“โรงเรียนศรีแสงธรรม” จากห้องเรียนบ้านดิน – โซล่าเซลล์แตกๆ สู่ต้นแบบโรงเรียนพลังงานทดแทน

“โรงเรียนศรีแสงธรรม” จากห้องเรียนบ้านดิน – โซล่าเซลล์แตกๆ สู่ต้นแบบโรงเรียนพลังงานทดแทน

20160906155043.jpg

โดย : progressth.org

โรงเรียนแห่งนี้ไม่ได้สอนแค่พื้นฐานเรื่องการอ่าน เขียน เพื่อทำข้อสอบเท่านั้น แต่โรงเรียนแห่งนี้ได้สอนให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการสร้างชุมชนเข้มแข็งจากการลงมือทำ ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปสู่ทักษะอื่นๆทั้งด้านสังคม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อที่จะช่วยสร้างประเทศชาติให้เข้มแข็ง  เพราะ “ความมั่นคงของชาติ” ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน  และนี่คือ หลักการของการตั้งหลัก “โรงเรียนศรีแสงธรรม” หรือ ที่หลายคนเรียกกันว่า “โรงเรียนโซล่าเซลล์”  ต้นแบบแห่งพลังงานทดแทน

พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “พระอาจารย์”  ได้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม ในปี 2553 เปิดสอนทั้งม.ต้น-ปลาย ที่บ้านดงดิบ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี   โรงเรียนแห่งนี้มีโจทย์มาจาก “ความขาดแคลน” ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของคนทั้งประเทศ

หลายปีที่ผ่านมา พระอาจารย์ได้มุ่งมั่นหาคำตอบเพื่อแก้โจทย์เรื่องความขาดแคลน โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง  หลักธรรม และเทคโนโลยี  มาผสมผสาน เพื่อเป็นต้นแบบในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดความสมดุลต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม  เพื่อหวังว่าคำตอบจากการสร้างโรงเรียนแห่งนี้จะเป็นมีส่วนในการช่วยชาติ นั่นคือ การผลิตคนดีเข้าสู่สังคม

เมื่อตัดสินใจที่จะทำ พระอาจารย์ไม่ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยและเดินหน้าสร้างความมั่นคงให้กับชาติ ด้วยการขายบ้านตัวเองที่เป็นมรดกชิ้นสุดท้าย มาสมทบทุนสร้างอาคารเรียนมูลค่า 18 ล้านบาท โดยที่ไม่ใช้งบประมาณจากรัฐแม้แต่บาทเดียว และยังสอนเด็กๆโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน มีรถรับ-ส่งฟรี อาหารฟรี 

พร้อมทั้งทำงานอย่างหนัก  เผยแพร่เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์  เพื่อหวังที่จะให้คนไทยสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องพลังงานได้ โดยทุกวันนี้โรงเรียนศรีแสงธรรมผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในโรงเรียนทำให้โรงเรียนเสียค่าไฟเดือนละ 40 บาทเพื่อรักษาค่ามิเตอร์เท่านั้น 

นำไปสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบด้านพลังงานที่ผู้นำประเทศกล่าวถึง และเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งฝึกอบรมด้านพลังงาน ให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่ถนนทุกสายมุ่งสู่โรงเรียนศรีแสงธรรมเพื่อศึกษาเรื่องพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันทางโรงเรียนก็พัฒนานวัตกรรมต่างๆเพื่อออกไปช่วยเหลือชุมชนด้วย

20160906155106.jpg

กำเนิด “โรงเรียนศรีแสงธรรม” เพราะอาตมาเคยขาดแคลนการศึกษา 

พระครูวิมลปัญญาคุณ เปิดใจว่า สาเหตุที่ตั้งโรงเรียน เพราะไม่อยากเห็นใครขาดแคลนการศึกษาเหมือนอาตมา ที่ตอนเป็นเด็กอาตมาเรียนไม่จบมัธยม ไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา  เพราะโยมพ่อกับโยมแม่หย่าร้างกัน ก็เลยต้องออกจากโรงเรียนมาทำงานเพราะเป็นพี่คนโตของบ้าน

อีกหนี่งเหตุผลที่สำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจให้พระอาจารย์ตัดสินใจสร้างโรงเรียน เพราะต้องการสานต่อการช่วยชาติ จากหลวงตามหาบัว ซึ่งพระอาจารย์เป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายของท่าน ได้มีส่วนรวมรวบเงินบริจาคต่างๆ ซื้อทองคำ เข้าคลังหลวง พอหลวงตาปิดโครงการช่วยชาติ ก็คิดว่าการช่วยชาติที่ดีที่สุด คือการผลิตคนดีเข้าสู่สังคม เพราะเด็กเป็นอนาคตของชาติ

