สถานการณ์ร้อนแรงในแวดวงอุดมศึกษารอบใหม่เกิดขึ้นอีกครั้ง หลัง “สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล” ถูกไล่ออก ด้วยเหตุละทิ้งราชการเกิน 15 วัน ลงนามเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2558 ก่อกระแสการเคลื่อนไหวในรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อนักศึกษาลุกขึ้นมาทวงถามหาเหตุผลความชอบธรรมที่ไม่ถูกเหนี่ยวนำด้วยความคิดทางการเมือง
นักข่าวพลเมืองถือโอกาสโหนกระแส สืบเสาะพูดคุยกับนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทำกิจกรรม ทั้งในรั้วและนอกรั้วธรรมศาสตร์และจากหลายภูมิภาค เพื่อสำรวจความคิดเห็นว่า เมื่ออาจารย์คนหนึ่ง ‘ถูกไล่ออก’ บอกอะไรกับพวกเขาบ้าง?
00000
“การเมืองทุกวันนี้ก็คือการเมืองที่ผู้มีอำนาจเล่นงานฝั่งที่ไม่มีอำนาจ โดยเฉพาะตอนนี้ก็เล่นงานฝั่งปัญญาชนแบบเป็นแค่นักศึกษา เป็นแค่อาจารย์ คือเราไม่มีอาวุธ เราไม่ได้จับอาวุธไปยิงใคร เราก็มีแต่ข้อเสนอกับสังคมว่าเราคิดอะไร คิดเห็นอย่างไรแค่นั้นเอง นี่แหละมันก็คือการที่ปากกากำลังสู้กับปืน”
รัฐพล ศุภโสภณ นักศึกษาปี 4 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
คิดเห็นอย่างไรกับกรณีของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ถูกไล่ออก?
เป็นเรื่องที่แย่มากๆ ไม่ต่างอะไรเมื่อหลังรัฐประหารอีกครั้ง คือ ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ เมื่อหลังรัฐประหารก็ไม่ได้ปกป้องคน บุคลากร หรือว่านักศึกษา ที่อยู่ภายใต้สังกัดของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือตั้งแต่ไปรับเงินเดือน 2 ที่ ก็ทำตัวแบบนี้ ผมก็เฉยๆ อันที่จริงไม่ได้เฉยๆ หรอก จริงๆ ก็ค่อนข้างรังเกียจรังงอนเขาพอสมควร เพราะผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่เรื่องที่น่าชื่นชม การที่คุณไปรับตำแหน่งการเมืองเงินเดือน 2 ที่ ทำให้หน้าที่ของคุณที่ควรจะทำในฐานะของการเป็นอธิการบดีหายไป หน้าที่ที่คุณจะปกป้องลูกศิษย์ไม่มี ไม่ทำ หรือว่าแม้กระทั่งกับครั้งนี้ก็คือกับ อ.สมศักดิ์ คือคุณลงโทษตามถูกกฎทุกอย่าง ผมไม่คัดค้านเรื่องนี้นะ ทางเทคนิคถูกหมดเลย แต่ทางบริบทการเมืองก็รู้ดีอยู่ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับ อ.สมศักดิ์
จากเหตุการณ์นี้มันทำให้เห็นบริบทอะไรของสังคมปัจจุบันบ้าง?
เหมือนกับการเมืองใหญ่ตอนนี้แหละครับ คือใครได้อำนาจก็คือเป็นความถูกต้อง เหมือนกับว่าเวลาที่คนชอบบอกว่า คนที่ทำผิดถ้ามันไม่รู้ตัวว่ามันทำผิดมันจะหนีไปทำไม ชอบมีคนพูดอย่างนี้อยู่นะ “ไม่ได้ทำผิดจะหนีไปทำไม” อย่างนี้ใช่ไหม คือผมก็บอกว่า ถ้างั้นคนยึดอำนาจฐานกบฏชัดๆ ฉีกรัฐธรรมนูญ ทำผิดชัดเจนทำไมถึงไม่หนี คำตอบคือตัวเองมีอำนาจไง
วันนี้มันคือเกมการเมืองแบบคนมีอำนาจไล่บี้คนไม่มีอำนาจ มันก็คือลักษณะอย่างนี้ ดังนั้น คนที่หนีก็คือคนที่เขาไม่มีอำนาจหรือคนที่เขาสูญเสียอำนาจ แล้วคุณจะบอกว่ามันเป็นเรื่องที่แบบ “ไม่ผิดใช่ไหม ทำไมต้องหนี” มันเป็นเรื่องที่ตลก มันก็คือการเมืองทุกวันนี้ก็คือการเมืองที่ผู้มีอำนาจเล่นงานฝั่งที่ไม่มีอำนาจ โดยเฉพาะตอนนี้ก็เล่นงานฝั่งปัญญาชนแบบเป็นแค่นักศึกษา เป็นแค่อาจารย์ คือเราไม่มีอาวุธ เราไม่ได้จับอาวุธไปยิงใคร เราก็มีแต่ข้อเสนอกับสังคมว่าเราคิดอะไร คิดเห็นอย่างไรแค่นั้นเอง นี่แหละมันก็คือการที่ปากกากำลังสู้กับปืน มันก็เป็นแบบนี้
ฐานะที่เป็นนักกิจกรรมคนหนึ่งคิดว่าเราเองอยากทำอะไร อยากบอกนักศึกษาอย่างไร?
