กฤษฎา บุญชัย: “30 ปี ขบวนป่าชุมชน” กับ “กฎหมายที่แย่ แต่ดีกว่าไม่มี”

กฤษฎา บุญชัย: “30 ปี ขบวนป่าชุมชน” กับ “กฎหมายที่แย่ แต่ดีกว่าไม่มี”

ระหว่างลุ้นคดีกรณีรุกที่ป่าของ ส.ส.หญิงเมืองราชบุรี ชวนคุยเบาๆ กับกฤษฎา บุญชัย จากสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ในฐานะคนในขบวนภาคประชาชนที่ผลักดันแนวคิด “คน” อยู่ร่วมกับ “ป่า”

ประสบการณ์การเคลื่อนไหวอันยาวนานและการรวบรวมข้อมูลจากเรื่องราวกว่า 30 ปี กลั่นกรองมาเป็น “รายงานการศึกษา 30 ปีขบวนการป่าชุมชน” น่าจะช่วยสะท้อนภาพบทเรียนสำหรับก้าวต่อไป ที่จะทำให้เราเห็นชีวิตของป่าชุมชนชนไทยได้ชัดเจนขึ้น

จากลำดับเหตุการณ์ เส้นทาง 28 ปี ก่อน พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา

– พ.ศ. 2534 ร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับแรก ยกร่างโดยกรมป่าไม้ แต่จำกัดเขตเฉพาะพื้นที่ “นอกป่าอนุรักษ์”
– พ.ศ. 2536 ร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชน ถูกยกร่างขึ้น โดยหลักการสำคัญ คือ การยอมรับ “สิทธิชุมชน” ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ตามกฎหมายใด
– พ.ศ. 2538 สมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา มีการยกร่างรวมให้เป็นฉบับเดียวกัน และ ครม.มีมติรับหลักการร่างดังกล่าวในวันที่ 30 เม.ย. 2539
– พ.ศ. 2540 รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อ 50,000 รายชื่อเสนอกฎหมายได้
– พ.ศ. 2542 เสนอร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชน (ปรับปรุงใหม่) เสนอต่อรัฐสภา ในช่วงรัฐบาลชวน 2 แต่ต่อมามีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่
– พ.ศ. 2544 สภาผู้แทนราษฎรในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร มีมติโหวตรับร่างกฎหมายฉบับประชาชน แต่ต่อมาวุฒิสภามีมติคว่ำร่างกฎหมายดังกล่าว
– พ.ศ. 2549 เกิดรัฐประหาร
– พ.ศ. 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างกฎหมายป่าชุมชนฉบับประชาชน แต่ต่อมาถูกศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็นการลงมติโดยไม่ครบองค์ประชุม
– พ.ศ. 2557 เกิดรัฐประหาร
– พ.ศ. 2561 ร่างกฎหมายป่าชุมชนถูกจัดทำขึ้นมาใหม่อีกครั้งโดยกรมป่าไม้ และรัฐบาล คสช. มีมติรับรองเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2561
– พ.ศ. 2562 พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 เผยแพร่ในเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 24 พ.ค. 2562 หลังผ่านการเห็นชอบของ สนช.

 

Q : 30 ปี การเคลื่อนเรื่องป่าชุมชน สังคมได้เรียนรู้อะไร?

กฤษฎา บุญชัย : ข้อแรกเป็นการเรียนรู้ว่าเราจะจัดการทรัพยากรให้มีความยั่งยืน ปกป้องระบบนิเวศน์ ธรรมชาติ รวมทั้งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ความยากจนของชุมชนด้วยระบบที่ดีที่สุดก็คือ ให้ชุมชนที่พึ่งพาทรัพยากรได้มาร่วมคิด ร่วมออกแบบและจัดการทรัพยากรของตัวเอง ซึ่งมันพิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ และเมื่อเปรียบเทียบกับระบบที่มีก่อนๆ อย่างการจัดการเชิงเดี่ยวที่รัฐผูกขาดไม่ว่าจะเป็นป่าเศรษฐกิจหรือป่าอนุรักษ์ หรือการที่จะให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือปัจเจกไปเลย ทั้ง 2 อย่างจะนำไปสู่ปัญหาการลดลงของทรัพยากร และการไม่มีการดูแลอย่างทั่วถึง

แต่พอให้ชุมชนท้องถิ่นซึ่งมีสิทธิในการจัดการทรัพยากรตามวิถีประเพณีของเขาอยู่แล้ว การไปรองรับสิทธิเหล่านั้น ให้เขาออกแบบการจัดการทรัพยากรด้วยกัน กลายเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะเกิดผลสำเร็จว่า ชุมชนเมื่อเริ่มทำแบบนี้แล้วมีสิทธิ มีอิสระตามความเหมาะสมของตัวเอง มันเลยทำให้ป่าหลายแห่งฟื้นฟูขึ้นมา มีความหลากหลายทางชีวภาพ มีความมั่นคงทางอาหาร แล้วก็ทำให้เกิดความเป็นปึกแผ่น เกื้อกูลกันในชุมชนมากขึ้น

