือดจากกาชาดนานขึ้น ผู้ป่วยก็ต้องนอนรอเลือดเพิ่มมากขึ้นระยะเวลาที่นอนในโรงพยาบาลก็จะยืดไปอีก ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

ภารกิจการสนับสนุนโลหิตของภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 6 จ.ขอนแก่น สภากาชาดไทย  

ราศิณี ชัยมณี  : งานของภาคบริการโลหิตที่ 6 ดูแลจังหวัดในภาคอีสานตอนบน 9 จังหวัด เริ่มตั้งแต่ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภู สกลนคร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นจังหวัดที่เราดูแลรับผิดชอบตรวจคัดกรองโลหิตของผู้บริจาค ซึ่งงานของภาค 6 เราทำครบวงจร ตั้งแต่การออกหน่วยรับบริจาคเลือด ไม่ว่าจะเป็นหน่วยเคลื่อนที่หรือรับบริจาคที่ภาคบริการโลหิต รวมถึงการตรวจคัดกรองโลหิตที่บริจาคแล้ว ว่าสามารถที่จะให้กับผู้ป่วยได้ไหม ซึ่งจะคัดกรองการติดเชื้อของโรคต่าง ๆ อย่างเช่น  ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ซิฟิลิส และ เอชไอวี

การรับบริจาคเลือดเราจะไปออกทุกจังหวัดในเขตที่รับผิดชอบ แต่จังหวัดที่ไกล ๆ ในปีหนึ่ง ก็อาจจะไป 1 – 2 ครั้ง ส่วนมากก็จะรับบริจาคที่จังหวัดขอนแก่นเป็นหลัก ก็จะมีไปอุดรธานีบ้าง หรือเป็นจังหวัดที่ใกล้เคียงเดือนละ 3 – 4 ครั้ง เลือดที่รับบริจาคมาเราจะจ่ายให้กับโรงพยาบาล ซึ่งอยู่ในเครือข่ายประมาณ 72 โรงพยาบาล ซึ่งไม่ใช่แค่ที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเครือข่ายทั้ง 9 จังหวัด เราก็จะกระจายให้กับโรงพยาบาลประจำอำเภอ หรือ โรงพยาบาลประจำจังหวัดที่เรารับผิดชอบอยู่ แต่ในจังหวัดขอนแก่นจะมีหน่วยงานที่รับบริจาคเลือดอยู่ 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และภาคบริการโลหิตขอนแก่น ในส่วนของภาค 6 ที่ออกหน่วยรับบริจาคเลือด เพื่อเสริมโรงพยาบาลที่ออกหน่วยรับบริจาค เสริมให้มีปริมาณเลือดเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะจ่ายให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ได้มากขึ้น

คนมาบริจาคเลือดลดจำนวนลงจากสถานการณ์โควิด – 19

ราศิณี ชัยมณี : ถ้าเทียบกับห้องรับบริจาคเลือดของเราที่ภาคบริการโลหิตเฉลี่ยเราจะเก็บได้ประมาณวันละ 10 ถุง ปัจจุบันก็อยู่ประมาณ 2 – 3 ถุง ต่อวัน แล้วเราต้องตรวจคัดกรองเลือดของผู้บริจาค ปกติเลือดที่เราตรวจที่โรงพยาบาลในเครือข่ายออกเหมือนรับบริจาค เราจะตรวจเลือดเฉลี่ย 800 ถุงต่อวัน แต่ปัจจุบันนี้ประมาณ 400 ถุงต่อวัน ลดลง 50%  คือ โรงพยาบาลออกหน่วยรับบริจาคเลือดหาเลือดได้ลดล งภาคบริการโลหิตก็หาเลือดให้ลดลง

สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้คนมาบริจาคเลือดน้อยลง ช่วงนี้ก็อาจจะเป็นเพราะเชื้อไวรัสโควิด – 19  แต่การคัดกรองโควิด – 19 ก็จะมีแบบฟอร์มคัดกรองที่เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งจะตัดผู้บริจาคที่ไปในพื้นที่เสี่ยงมา ตรงนี้ปริมาณเลือดก็จะหายไป แต่ในส่วนของผู้บริจาคที่ปกติมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ แต่ไม่กล้าออกมาก็ยิ่งจะทำให้เลือดไม่มีไปจ่ายให้กับผู้ป่วย

การรณรงค์รับบริจาคเลือดเป็นสิ่งที่ศูนย์รับบริจาคโลหิตทำทุกเดือน จะมีแคมเปญมีโปรเจคออกมาทุก ๆ เดือนซึ่งจะเป็นแผนรายปี แต่พอมาในช่วงการระบาดของโควิด – 19 มันก็มีผลกระทบต่อผู้ที่จะมาบริจาคเลือด ซึ่งยอดผู้บริจาคลดลงตั้งแต่ 1 มีนาคม เป็นต้นมา ส่วนแผนการออกหน่วยรับบริจาคเลือดของภาคบริการโลหิตที่ 6 ต่อเดือนจะมีประมาณ 26 ครั้ง ก็มีการโทรมาของหน่วยเนื่องจากกลัวโควิด – 19  