20160906160313.jpg

พระครูวิมลปัญญาคุณ เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม  ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม 

 

“ทุกวันนี้สิ่งที่เห็นคือ ความขัดสน ความยากแค้นของคนในชุมชน และส่งผลกระทบไปถึงระดับชาติ เมื่อเด็กไม่รู้หนังสือ อ่านหนังสือไม่ออก จะอยู่อย่างไรในสังคม อนาคตของประเทศชาติจะเป็นอย่างไร หากสถานการณ์ยังเป็นแบบนี้ อาตมามองจากจุดนี้ จึงอยากให้พวกเขามีโอกาสทางการศึกษา ขึ้นไปที่จะส่งพวกเขาไปได้คือโอกาสทางการศึกษา ถ้าไม่มีการศึกษา เด็กๆ ก็จะไม่มีแรงจูงใจอะไรในชีวิต ไม่มีเครื่องมือในการหาเลี้ยงตัวเอง” นี่คือแรงผลักสำคัญที่ทำให้พระอาจารย์มีพลังในการทำสิ่งๆต่าง โดยไม่ย่อท้อ

ทฤษฏี…สู่ปฏิบัติเศรษฐกิจพอเพียง  เริ่มจากห้องเรียนบ้านดิน 

เป้าหมายของหลักเศรษฐกิจพอเพียง คือ การที่เราสามารถพึ่งพาตนเอง มีความมั่นคงในชีวิต แต่การที่จะไปถึงจุดนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ทุกอย่างต้องเกิดจากการลงมือทำ และการมีจิตใจที่มั่นคง ไม่ย้อท้อต่อความยากลำบาก  “อยากได้ต้องสร้างเอง กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน”  ไม่ใช่คำพูดลอยๆอีกต่อไปแล้ว  แต่เป็นการลงมือทำจริงๆที่โรงเรียนแห่งนี้

20160906155215.jpg

ห้องเรียนบ้านดิน ระหว่างที่มีการก่อสร้าง 

 

จากจุดเริ่มต้นของโรงเรียนซึ่งมีปัจจัยเพียงน้อยนิดจากการบริจาค พระอาจารย์จึงตัดสินใจพาเด็กๆสร้างอาคารเรียนแบบบ้านดิน เพราะเป็นแนวทางที่ประหยัดที่สุดและสามารถทำได้ตัวเอง ทุกคนลงมือปั้นดินเป็นด้วยตัวเองนับพันนับหมื่นก้อนเพื่อสร้างอาคารเรียนบ้านดินด้วยตัวเอง ทำให้เด็กๆมีความภูมิใจมาก เพราะเป็นห้องเรียนที่ทุกคนสร้างมากับมือ ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างแท้จริง  ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุด บ้านพักครู อาคารพยายาม ถูกสร้างขึ้นมาจากเศษไม้ เศษเหล็กเก่าๆ เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า

อย่างไรก็ตามห้องเรียนบ้านดินขนาด 112 ตารางเมตรที่สร้างไว้ ยังไม่เพียงพอ จึงเป็นที่มาของการสร้างอาคารเรียน 4ชั้น มูลค่าการก่อสร้าง 18 ล้านบาท โดยพระอาจารย์ตัดสินใจขายบ้านตัวเองและชวนแม่และน้องชายมาอยู่ที่โรงเรียนด้วยกัน

ห้องเรียนบ้านดิน หลังจากก่อสร้างเสร็จแล้ว  

20160906155247.jpg
 

ปลูกผัก-ทำนา แหล่งผลิตอาหารเกษตรอินทรีย์ เรียนที่นี่ต้องสตรอง 

 

ขณะที่การสร้างแหล่งผลิตอาหารแบบเกษตรอินทรีย์ ก็เป็นภารกิจที่สำคัญของนักเรียนที่นี่  เพื่อเป็นอาหารกลางวันของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก เพาะเห็ด การปลูกข้าว โดยเฉพาะในเรื่องการปลูกข้าวที่ทางโรงเรียนใช้วิธีปลูกข้าวต้นเดียว เพื่อเพิ่มผลการผลิต ซึ่งเป็นวิธีการทำนาแบบใหม่ที่กำลังเป็นที่นิยมในระดับโลก  โดยน้องๆโรงเรียนศรีแสงธรรม ต้องลงมือ ไถนา ดำนา เกี่ยวข้าว ด้วยตัวเอง สร้างความตื่นตะลึงกับให้ผู้ที่ได้เห็นเป็นอย่างมาก เมื่อเห็นเด็กสมัยนี้ทั้งหญิงชายสามารถขับรถไถนาได้