บทเรียนแรกที่เราได้จาก 30 ปี ก็คือว่า ระบบการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสม ต้องเป็นระบบที่ชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิ และเป็นการจัดการในระดับพื้นที่

เรื่องที่ 2 ก็คือปกติการจัดการแบบกระแสหลัก หมายถึงการดูแลทรัพยากรมักจะคิดแบบแยกส่วน เช่น อนุรักษ์ก็อนุรักษ์ล้วน ๆ ห้ามแตะต้อง ห้ามใช้ประโยชน์ ขณะเดียวกันการใช้ประโยชน์ก็ใช้ให้มันเต็มที่ เราเลยแบ่งเป็น “ป่าอนุรักษ์” และ “ป่าเศรษฐกิจ” การจัดการป่าชุมชนทำให้เราได้คำตอบใหม่ว่า วิธีคิดแบบแยกส่วนไปประสบความสำเร็จ เพราะว่าในฐานทรัพยากรมันมีความต้องการหลาย ๆ แบบ ทั้งเรื่องของการอนุรักษ์ระบบนิเวศน์ทางธรรมชาติ ขณะเดียวกันคนที่จะมีแรงจูงใจในการเข้าไปอนุรักษ์ทรัพยากรเขาก็จะต้องมีความมั่นคงในทางเศรษฐกิจ หรือจะต้องได้ประโยชน์จากการดูแลจัดการทรัพยากรตรงนั้นด้วย

ดังนั้นการจัดการทรัพยากรป่าชุมชนได้ให้บทเรียนกับเราว่า มันต้องตอบโดยไม่แบ่งแยก คือ ไม่ว่าจะเป็นการอนรักษ์หรือการจัดการเพื่อเศรษฐกิจ สิ่ง 2 สิ่งนี้ต้องทำไปพร้อม ๆ กัน

หรือถ้าจะตอบอีกอย่างหนึ่งก็คือ ถ้าเราอยากจะบรรลุเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนของระบบนิเวศน์ ของทรัพยากรมันต้องตอบเรื่องความเป็นธรรมทางสังคมไปด้วยกัน 2 เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องที่แยกกันไม่ได้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เราเริ่มใช้วิธีคิดในการกีดกัน เช่นเราเอาแต่ตัวระบบทรัพยากรนิเวศน์เป็นตัวตั้ง แต่เราไม่สนใจเรื่องความยากจน ความทุกข์ยากของผู้คน คนก็จะรู้สึกไม่เป็นธรรม และคนเหล่านี้ก็จะไม่ได้เข้ามามีบทบาทในการอนุรักษ์ทรัพยากร

เราจึงเรียนรู้จากป่าชุมชนว่า เราจะไม่แยกว่าป่าอนุรักษ์ล้วน ป่าเศรษฐกิจล้วน หรือมีเป้าหมายเรื่องการอนุรักษ์ล้วนอย่างเดียว โดยไม่เอาเรื่องความเป็นธรรมทางสังคม ทั้งหมดนี้ต้องคิดแบบบูรณาการไปพร้อมกัน

เรื่องต่อมา เรื่องที่ 3 ที่เราได้เรียนรู้ก็คือ เรื่องของการพัฒนานโยบายสาธารณะที่มาจากชุมชนหรือตอบสนองโจทย์ของท้องถิ่นได้ เรามักจะเชื่อว่าการมีกฎหมายที่ดีต้องผ่านกลไกระบบปกติ เช่น มาจากกระทรวง มาจากรัฐบาล แล้วก็ผ่านกระบวนการจึงจะนำมาซึ่งกฎหมายที่ดีได้ แต่ว่ากลไกเหล่านั้นห่างไกลกับชีวิตของชาวบ้านในท้องถิ่น ต่อให้มีสภาผู้แทน มีผู้แทนก็แล้วแต่ แต่ว่าอุปสรรค์สำคัญก็คือตัวระบบราชการ ที่เป็นตัวหลักในการกำหนดนโยบายสาธารณะของบ้านเรา

ดังนั้น การเคลื่อนไหว 30 ปีของป่าชุมชนชาวบ้านได้เรียนรู้ว่า ถ้าอยากจะมีนโยบายที่ดี มีกฎหมายที่ดี มันต้องสร้างมาจากข้างล่างขึ้นมา แต่ไม่ได้หมายความว่าข้างล่างโดยลำพังชาวบ้านอย่างเดียว มันจะต้องมีภาคีอื่น ๆ เข้ามาร่วม

ตัวอย่างกฎหมายป่าชุมชน เริ่มจากการที่เราเห็นปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญก่อน ชาวบ้านตระหนักรู้ปัญหาเหล่านี้จากการถูกสัมปทานไม้ จากการประกาศเป็นเขตป่าอนุรักษ์ แล้วไม่สามารถตอบเรื่องความยั่งยืนของป่า ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ต้องเดือดร้อนด้วย ก็เลยคิดว่ามันจะต้องมีการพัฒนากฎหมาย แล้วทำอย่างไร? ก็ต้องมีการวิจัย แต่ไม่ใช่วิจัยโดยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการจากที่ไหน แต่ต้องเป็นการวิจัยร่วมกัน โดยที่นักวิจัยร่วมกับชุมชน ร่วมกับคนในท้องถิ่นต่าง ๆ มาเรียนรู้และมาศึกษาความรู้เรื่องการหาทางออกในการจัดการทรัพยากร

ร่างกฎหมายป่าชุมชนร่างแรก ๆ ที่ภาคประชาชนยกร่างขึ้นในปี 2536 มันจึงเกิดจากความรู้ จากการวิจัยเชิงปฏิบัติการบวกกับสถานการณ์ปัญหาที่ชาวบ้านเผชิญ นี่เป็นจุดหมายเริ่มต้นของการคิดเรื่องนโยบายสาธารณะ เสร็จแล้วก็ยกระดับขับเคลื่อนไป แต่สิ่งที่เราพบก็คือว่า พอไปเจอโครงสร้างระดับบน ไม่ว่ากลไกราชการไปถึงกฤษฎีกา จนไปถึงสภาต่าง ๆ ด้วยช่องว่างความห่างของสังคมข้างบนกับข้างล่าง มันทำให้เจตนารมณ์ที่ดีของกฎหมายป่าชุมชนที่มาจากชุมชนถูกปรับเปลี่ยนแก้ไข

จนถึงวันนี้ กฎหมายป่าชุมชนที่ออกมายังไม่ยอมรับสิทธิของชุมชนอย่างแท้จริง โดยวัดจาก 1.มีชุมชนจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่ว่าไม่สามารถได้รับสิทธิในการจัดการป่าชุมชน ตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชนได้เลย 2.ตัว พ.ร.บ.เองเน้นกระบวนการออกแบบ ควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด จะมีกฎระเบียบ มีมาตรการต่าง ๆ ออกมา ที่กำหนดว่า “ชุมชนต้องทำอะไร” จะใช้ประโยชน์ได้มากน้อยแค่ไหน มันเป็นการคิดจากการออกแบบของราชการ แต่มันไม่ได้คิดว่าสถานการณ์ในพื้นที่ชาวบ้านต้องการอะไร และต้องการการหนุนเสริมอะไรที่เป็นระบบ มันเลยกลายเป็นว่าพยายามเอาชาวบ้านเข้าไปอยู่ในกรอบ ซึ่งนี่คือปัญหาของกฏหมาย

บทเรียน 30 ปี ป่าชุมชนจึงชี้ให้เห็นว่า การคิดนโยบายสาธารณะถึงแม้จะมาจากข้างล่าง มาจากฐานงานวิจัย แต่เราต้องคิดถึงหน้าตาของนโยบายสาธารณะแบบใหม่ ก็คือถ้าเราอยู่ภายใต้โครงสร้างเชิงเดี่ยวแบบนี้ ไปไม่รอด ต่อให้เป็นกฎหมายที่ดีมาจากข้างล่าง

ต้องคิดถึงเรื่องการปรับโครงสร้าง เช่น การกระจายอำนาจ การปรับรื้อระบบการจัดการทรัพยากรของประเทศใหม่ กระจายสู่ท้องถิ่น กระจายสู่ภาคีที่หลากหลาย และมีการบริหารจัดการร่วมกัน ถึงจะสามารถทำให้เรื่องที่เราอยากจะไปถึงอย่างการจัดการทรัพยากรที่ดี ตอบโจทย์ในทุกด้านของชุมชนและสาธารณะด้วย ให้เป็นสิ่งที่สามารถเป็นไปได้มากขึ้น

เรื่องที่ 4 บทเรียนป่าชุมชนมันสะท้อนให้เห็นว่า ถ้าเราไม่สามารถยึดโยงกับความสนใจ โจทย์ หรือประเด็นปัญหาของสาธารณะได้ มันจะทำให้การขับเคลื่อนของชุมชนที่มาจากชายขอบมีข้อจำกัดในการผลักดัน

กฏหมายป่าชุมชนเป็นตัวอย่างที่ดีว่า มาจากชุมชนที่จัดการป่า พยายามตอบสิทธิของชุมชนในพื้นที่ แต่ว่าสาธารณะส่วนมากแม้ว่าเขาจะรู้จักป่าชุมชนบ้าง แต่ว่าเขาไม่รู้เลยว่ามันเชื่อมโยงกับชีวิตเขาอย่างไร ซึ่งจุดนี้เองเป็นบทบาทของนักวิชาการ บทบาทของสื่อมวลชน หรือบทบาทของภาคสังคมต่าง ๆ ที่จะต้องคิดในการสร้างความเชื่อมโยงตรงนี้ให้มากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นถ้ามองจากมุมของคนที่ไม่รู้จักเรื่องนี้ก็จะมองเป็นเรื่องของคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง

Q : อะไรที่จะยึดโยงป่าชุมชนกับคนทั่วไปได้?

