โดย สงกรานต์ สมจันทร์
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
พิณเปี๊ยะเป็นเครื่องดนตรีล้านนาชนิดหนึ่งที่ปัจจุบันมีการรื้อฟื้นและมีการเรียนการสอนกันอย่างแพร่หลายในฐานะเครื่องดนตรีที่เกือบสูญหายไปเมื่อราว ๕ ทศวรรษก่อน อย่างไรก็ตามงานศึกษาดนตรีภาคสนามของเจอรัลด์ ไดค์ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๐_๒๕๑๔ ก็ชี้ให้เห็นว่าพิณเปี๊ยะในช่วงเวลานั้นเกือบที่จะสูญหายไป บุคคลที่สามารถบรรเลงได้ก็เป็นเพียงคนแก่ไม่มีคน ดังนั้นเมื่อบทความของไดค์ถูกตีพิมพ์และมีนักวิชาการไทยได้อ่าน หรือแม้กระทั่งได้ยินเสียงบันทึกพิณเปี๊ยะของไดค์ที่บันทึกไว้ในต่างประเทศ ก็ทำให้เกิดความพยายามที่จะรื้อฟื้น สืบเสาะค้นหานักดีดพิณเปี๊ยะเพื่ออนุรักษ์ และในส่วนหนึ่งนั้นก็มีการพัฒนากลวิธีการในบรรเลงต่างๆ ให้สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน แม้กระทั่งการให้ความหมายใหม่ต่อเครื่องดนตรีชิ้นนี้ว่า เป็นภาพตัวแทนของความเป็นล้านนา ซึ่งการเกิดขึ้นของความหมายใหม่นี้เกิดขึ้นจากสภาพสังคมและชุมชนจินตกรรมอัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปรไปตามยุคสมัย อีกทั้งยังเพื่อตอบสนองปัจจัยทางสังคมต่างๆ โดยเฉพาะกระแสอนุรักษ์นิยมที่เกิดขึ้นในล้านนาเมื่อราว ๓ ทศวรรษก่อนหน้านี้ จนทำให้เกิดการศึกษาที่มีลักษณะแบบสารัตถะนิยมมากยิ่งขึ้นและเป็นที่แพร่หลายโดยทั่วไปในปัจจุบัน
พิณเปี๊ยะ เป็นเครื่องดนตรีที่เกิดเสียงโดยการดีด สำหรับเครื่องดีดในดนตรีล้านนานี้มีเพียงไม่กี่ชิ้น ได้แก่ ซึง พิณ และพิณเปี๊ยะ เอกสารทางประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นว่าเครื่องดีดทั้งสามนี้ในอดีตมีจุดมุ่งหมายในการบรรเลงเพื่อความบันเทิงหรือขับกล่อมในช่วงที่ล้านนายังเป็นอาณาจักรอิสระ ต่อมาภายหลังอันเนื่องมาจากเหตุผลทางการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น ทำให้เครื่องดนตรีบางชนิดได้หมดหน้าที่ไป เช่น พิณทรงฮาร์พ และไปตกค้างในกลุ่มชาติพันธุ์แทน เช่น พิณของชาวกระเหรี่ยง ที่มีลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกัน สำหรับซึงนั้นยังคงมีหน้าที่บรรเลงสืบต่อมา แต่เปลี่ยนชื่อจาก “ติ่ง” เป็น “ซึง” ตามอิทธิพลของภาษาพม่า ซึ่งเข้ามาเป็นชนชั้นนำในล้านนานับตั้งแต่ล้านนาถูกยึดเป็นรัฐบรรณาการของอังวะ นอกจากนี้ยังมีพิณเปี๊ยะที่ยังตกค้างมาถึงปัจจุบัน แต่เปลี่ยนบทบาทจากดนตรีบรรเลงขับกล่อมของชนชั้นสูงในสมัยราชวงศ์มาเป็นเครื่องดนตรีเพื่อความบันเทิงในการไป “แอ่วสาว” เช่นเดียวกับซึง สะล้อ และขลุ่ย วัฒนธรรมดังกล่าวนี้ส่งผลต่อการรวมวงดนตรีจากเครื่องดนตรีข้างต้นอย่างหลวมๆ. และก่อเกิดแบบแผนการรวมวงดนตรี “สะล้อ ซอ ซึง” ในปัจจุบัน
