เปิดตัว “โรงเรียนอนาคต” โมเดลการศึกษา ของคนรุ่นใหม่

เปิดตัว “โรงเรียนอนาคต” โมเดลการศึกษา ของคนรุ่นใหม่

มธ.จับมือเครือข่ายด้านการศึกษา เปิดห้องเรียนอนาคตของคนรุ่นใหม่ เสริมทักษะการเรียนรู้ผ่านการสอนรูปแบบใหม่กับ 50 วิทยากรจากหลากหลายวงการ หวังสร้างผู้นำรุ่นใหม่เตรียมพร้อมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จับมือกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประจำประเทศไทย, คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัท ดิ วันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด เปิดตัว “School of Tomorrow – โรงเรียนอนาคต” เพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ พร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทดิวันโอวัน เปอร์เซนต์ จำกัด และบรรณาธิการบริหาร The101.world เล่าว่า โครงการนี้อยากเห็น “ประสบการณ์ความรู้แนวใหม่” โดยไม่ได้พูดถึงโรงเรียนแล้วนึกถึงตึก นึกถึงอาคารที่เป็นกายภาพ หรือนึกถึงเฉพาะห้องเรียน แต่พูดถึงประสบการณ์เรียนรู้ที่เป็น “Learning Experience”

โรงเรียนอนาคตไม่ใช่แค่โรงเรียน ไม่ใช่แค่ค่ายฤดูร้อน แต่เรานึกถึงประสบการณ์การเรียนรู้แบบใหม่ที่หลากหลาย

ผศ.ปกป้อง กล่าวด้วยว่า ความหลากหลาย คือ Spirit สำคัญของโรงเรียนอนาคต โดยอยากให้นักศึกษาแต่ละคนที่เก่งอยู่แล้ว มองเห็นและได้เรียนรู้กับเพื่อน ๆ ได้รู้จักอาจารย์ ได้มองเห็นมิติต่าง ๆ ที่มากขึ้น

อีกเรื่องคือความหลากหลายในการเรียนการสอน โรงเรียนอนาคตไม่มีการบรรยาย แต่จะมีการเรียนรู้ด้วยรูปแบบต่าง ๆ 5 แบบ คือ 1.วงแลกเปลี่ยนถกเถียง (Discussion) 2.วงปฏิบัติการ (Workshop) 3.วงเสวนา (Seminar) 4.วงสนทนา (Dinner Talk) 5.วงเดินทาง (Jousney) เพราะฉะนั้นโรงเรียนอนาคต นอกจากฝึกเนื้อหาแล้ว ต้องฝึกทักษะซึ่งไม่ใช่ทักษะเพื่อตัวเอง แต่เป็นทักษะเชิงลึกด้วย

เราเห็นว่าท่ามกลางอนาคตที่ไม่แน่นอน ท่ามกลางสิ่งที่มีหวังบ้าง ไม่มีหวังบ้าง สิ่งที่เราพยายามจะปักหมุดก็คือ ปักหมุดแห่งความหวัง ปักหมุดแห่งอนาคต ปักหมุดแห่งวันพรุ่งนี้ ให้เห็นว่าอนาคตเป็นสิ่งที่เราสร้างได้ อนาคตเป็นสิ่งที่เรากำหนดเอง และคนที่กำหนดไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นพวกเราเองทุกคน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเรียนในโรงเรียนอนาคต ผศ.ปกป้อง กล่าว

รศ.ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มธ. กล่าวว่า เมื่อไรก็ตามที่เราเห็นว่าสถานการณ์ปัจจุบันไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจก็มักจะออกไป 2 แนวทางคือ ไม่ย้อนไปหาอดีตก็ข้ามช็อตไปที่อนาคต แต่เรากำลังพูดถึงอนาคตที่ไม่มีความแน่นอนอยู่สูงมาก เรากำลังเตรียมคนไปสู่โลกที่ไม่มีความแน่นอน โลกที่เราเองก็วาดภาพไม่ได้ชัดว่าหน้าตาจะเป็นอย่างไร

คำถามคือเราจะเตรียมคนอย่างไรเพื่อให้ไปสู่โลกอนาคตนั้นได้ เป็นคำถามใหญ่มากที่สถาบันการศึกษา มูลนิธิ สื่อต่าง ๆ กำลังหาคำตอบ แต่ส่วนตัวคิดว่าเรื่องใหญ่ที่สุดคือการที่จะทำให้เขาสามารถยืนอยู่บนขาของตัวเอง แล้วพร้อมปรับเปลี่ยนไปกับสถานการณ์ในอนาคต