คำแนะนำในการมาบริจาคโลหิตช่วงโควิด – 19

ราศิณี ชัยมณี : ปกติผู้บริจาคประจำหรือผู้บริจาครายใหม่  ต้องนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบมื้อ งดแอลกอฮอล์ และไม่ไปในพื้นที่เสี่ยงของการแพร่ระบาด ออกจากบ้านก็ใส่หน้ากากอนามัยออกมา ซึ่งถ้าเดินทางมาด้วยรถส่วนบุคคลได้ก็จะดี เมื่อมาถึงในส่วนของพื้นที่รับบริจาคเลือดก็จะมีการวัดอุณหภูมิร่างกายมีเจลแอลกอฮอล์ให้ล้างมือรวมทั้งให้ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่บริจาคเลือด มีแบบฟอร์มให้คัดกรองตัวเองในเรื่องของโควิด – 19 มีการซักถามเพิ่มเติม ถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็สามารถออกมาบริจาคเลือดได้อย่างสบายใจ เพราะสถานที่ในการรับบริจาคเลือดก็มีความพร้อมในเรื่องของความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงเจ้าหน้าที่ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด

ในส่วนของผู้บริจาคโลหิต ไม่ว่าจะเป็นผู้บริจาคประจำ หรือผู้บริจาครายใหม่ที่คิดจะออกมาบริจาคเลือด ขอเชิญชวนให้ออกมาบริจาคเลือดได้ซึ่งในจังหวัดขอนแก่น มีที่รับบริจาคเลือด 4 ที่ด้วยกัน คือ โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น  คลังเลือดกลางโรงพยาบาลศรีนครินทร์  ชั้นสองโรงแรมโฆษะ และศูนย์ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 6 ซึ่งท่านอยู่ใกล้ที่ไหนก็ไปที่นั่น

การออกมาบริจาคเลือดเจ้าหน้าที่จะมีการคัดกรองอย่างเข้มข้น อยากให้ท่านมั่นใจ  อยากเชิญชวนให้ทุกท่านมาบริจาคเลือดเพื่อที่ผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องรอเลือดนานเกินไป

อย่างวันนี้ เรานัดผู้บริจาค RH- มา ซึ่งผู้บริจาคก็กลัวที่จะเดินทางออกมา ทางเจ้าหน้าที่ภาคบริการโลหิตจึงได้นำรถตู้ไปรับบริจาคที่บ้านของผู้บริจาค ในอนาคตหากมีผู้บริจาคเลือดน้อยลงก็อาจจะมีการไปรับบริจาคเลือดที่บ้านด้วยรถตู้ของภาคบริการโลหิต ซึ่งก็จะเป็นผู้บริจาคประจำที่เราโทรนัดมีการคัดกรองผ่านทางโทรศัพท์ว่าสามารถที่จะบริจาคเลือดได้ รู้ข้อมูลประวัติเก่า ลงทะเบียนเรียบร้อย เราก็จะออกไปรับบริจาคเลือด แต่ถ้าเป็นผู้บริจาครายใหม่เราก็สามารถไปรับบริจาคที่บ้านได้เหมือนกันให้ท่านโทรติดต่อที่ภาคบริการโลหิตได้ ซึ่งเราจะมีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ก่อน หากเข้าเกณฑ์ที่สามารถรับบริจาคเลือดได้ เราก็จะไป สามารถโทรมาได้ที่ 043-424-630-1 ตลอด 24 ชั่วโมง

ขอนแก่นยอดคนบริจาคเลือดลดลง (23 มี.ค.63)

อีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ทั้งในสถานการณ์ปกติ และยามที่ต้องเตรียมรับมือโควิด-19 ในช่วงนี้ คือ การรับบริจาคโลหิต โดยช่วงนี้มีผู้มาบริจาคโลหิตมีจำนวนลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง หมุดนี้คุณธันวา ศรีสุภาพ ทีมข่าวพลเมือง C-site พูดคุยกับหัวหน้าภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 6 จังหวัดขอนแก่น รวมถึงตรวจเช็คตัวเองกันก่อน สำหรับผู้ที่จะมาบริจาคเลือดในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 ในหลายประเทศ (23 มี.ค.63)#กินอยู่รู้รอบ #CSite #ข่าววันใหม่ #นักข่าวพลเมือง #ThaiPBS

โพสต์โดย นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) เมื่อ วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม 2020

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