จากคำสัมภาษณ์ของนักดีดเปี๊ยะเมื่อ ๕ ทศวรรษก่อนที่สัมภาษณ์โดยเจอรัลด์ ไดค์ อาจารย์หนุ่มแห่งวิทยาลัยพระคริสตธรรมแมคกิลวารี ได้แสดงให้เห็นสภาพของสังคมล้านนาในตอนนั้นว่า เครื่องดนตรีชนิดนี้แทบจะไม่ปรากฏการบรรเลงอีกแล้ว แม้แต่ตัวของไดค์เองนั้นก็ไปพบเครื่องดนตรีนี้โดยบังเอิญที่ร้านขายของเก่า ดังนั้นการที่จะเริ่มต้นศึกษาเครื่องดนตรีที่เกือบจะสูญหายไปนี้ไม่ได้ง่ายเลย ไดค์ได้ตระเวนสำรวจนักดีดพิณเปี๊ยะตลอดช่วงเวลา ๔ ปีที่อยู่ในประเทศไทย พบเพียง ๘ คนที่สามารถดีดได้ และส่วนใหญ่เลิกเล่นเครื่องดนตรีชนิดนี้ไปนานแล้ว บุคคลที่ไดค์สัมภาษณ์ต่างให้ข้อมูลตรงกันว่า หลังจากพวกเขาใช้พิณเปี๊ยะในการ “แอ่วสาว” หรือจีบสาวตามหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อพวกเขาได้ภรรยาและแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่พวกเขาจะต้องเล่นเครื่องดนตรีนี้อีก เพราะว่าพิณเปี๊ยะที่ว่านี้ ย้อนกลับไป ๑๐๐ ปีก่อนนั้น เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแอ่วสาว จึงไม่ดีแน่หากพวกเขามีภรรยาแล้วจะนำกลับมาดีดอีก นั่นเป็นหน้าที่ของพิณเปี๊ยะในช่วงสมัยนั้น
เรื่องเล่าดังกล่าวนี้ ตรงกันกับบันทึกของชาวต่างชาติหลายคนที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนานิกายโปรแตสแตนท์ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นมานี้ พวกเขาได้เล่าถึงวัฒนธรรมการแอ่วสาวของชายหนุ่มชาวล้านนา ที่จะเริ่มต้นในยามดึกดื่นค่อนคืน ระหว่างการเดินทางไปเยี่ยมหญิงที่ตนหมายปองจะครองคู่นั้น พวกเขาก็นำเครื่องดนตรีที่ตนถนัดไปบรรเลงแก้เหงา มีการขับร้องที่เรียกว่า “ค่าว หรือจ๊อย” ไปด้วย มีเรื่องเล่าว่า หากฝ่ายหญิงเห็นผู้ชายที่มีความสามารถในการเล่นดนตรีนั้นก็มักได้รับเลือกให้ขึ้นไปคุยกันบนลานบ้านก่อนคนที่ไม่มีความสามารถในการเล่นดนตรี เรื่องนี้ดูคล้ายกันกับวัฒนธรรมวัยรุ่นปัจจุบันที่ดีดกีตาร์จีบสาวนั่นเอง
วัฒนธรรมการแอ่วสาวดูเหมือนว่าจะลดลงและหมดหน้าที่ไปตามลำดับ อันเนื่องมาจากปัจจัยความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทั้งการยกเลิกระบบการปกครองแบบเจ้าหลวง วัฒนธรรมความบันเทิงสมัยใหม่ที่เข้ามาสู่ล้านนามากขึ้น อีกทั้งการคมนาคมขนส่งที่พัฒนาขึ้นมาก จึงส่งผลให้วัฒนธรรมการแอ่วสาวนี้หมดหน้าที่ไป และส่งผลต่อพิณเปี๊ยะที่เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแอ่วสาวนี้ด้วย มีเรื่องเล่ากันว่า หากชายหนุ่มเล่นพิณเปี๊ยะได้ ฝ่ายหญิงจะพิจารณาเป็นพิเศษเนื่องจากเป็นเครื่องดนตรีที่มีความสวยงาม และบรรเลงได้ยาก และกล่าวกันว่าชื่อของเครื่องดนตรีนี้ก็มาจากคำว่า “เปี๊ยะ” ที่หมายถึง “การอวด” อันเป็นภาษาถิ่นของชาวล้านนานั่นเอง
การบรรเลงยากนี้ เป็นเพราะพิณเปี๊ยะนั้นมีวิธีการดีดเพื่อให้เกิดเสียงแตกต่างไปจากเครื่องดีดอื่นๆ คือ เป็นการ “ป็อก” บริเวณสายที่ขึงตึงจุดต่างๆ เพื่อให้เกิดเสียงฮาร์โมนิค หรือเสียงที่เป็นคู่ ๕ ตามสัดส่วนของความยาวสาย อันเป็นวิธีการเดียวกันกับระบบการตั้งเสียงไพธากอเรียนสเกลของดนตรีกรีกโบราณ และพัฒนาเป็นระบบเสียงดนตรีสากลในปัจจุบัน ส่วนสายอื่นๆ ที่มีประกอบก็ใช้นิ้วดีดตามปกติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลยสำหรับการฝึกหัดพิณเปี๊ยะ ดังคำกล่าวที่ว่า “สามเดือนเป๋นปี่ สามปี๋เป๋นเปี๊ยะ” อันหมายถึงการฝึกเป่าปี่ให้สามารถบรรเลงได้นั้นใช้เวลาเพียง ๓ เดือน ในขณะเดียวกันจะฝึกให้เล่นพิณเปี๊ยะได้ต้องใช้เวลายาวนานกว่าถึง ๓ ปี อีกทั้งเมื่อพิจารณาในแง่ของเทคนิควิทยาในการสร้างเครื่องดนตรีนั้น พิณเปี๊ยะจะมีหัวพิณที่หล่อด้วยโลหะสำริดเพื่อให้สายพาดผ่านในการก่อเกิดเสียง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งของที่หายากในอดีต เชื่อว่าน่าจะมีใช้เฉพาะชนชั้นนำเท่านั้น ก่อนความเจริญของบ้านเมืองที่ทำให้พิณเปี๊ยะเป็นที่แพร่หลายสู่สังคมชาวบ้านด้วย
ในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๑๐_๒๕๑๔ เจอรัลด์ ไดค์ นักมานุษยดนตรีวิทยาชาวอเมริกัน ได้เข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยพระคริสตธรรมแมคกิลวารี ซึ่งปัจจุบันเป็นวิทยาลัยหนึ่งของมหาวิทยาลัยพายัพ ในช่วงเวลาว่าง เขาได้สำรวจสภาพวัฒนธรรมดนตรีในช่วงดังกล่าว และการที่เขาได้เรียนวิชามานุษยดนตรีวิทยา (ethnomusicology) มาจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียนั้น มีส่วนให้การศึกษาดนตรีล้านนาของเขามีเครื่องมือในการศึกษาที่เป็นวิชาการมากยิ่งขึ้น เขาได้ศึกษาทั้งวงดนตรี เครื่องดนตรี ศิลปินในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย หนึ่งในเครื่องดนตรีที่เขาสนใจศึกษามากเป็นพิเศษคือ พิณเปี๊ยะ
ไดค์กล่าวว่า เขาได้พบพิณเปี๊ยะถูกแยกเป็นส่วนๆ จำหน่ายที่ร้านขายของเก่าในจังหวัดเชียงใหม่ เขาได้ซื้อส่วนต่างๆ นั้นและนำไปให้นักดนตรีล้านนาที่เขารู้จัก คือ นายทิพย์ เทพมงคล นักดนตรีวงปี่พาทย์ล้านนาวัดเชียงยืนดู ซึ่งนายทิพย์รู้จักและสามารถบรรเลงให้ไดค์ฟังได้ อีกทั้งยังเขายังเล่าให้ไดค์ฟังอีกว่า ปู่ของเขาก็เป็นนักดีดเปี๊ยะในคุ้มเจ้าหลวง และหากไดค์เดินทางมาพบเขาก่อนหน้านี้ ๖ เดือน ไดค์จะได้พบกับปู่ของเขา ซึ่งในช่วงเวลาที่ไดค์เดินทางเข้ามาถึงไทยนั้น ปู่ของนายทิพย์ได้เสียชีวิตไปแล้ว ไดค์มีความสนใจในเครื่องดนตรีนี้ตามลำดับเพราะหาคนดีดได้ยากมาก จนกระทั่งเขาได้พบนักดีดพิณเปี๊ยะชื่อลุงหมอก ชายตาบอดแห่งบ้านป่าป้อง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ไดค์ได้นำเรื่องราวของลุงหมอกจัดทำเป็นบทความร่วมกับนักดนตรีตาบอดอีก ๕ คนในชื่อบทความว่า “They Also Serve” หรือ “พวกเขาก็รักษาไว้เช่นกัน” อันเป็นบทความว่าด้วยศิลปินตาบอดที่เรียกว่า “วณิพก” เลี้ยงชีพด้วยการเล่นดนตรี สร้างความบันเทิงให้กับผู้คนแลกกับเงินเพียงเล็กๆ น้อย ในการดำรงชีวิต ซึ่งการศึกษาในแนวมานุษยวิทยาคนชายขอบเช่นนี้ในปัจจุบันยังคงเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย บทความดังกล่าวนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร “Sawaddi” ซึ่งเป็นนิตยสารรายสองเดือนของชมรมหญิงอเมริกันในประเทศไทย (American Woman’s Club of Thailand) ในปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ซึ่งเป็นเวลา ๑ ปีก่อนที่ไดค์จะกลับสหรัฐอเมริกา