กฤษฎา บุญชัย : ถ้าเราทำความเข้าใจเรื่องป่าชุมชนให้ดีจะพบว่า สิ่งที่ชุมชนดูแลรักษามันตอบโจทย์ไม่ใช่แค่ชุมชนในท้องถิ่น มันตอบโจทย์ให้กับสังคมด้วย เช่น ถ้าเราคิดถึงเรื่องการลดภาวะโลกร้อน รูปธรรมที่ดีที่สุดคือการเพิ่มพื้นที่ป่า ถามว่าวิธีเพิ่มพื้นที่ป่าที่ดีที่สุดคืออะไร? มันก็กลับไปที่โจทย์แรกคือมันต้องใช้การจัดการร่วมกับท้องถิ่น ไม่ใช่การจัดการแบบรัฐ หรือการจัดการแบบเอกชน

ถ้าเราจะต้องคิดเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ในสังคมที่เราจะต้องเผชิญความผันผวนเรื่องโลกร้อนและเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนมีปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารมากขึ้น ถ้าสามารถเชื่อมโยงได้ว่าป่าชุมชนที่ชาวบ้านทำมันกำลังทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารไปสู่สาธารณะรอบข้างได้ มีตัวอย่างจำนวนมากที่ชุมชนดูแลป่าแล้วทำให้ชาวบ้านในที่อื่น ๆ ที่เขาไม่มีป่าชุมชนได้มาพึงพาทรัพยากรจากป่าชุมชนเหล่านี้

แล้วก็มีตัวอย่างมากที่คนไม่มีที่ดิน ไม่มีงานทำ คนยากคนจน หรือแม้กระทั่งคนที่ตกงานกลับบ้าน เขาไม่มีที่ดินในการผลิตของตนเอง แต่อย่างน้อยมีฐานทรัพยากรให้เขาพึ่งพาได้

ความเชื่อมโยงแบบนี้เป็นสิ่งที่นักวิชาการ สื่อมวลชนหลาย ๆ ฝ่ายจะต้องชี้ให้เห็นว่ามันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะนะ ดังนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องของคนชายขอบ เพียงแต่ที่ผ่านมาเรายังไม่สามารถเชื่อมโยงเรื่องนี้ได้มากนัก มันเลยทำให้เรื่องป่าชุมชนยังไม่มีพลังทางสังคมมากเพียงพอในการขับเคลื่อน

 

Q : การผลักดันมา 30 ปีจนได้กฏหมายไม่เรียกว่าเป็นความสำเร็จเหรอ

กฤษฎา บุญชัย : มันยังเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกับรัฐ สังคมยังไม่ค่อยสนใจ ยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น พอกฎหมายป่าชุมชนถูกปรับ เหลือแต่เพียงแค่ “ป่าชุมชนนอกป่าอนุรักษ์” สังคมก็ไม่ได้มีคำถามอะไรกับเรื่องนี้ หรืออาจสนับสนุนเสียด้วยซ้ำเพราะคิดว่าป่าอนุรักษ์เป็นดินแดนที่ต้องให้รัฐเท่านั้นในการดูแล โดยไม่เข้าใจว่าชาวบ้านที่ตกซ้อนอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์เขาจะดำเนินชีวิตอย่างไร และเอาเข้าจริงๆ ป่าอนุรักษ์จะอนุรักษ์ได้ผลมากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นอุทยาน เขตต้นน้ำ เขตรักษาพันธุ์ฯ ถ้าไม่ให้ชุมชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการพื้นที่

จริงอยู่ที่คนเริ่มเข้าใจคนกับป่ามากขึ้น เราสามารถผลักดันให้มีกฎหมายป่าชุมชน แม้จะยังพลาดเป้าไปเยอะ โดยเฉพาะหลักการสำคัญหลายเรื่องในเรื่องสิทธิชุมชน แต่ถ้าเราจะวัดจากว่ามันเชื่อโยงกับสาธารณะ จนสาธารณะเห็นว่านี่แหละคือทางออกของการจัดการป่า ไม่อย่างนั้นสาธารณะไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ส่วนบุคคลต่าง ๆ คงไม่วิ่งไปหาการปลูกป่าโดยที่มันไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่ ทั้งปลูกโดยที่ไม่มีใครดูแล หรือไว้ใจให้หน่วยงานราชการไปปลูกป่า หรือให้บริษัทเอกชนไปทำเอง

