เครือข่ายเกษตรฯเมืองอุบล เตรียมทำผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ หลังพืชอาหารถูกท่วมเสียหาย

เครือข่ายเกษตรฯเมืองอุบล เตรียมทำผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ หลังพืชอาหารถูกท่วมเสียหาย

 

“จากภัยธรรมชาติใน 2 ครั้งติดต่อกัน ทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรเตรียมไว้ได้หมดลง ไม่สามารถที่จะเพาะปลูกหลังน้ำลดได้ จึงต้องการขอบริจาคเมล็ดพันธุ์ข้าว ทั้งข้าวจ้าวและข้าวเหนียว รวมถึงเมล็ดพันธุ์ผักอื่นๆเพื่อให้มีข้าวมีอาหารกินบรรเทาความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นหลังจากน้ำลด”

นายศักดิ์สิทธิ์ บุญญบาล  เครือข่ายเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืนอุบลราชธานี กล่าวถึงผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นในรอบ 17 ปี จากสถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ภาคอีสาน และ จ.อุบลราชธานี หลังได้รับอิทธิพลของพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ” ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา

“น้ำท่วมอุบล62 ครั้งนี้ นับว่าเป็นอุทกภัยที่มีประสิทธิภาพในการทำลายหลายด้าน ทั้ง สถิติน้ำท่วมสูงในรอบ 17 ปี(นับจากปี 45) อาจมีระยะเวลาท่วมนานหลายเดือน ผู้ประสบภัยต้องอพยบหลายรอบ นับหมื่นครอบครัวต้องไร้บ้าน ผู้เดือดร้อนจำนวนมากต้องสิ้นเนื้อประดาตัว หลังน้ำลดคนจะจนลงด้วยไม่มีอาหาร ข้าวตาย พืชผักตาย นับว่ามีประสิทธิภาพในการยัดเยียดซ้ำเติมคนจนให้ย่ำแย่ลงกว่าเดิม”

โดยในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำเนื่องจากอยู่ปลายน้ำที่แม่น้ำสายหลัก ๆ ในภาคอีสาน ทั้ง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล ลำเซบก ลำเซบาย และลำโดมใหญ่ จะไหลมารวมกัน ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ต่อไป

ข้อมูลความเสียหาย เมื่อวันที่ 10 กันยายน 62 โดย ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี  เปิดเผยว่า  จากสถานการณ์อุทกภัยและน้ำล้นตลิ่งที่เกิดขึ้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่งผลให้ได้รับผลกระทบทั้ง 25 อำเภอ  จำนวน 159 ตำบล  1,141  หมู่บ้าน  ราษฎรได้รับความเดือดร้อน  32,306  ครัวเรือน  126,614  คน  พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย  23 อำเภอ 523,104 ไร่  ประมง 1,176.97  ไร่  ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 10 อำเภอ จำนวน  12,156 ตัว  สัตว์ปีก 39,985  ตัว

เครือข่ายเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืนอุบลราชธานี ซึ่งสมาชิกส่วนหนึ่งก็เป็นผู้ประสบอุทกภัยในครั้งนี้ จึงได้ประชุมหารือกัน เมื่อวันที่ 14 กันยายน 62 เพื่อวางแผนการรับมือหลังน้ำลด เพราะคาดการณ์ว่าอาจใช้เวลายาวนานนับเดือน ซึ่งจะมีผลต่อพื้นที่ทางการเกษตร ทั้งนาข้าว พืชผัก พืชเศรษฐกิจ อื่น ๆ ของเกษตรกรเนื่องจากถูกน้ำท่วมเป็นเวลานาน และก่อนหน้านี้ก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

“เมื่อเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน เป็นช่วงที่ชาวนาต้องปักดำ ไถหว่าน ปลูกข้าว แต่กลับไม่มีฝนตก ทำให้ต้นข้าวที่กำลังงอกได้เหี่ยวเฉาตายลง และได้ทำการปลูกใหม่อีกรอบในเดือน มิถุนายน – สิงหาคม ข้าวกำลังเติบโตงดงาม กลับต้องเผชิญกับพายุ ฝนตกไม่หยุดติดต่อกันนานถึง 5 วัน ทำให้เกิดน้ำท่วมเทือกสวนไร่นาในอุบลเป็นวงกว้างและมีระดับน้ำที่สูงกว่า 2 เมตร เป็นเวลานานนับเดือน ทำให้ต้นข้าวจมอยู่ใต้น้ำและเน่าเปื่อยตายเกือบทั้งหมด รวมถึงพืชผักต่าง ๆ ต้องตายลง ชาวนาเกิดความวิตกว่าอาจจะไม่มีข้าวกิน มีกินไม่เพียงพอหรือมีข้าวราคาแพง”

“เครือข่ายเกษตรอินทรีย์เพื่อความยั่งยืนอุบลราชธานีเองก็เป็นผู้ประสบภัยเช่นกัน ในขณะที่ลำบากได้มีหลายภาคส่วนเข้าช่วยเหลือ จากสิ่งนี้ ทำให้สมาชิกคิดวิเคราะห์สถานการณ์วิกฤติอาหารที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้าหลังน้ำลด จึงร่วมกันคิดว่าควรเตรียมแผนฟื้นฟูทั้งกลุ่มสมาชิกและชุมชนอื่น ๆ ที่ถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน จนพืชผักสวนครัวเปื่อยตายลง เล็งเห็นความจำเป็นที่ทุกครอบครัวควรมีพืชผักเป็นอาหารเพื่อลดค่าใช้จ่ายลง จึงคิดกิจกรรม”รวมพลคนอุบล ฟื้นฟูชุมชน สร้างสรรค์สังคม” โดยการเพาะกล้าพืชผักสวนครัวเพื่อแจกจ่ายให้แต่ละชุมชนนำไปปลูก จำนวนไม่ต่ำกว่า 2,562 ต้น

โดยจัดกิจกรรมในวันที่ 18 ก.ย.นี้เวลา 08.00 เป็นต้นไป ที่สวนลุงช้าง บ้านกระโสบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี จึงขอเรียนเชิญพี่น้องคนอุบลร่วมทำผ้าป่าต้นกล้าและร่วมเพาะปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อเตรียมแจกจ่ายให้กับชุมชนถูกน้ำท่วมในวันและเวลาดังกล่าว”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