สิ่งที่อยากเห็นคือนักศึกษาควรรับรู้ว่าจริงๆ แล้วสังคมเรามันกำลังเกิดอะไรขึ้นอยู่ คืออยากจะเรียกร้องจากนักศึกษาด้วยกันอย่างไงหรือครับ ปกติผมก็ไม่ได้เป็นคนที่เรียกร้องแบบเฮ้ยออกมาสิ อะไรอย่างนี้อยู่แล้ว คือผมมองว่าพวกเขาก็มีสิทธิที่จะใช้ชีวิตที่พวกเขาต้องการ แต่อีกหน้าที่นึงก็คือเราเป็นปัญญาชน เราควรตั้งคำถาม เราควรมี Commitment อะไรกับสังคมรึเปล่า โดยเฉพาะสังคมที่เราอยู่ สังคมที่ชอบบอกเราว่า เราคือเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ แล้วเรารู้อะไรเกี่ยวกับชาติเราบ้างจริงๆ ผมได้แต่ตั้งข้อสังเกตทำนองนี้มากกว่าครับ
มันก็คงเป็นหน้าที่คนที่สนใจการเมืองอย่างผม มันเป็นโจทย์ว่าผมจะทำให้พวกเขาสนใจได้อย่างไร แต่ผมคิดว่าอะไรที่มันใกล้ตัวอย่างนี้ ถ้าคุณยังมองไม่เห็นมันก็อาจลำบากก็ได้นะที่เราจะทำความเข้าใจกับการเมืองใหญ่อันมีความซับซ้อนสูงในประเทศนี้ ผมก็คิดว่ามันไม่ง่าย
บาสเคยเรียนกับ อ.สมศักดิ์ มีอะไรอยากบอกกับอาจารย์ไหม?
ผมอยากเห็นอาจารย์ยังทำงานทางความคิดต่อไป แล้วผมก็อยากเห็นแกรักษาสุขภาพด้วย เป็นห่วงแก แล้วแกไม่ได้มาสอนเรา มันก็เงียบเหงาไปนะ ที่ฟังมามันก็ไม่มีใครสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยสนุกเท่าแก มหาลัยก็เงียบๆ ไป มันอาจไม่ถึงกับแย่ไปเสียทั้งหมด แต่ผมว่ามันขาดสีสันสำคัญอันนึงไปจริงๆ
ผมก็อยากจะบอกว่าพวกเรายังเป็นห่วงแกอยู่นะ ถ้าเป็นไปได้ก็จริงๆ อยากทวงแก เรื่องอัดคลิปวิดีโอลงเฟซบุ๊กที่แกบอกไว้ตอนกลับมาเล่นเฟซบุ๊ก อยากทวงว่าอาจารย์อัดลงมาเยอะๆ เลย ทำเลคเชอร์สอนเลยก็ได้ ผมอยากเห็น คงจะเป็นประโยชน์กับคนโดยรวมของประเทศอีกเยอะ คนที่เขาไม่มีโอกาสได้เรียนเหมือนกับพวกเรา หรือรุ่นน้องที่เขาตั้งใจจะมาเข้าเรียนกับ อ.สมศักดิ์แต่เขาพลาดไป ซึ่งผมก็เสียดายเหมือนกันที่อาจารย์เสียดายที่ไม่ได้สอนนั่นแหละ ผมเลยคิดว่าแบบนั้นก็ถือโอกาสของทวงวิดีโอเลยแล้วกัน ก็เป็นห่วงอาจารย์แต่ก็ทวงของไปด้วย
เสียดายบุคลากรทางการศึกษา?
ใช่ คือบุคลากรสำคัญคนนึงเลยแหล่ะ และปัญญาชนที่เขาพูดในสิ่งที่เขากล้าเสนอจริงๆ คือปัญญาชนนี้เหมือนกับที่อาจารย์สมศักดิ์พูดมาเสมอว่า ถ้ามีปัญญาชนเอาไว้พูดในสิ่งที่คนอยากจะฟัง มันก็ไม่ต้องมีปัญญาชนอะไรหรอก มีไปทำไม ปัญญาชนมันคือคนที่กล้าที่จะพูดในสิ่งที่มันเป็นทางออกของประเทศ ดังนั้นผมคิดว่าอะไรก็ได้ มันเป็นไอเดีย การนำเสนอไอเดียมันควรจะทำอย่างตรงไปตรงมา แม้ยากลำบากก็ต้องพูด ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น การดำรงอยู่ของแก แกเป็นปัญญาชนคนหนึ่งที่แสดงความเป็นปัญญาชนได้อย่างเต็มเปี่ยมมาตลอด แล้วก็เป็นหัวหอกมาตลอด
ผมคิดว่าเรื่องสำคัญที่แกฝากไว้ให้กับสังคมก็คือเรื่องนี้แหละ ว่าปัญญาชนควรต้องทำอะไรบ้าง
ทิ้งท้าย… พูดถึง คุณูปการของ อ.สมศักดิ์?