20160906155316.jpg

นักเรียนโรงเรียนนี้ต้องสตรอง  แม้แต่เด็กผู้หญิงก็ต้องไถนาได้ 

 

รวมถึงโปรเจคล่าสุด การทำหลุมพอเพียง ถือเป็นเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์อย่างแท้จริง เพราะมีทั้งการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ระยะกลาง และ ผัก โดยเด็กๆต้องลงมือขุดหลุมขนาดใหญ่ 2×2ลึก 1 เมตร รวมทั้งต้องเรียนรู้การปรุงดินให้พืชด้วยเพราะดินในพื้นที่เป็นดินทรายทั้งหมด

เหล่านี้ คือ ตัวอย่างเบื้องต้น ที่โรงเรียนได้ประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการศึกษา โดยเด็กๆได้มีส่วนร่วม ได้ลงมือทำ ได้สร้างผลงานด้วยตัวเอง และสามารถนำความรู้ดังกล่าวกลับไปใช้เพื่อแบ่งเบาภาระพ่อแม่ และเลี้ยงตัวเองในอนาคตได้   เพราะทำมาหมดแล้วทุกอย่าง

20160906155337.jpg

โครงการหลุมพอเพียงขุมทรัพย์ของพ่อ  ที่มีการปลูกพืชผสมผสานทั้งไม้ต้น ไม่ระยะกลาง และผัก 

 

จุดเริ่ม “โซลาเซลล์” เพราะไม่มีอุปกรณ์การเรียนการสอน  

ขณะที่ประเด็นเรื่องพลังงานทดแทน ที่โรงเรียนได้รับการยกย่องว่าเป็นโรงเรียนต้นแบบ จนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของประเทศ แต่ใครจะรู้บ้างว่า ทั้งหมดที่เกิดขึี้น มาจากขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนการสอน มองออกมาก็เห็นแค่ “แดด” เท่านั้น  และการเดินทางเรื่องพลังงานทดแทนก็เริ่มจากวันนั้น
พระอาจารย์เล่าให้ฟังว่า  ตอนนั้นเพิ่งย้ายเข้าอาคารเรียนใหม่ๆ เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ แต่ในห้องไม่มีอุปกรณ์การสอนเลย  มีแต่ “แดด” จึงคิดว่าน่าจะมีการใช้ประโยชน์จากแดด ซึ่งเป็นทรัพยากรที่ไม่มีหมด

“ตอนนั้นมีเพียงแผ่นโซลาเซลล์เก่าๆแตกๆที่พังแล้วมาซ่อม และทดลองใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ที่ชาร์จมือถือ ทำโคมไฟ จากนั้นก็ขยายความรู้ไปเรื่อยๆ ด้วยการเข้าร่วมประกวดโครงการงานต่างๆได้รับรางวัลประเทศมากมาย ในที่สุดจึงเดินหน้าติดตั้งโซลาเซลล์ขนาด 6 กิโลวัตต์ เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ทำให้ค่าไฟลดลงอย่างมากจากเดือนละ 6,000 บาท เหลือเพียง40 บาท”

20160906155404.jpg
 

พระครูวิมลปัญญาคุณ สอนวิชาพลังงานทดแทนด้วยตัวเอง 

 

ไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะทางโรงเรียนยังได้มีประยุกต์ใช้โซลาเซลล์กับเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น ตู้น้ำดื่มพลังงานแสงอาทิตย์  เครื่องสูบน้ำพลังแสงอาทิตย์เข้าแปลงผักต่างๆ   รวมถึงการประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่จากโซลาเซลล์ ไม่ว่าจะเป็น รถสามล้อพลังแสงอาทิตย์ ไฟฉายขอข้าว วิทยุไม่เอาถ่าน เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนที่สนใจ โดยรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายถูกนำมาใช้เป็นค่าอาหารกลางวันและค่ารถรับส่งของโรงเรียน

