30 สภาองค์กรชุมชน เคลื่อนร่วมสภาลมหายใจเชียงใหม่ ลงมือแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน ระบุแก้ไขฝุ่นควันต้องทำต่อเนื่องตลอดทั้งปี และแก้โจทย์ที่สอดคล้องกับพื้นที่ ไม่ใช่แต่เพียงการดับไฟ คิดแผนระดับหมู่บ้านเพื่อเชื่อมกับนวัตกรรมภาควิชาการและเอกชน อบจ.เชียงใหม่รับลูกเตรียมเปิดวอร์รูมแก้ปัญหาฝุ่นควัน 10 ตุลาคม นี้
วันที่ 30 กันยายน 2562 ที่หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ 30 สภาองค์กรชุมชน ในพื้นที่ 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในนาม สภาลมหายใจเชียงใหม่ เปิดเวทีพูดคุยถึงแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นควันของจังหวัดเชียงใหม่ โดยประเด็นสำคัญคือจะผลักดันเรื่องนี้ผ่านองค์กรชุมชน เนื่องจากเป็นองค์กรขนาดเล็กและอยู่ใกล้และเข้าใจเข้าถึงคนในพื้นที่ระดับหมู่บ้านมากที่สุด
นายธนกร ช่วยค้ำชู ประธานสภาองค์กรชุมชนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การจะแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของ จังหวัดเชียงใหม่อย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยคนทุกกลุ่มเนื่องจากปัญหานี้มีผลกระทบต่อทุกคน โดยที่ทุกคนเป็นทั้งผู้ก่อปัญหาและรับผลกระทบจากปัญหา ขณะที่การป้องกันแก้ไขปัญหานั้น มีความจำเป็นที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ไม่ใช่แต่เพียงการดับไฟ ซึ่งแนวทางแก้ปัญหานั้นแต่ละพื้นที่ แต่ละตำบล แต่ละหมู่บ้านมีความซับซ้อนทั้งการรับรู้ และการปฏิบัติ และมีความพร้อมต่างกัน เช่นก่อนหน้านี้ที่มีการผู้คุยกันของเวทีสภาองค์กรชุมชน มีไอเดียที่แต่ละชุมชนคิดและเตรียมแผนทำ เช่นในพื้นที่สูง ในพื้นที่ป่า การเเก้ไขปัญหาอาจจะมีแนวทางในการเปลี่ยนวิถีการเพาะปลูก ปลูกพืชไม้ยืนต้น ในพื้นที่ชานเมือง เช่นที่ อ.ดอยสะเก็ดการแก้ปัญหาในการปลูก พื้นที่ลดการเผา มีการพูดคุยถึงการสนับสนุนนวัตกรรมเครื่องมือในการอัดก้อนฟางข้าวเพื่อไม่ให้ชาวบ้านเผา หรือน้ำหมักที่ใช้ย่อยเศษฟางข้าว เป็นต้น
นายนวพล คีรีรักษ์สกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง บอกว่าในการเข้าร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ครั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่ป่ามากที่สุด มักเป็นจำเลยของสังคมมาโดยตลอด คนเมืองหลายคนคิดว่าพวกเขาเป็นต้นเหตุของการเกิดควัน แต่ยอมรับว่าบางส่วนมีการเผาเพื่อทำไร่ หรือทำเกษตรจริง แต่ในช่วงหลังเมื่อมีองค์ความรู้เข้าไปในการจัดการพื้นที่ การส่งเสริมการปลูกพืชยืนตัว ก็ช่วยแก้ปัญหาได้ อย่างไรก็ตามวิถีของชาวบ้านที่ดูแลผืนป่าก็ยังคงดำเนินอยู่ เช่นชนเผ่าปกาเกอญอ ก็จะมีวิธีการดูแลและรักษาป่าผ่านความเชื่อ อย่างป่าเดปอทู ที่ให้ต้นไม้เเต่ละต้นมีเจ้าของตั้งแต่เกิดเพื่อไม่ให้ถูกทำลาย