ผมอยากตั้งข้อสังเกตว่าจริงๆ แล้ว สภาพช่วงหลัง 10 ปี ที่ผ่านมา มีคนมาสนใจบริบททางการเมืองมากขึ้น คนสนใจที่จะถกกันด้วยเหตุผลมากขึ้น ผมอยากบอกว่าส่วนหนึ่งมันคือผลงานของแกด้วย เป็นส่วนสำคัญทีเดียว การที่แกกล้าขึ้นเป็นหัวหอก เรื่อง 8 ข้อเสนอของแกนั่นเป็นสิ่งสำคัญมาก แล้วก็สะเทือนต่อภูมิทัศน์ของการเมืองไทยเหมือนกัน เหมือนกับตอนที่นิติราษฎร์โผล่ขึ้นมาในช่วง 10 ปีนี้ มันก็เป็นสิ่งสำคัญที่เปลี่ยน Landscape ของการเมืองไทยไปมาก
เราจะได้เห็นว่าแต่ก่อนไอดอลของคนมันไม่ใช่ปัญญาชน แต่วันนี้อาจารย์คือไอดอลของนักศึกษา และอาจารย์ไม่ใช่แค่ไอดอล แต่กลายเป็น Public Figure เป็นบุคคลสาธารณะที่คนเอาไปล้อเลียน เอาไปตัดต่อ แกล้งทำรูป ทำฉายา ทำนู่นทำนี่ ผมคิดว่ามันแสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วในยุคนี้คนที่เป็นอาจารย์เป็นปัญญาชนจริงๆ มีพลังต่อสังคม แล้วก็มีบทบาทนำต่อสังคมมากๆ ผมคิดว่าเพราะที่ผ่านมามันผ่านการทำอย่างหนักของทั้งนักศึกษาและอาจารย์ แล้วเราทำงานมันต่อเนื่องหลายๆ ปีขึ้นมา เราทำงานทั้งความคิดเสวนาวิชาการ ไปจนถึงแอคชั่นเชิงสัญลักษณ์ ทำกิจกรรมเชิงสังคม ฯลฯ เราทำมาอย่างหนักมันถึงเป็นผลสัมฤทธิ์ในวันนี้ ที่มีคนสนใจการเมืองที่มีความซับซ้อนนี้มากขึ้น ดังนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
ถ้าจะให้ผมพูดอีกหน่อยก็คือ ในฐานะคนที่เรียนกับอาจารย์ ปี 1 และ 2 ปี เห็นความเปลี่ยนแปลงในคลาสมากๆ แล้วฐานะของอาจารย์เองตอนนี้คือผู้นำทางความคิดจริงๆ คือจะบอกว่าในระดับชาวบ้านแกนนำเขายังมีบทบาทอยู่ แต่ว่าความเห็นของอาจารย์ปัญญาชนตอนนี้มันกลายเป็นสิ่งที่สามารถซึมเข้าสู่กระแสหลักมากขึ้นได้เรื่อยๆ ผ่านหลายกลไก ไม่ว่าจะทางในโซเชียลมีเดีย ในทางอะไรก็ตามแต่ บริบทในสังคมต่างๆ มันส่งเสริมกัน ผมคิดว่านี่แหละคือการเปลี่ยนแปลง ตลอดคลาสของ อ.สมศักดิ์ที่ผมเห็นว่ามันมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก่อนมันก็ใช้ห้องเล็กๆ ห้องที่จุคนได้ไม่ถึง 100 คน จนตอนหลังต้องย้ายจากห้อง 50 คนไปห้อง 200 คน ซึ่งมันเปลี่ยนไปมาก
คือเราไม่เคยคิดไงว่าประวัติศาสตร์มันจะสนุกขนาดนี้ หลายคนนะ ผมคิดว่ามันสนุกอยู่ แล้วมันสนุกมากๆ มากกว่าที่เคยคิด แล้วแกทำให้เราสามารถเข้าใจภาพภูมิทัศน์ต่างๆ ในช่วงนั้นแบบชัดเจนขึ้นเยอะ
“…เราจะสามารถใช้ปรากฏการณ์นี้เพื่อยืนยันว่าทุกๆ มหาวิทยาลัยจะต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ และนักวิชาการหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะต้องไม่ถูกไล่ออกหรือถูกกลั่นแกล้ง เพียงเพราะว่าเขานำเสนอในสิ่งที่มหาวิทยาลัยหรือรัฐไม่พึงพอใจ เพื่อเป็นการให้เสรีภาพในทุกมหาวิทยาลัยและในทุกพื้นที่อย่างแท้จริง”
จักรพล ผลละออ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 จากกลุ่มลูกชาวบ้าน มหาวิทยาลัยบูรพา
คิดเห็นอย่างไรกับกรณีของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ถูกไล่ออก?
ความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่าตัวระบบราชการมีเงื่อนไข ถึงแม้ว่าอาจารย์สมศักดิ์จะได้ยื่นใบลาออกแล้ว ถ้าทางมหาวิทยาลัยยังไม่เซ็นอนุมัติก็ยังต้องไปทำงานตามปกติ ในความคิดเห็นส่วนตัวคิดว่า อ.สมศักดิ์มีการเปิดช่องทางให้ทางระบบราชการสามารถดำเนินคดีได้โดยง่าย ในขณะเดียวกันมันมีความชัดเจนเรื่องของการกลั่นแกล้งทางการเมือง หากมีเรื่องของระบบราชการก็อาจมีอีกมิติหนึ่งที่สามารถกล่าวถึงได้ หรือขณะเดียวกันสามารถกล่าวถึงทั้งสองมิติได้นั่นคือ เรื่องของการกลั่นแกล้งทางการเมืองและเรื่องของเงื่อนไขของระบบราชการ
โดยส่วนตัวมีความคิดเห็นอย่างไรต่อเรื่องนี้ มันสามารถสะท้อนอะไรต่อสังคมหรือสถานการณ์ปัจจุบันบ้าง?