ลุยสร้างแสงสว่างให้ชุมชน โดยทีมช่างกระโปรงบานขาสั้น 

เมื่อไฟฟ้าในโรงเรียนมีความมั่นคงแล้ว พระอาจารย์ได้เดินหน้าคิดหาทางช่วยเหลือชุมชนโดยนำโซลาเซลล์มาประยุกต์ใช้กับการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนไทย เช่น โซลาเซลล์เคลื่อนที่ “รถเข็นผลิตไฟฟ้าชุดนอนนา” ที่สามารถใช้กับเครื่องสูบน้ำ และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จำเป็น อย่างวิทยุ โทรทัศน์ได้ พัดลม เพื่อให้ชาวนาเข็นไปนอนเฝ้านาอย่างสะดวกสบายมากขึ้น เพราะไม่ต้องเสียค่าน้ำมันแพงๆอีกต่อไป ใช้แดดร้อนๆในนา เป็นพลังงานได้เลย ทำให้เป็นที่ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชมเป็นอย่างมาก

20160906155429.jpg

รถเข็นผลิตไฟฟ้าชุดนอนนาเพื่อเกษตรกร  ซึ่งเป็นโปรเจคแรกๆที่พระอาจารย์ได้ริเริ่มเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความสะดวกสบายในการทำงานมากขึ้น 

 

รวมถึงการเปิดอบรมเรื่องโซลาเซลล์ให้กับบุคคลที่สนใจ  เข้ามาดูงานทีโรงเรียน รวมถึง การเข้าไปช่วยติดตั้งโซลาเซลล์ทั้งแบบออฟกริด และ ออนกริด โดยทีมงานก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเด็ก ม.ปลาย โรงเรียนศรีแสงธรรมนี่เอง เพราะเด็กๆที่นี่ต้องเรียนเรื่องพลังงานทดแทนตั้งแต่เข้า ม.1 จึงมีทักษะต่อไฟฟ้าแบบต่างๆได้อย่างคล่องแคล่ว

เพราะฉะนั้น เสาร์- อาทิตย์ของเด็กโรงเรียนนี้ จึงพิเศษกว่าที่อื่นๆ เพราะพระอาจารย์ได้พาเด็กๆไปปฏิบัติงานจริงในภาคสนามอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มทักษะ และเป็นรายได้พิเศษให้กับเด็กๆอีกด้วย โดยผลงานล่าสุด คือการติดตั้งระบบไฟฟ้าออฟกริด 3,000 วัตต์ ให้กับ สำนักสงฆ์พุทธอุทยานเขาคอก อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่ผ่านมา

20160906155502.jpg

ทีมช่างขอข้าว นักเรียนชั้น ม.ปลาย ลุยติดโซลาเซลล์ให้กับระบบประปาหมู่บ้านเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง 

 

20160906155534.jpg

รวมถึงโปรเจคใหญ่ สู้ภัยแล้งด้วย ระบบสูบน้ำลึกพลังแสงอาทิตย์ เพื่อใช้ในระบบประปาหมู่บ้าน ที่พระอาจารย์และน้องๆ ได้ทำการติดตั้งให้กับ 2 หมู่บ้าน ในอ.อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.สว่างวีรวงศ์ จ.อุบลราชธานี โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทัพภาคที่ 2 ซึ่งสามารถลดค่าไฟได้ถึงเดือนละ 5,000 บาท รวมถึงที่วัดป่าดงใหญ่วังอ้อ ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมสำคัญของ จ.อุบลราชธานี และที่อื่นๆอีกมากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานโรงเรียนศรีธรรม

ผลงานดังกล่าวเป็นที่ประทับใจของชุมชนเป็นอย่างมาก ที่แทบไม่เชื่อด้วยสายตาว่าเด็กชั้น ม.ปลาย จะมีทักษะในการติดตั้งระบบโซลาเซลล์ได้ อีกทั้งยังใช้เวลาแค่ 1 วันต่อ 1โปรเจคเท่านั้น ซึ่งถือว่าเร็วมากและเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้านได้อย่างทันท่วงที 

 

ผลักดันสถานที่ราชการ- วัดในเมือง ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 

นอกจากจะมุ่งมั่นให้แสงสว่างต่อชุมชนในพื้นที่ต่างๆในพื้นที่ห่างไกลแล้ว พระครูวิมลฯยังมุ่งมั่นผลักดันให้สถานที่ราชการ วัด ในเมืองที่ใช้ไฟช่วงกลางวันจำนวนมาก ใช้โซล่าเซลล์เพื่อลดรายจ่าย โดยเมื่อปลายปีที่แล้ว พระครูวิมลฯได้เป็นผู้นำในการวางระบบการติดตั้งโซลาเซลล์ขนาด 27 เมกะวัดต์ ที่วัดยานนาวา พระอารามหลวง ซึ่งได้นำร่องเป็นวัดต้นแบบในเมืองพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถลดค่าไฟได้เดือนละประมาณ 18,000 บาท 