แต่ถ้าเราสามารถเชื่อมโยงได้ สังคมภาคส่วนต่าง ๆ จะเห็นว่าถ้าอยากมีพื้นที่สีเขียว อยากมีการลดคาร์บอนให้ได้ อยากมีความมั่นคงทางอาหารดี ๆ ก็ต้องสนับสนุนชุมชนในการจัดการป่าให้มากขึ้น ถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้มากขึ้น ผมคิดว่าบางทีตัวกฎหมายหรือภาครัฐ อาจไม่ค่อยมีบทบาทสำคัญมากนักด้วยซ้ำไป

 

Q : จากภาพ 30 ปีที่ผ่านมา เอาเข้าจริงการมีกฎหมายหรือการที่ชุมชนลุกขึ้นมาปฏิบัติการเอง อันไหนสำคัญกว่ากัน เพราะไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าการมีกฎหมายจะเป็นตัวหนุนเสริมหรือตัวลดทอน

กฤษฎา บุญชัย : อยู่ที่ตัวกฎหมายที่ออกมาและโครงสร้างหรือกลไกการใช้กฎหมาย ถามว่าอะไรสำคัญที่สุดก็ต้องเป็นชุมชนที่เขาลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง เพราะต่อให้มีกฎหมาย ถ้าไม่มีชุมชนที่มีความมุ่งมั่น มีความพร้อมในการจัดการ กฎหมายก็ไปเสกให้เกิดขึ้นไม่ได้ ให้ชุมชนลุกขึ้นมาอุปโลกน์ให้เกิดขึ้นมาไม่ได้ แต่ประเด็นอยู่ตรงที่ว่ากฎหมายแบบไหนถึงจะไปสนับสนุนให้เกิดความเติบโตของชุมชน ในชุมชนที่มีวิถีประเพณีทั้งแบบเก่าหรือแบบใหม่ก็แล้วแต่

ลักษณะของวิถีประเพณีก็คือเป็นบริบทเฉพาะถิ่น ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เหมาะสม ชาวบ้านมีอำนาจในการกำกับ ตรวจสอบ และเปลี่ยนแปลงได้ มีองค์ความรู้ กฎหมายที่ดีก็คือไปรับรองสิทธิชุมชนเหล่านี้ให้เป็นกฎหมาย ให้มีสถานะกฎหมาย เพราะถ้าว่าลำพังวิถีประเพณีเอาไม่อยู่ หมายถึงไม่สามารถจัดการทั้งภายในชุมชนเองและภายนอกที่เข้ามา แต่ถ้าวิถีประเพณีได้รับการเสริมแรงโดยกฎหมายว่า วิถีประเพณีมีสถานะทางกฎหมายด้วย มันทำให้เขาสามารถใช้วิถีประเพณีเหล่านี้ในการดูแลทรัพยากรได้ดีมากขึ้น

แต่ว่าถ้ากฎหมายไปริดรอนสิทธิทางวัฒนธรรมหรือวิถีประเพณีแล้ว ก็กลายเป็นว่ากฎหมายไปสลายพลังของท้องถิ่นลง จนเหลือเพียงแต่กฎหมาย แต่ไม่สามารถเกิดประโยชน์ที่ชุมชนจะมาดูแลรักษาทรัพยากรณ์ได้

Q : แล้วกฎหมายป่าชุมชนฉบับนี้เป็นอย่างไร

กฤษฎา บุญชัย : กฎหมายป่าชุมชนฉบับนี้ ย้อนกลับไปตอนที่กรมป่าไม้ยกร่างฉบับแรกขึ้นมาเมื่อปี 2534 คือถอยหลังไปประมาณ 28 ปี โดย 1.ไม่ยอมรับชุมชนที่อยู่ในป่าอนุรักษ์ 2.มองป่าชุมชนเป็นเพียงป่าเล็กป่าน้อยของการจัดการเศรษฐกิจพึ่งตนเองของชาวบ้าน เอาไปปลูกป่าเสริมบ้าง เพราะว่ารูปธรรมชัดในกฎหมายเขียนว่าเรื่องของไม้ทรงคุณค่าที่หวงห้าม ฯลฯ มันยังไม่ได้เป็นการดูว่าตกลงชีวิตชาวบ้านเป็นอย่างไร? เขาต้องการอะไร? และกฎหมายจะไปหนุนเสริมอะไรบ้างฦ วิธีคิดแบบนี้คล้ายกัน

ในความรู้สึกของผมก็คือกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ก้าวหน้าไปกว่าเดิมจากเมื่อ 28 ปีที่แล้วเลย อาจจะมีโครงสร้างบางอย่างเปลี่ยนไปบ้าง เช่น มีกรรมการระดับจังหวัด กรรมการระดับชาติ มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาบ้าง แต่โดยวิธีคิดยังมองว่าป่าชุมชนไม่ได้มีค่าอะไรกับป่าทั้งระบบเท่าไรนัก อันนี้คืออันที่หนึ่ง สองคือไม่ได้เชื่อใจในสิทธิของชุมชน เป็นเรื่องของการพยายามกำกับดูแล ตรวจสอบอย่างไรให้ยังอยู่ในกรอบของราชการ