ถ้าโดยส่วนตัวมีความคิดเห็นที่ค่อนข้างเฉยๆ กับเรื่องนี้ คือเป็นเรื่องที่สามารถคาดเดาได้หลังจากที่อาจารย์สมศักดิ์หายตัวไปหลังจากรัฐประหาร ทราบอยู่แล้วว่า อ.สมศักดิ์ต้องโดนออกจากมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน ไม่เกินความคาดหวังเพียงแต่แค่รอคำตัดสินของมหาวิทยาลัย
อย่างกรณีของทางจุฬาฯ อ.สุดา รังกุพันธ์ (อ.หวาน) ช่วงก่อนรัฐประหารที่อาจารย์หวานถูกสั่งให้ออกจากจุฬาฯ ได้เกิดการกระแสทางสังคมอย่างมากเรื่องของการกลั่นแกล้งทางการเมือง แต่ถ้าไปดูตามสัญญาจ้าง อาจารย์หวานทำผิดเงื่อนไขตามสัญญาจ้าง ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเหตุผลการกลั่นแกล้งทางการเมือง แม้เรื่องนี้ในตามความเป็นจริงก็อาจมีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ อ.หวานเป็นคนเปิดช่องทางให้ฝ่ายอำนาจเก่าเข้ามาใช้ประเด็นนี้ไล่ออกจากหน้าที่การงาน เรื่องนี้มีมูลด้านเหตุผลทางการเมืองอย่างแน่นอน แต่ประเด็นคือตัวเขาเองเป็นผู้เปิดช่องทางเหล่านั้นให้สามารถมีเรื่องทางการเมืองเข้ามากลั่นแกล้งได้
คิดว่าการเปิดช่องให้ถูกไล่ออกของ อ.สมศักดิ์คืออะไร?
ประเด็นของ อ.สมศักดิ์ยังไม่แน่ชัดในเรื่องกฎระเบียบทางราชการของธรรมศาสตร์ ส่วนหนึ่งคิดว่าอาจารย์สมศักดิ์เป็นผู้เปิดช่องทางให้กฎระเบียบเข้ามาดำเนินการแค่ส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นเพราะอาจารย์
ในสภาวะสภาพสังคมตอนนั้นอาจารย์สมศักดิ์ไม่ได้เป็นผู้เปิดช่องทางให้กฎระเบียบดำเนินคดีทั้งหมด เพราะอาจารย์สมศักดิ์อยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่ คสช. เรียกให้ไปรายงานตัว นั่นหมายถึงสถานะของ อ.สมศักดิ์ในตอนนั้นเป็นนักโทษไปแล้ว เพราะฉะนั้นความผิดอยู่ในตัวกระบวนการของธรรมศาสตร์เองที่ไม่เข้าใจสภาวะทางสังคม
ในมุมของนักศึกษา กรณีที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนถึงอะไร?
หากสัมภาษณ์นักศึกษาธรรมศาสตร์แน่นอนว่าจะได้คำตอบในเชิงขัดแย้งต่ออุดมการณ์ที่ว่า “ธรรมศาสตร์มีเสรีภาพ” แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าการไล่ อ.สมศักดิ์ออก อีกมุมหนึ่งมันได้สะท้อนในเรื่องของเสรีภาพทางวิชาการ ทุกมหาวิทยาลัยควรจะมีเสรีภาพทางวิชาการ ไม่ใช่เฉพาะธรรมศาสตร์เป็นที่เดียวที่สามารถอ้างเสรีภาพได้ กรณีการกลั่นแกล้งทางการเมืองมีในทุกมหาวิทยาลัย และมีในระดับประเทศด้วย เพราะฉะนั้นเราจะสามารถใช้ปรากฏการณ์นี้เพื่อยืนยันว่าทุกๆ มหาวิทยาลัยจะต้องมีเสรีภาพทางวิชาการ และนักวิชาการหรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยจะต้องไม่ถูกไล่ออกหรือถูกกลั่นแกล้ง เพียงเพราะว่าเขานำเสนอในสิ่งที่มหาวิทยาลัยหรือรัฐไม่พึงพอใจ เพื่อเป็นการให้เสรีภาพในทุกมหาวิทยาลัยและในทุกพื้นที่อย่างแท้จริง
“พอคนเก่งๆ อย่างนี้ถูกไล่ออกจากสถาบันทางการศึกษา เราเลยสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาบ้านเรา เลยย้อนมองมาที่สถาบันของตนเอง ว่าเราอยากได้อาจารย์ที่เก่งๆ อย่างนี้ นักวิชาการหรืออาจารย์ที่คอยให้ข้อมูลหรือพูดคุยกันถ้าเรามีปัญหา เวลาเรามีคำถาม จึงรู้สึกเสียดายมาก”
นักศึกษา จากสมัชชาเสรีแห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประชาธิปไตย
คิดเห็นอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น?
รู้สึกตกใจว่าต้องถึงกับการไล่ออกเลยเหรอ อย่างน้อยเราก็ติดตามสถานการณ์ทางการเมืองมาว่าอาจารย์ก็มีการลี้ภัยทางการเมือง แต่เราเห็นข่าว แล้วก็เห็นเอกสารชัดเจนว่าอาจารย์ทำผิดระเบียบวินัยร้ายแรง และสาเหตุนั้นคืออะไร ที่ต้องถูกไล่ออกแบบนั้น เราคิดว่ามันคงเชื่อมโยงอยู่กับการเมืองในช่วงนี้
ประเด็นนี้สะเทือน ทำให้มามองตัวเรา เช่น อาจารย์เขียนเรื่องประวัติศาสตร์ซึ่งผมเองเคยอ่าน อาจารย์นั้นถือเป็นคนสำคัญคนหนึ่ง พอคนเก่งๆ อย่างนี้ถูกไล่ออกจากสถาบันทางการศึกษา เราเลยสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับระบบการศึกษาบ้านเรา เลยย้อนมองมาที่สถาบันของตนเอง ว่าเราอยากได้อาจารย์ที่เก่งๆ อย่างนี้ นักวิชาการหรืออาจารย์ที่คอยให้ข้อมูลหรือพูดคุยกันถ้าเรามีปัญหา เวลาเรามีคำถาม จึงรู้สึกเสียดายมาก
เสียดายแทนนักศึกษาธรรมศาสตร์?