นายพิบูลย์ ธุวมณฑล ตัวแทนชุมชนจากอำเภออมก๋อย ส่วนของตนเป็นชนเผ่าปกาเกอญอ อยู่ท่ามกลางปัญหามายาวนานแต่ด้วยวิถีของชนเผ่ามีการเผาไร่เพื่อทำไร่หมุนเวียน แต่ ณ ตอนนี้จำนวนไร่หมุนเวียนลดลงมากเเล้ว มีการปรับเปลี่ยนการปลูกพืช เพราะฉะนั้นอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความรู้ชุมชนในเขตป่าในการปรับวิถีการปลูก โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่ไม่ต้องเผา
นายอาณัติ คลังวิเชียร ประธานชุมชนพวกเเต้ม เครือข่ายชุมชนในเขตเมือง กล่าวว่า ในส่วนของชุมชนในเขตเมืองตระหนักและให้ความสนใจในการแก้ปัญหาฝุ่นควันครั้งนี้ ตอนนี้สิ่งที่ชุมชนเมือบทำอยู่คือการปลูกต้นไม้กับโครงการเขียวสู้ฝุ่น ปลูกต้นไม้ล้านต้น มีการจัดทำระบบน้ำฝอย ลดฝุ่นควัน และตอนนี้กำลังพูดคุยกันถึงการขอความร่วมมือการลดการใช้รถยนต์ในเขตพื้นที่สี่เหลี่ยมคูเมือง อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวันในช่วงค่าฝุ่นสูง เนื่องจากภาคเมืองปฏิเสธไม่ได้ว่าเราร่วมก่อมลพิษผ่านพวกรถยนต์
นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า เรื่องปัญหามลพิษทางอากาศของจังหวัดเชียงใหม่รุนแรงมากขึ้น ปี2550 ช่วงนั้นมลพิษก็หนักแต่ว่าคนยังไม่ตระหนัก แต่วันนี้เห็นแล้วว่าคนทุกภาคส่วนให้ความสนใจและอยากร่วมกันแก้ปัญหาร่วมกันมากขึ้น เห็นพลังของประชาชน โดยเฉพาะคนในหมู่บ้านคือรากหญ้าแท้ๆ ที่จะมีส่วนในการแก้ปัญหา ดังนั้นเมื่อดูจากปี 2562 แล้วคาดการณ์ว่าปี 2563 ค่าฝุ่นควันจะสูงและหนักกว่าปีที่ผ่านมาแน่นนอน ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีแผนเตรียมการไว้โดยจะดึงทุกภาคส่วนร่วมทำงานในการแก้ปัญหานี้ โดยในวันที่10 ตุลาคม ได้ประกาศเปิดวอลรูมเพื่อเตรียมพร้อมบูรณาการ แก้ปัญหาฝุ่นควัน ระยะแรกในการสร้างความตระหนักและการป้องกันตัวเองในระดับชุมชน โดยมีแผนติดตั้งเครื่องวัดฝุ่น pm 2.5 ในทุกตำบลในจุดเสี่ยง โดยเป้าต้องติดให้ครบทุกหมู่บ้านซึ่งในจังหวัดเชียงใหม่มีมากกว่า 2,000 หมู่บ้าน ในพื้นที่ป่ามีการทำฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นในเขตป่า นอกจากนั้นยังเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือในการดับไฟ เช่นเครื่องเป่าลมในการทำแนวกันไฟ ซึ่งที่ผ่านมาไม่สามารถจัดซื้อและมอบให้ได้ ทาง อบจ.จึงซื้อเพื่อไว้ให้ยืม ส่วนด้านของงบประมาณได้มีงบกลางของการดำเนินการไว้เพื่อแก้ปัญหาในระเบียบเบิกจ่ายของหน่วยงาน
นอกจากเวทีพูดคุยกันที่จะมีขึ้นตลอดทั้งวันโดยมีเป้าหมายแผนการทำงานที่แต่ละชุมชนจะร่วมกันออกแบบในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน โดยให้มีกลไกการเชื่อมการทำงานกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทั้งในเรื่องของฐานข้อมูลพื้นที่ ในนวัตกรรมด้านการผลิตพืชเกษตรร่วมถึงการจัดการความรู้ในการรับมือของคนกับฝุ่นควันด้วย
ทั้งนี้ สภาองค์กรชุมชนได้ยืนหนังสือข้อเสนอ สภาลมหายใจเชียงใหม่ ประชาสังคมเชียงใหมเพื่ออากาศสะอาดยั่งยืนชุมชนดินน้ำป่าอากาศยั่งยืน ต่อนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อหาดังนี้
สภาลมหายใจเชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่รวมของประชาสังคม องค์กร หน่วยงานวิชาการ ภาคธุรกิจ ที่ใส่ใจและมุ่งมั่นมีส่วนร่วมจัดการปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่อทุกคนทั้งคนในเชียงใหม่และผู้มาเยือน โดยได้มีการเตรียมการระยะสั้น ระยะยาว เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหา โดยเริ่มจากโครงการ“ เขียวสู้ฝุ่น” ระดมพลังจัดการพื้นที่สีเขียว การเพิ่มปริมาณต้นไม้ในทุกพื้นที่ในเมืองในป่าในดอยมีการจัดทำคู่มือพันธุ์ไม้สู้ฝุ่นสำหรับปลูกในบ้านในอาคารและพื้นที่ทั่วไป โครงการตั้งเป้าอย่างน้อยให้ได้ 1 ล้านต้น นอกจากนี้ยังได้มีการดำเนินการเตรียมตัวเผชิญฝุ่นควันในช่วงวิกฤติโดยมีการจัดทำคู่มือส่งเสริมสุขภาพป้องกันฝุ่นพิษแบบง่ายสำหรับสื่อสารและจัดฝึกอบรมประชาชนในระดับตำบลร่วมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและการดำเนินการพื้นที่รูปธรรมจัดการลดฝุ่นควันในระยาว 30 ตำบล ที่ร่วมดำเนินการโดยสภาองค์กรชุมชนตำบลและเครือข่ายกลุ่มชาติพันธ์นำร่องใน 25 อำเภอ คือ“ โครงการชุมชนดินน้ำป่าอากาศยั่งยืน” เป็นการดำเนินการจัดทำแผนบูรณาการในพื้นที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยมุ่งเน้น
1. ให้เกิดการแก้ปัญหาเศรษฐกิจฐานรากการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตเพื่อลดฝุ่นควันโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อมของชุมชนในทุกมิติการจัดการที่ดินทำกินสิทธิในที่ทำกิน
2. การปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ทำกินในชุมชนในเขตป่า
3. การจัดระบบสวัสดิการชุมชนเพื่อคุณภาพชีวิตประชากรทุกกลุ่มวัย
4. การสร้างความตระหนักปัญหาฝุ่นควันและการเตรียมตัวเตรียมบ้านให้พร้อมเผชิญภาวะฝุ่นควันโดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุทั้งนี้โดยขอการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดดังนี้
1. สนับสนุนการจัดทำแผนบูรณาการของชุมชนในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน
2. สนับสนุนการดำเนินการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตการใช้นวัตกรรมการผลิตลดฝุ่นควัน
3. สนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำแนวกันไฟการชิงเผาการดับไฟ
4. จัดทำระบบเตือนภัยมลพิษฝุ่นควันในระดับตำบลสร้างอาสาสมัครเตือนภัยฝุ่นควัน
5. จัดทำข้อมูลปัญหามลพิษฝุ่นควันและการป้องกันตนเองจัดทำเอกสารความรู้เผยแพร่ให้กับทุกชุมชนทุกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
6. ดำเนินการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความตระหนักร่วมของคนเชียงใหม่เรื่องผลกระทบจากฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศจัดกิจกรรมเชื่อมประสานระหว่างคนบนดอยคนในป่ากับในเมืองจัดกิจกรรมลดฝุ่นควันในเมืองการหยุดใช้รถยนต์เพื่อลดมลพิษ Car Free Day กิจกรรมเทศกาล Count Down ก่อนฤดูฝุ่นควัน ฯลฯ ทั้งนี้ทางเราผู้ดำเนินงานโครงการชุมชนดินน้ำป่าอากาศยั่งยืนพร้อมจะร่วมมือกับอบจ. ในการแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างต่อเนื่องให้เกิดผลระยะยาวเพื่อนำพาเชียงใหม่ให้เป็นเมืองน่าอยู่อากาศสะอาดยั่งยืน