ความรู้ไม่สำคัญเท่าความคิด ไม่มากเท่าจินตนาการ

ทักษะสำคัญจึงเป็นเรื่องการคิด วิเคราะห์ ค้น มากกว่าเรื่องของการอ่านตามตำราเพียงอย่างเดียว ในขณะที่อนาคตมีความไม่แน่นอนสูงมาก สิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจในอนาคตได้แน่นอนคือ อย่างไรวันพรุ่งนี้ก็มา ไม่ว่าเราจะอยู่หรือจะไป โลกอนาคตจึงฝากไว้กับคนรุ่นใหม่

รศ.ดร.พิภพ เน้นย้ำว่า School of tomorrow ตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ในการสร้างคนที่พร้อมจะเผชิญความไม่แน่นอนในอนาคตด้วยมุมมองที่รอบด้าน ด้วยฐานคิดที่หนักแน่นไม่เลื่อนลอย และเป็นเครือข่ายสำคัญที่จะไปสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต

สตีเน่อ คลัพเพอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ประเทศไทย กล่าวว่า จุดมุ่งหมายหลักตั้งแต่ต้นคือ ให้การสนับสนุนเยาวชนด้านการศึกษา เพราะทราบดีว่าเยาวชนต้องการการสนับสนุน เยาวชนต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองต้องการกำลังใจและการส่งเสริมทางด้านอื่นๆ เพื่อให้เยาวชนเกิดการตระหนักรู้ มีความคิดเชิงวิภาค และมีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ

นอกจากการที่เยาวชนต้องการความช่วยเหลือแล้ว เราก็ต้องการเยาวชนเช่นกัน ต้องการให้เขาเป็นกำลังในการพัฒนาสังคม พัฒนาประเทศชาติแล้วก็พัฒนาโลกใบนี้ต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้กำเนิดขึ้นโดยวางอยู่บนฐานความเชื่อ 3 ประการ คือ

1.เชื่อว่าสังคมมีความหวัง และความหวังอยู่กับคนรุ่นใหม่ จึงตั้งใจทำโครงการกับคนรุ่นใหม่

2.เชื่อในเรื่องความหลากหลาย เชื่อว่าความหลากหลายคือพลัง หลากหลายรอบด้าน หลากหลายศาสตร์ อยากให้มาเรียนรู้ร่วมกันข้ามสาขา

“เราอยากให้คนรุ่นใหม่ที่เก่งในแต่ละสาขาได้มีโอกาสมาเจอกัน และหลังจากโรงเรียนนี้เราอยากให้เขาสานต่อความสัมพันธ์ แล้วก็กลายเป็น agent of change ก็คือ เป็นตัวแทนของความเปลี่ยนแปลง ที่จะขยายองค์ความรู้และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโรงเรียนนี้ ไปสู่สังคมในวงกว้างหรือเพื่อน ๆ ในโรงเรียนเขาเอง นั่นคือสิ่งที่เราตั้งใจจะสร้างให้เกิดขึ้น”

3.เชื่อในเรื่องการสร้างเครือข่าย เราคิดว่าลำพังตัวคนเดียว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ต่อให้เก่งขนาดไหนก็ตาม

ความหวังอยู่ที่คนรุ่นใหม่ ความหลากหลายคือพลัง และการสร้างเครือข่ายคือคำตอบ ผศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวปิดท้าย

ทั้งนี้ โรงเรียนแห่งอนาคตเป็นโครงการที่เปิดรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ถึงชั้นมหาวิทยาลัยปีที่ 4 (อายุ 17-23 ปี) จำนวนประมาณ 32 คน มาร่วมเรียนรู้กับวิทยากรชั้นนำจากหลากหลายวงการกว่า 50 คน เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีทักษะ 6 ด้าน ที่ผู้นำรุ่นใหม่ควรมี ได้แก่ รู้เท่าทันโลกและสังคม มีความรับผิดชอบ สื่อสารอย่างสร้างสรรค์และทรงพลัง มีสุนทรียะในจิตใจ เป็นผู้นำทีม และมีจิตวิญญาณเพื่อรับใช้ประชาชนและสังคม โดยเริ่มการเรียนการสอนตั้งแต่ วันที่ 8-22 ก.ค.2561 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