ใช่ ครับ เพราะอาจารย์เคยมามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ครั้งหนึ่ง เหมือนคนที่อยู่ภูมิภาคอย่างเราก็พยามยามติดตามเขา แต่ทำไมศูนย์กลางจุดศูนย์รวมถึงไม่ต้องการอาจารย์เก่งๆ แบบนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจ
มองว่าการไล่ออกนี้มันเชื่อมโยงกับเรื่องการแสดงความคิดเห็นอย่างไร?
ธรรมศาสตร์นั้นพยามยามที่จะแสดงตัวตนใหม่ เพราะว่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัยนั้นก็จะมีการตรวจสอบเซ็นเซอร์กันเองด้วย คือธรรมศาสตร์นั้นไม่อยากให้ภาพลักษณ์เสียเลย พยามที่จะปัดอาจารย์สมศักดิ์ ออกโดยมุ่งไปที่ประเด็นการทำผิดวินัย ซึ่งมันอาจจะสร้างความชอบธรรมสำหรับคนบางกลุ่มว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะไล่อาจารย์ออก
เหตุการณ์อย่างนี้ที่เกิดขึ้นมันสะท้อนถึงสภาพสังคมอย่างไรบ้าง?
เราก็รู้สึกว่าขนาดตัวอาจารย์ก็ยังไม่สามารถที่จะพูดเรื่องบางเรื่องได้ หรือแม้แต่ในเรื่องวิชาการ มันรู้สึกว่าเราจะเรียกตัวเองว่าอยู่สถาบันการศึกษาได้อย่างไร ในเมื่อเรื่องทุกเรื่องมันไม่สามารถพูดได้ในพื้นที่ของสถาบันการศึกษา ซึ่งสถาบันการศึกษาควรที่จะสามารถพูดได้ทุกเรื่องทุกประเด็น แต่กรณีของอาจารย์สมศักดิ์พูดนั้น เป็นประเด็นทางการเมืองที่ไม่สามารถพูดได้มันจึงทำให้ระบบทางอุดมศึกษานั้นมีปัญหา ขนาดอาจารย์ยังพูดไม่ได้แล้วเราเองจะพูดได้เหรอ เพราะตัวเราเองเป็นแค่นักศึกษา เพราะว่าอาจารย์มีคุณวุฒิ มีการศึกษาวิจัย ยังไม่สามารถที่จะพูดได้
เราเองในฐานะนักศึกษาเราจะข้ามความกลัวนี้กันไปได้อย่างไร?
ต้องเชื่อมั่นในสิทธิของเราที่จะแสดงความคิดเห็นพูดคุยหรืออยู่ในแสดงศึกษามีการสิทธิอย่างเต็มที่จะต้องมีการเรียกร้อง อาจารย์หรือนักวิชาการท่านอื่นที่มีสิทธิ์ที่จะยืนยันในการแสดงความคิดเห็นหรือใช้ชีวิตในสถานการณ์แบบนี้ได้
“ไม่อยากให้การเมืองมีบทบาทมากกว่าการศึกษา ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเราก็อาจยังต้องเรียนเพียงแค่ตามตำราและไม่สามารถที่จะเผชิญโลกภายนอกได้เลย”
วรัญญา สุมาริธรรม นักศึกษากลุ่มเทียนไข มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คิดเห็นอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น?
ถ้าในมุมมองส่วนตัวคือ ไม่สมควรที่อาจารย์คนหนึ่งจะถูกไล่ออก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ อ.สมศักดิ์ก็ได้ยื่นเรื่องลาออกไปสักพักแล้ว แต่ก็ไม่มีการตอบกลับมา รู้สึกเหมือนว่ามันไม่ถูกต้อง ไม่อยากยอมเพราะอาจารย์ต้องถูกไล่ออกโดยที่อาจารย์ไม่ได้ผิดอะไร
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมันสะท้อนภาพสังคมในตอนนี้อย่างไร?
โดยส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของโครงสร้างที่มาสัมพันธ์กับสถาบันทางการศึกษา ทำให้มันเกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น
มองว่าเหตุการณ์ในรูปแบบนี้มันส่งผลกระทบอย่างไรต่อเราบ้าง?
ถ้าในมุมมองของนักศึกษา รู้สึกเสียใจเป็นอย่างมากที่สถาบันการศึกษาไม่สามารถที่จะทำอะไรได้เลย นอกจากอยู่ภายใต้อำนาจอย่างเดียว ถามถึงผลกระทบก็คงจะเป็นผลกระทบทางด้านจิตใจของนักศึกษา ทั้งที่เป็นลูกศิษย์และไม่เป็นลูกศิษย์
มองว่าผลงานของอาจารย์สมศักดิ์เป็นอย่างไรบ้าง?
มองว่าอาจารย์นำมุมมองของสังคมมาเขียน และนำมาประยุกต์สอนจากสิ่งที่มองเห็นที่เป็นปรากฏการณ์ในสังคมจริงๆ มันทำให้นักศึกษาเกิดมโนภาพ และเข้าใจบริบททางสังคมได้มากขึ้น
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับนักศึกษาที่ไม่ได้อยู่ธรรมศาสตร์อย่างไร?
ในมุมมองของคนที่อ่านงานเขียนทางด้านประวัติศาสตร์ในเชิงสังคม รู้สึกสะเทือนใจ เพราะได้เรียนรู้ในด้านงานเขียนทางวิชาการของ อ.สมศักดิ์ มันทำให้สามารถรู้สึกได้ถึงความเสียใจของ อ.สมศักดิ์
ในฐานะที่เป็นนักศึกษาคนหนึ่งมีข้อเสนออะไรที่เกี่ยวกับสถานการณ์นี้ต่อสังคมบ้าง?
