“ทั่วโลกมีการใช้ถ่านหินเพิ่มมากขึ้นเป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาด” : กรีนพีซ

“ทั่วโลกมีการใช้ถ่านหินเพิ่มมากขึ้นเป็นการสร้างความเข้าใจที่ผิดพลาด” : กรีนพีซ

20140407152004.jpg

4 กรกฎาคม 2557, ประเทศไทย – ในช่วงปีที่ผ่านมา กรีนพีซและเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินเรียกร้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยให้ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและโครงการท่าเรือขนถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ ขณะเดียวกัน ผลักดันให้มีการพัฒนาและลงทุนระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัยเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริง

ล่าสุด ในจดหมายชี้แจงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ถึงกรีนพีซและเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2557 (คลิกอ่าน) ระบุว่าถ่านหินเป็นทางเลือกพลังงานที่เหมาะสมเนื่องจากทั่วโลก เช่น เยอรมนี จีน อินเดีย ญี่ปุ่น  มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่รวมกันไม่น้อยกว่า 1,200 แห่ง ในปี 2556 ที่ผ่านมา เยอรมนีนำเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เข้าใช้งานจำนวน 8 โรง คิดเป็นกำลังผลิตติดตั้งถึง 6,372 เมกะวัตต์

นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “คำชี้แจงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดังกล่าวข้างต้นขาดความเชื่อมโยงและแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบ ข้อเท็จจริงก็คือ ประเทศต่างๆ เหล่านั้นตัดสินใจผิดพลาดและยังคงเดินหน้าไปสู่การเกิดมลพิษที่เป็นหายนะ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเดินตามรอยความผิดพลาดเหล่านั้น การตัดสินใจที่ผิดพลาดโดยผลักดันให้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มมากขึ้น ยังจะนำเราไปสู่ขอบเหวแห่งหายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประเทศไทยควรจะเป็นผู้นำในเรื่องทางออกของปัญหา มิใช่เป็นผู้ก่อปัญหาเสียเอง

ในกรณีนโยบายด้านพลังงานของเยอรมนีซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ระบุว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่นำโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่เข้ามาใช้งาน ในช่วงสองปีที่ผ่านมาสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศพูดถึงความเป็นไปได้และอนาคตที่สดใสของถ่านหิน รวมทั้ง “การกลับมาของถ่านหิน” และมีการตั้งข้อสังเกตอีกว่า การที่เยอรมนีตัดสินใจเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์เป็นเพราะการผลิตลิกไนท์ภายในประเทศเพื่อนำมาทดแทนในช่วงเปลี่ยนผ่าน นอกจากนี้ยังมีแถลงการณ์ของนักการเมืองในเยอรมนีช่วงที่ผ่านมาระบุว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าวสร้างขึ้นเพื่อแทนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ในความเป็นจริงแล้ว เยอรมนีไม่ได้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่เพื่อแทนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รายงานเชิงลึกของมูลนิธิ  Heinrich Böll Stiftung (คลิกอ่าน) ระบุว่าข้อกล่าวอ้างถึง “การกลับมาของถ่านหิน” นั้นมาจากการเพิ่มขึ้นของการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าในช่วงปี 2555-2556 เนื่องจากสภาวะอากาศหนาวเย็นและการส่งออกพลังงานไฟฟ้า และอีกส่วนหนึ่งมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ที่เพิ่งเริ่มเข้าระบบ  โครงการล่าสุดเริ่มขึ้นในปี 2548-2550  ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์เชิงลึกโดยมูลนิธิ Heinrich Böll พบว่าเยอรมนีไม่ได้กลับมาพึ่งพาถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้า การกลับมาของถ่านหินในเยอรมนีเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ และโรงไฟฟ้าถ่านหินหลายแห่งกลับต้องยุติการผลิตลงเนื่องจากมาตรการควบคุมมลพิษที่เข้มงวดขึ้น ขณะที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนมีความน่าเชื่อถือและมั่นคงมากขึ้น โดยในช่วงครึ่งปี  2557 นี้ สัดส่วนของไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนนั้นเกินร้อยละ 30 และเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดของแหล่งพลังงานในระบบการผลิตไฟฟ้าในเยอรมนี (คลิกอ่าน)

“ข้อโต้แย้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่ว่าประเทศไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สูง (ร้อยละ 70) ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องถ่วงดุลด้วยเชื้อเพลิงประเภทอื่น ด้วยการเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้น เป็นการชี้นำที่ผิดพลาด

กรีนพีซเห็นว่าการพึ่งพาเชื้อเพลิงที่หลากหลายนั้นเป็นสิ่งจำเป็น และทางออกที่ดีที่สุดคือ การสร้างความมั่นคงทางพลังงานที่แท้จริงด้วยระบบพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล พลังน้ำขนาดเล็ก และก๊าซชีวภาพ การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ทำให้ประเทศไทยติดกับดักของการผูกขาดพลังงาน เราต้องพึ่งพาการนำเข้าถ่านหินจากประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย มากขึ้น และการเผชิญกับความผันผวนกับราคาถ่านหินในตลาดโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดนั้นท้ายที่สุดแล้วผู้บริโภคต้องรับภาระจากส่วนต่างของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” นายธารา บัวคำศรี กล่าวสรุป

ภาพประกอบจาก : gippslandactiongroup.wordpress.com

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