ผมมี 2 มุมมองความคิด อันแรกถามว่ามันก้าวหน้าขึ้นไหม ตอบได้เลยว่าไม่ ไม่มากไปกว่าเดิมสักเท่าไหร่ ถามต่อมาอีกว่าดีกว่าไม่มีไหม ก็อาจจะดีกว่าไม่มีขึ้นมาหน่อยหนึ่ง เพราะว่าแต่เดิมพอไม่มีกฎหมายเลย ชาวบ้านแม้จะอยู่ในเขตป่าสงวนก็ใช้ทรัพยากรไม่ได้ ที่ใช้ได้ในทุกวันนี้ก็เป็นการใช้แบบอะลุ่มอล่วย หรือเป็นในเชิงการบริหารของหน่วยงานราชการในแต่ละพื้นที่

พอมีกฎหมายป่าชุมชน อาจมีข้อดีขึ้นหน่อยหนึ่ง เช่น ถ้าชุมชนอยากทำแผนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในป่า อยากเอาสมุนไพรในป่ามาทำเรื่องเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งแต่เดิมเป็นดุลพินิจ แต่ถ้าเป็นกฎหมายฉบับนี้ถ้าแผนเหล่านี้ได้รับการอนุมัติรับรองจากทางกรมป่าไม้ก็ยังสามารถใช้ประโยชน์ได้ในระดับหนึ่ง

ล้าหลังแต่ว่าก็ยังดีกว่าการไม่มีอะไรเลย แต่สิ่งที่ควรจะไปข้างหน้าคือการปรับปรุงใหม่ทั้งระบบ เอาหลักคิดเรื่องสิทธิชุมชนมาเป็นฐาน ว่าวิถีชีวิตของชุมชน ประเพณีที่มีอยู่ รวมทั้งสถานการณ์ปัญหา ความต้องการทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและในอนาคตของชุมชนจะเป็นอย่างไร เราจะต้องมีเครื่องมือทางนโยบายเหล่านี้ไปตอบโจทย์เขาให้ได้

ชาวบ้านเขาต้องมีพื้นที่สีเขียวของตัวเอง ต้องมีความมั่นคงทางอาหาร มีเศรษฐกิจจากฐานทรัพยากร ต้องมีความพร้อมความสามารถในการดูแลทรัพยากรร่วมกัน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ควรลิสต์ออกมา แล้วเอาเครื่องมือทางกฎหมายต่าง ๆ เข้าไปเอื้อ เข้าไปสนับสนุนให้ได้มาก มันจึงจะเกิดคุณูประการในการจะยกระดับให้ก้าวหน้าไปกว่าเดิม แต่ว่าตอนนี้มันยังไปไม่ถึงเท่าไหร่ จะต้องมีการปรับกฎหมายป่าชุมชนรวมทั้งกฎหมายอื่น ๆ ใหม่

ต่อไปชุมชนท้องถิ่นที่ไหนก็ตามไม่ว่าจะอยู่ในป่าประเภทไหน ถ้าชุมชนมีวิถีวัฒนธรรมประเพณี มีการจัดการทรัพยากรที่ยังยืน สามารถจัดการป่าชุมชนได้หมด ไม่ต้องมานั่งแบ่งแล้วว่าต้องเป็นนอกป่าอนุรักษ์ ส่วนป่าอนุรักษ์ห้ามทำ และชุมชนเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องเก่าแก่ดั้งเดิม เพราะงานวิจัยรวมทั้งข้อมูลเชิงประจักษ์ก็บอกแล้วว่า หลายชุมชนแม้กระทั่งชุมชนที่เพิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ แต่เมื่อเขามีความจำเห็นต้องพึ่งพาทรัพยากรร่วมกัน เขาต้องให้ทรัพยากรยั่งยืนไปได้ เขาก็ลุกขึ้นมาทำป่าชุมชนของเขา ตรงนี้จึงต้องสลายความคิดที่ว่าต้องจัดการมากี่ปีแล้ว เราต้องคิดในมุมการส่งเสริม

อันนี้เป็นข้อสำคัญหนึ่ง ถ้ากฎหมายจะมีต่อไปในอนาคต อย่าคิดในเชิงกำกับ ควบคุม ป้องปราม แต่ต้องคิดว่าเครื่องมือทางกฎหมายจะไปส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง และเปิดให้กับภาคสาธารณะ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ เอกชนต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทสนับสนุนได้มากขึ้น