ถ้าอยากจะเสนอความคิดเห็นคงจะแสดงออกในเชิงของสัญลักษณ์มากกว่า คือไม่อยากให้การเมืองมีบทบาทมากกว่าการศึกษา ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปเราก็อาจยังต้องเรียนเพียงแค่ตามตำราและไม่สามารถที่จะเผชิญโลกภายนอกได้เลย
สังคมควรมองใหม่ และตั้งคำถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดในปัจจุบันเกิดจากอะไร และใครเป็นผู้ทำให้มันเกิด ไม่ใช่เพียงแค่เรารับรู้ข่าวสารมาก็จบ ควรจะตั้งคำถามและหาคำตอบเพื่อแก้ไข จะต้องสะท้อนต่อสิ่งที่ได้รับรู้มาบ้าง
“หากการแสดงความคิดเห็นของอาจารย์ทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะถูกไล่ออก อาจทำให้หลายคนที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นนั้นไม่กล้าที่จะกระทำเพราะจะมีคนที่เกรงกลัวอำนาจเผด็จการ หรือในมุมกลับอาจมีคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น มันสามารถที่จะมองได้สองมุม”
ปรมัตถ์ ทองธวัช กลุ่มนักศึกษากิจกรรม ราชภัฏนครศรีธรรมราช
คิดอย่างไรกับกรณีของ อ.สมศักดิ์ เจียมธีระสกุล ถูกไล่ออก?
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับเหตุการณ์นี้คือ รู้สึกเห็นใจอาจารย์สมศักดิ์ รู้สึกว่าอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ควรจะทำให้ถูกต้อง ก่อนหน้านี้อาจารย์สมศักดิ์ได้ยื่นใบลาออกไปเรียบร้อยแล้ว ควรจะให้อาจารย์สมศักดิ์ลาออกแทนที่จะไล่ออก
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่งบอกถึงสถานการณ์อะไรในสังคม?
สถานการณ์นี้ทำให้เห็นว่ารัฐบาลโดย คสช. ต้องการที่จะกำจัดกลุ่มบุคคลที่มีความคิดในทางตรงกันข้ามกับพวกเขา อย่างกรณีของ จ.สมศักดิ์ให้ไล่ออกและพ้นสภาพจากการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย อธิบการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ทำงานให้กับ คสช. อยู่แล้ว มันเป็นเสมือนวิธีการกลั่นแกล้งกันทางการเมือง ถ้าให้ อ.สมศักดิ์ลาออกก็จะยังคงมีสิทธิในบำเหน็จบำนาญไว้ใช้เลี้ยงชีพ หรืออาจทำงานในทางวิชาการต่อไปได้เรื่อยๆ ในอนาคต เหมือนกับว่าเป็นแผนการที่ต้องการตัดท่อน้ำเลี้ยงของนักวิชาการทางสายนี้
มองว่าส่งผลกระทบอย่างไรต่อระบบทางการศึกษาในแง่วิชาการ?
อย่างแรกที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ วงการการศึกษาไทยไม่ยอมรับในความคิดเห็นที่แตกต่างในประเด็นที่เป็นวิชาการ การที่ อ.สมศักดิ์ได้ออกมาเสนอและแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางวิชาการแต่ถูกให้ออก มันทำให้เห็นว่าระบบการศึกษาไม่สามารถช่วยเหลืออาจารย์สมศักดิ์ได้ เพราะระบบการเมืองที่เป็นเผด็จการสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ ในเมื่อมหาวิทยาลัยและอธิการบดีไม่สามารถปกป้องดูแล อ.สมศักดิ์ได้นั่นหมายความว่าระบบการศึกษามันคอยคุมความคิดให้คนเพียงกลุ่มเดียวสามารถแสดงความคิดเห็นได้เท่านั้น โดยที่ไม่เปิดโอกาสให้คนที่มีความคิดใหม่ๆ ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเลย
คุณูปการของอาจารย์สมศักดิ์ต่อการศึกษาคือ?
อ.สมศักดิ์ เป็นผู้ที่มีความกล้าหาญมากพอที่จะกล่าวถึงประเด็นที่อาจารย์สมศักดิ์ถนัดในทางเหตุผลทางวิชาการ อาจเป็นตัวอย่างให้ใครหลายคนได้กล้าแสดงความคิดเห็นในแบบนี้ แต่ในทางกลับกันหากการแสดงความคิดเห็นของอาจารย์ทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะถูกไล่ออก อาจทำให้หลายคนที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นนั้นไม่กล้าที่จะกระทำเพราะจะมีคนที่เกรงกลัวอำนาจเผด็จการ หรือในมุมกลับอาจมีคนกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น มันสามารถที่จะมองได้สองมุม
ในฐานะนักศึกษาจะสามารถทำอะไรได้บ้าง?
