ชะลอแผนสร้างเขื่อนสาละวิน ร่วมดับไฟสงครามที่กำลังปะทุ

ชะลอแผนสร้างเขื่อนสาละวิน ร่วมดับไฟสงครามที่กำลังปะทุ

แม่น้ำสาละวินเป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัยในทิเบต ไหลลงสู่มณฑลยูนนานประเทศจีน ผ่านมายังประเทศพม่าและประเทศไทย รวมความยาว 2,800 กิโลเมตร จากยอดเขาสู่ทะเลอันดามัน ถือเป็นแม่น้ำนานาชาติสายท้ายๆของโลก ที่มีการไหลของสายน้ำอย่างอิสระ แม่น้ำสาละวินถือว่ามีความอุดมสมบูรณ์ทางระบบนิเวศเป็นอันดับต้นๆของภูมิภาค และเป็นที่อยู่อาศัยนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น นู ลีซู ตู่หลง ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ปะโอ คะเรนนี มอญ เป็นต้น 

ที่ผ่านมามีการวางแผนโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ทั้งหมด 13 โครงการในเขตประเทศจีน และอีก 6 โครงการบนลุ่มน้ำทางตอนล่างในพม่า และชายแดนไทย-พม่า 

โครงการสร้างเขื่อนบนลุ่มน้ำทางตอนล่างในพม่าและชายแดนไทย-พม่าเหล่านี้ จะสร้างบริเวณพื้นที่ของรัฐฉาน รัฐคะยา(คะเรนนี) และรัฐกะเหรี่ยง ได้แก่ เขื่อนสาละวินตอนบนหรือเรียกว่ากุ๋นโหลง เขื่อนมายตงหรือเขื่อนท่าซาง เขื่อนหนองผา เขื่อนมานตอง(บนแม่น้ำสาขา) และเขื่อนยวาติ๊ด สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 15,000 เมกกะวัตต์ เป็นการลงทุนโดยบริษัทจีน 5 แห่ง กฟผ.อินเตอร์ของไทย และบริษัทพม่า 3 แห่ง

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา ชาวกะเหรี่ยงจากประเทศพม่า ข้ามแม่น้ำเมยมายังฝั่งไทยที่จังหวัดตาก หลายคนมาจากบริเวณพื้นที่รอบๆการสร้างเขื่อนฮัตจี Hut Gyi Dam แต่ยังสร้างไม่เสร็จเนื่องจากพื้นที่ตรงนี้มีการสู้รบกันมายาวนาน(สร้างเขื่อนบนพื้นที่ที่มีการสู้รบมานาน) ระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยงและกองทัพพม่าที่เกิดเหตุบริเวณฝั่งตรงข้ามกับ อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก

  ภาพชาวบ้านอพยพหนีการสู้รบมายังฝั่งไทย อ. ท่าสองยาง จ. ตาก หลังทหารพม่าปะทะ DKBA ขอบคุณภาพจาก post

ทำให้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2557 มีแถลงการณ์จากเครือข่ายปกป้องแม่น้ำสาละวิน Salween Watchซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานติดตามกรณีเขื่อนสาละวินมาโดยตลอด มองเหตุการณ์ที่เกิดนั้นส่อความรุนแรงมากขึ้น มูลเหตุหนึ่งของการปะทะครั้งนี้ มาจากการที่กองกำลังทหารพม่า พยายามเคลียร์พื้นที่บริเวณดังกล่าวเพื่ออำนวยความสะดวกในการสร้างเขื่อนฮัตจี กั้นแม่น้ำสาละวิน ซึ่งข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันข้อเท็จจริงมูลเหตุ จากนายทหารระดับสูงของกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งสหภาพกะเหรี่ยง หรือ KNU (Karen National Union) และกองกำลังกะเหรี่ยงประชาธิปไตย หรือ DKBA (Democratic Karen Benevolent Army)

โดยพลเอกบอจ่อแฮ รองผู้บัญชาการสูงสุด KNU ได้แจ้งไปยังนายทหารระดับสูงของ KNU ว่า ขณะนี้ทางกองทัพพม่าได้สื่อสารไปยังกองกำลัง DKBA ที่ยังคงมีฐานที่มั่นอยู่ในพื้นที่รอบๆ หัวงานของเขื่อนฮัตจี ว่าจะกวาดล้างกลุ่ม DKBA ออกจากพื้นที่บริเวณเขื่อน และเมื่อสัปดาห์ที่ 8 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีรายงานว่า รถบรรทุกของกองทัพพม่าจำนวน 9 คันก็เข้าไปยังหัวงานเขื่อนฮัตจี

และเช่นเดียวกับผู้บังคับการกองพันโกล่ทูลา ของกองกำลัง DKBA ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่บริเวณแม่น้ำสาละวิน ใกล้เขตก่อสร้างเขื่อนฮัตจี ระบุว่าถูกกดดันอย่างหนักจากกองทัพพม่า เนื่องจาก DKBA ประกาศตัวชัดเจน ในเรื่องคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนฮัตจีมาโดยตลอด

การที่กองกำลังทหารพม่า บุกโจมตีเข้ายึดพื้นที่กองกำลัง DKBA ครั้งนี้ ส่งผลกระทบกับประชาชนบริเวณนั้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะประชาชนเชื้อสายกะเหรี่ยง ชาวบ้านหลายร้อยคนต้องอพยพมายังประเทศไทย บริเวณอำเภอท่าสองยาง เมื่อวันที่ 10 – 11 ตุลาคมที่ผ่านมา แม้จะมีการทยอยกลับในวันต่อมา แต่ชาวบ้านก็ยังคงไม่มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิต รวมถึงชาวบ้านที่อยู่ลึกเข้าไปทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน ก็มีการเตรียมพร้อมอพยพทุกเมื่อหากมีการปะทะกันในพื้นที่

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ เครือข่ายปกป้องแม่น้ำสาละวิน จึงขอเรียกร้องกองทัพพม่ายุติการใช้ความรุนแรง และใช้วิธีเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ความขัดแย้ง ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่โดยตรงแล้ว การใช้ความรุนแรงยังเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเห็นว่าการผลักดันสร้างเขื่อนสาละวินในขณะนี้ จึงไม่มีความเหมาะสม และในส่วนของรัฐบาลไทยเอง ควรส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลพม่า เพื่อให้ยุติการใช้ความรุนแรง ที่สำคัญหน่วยงานของรัฐไทยคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นองค์กรสำคัญที่เข้าไปมีผลประโยชน์จากโครงการนี้ การใช้วิธีการรุนแรงดังกล่าวไม่ใช่เป็นเรื่องกิจการภายในพม่าเท่านั้น แต่พัวพันถึงเกียรติภูมิของประเทศไทย ซึ่งอาจถูกติฉินนินทาจากสังคมโลกว่าเห็นแก่ประโยชน์ตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงวิธีการ ดังนั้นรัฐบาลจึงควรสั่งการให้ กฟผ.ชะลอโครงการดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน 

ที่มา: http://transbordernews.in.th/home/?p=5546 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