20160906155609.jpg
 

แผงโซลาเซลล์ที่วัดยานนาวา เขตสาธร นำร่องวัดในเมืองพลังงานทดแทนต้นแบบ 

 

พระอาจารย์บอกว่า อยากให้ โรงพยาบาล โรงเรียน มหาวิทยาลัย ที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนมากในตอนกลางวัน พิจารณาเรื่องการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ เพราะสามารถลดรายจ่ายได้ และเป็นการช่วยชาติ สามารถนำเงินที่เหลือไปซื้ออุปกรณ์การแพทย์และการศึกษาเพิ่มเติมได้

“ถ้าสถาบันการศึกษาต่างๆที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 1 เมกะวัตต์ทดลองผลิตใช้เองก็จะประหยัดค่าไฟได้ประมาณเดือนล่ะหกแสนบาท หรือปีละ 7.2 ล้านบาท หากทำ สักพันแห่งทั่วประเทศจะมีเงินเหลือ 7.2 X 1,000 เท่ากับประมาณ 7,000 ล้านต่อปีเกิดการจ้างงานมากมายหรือนำ เงินมาพัฒนาระบบการศึกษาได้นี่คือประโยชน์ของการทำ โซลาร์เซลล์ อย่าบอกว่ามันแพงอาตมาซื้ออุปกรณ์ทั้งหมดรวมเป็นเงิน 1.8 แสนบาท ประหยัดค่าไฟเดือนละ 6,000 บาท เพราะเราซื้อแผ่นโซลาร์เซลล์16 บาทต่อวัตต์ซึ่งสามารถใช้งานได้  25 ปี จึงถือว่าคุ้มค่ามาก ” พระอาจารย์คำนวนตัวเลขอย่างคล่องแคล่ว

 

Net Metering วาระแห่งชาติ 

ในฐานะที่ทำงานด้านพลังงานทดแทนมาเป็นเวลานาน  สิ่งที่พระครูวิมลปัญญาคุณ อยากเห็นมากที่สุด คือการที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากครัวเรือน ( Net Metering) ซึ่งจะเป็นสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง 

พระครูวิมลปัญญาคุณ  ขยายความว่า  เมื่อทุกบ้านสามารถสร้างรายได้จากหลังคาของตัวเองได้ก็จะช่วยให้พวกเขามีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แม้จะเพียงแค่เดือน 1000-2,000 บาท แต่สำหรับคนบ้านนอกถือว่าเยอะมาก

ถ้ามองภาพใหญ่ขึ้นไป มันคือการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรากหญ้าขึ้นมา หรืออาจให้เขาทำ เป็นกลุ่ม คือกองทุนหมู่บ้านละล้าน เอาเงินมาลงทุนทำ โซลาร์เซลล์แล้วรัฐรับ ซื้อจากเขา ลองรัฐบาลรับซื้อ 7 ปี เชื่อว่าจะมีเงินคืนทุน เพราะขนาดอาตมา ทำประมาณ 3 ปีก็คืนทุนแล้ว อีกทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ยังเป็นพลังงานสะอาด ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐยังก้าวไม่พ้นพลังงานจากถ่านหิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาชนในทุกด้าน

20160906155758.jpg

“ฉะนั้นหากรัฐมีการส่งเสริมให้แต่ละระดับสามารถผลิตไฟฟ้าได้เองตามศักยภาพและรับซื้อพลังงานทุกรูปแบบ ตั้งแต่ระดับครัวเรือน หมู่บ้าน ตำบล ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ต่อครัวเรือน ทำ ให้ระบบเศรษฐกิจดีขึ้น และหากภาคประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าได้เกินปริมาณที่ใช้อยู่ก็จะช่วยให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีไฟฟ้าในระบบเพิ่มมากขึ้นโดยภาครัฐไม่ต้องลงทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเลย

 เราดูตัวอย่างจากประเทศที่ประสบผลสำเร็จด้านพลังงานแสงอาทิตย์ก็ได้ เช่น ประเทศเยอรมนี เขารับซื้อไฟทั้งหมดที่ผลิตได้จากประชาชน ก็ทำ ให้วิกฤติการขาดแคลนพลังงานหมดสิ้นไปภายในระยะไม่กี่เดือนและมีพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย อาตมาอยากเห็นประเทศไทยก้าวไปสู่จุดนั้นบ้าง” พระครูวิมลปัญญาคุณ กล่าว