สิ่งที่ทำได้ในตอนนี้คือการให้กำลังใจกับเพื่อนนักศึกษาที่อยู่ภูมิภาคอื่นๆ และส่วนกลาง มีการติดตามข่าวสารต่างๆ เป็นระยะ เพราะหากให้มีการรณรงค์หรือจัดกิจกรรมที่ภาคใต้ก็อาจมีความขัดแย้งเกิดขึ้น เนื่องจากอาจเกิดการเข้าใจผิดคิดว่าการจัดกิจกรรมนั้นมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองกับกลุ่มตรงข้ามกับคนในภาคใต้ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วไม่ได้คิดว่าการคิดต่างหรือกลุ่มตรงข้ามมีความคิดเห็นที่ผิดแต่อย่างใด แต่เห็นว่าหากกิจกรรมถูกจัดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มสมาชิกนักศึกษา
“ผมมองว่าอาจไม่เชิงการเมือง เพราะการที่สร้างข่าวแบบนี้อย่างน้อยก็ไม่เป็นผลดีต่อทางมหาวิทยาลัย ต่อ อ.สมคิดอยู่แล้วในการจะสร้างประเด็นนี้ขึ้นมา ผมมองว่าระหว่างที่ให้อาจารย์ออกไปเองกับไล่ออกอย่างนี้ การที่มหาวิทยาลัยยอมให้เขาลาออกไปเองมันน่าจะส่งผลดีต่อมหาวิทยาลัยมากกว่า เพราะฉะนั้นน่าจะมีปัญหาในเรื่องของระเบียบกฎเกณฑ์มหาวิทยาที่อาจต้องมีการแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้นมาอีก”
นักศึกษา กลุ่มยุวชนธรรมศาสตร์เพื่อประชาชน (LYTP)
คิดเห็นอย่างไรต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น?
เราไม่ได้เห็นด้วยกับพฤติกรรม รวมถึงการการแสดงออกต่างๆ ของ อ.สมศักดิ์ แต่เราก็ไม่ได้เห็นด้วยกับทางมหาวิทยาลัยเหมือนกัน การทำอย่างนี้ดูเหมือนเป็นการทำร้ายกันจนเกินไป เพราะว่าสิ่งหนึ่งคืออาจารย์ท่านได้ยื่นใบลาออกมาแล้ว เราเห็นว่าการกระทำของมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งที่ไม่ควร อย่างน้อยถึงจะมีความคิดที่ต่างกันก็ควรให้เกียรติกัน ไม่ควรจะกลั่นแกล้งกัน
ที่เราไม่เห็นด้วย เพราะเราเห็นว่าบางอย่างอาจารย์มโนขึ้นมาเองเยอะ แต่เราก็ยอมรับว่าเขาก็คือคนเก่งคนหนึ่ง ที่คุยกันในกลุ่มเราก็รู้สึกเสียดายว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้สูญเสียคนเก่งๆ คนหนึ่งไป ถึงแม้ว่าจะแสดงความคิดในสิ่งที่เราไม่เห็นด้วยก็ตาม
เหตุการณ์นี้หลายฝ่ายมองว่าเป็นประเด็นทางการเมือง เรามองอย่างนั้นไหม?
ผมว่าไม่เชิงจะเป็นอย่างนั้นสักเท่าไหร่ เพราะมองว่าการที่อาจารย์ออกไปนั้นเป็นเรื่องการนำกฎเกณฑ์ของทางมหาวิทยาลัยมาใช้อย่างมีปัญหามากกว่า ผมมองว่าอาจไม่เชิงการเมือง เพราะการที่สร้างข่าวแบบนี้อย่างน้อยก็ไม่เป็นผลดีต่อทางมหาวิทยาลัย ต่อ อ.สมคิดอยู่แล้วในการจะสร้างประเด็นนี้ขึ้นมา ผมมองว่าระหว่างที่ให้อาจารย์ออกไปเองกับไล่ออกย่างนี้ การที่มหาวิทยาลัยยอมให้เขาลาออกไปเองมันน่าจะส่งผลดีต่อมหาวิทยาลัยมากกว่า เพราะฉะนั้นน่าจะมีปัญหาในเรื่องของระเบียบกฎเกณฑ์มหาวิทยาที่อาจต้องมีการแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างนี้ขึ้นมาอีก
ประเด็นดังกล่าวนั้นสะท้อนอะไรต่อสังคมบ้าง?
ในมุมมองของสังคม มันแสดงให้เห็นถึงความแตกแยกของสังคมที่ชัดเจนมาก เพราะตอนนี้เมื่อกลุ่มหนึ่งพลาดจะมีกลุ่มหนึ่งที่แสดงความดีอกดีใจอย่างเห็นได้ชัด แต่อีกกลุ่มหนึ่งกลับรู้สึกเดือดร้อนกับการที่ อ.สมศักดิ์ต้องออกไป จึงทำให้มองว่าตอนนี้สังคมไทยไม่มองเหตุและผลในการดำรงชีวิต เพียงใช้คำว่าพรรคพวก ใช้ค่านิยมทางการเมือง อุดมคติของเราในการนำมาตัดสินเลยว่า ถ้าไม่ใช่คนของเราเขาทำอะไรก็ผิดทำอะไรก็ไม่ดี แต่ถ้าเป็นคนของเราอะไรตามก็ดีไปหมด
หากมองในเชิงวิชาการ หรือการศึกษา กรณีนี้ส่งผลบ้างหรือไม่?
ในส่วนนี้ผมว่ามันเป็นเรื่องคนละส่วนกัน เพราะการไล่ออกของอาจารย์สมศักดิ์หรือการลาออกเอง มันเป็นเพราะว่าอาจารย์นั้นไม่สามารถที่จะมาปฏิบัติหน้าที่ได้ ต้องแยกว่า ถ้าอาจารย์มาสอนอยู่ทุกวันแล้วโดนไล่ออก ต้องถือว่าเป็นสิ่งที่เราต้องมีการพิจารณากัน แต่ประเด็นนี้คือในหนึ่งเทอมที่ผ่านมารวมถึงเทอมนี้เป็นเทอมที่สองแล้วที่อาจารย์ไม่ได้มาเข้าสอน ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นความผิดของอาจารย์เองที่อาจารย์เลือกที่จะต่อต้านรัฐประหารด้วยวิธีการนี้ หรือใช้วิธีการหลบหนีเพื่อไม่ให้ถูกทหารเข้ามาแทรกแซงชีวิตของอาจารย์ได้ ซึ่งก็ต้องมีการยอมรับส่วนตรงนี้ไป
ในส่วนของเราหรือทางกลุ่มเองจะมีท่าทีและการแสดงออกต่อเหตุการณ์นี้อย่างไรบ้าง?