ทุกวันนี้ ต่อให้มีกฎหมายป่าชุมชน คำถามคือแล้วชาวบ้านจะได้รับการสนับสนุนอะไร นอกจากการขึ้นทะเบียน มีกองทุนไหมที่จะหนุนให้ชาวบ้านทำเรื่องต่าง ๆ เช่นเรื่องไฟป่า การฟื้นฟูปา หรือการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับป่าไม้ เรามีส่วนวิชาการเข้าไปหนุนเสริมหรือไม่ถ้าชาวบ้านอยากปรับปรุงพื้นที่ป่าชุมชนให้ดูดซับคาร์บอนได้มากขึ้น เรามีเครื่องมืออะไรไปหนุนเสริมหากชาวบ้านต้องการเพิ่มความมั่นคงทางอาหารจากป่า มันจะต้องมีการออกแบบพื้นที่อย่างไร สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในภูมิปัญญาก็จริงแต่มันต้องการวิชาการเข้าไปสนับสนุนมากขึ้นด้วย

มันต้องคิดในเชิงส่งเสริมถึงจะสามารถไปรอด แต่ถ้ายังคิดว่าต้องควบคุมกำกับ อันนี้ก็ยังไปได้ยาก

Q : ขบวนการการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาอะไรคือจุดพลาด ทำให้ 30 ปี การต่อสู้ที่เหมือนจะไปข้างหน้า แต่กลับถอยหลัง?

กฤษฎา บุญชัย : ไม่อยากเรียกว่าจุดพลาด แต่เรียกว่ามันเป็นข้อจำกัดของโครงสร้าง เพราะว่ากฎหมายที่ผลักดันโดยความต้องการของประชาชนความจริงมีหลายฉบับมาก ไม่ได้เกี่ยวกับแค่เรื่องทรัพยากร ตั้งแต่กฎหมายประกันสังคม มาถึงป่าชุมชน มีอีกมากมายที่พอเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายระดับชาติแล้วมันจะถูกเปลี่ยน กระทั้งเปลี่ยนเจตจำนงไปเลยก็มี สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเกิดจากโครงสร้างระบบราชการของเรายังเป็นโครงสร้างใหญ่ที่ไม่ทันการเปลี่ยนแปลง แต่เป็นโครงสร้างที่มีอำนาจในการกำหนดนโยบายมากที่สุด อันนี้เป็นปัญหาใหญ่

พอเจอปัญหาแบบนี้ก็เป็นเรื่องปกติที่ชาวบ้านก็ต้องใช้เครื่องมือทางกฎหมาย ทางนโยบายเข้ามาสู้ ต้องมีร่างกฎหมายที่เสนอเองขึ้นมา

จริงอยู่อาจมีข้อจำกัด เช่น เราอาจจะคิดเครื่องมือในทางนโยบายน้อยเกินไป เรามีแต่แค่เรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ทั้งที่จริง ๆ ยังมีอีกหลายเรื่องที่เราจะสามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ เราอาจจะมีอีกหลายเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องเป็นกฎหมาย

ถ้าจะบอกว่าจุดพลาดของขบวนการมีหรือไม่ ผมคิดว่ามี แต่ว่ามันมาจากไม่ว่าทีมสนับสนุน นักวิชาการ เอ็นจีโอ ฯลฯ เรายังไม่สามารถที่จะพัฒนายุทธวิธี พัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายต่าง ๆ ให้สามารถมีพลังในการขับเคลื่อนมากพอ แต่พอเราจำกัดตัวเองเหลืออยู่แค่ พ.ร.บ.ป่าชุมชนเป็นทางออกเดียว เมื่อมันไปไม่ได้ ทั้งหมดก็ล้มครืน

ตอนนี้การกลับขึ้นมาใหม่ก็ยังเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก ถ้าเราไม่สามารถทำให้เกิดความคิดในเชิงนโยบายใหม่ ๆ ขึ้นมาว่านอกจากกฎหมายป่าชุมชนแล้ว เราจะต้องมีเครื่องมือทางสังคม เครื่องมือทางกฎหมายอื่น ๆ อะไรอีกบ้างที่จะใช้ขับเคลื่อนชุมชน

 

Q: ถึง ณ จุดนี้แล้ว จะทำอะไรต่อไปได้อีก?

กฤษฎา บุญชัย : การเชื่อมกับสาธารณะ อันนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่อยากให้น้ำหนักมากที่สุด คือทำให้สังคมเห็น ตัวอย่างการจัดการทรัพยากร ถ้าเอาเป้าหมาย SDG เป็นตัวตั้ง หลักการ 5 P คือ People (ประชาชน) Planet (โลก) Prosperity (ความมั่งคั่ง) Peace (สันติภาพ) และ Partnership (ความเป็นหุ้นส่วน) สิ่งเหล่านี้เป็นตัวตั้งและตัวกำหนดเป้าหมาย 17 ข้อ

เราจะต้องสามารถก้าวพ้นจากข้อถกเถียงเดิม ๆ ปัญหาเดิม ๆ อันนี้หมายถึงทั้งฝ่ายราชการและฝ่ายต่าง ๆ เราจะต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์ในเชิงความขัดแย้งเหล่านี้ ก่อให้เกิดเป็นพลังในการหนุนเสริมกันออกไป เพราะว่าอนาคตข้างหน้าเหลือไม่มากแล้ว

เราจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้อย่างไร? เราจะมีความมั่นคงทางอาหารสำหรับคนจำนวนมากที่อาจจะตกงานกลับบ้านได้อย่างไร? เราจะทำให้ชุมชนมีสวัสดิการชุมชนที่เข้มแข็งได้อย่างไร? สิ่งเหล่านี้เราจะต้องทำให้สาธารณะกับชุมชนเห็นว่านี่คือเป้าหมายที่จะเดินไปด้วยกัน

ชุมชนคือพลเมืองที่เข้มแข็งและตื่นรู้ในการจัดการทรัพยากร สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นต้นแบบหรือบทเรียนให้กับคนในภาคเมือง ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งเรื่องการจัดการทรัพยากรของตนเอง รวมทั้งไปหนุนเสริมชุมชนต่าง ๆ ที่ดูแลทรัพยากรเหล่านี้ให้เข้มแข็งมากขึ้น

เดี๋ยวนี้เกิดเทคโนโลยีทางนโยบายใหม่ ๆ ขึ้นเต็มไปหมด ทั้งนโยบายเรื่องการสนับสนุนด้านการเงิน การเอาระบบภาษีเข้ามาใช้ หรือการมีระบบการสร้างการชดเชย เช่น ถ้าชุมชนมีการดูแลรักษาทรัพยากรที่ดี คนที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ได้น้ำจากป่าชุมชน ได้อาหาร ได้อากาศที่ดี ฯลฯ ก็ควรสามารถเข้าไปเกื้อหนุนชุมชนได้

เราใช้เครื่องมือทางการเงิน เครื่องมือทางนโยบาย เครื่องมือทางภาษีต่าง และเครื่องมือทางสังคมอื่น ๆ เข้ามาช่วยได้ แต่จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องทำให้ชุมชนกับสาธารณะเข้าใจ เห็นเป้าหมายตรงนี้ร่วมกันว่ามันไปไม่รอดถ้าใช้วิธีอื่น แต่ต้องใช้การจัดการป่าชุมชน การกันทรัพยากรของท้องถิ่น และป่าชุมชนต่อไปอาจจะมีทั้งในภาคชนบท ในภาคเมือง ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งเอกชน สาธารณะได้หมดทุกประเภท

โลกข้างหน้ามันเปิดกว้าง อย่าไปคิดติดกรอบอยู่แค่ตัวกฎหมาย แต่ทำให้สาธารณะกับชุมชนเชื่อมโยงกัน เข้าใจกันมากขึ้น มีองค์ความรู้ มีปฏิบัติการ ทำงานร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน แล้วเราจะโน้มนำกฎหมายมาสนับสนุนเราได้มากขึ้น

Q : นี่คือทางออกของสังคมโดยร่วม

กฤษฎา บุญชัย : ผมอยากให้เห็นว่านี่คือทางออกของบริบทสังคมโดยรวม อย่างเช่นการที่เราบอกว่าจะเพิ่มพื้นที่ป่าร้อยละ 40 พื้นที่สีเขียวร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ แล้วเราจะทำอะไร? จะเอากล้าไม้ไปปลูกป่าในพื้นที่ต่าง ๆ เต็มไปหมดหรือ มันก็มีการพิสูจน์เป็นจำนวนมากแล้วว่าค่อนข้างล้มเหลว

เราจะหยุดยั้งการทำลายป่าในพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างไร ถ้าไม่ให้คนในท้องถิ่นลุกขึ้นมาดูแลปกป้องทรัพยากรอย่างมีกำลังความสามารถ ไม่ใช่ให้เขาสู้อย่างโดดเดี่ยว หรือเราอยากจะมีอาหารที่ดี มีสมุนไพรที่ดีที่เอามาทำเป็นยา ทรัพยากรทางชีวภาพเหล่านี้เอามาทำเป็นสิ่งที่ทดแทนพลาสติกหรือว่าสิ่งอื่น ๆ ได้มากมายเต็มไปหมด

เดี๋ยวนี้เรากำลังตื่นตัวเรื่องการลดใช้พลาสติก คำถามคือแล้ววัสดุทดแทนคืออะไร เรากำลังไปหาพวกวัสดุทางชีวภาพต่าง ๆ ซึ่งต้นทางเราก็ต้องกลับไปดูว่าเรามีฐานทรัพยากรอะไรบ้างจากชุมชน จากที่ต่าง ๆ ไปหาว่ามีองค์ความรู้อะไรบ้าง ถ้าเราไม่เก็บรักษาสิ่งเหล่านี้เอาไว้ สาธารณะจะไม่มีทางออกสำหรับการแก้ปัญหาใหม่ ๆ

โจทย์ตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ เวลาเราคิดออกแบบกฎหมายหรือออกแบบนโยบายป่าไม้แห่งชาติมันจะต้องมองถึงมิติต่าง ๆ เหล่านี้

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