 

โรงเรียนวัด  Go Online  

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทางโรงเรียนจะเน้นการปฏิบัติอย่างมากมาย แต่ทางทฤษฎีและการสอบต่างๆ โรงเรียนก็ไม่ได้ละทิ้ง  เพราะน้องๆโรงเรียนศรีแสงธรรมสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐได้ 100% จนลบข้อกังขาในเรื่องการจัดการศึกษาแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่หลายคนกังวลว่าจะมีจุดอ่อนเรื่องทฤษฎีไปอย่างสิ้นเชิง

เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะแม้จะเป็นโรงเรียนวัดที่อยู่ห่างไกล แต่พระอาจารย์ได้ระดมสรรพความรู้ทั้งหลายที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ต  โดยเฉพาะติวเตอร์ออนไลน์ต่างๆ ทั้งฟรีและดี จัดเต็มให้นักเรียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้คะแนนO-Net  ของเด็กที่นี่สูงไม่แพ้โรงเรียนอื่นๆ  เพราะติวพิเศษกันทุกเสาร์-อาทิตย์ นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครต่างชาติมาสอนเพื่อเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษให้นักเรียนอีกด้วย

20160906155822.jpg

เด็กนักเรียนโรงเรียนศรีแสงธรรมต้องนั่งสมาธิก่อนเข้าเรียนทุกวัน  โดยมีพระอาจารย์อบรมสั่งสอนขัดเกลาจิตใจด้วยหลักธรรมของพุทธศาสนา  เพื่อให้เด็กนักเรียนทุกคนเป็นเก่งและคนดีพร้อมทั้งกายใจ เพื่อจะเป็นกำลังสำตัญของชาติในอนาคต 

 

นอกจากนี้องค์ความรู้ต่างๆของโรงเรียนก็ Go Online ให้ประชาชนทั่วไปได้เรียนรู้ร่วมกัน  โดยผ่านช่องทาง Social Media ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น  Facebook , Youtube, Blog ที่พระอาจารย์เป็นแอดมินหลัก ทั้ง โพสต์ ถ่ายรูป ถ่ายวิดิโอ ตัดต่อเอง ในทุกกิจกรรมที่โรงเรียนทำ

ที่พิเศษที่สุด คือ วิดิโอธรรมะตอนเช้า ที่นักเรียนต้องนั่งสมาธิก่อนเข้าเรียนวันละ 10 -15 นาที โดยมีพระอาจารย์เทศนาเรื่องต่างๆอบรมขัดเกลาจิตใจนักเรียนด้วยหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกวัน และวิดิโอนั้นก็ได้ถูกเผยแพร่ในเฟซบุคทุกวัน  เพื่อเป็นข้อเตือนใจให้กับคนทั่วไปด้วย

จึงเรียกได้ว่าการจัดการศึกษาของโรงเรียนแห่งนี้ เป็นมิติใหม่ของการศึกษาไทย ที่มีการผสมกันระหว่าง หลักธรรม แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง และเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้เด็กๆได้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลก

 ทั้งหมดนี้ คือ เรื่องราวของโรงเรียนต้นแบบที่สร้างแสงสว่างทั้งทางปัญญา และสร้างแสงสว่างให้กับชุมชนและสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ โดยพระอาจารย์ฯ ย้ำปิดท้ายว่า  อยากให้ทุกพื้นที่มีโอกาสได้รู้จักโซล่าเซลล์ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ง่ายมากง่ายกว่าการตากผ้า   เพราะตั้งอยู่กลางแดด 5 นาทีก็มีไฟใช้ได้แล้วอีกทั้งยังเป็นเทคโนโลยีที่ง่ายต่อการดัดแปลงไปใช้ในบริบทต่างๆของชุมชน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ไม่ต้องมีความขัดแย้งกันอีกต่อไป เพราะทุกคนสามารถผลิตพลังงานกันเองได้เลย  หากโรงเรียนกลางป่าอย่างศรีแสงธรรม สามารถทำได้ทุกที่ในประเทศไทยก็สามารถทำได้เช่นกัน

20160906160001.jpg20160906160002.jpg20160906160003.jpg20160906160003_0.jpg20160906160003_1.jpg20160906160004.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