ในส่วนของกลุ่มคงไม่มีท่าทีอะไรในการแสดงออกตรงนี้มาก เพราะแม้ว่าเราจะไม่เห็นด้วยกับการที่ไล่อาจารย์ออก แต่เรารู้สึกเฉยๆ มากกว่า เพราะเรามองว่าเป็นเรื่องที่น่าจะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะอาจารย์หายไปเทอมที่สองแล้ว มันเป็นเรื่องที่พอจะรู้สึกได้ว่าเขาน่าจะโดนไล่ออกหรือลาออกไปเอง
มีกลุ่มที่ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยอาจารย์สมคิด แล้วมีกลุ่มที่สนับสนุนด้วยไหมค่ะ?
ไม่เชิงว่าสนับสนุน แต่มีลักษณะออกอาการแสดงความดีใจมากกว่าว่าอาจารย์คนนี้ออกไปเสียที คือเราต้องยอมรับว่าช่วงก่อนๆ ที่อาจารย์สมศักดิ์อยู่ก็มีนักศึกษาหรือบุคลากรบางส่วนที่รู้สึกว่าอาจารย์ไม่ควรสอนนักศึกษา หรือรู้สึกว่าอาจารย์กำลังปลูกฝังลัทธิของอาจารย์ให้นักศึกษาเชื่อ คนกลุ่มนี้ก็จะรู้สึกดีใจที่อาจารย์ออกไป โดยบางคนไม่ได้ดูเหตุผล แต่ดูแค่ว่าความถูกใจ ถ้าถูกใจก็โอเค ไม่ถูกใจก็ออกมา
“เมื่อมีเรื่องที่เกิดขึ้นและเราคิดว่าไม่ยุติธรรมหรือเป็นเรื่องที่สมควรตั้งคำถามได้ และเป็นเรื่องที่ไม่นอกเหนืออย่างสุดขั้วเกินไปอยากให้ลองมาตั้งคำถามกับสังคมมากขึ้นว่า สังคมทุกวันนี้เป็นอย่างไร แล้วที่บอกว่าสงบ หรือว่าสังคมที่บอกว่าดีนั้นดีจริงหรือไม่ ทุกอย่างถูกเก็บไว้ใต้พรมเป็นความขัดแย้งซึ่งสังคมไม่ยอมรับรู้”
นักศึกษา กลุ่มสภาหน้าโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
มีความคิดเห็นอย่างไรกับการที่ อ.สมศักดิ์ ถูกไล่ออก?
อย่างแรกการยอมรับในเสรีภาพทางวิชาการโดยมุมมองต่างๆ ที่อาจารย์มีการนำเสนอนั้น โดยส่วนตัวเห็นว่าการที่นำเสนออะไรออกไปสังคมอาจจะไม่ชอบใจ แต่ถ้าอยู่ในกรอบของวิชาการผมคิดว่าควรมีการยอมรับและรับฟัง ดังนั้น ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นหลายฝ่ายจะตั้งคำถามว่า อาจารย์สมศักดิ์ได้ทำหนังสือลาออกแต่ทางมหาวิทยาลัยนั้นกลับมีคำสั่งให้ออกก่อนหน้าที่ทำเรื่องลาออก ซึ่งคำถามนี้เป็นคำถามที่อธิการบดีต้องตอบนักศึกษา เนื่องจากมีนักศึกษาจำนวนหนึ่งที่เชื่อว่าอาจารย์ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดร้ายแรง มีการนำเสนอมุมมองทางวิชาการเพราะว่าเป็นนักวิชาการคนหนึ่ง
จริงๆ แล้วมีความรู้สึกตั้งคำถามเพราะว่านักศึกษายังไม่รู้ถึงสาเหตุกับเรื่องดังกล่าวเท่าที่ควร เพราะว่าการลาออก ยื่นเรื่องลาออก หรือขอพักงานของอาจารย์นั้นเป็นสิ่งที่นักศึกษาไม่รู้ จะรู้ได้เฉพาะวงในเท่านั้นซึ่งพอถึงเวลาก็ได้มีการเผยแพร่คำสั่งออกมา นักศึกษาจึงมีการตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น อาจารย์มีความผิดในลักษณะใด
มีอะไรที่อยากจะฝากถึงสังคมหรือเพื่อนๆนักศึกษาด้วยกัน
ผมคิดว่าเอาเข้าจริงแล้ว ณ ตอนนี้ โดยส่วนตัวคิดว่าเราต้องช่วยตรวจสอบสังคมนี้กันต่อไป เพราะว่าสังคมนั้นเป็นของพวกเราทุกคนนะครับ ไม่ใช่ว่าเป็นของคนใดคนหนึ่ง ฉะนั้นเมื่อมีเรื่องที่เกิดขึ้นและเราคิดว่าไม่ยุติธรรมหรือเป็นเรื่องที่สมควรตั้งคำถามได้ และเป็นเรื่องที่ไม่นอกเหนืออย่างสุดขั้วเกินไปอยากให้ลองมาตั้งคำถามกับสังคมมากขึ้นว่า สังคมทุกวันนี้เป็นอย่างไร แล้วที่บอกว่าสงบ หรือว่าสังคมที่บอกว่าดีนั้นดีจริงหรือไม่ ทุกอย่างถูกเก็บไว้ใต้พรมเป็นความขัดแย้งซึ่งสังคมไม่ยอมรับรู้