ไดค์ไม่ได้หยุดความสนใจแต่เพียงเท่านี้ เขายังออกสำรวจไปจนพบนักดีดพิณเปี๊ยะที่บ้านบูชา ตำบลบ้านแป้น อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ที่นี่เขาพบนักดีดพิณเปี๊ยะจำนวน ๓ คน ได้แก่ นายตั๋น เขียวสวัสดิ์ นายบุญ และนายสุข สำหรับนายตั๋นนั้นเป็นนักดีดพิณเปี๊ยะคนแรกที่ไดค์ได้พบ ไดค์ได้ศึกษาวิธีการตั้งเสียงและการปรับแต่งเสียงพิณเปี๊ยะ สามเดือนต่อมาขณะที่ไดค์วางแผนจะเข้ามาเก็บข้อมูลอีกนั้น นายตั๋นได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชราด้วยวัย ๘๐ ปี ไดค์จึงได้ศึกษาเพิ่มเติมจากนายบุญและนายสุข ตลอดจนบันทึกเสียงและถ่ายภาพไว้เป็นจำนวนมากอีกด้วย จากการเก็บข้อมูลครั้งนี้ทำให้ไดค์ได้ยินเรื่องเล่าการห้ามดีดพิณเปี๊ยะว่าเป็นเพราะมีการนำพิณเปี๊ยะไปใช้เป็นอาวุธแทงกันในสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้าหลวงเชียงใหม่องค์ที่ ๗ และส่งผลต่อการ “ทำซ้ำ” เรื่องราวนี้ให้กลายเป็นสาเหตุที่ทำให้พิณเปี๊ยะเสื่อมความนิยมลงไป นอกเหนือไปจากการหมดหน้าที่ในการใช้เป็นเรื่องดนตรีแอ่วสาวอีกด้วย
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด มอร์ตัน ศาสตราจารย์ด้านมานุษยดนตรีวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิสได้เข้ามาบันทึกเสียงและถ่ายภาพวงดนตรีไทยเพิ่มเติมภายหลังจากที่เขาทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเกี่ยวกับดนตรีไทยเสร็จ เขาได้ติดต่อไดค์ในการบันทึกวีดีโอดนตรีล้านนาด้วยฟิล์มขนาด ๑๔ มิลลิเมตรที่เหลือจากการบันทึกที่กรุงเทพฯ โดยเขาและไดค์ได้ไปบันทึกวีดีโอการเล่นพิณเปี๊ยะสองคนในเพลงจกไหลที่บ้านแป้นด้วย ซึ่งเป็นวีดีโอการดีดพิณเปี๊ยะที่เก่าแก่ที่สุดที่ค้นพบในปัจจุบัน และเป็นหลักฐานสำหรับพัฒนาการทางกลวิธีการปฏิบัติพิณเปี๊ยะในช่วงสมัยนั้นด้วย อย่างไรก็ตามไดค์ก็ไม่ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับพิณเปี๊ยะอีกเลยจนกระทั่งเดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ แต่เขาได้นำข้อมูลดนตรีที่เก็บจากภาคสนามนั้นกลับไปประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย
ไดค์เดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาวิชาดนตรีศึกษาจากโรงเรียนของ Carl Orff แล้ว ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ ไดค์ได้รับตำแหน่งรองศาสตราจารย์สาขาดนตรี ณ วิทยาลัยบลัฟตัน รัฐโอไฮโอ ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยบลัฟตัน (Bluffton University) เขาได้เริ่มเปิดวิชาดนตรีเอเชีย และในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ศาสตราจารย์ ดร.เดวิด มอร์ตัน ได้ชักชวนไดค์เขียนบทความดนตรีเพื่อตีพิมพ์ในรายงานคัดสรรค์ทางมานุษยดนตรีวิทยา (Selected Report in Ethnomusicology) ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสเองเจลิสซึ่งมีเขาเป็นบรรณาธิการ ได้ตีพิมพ์บทความถึง ๓ เรื่องในหนังสือดังกล่าว ได้แก่ การสร้างกลองแอวของนายน้อย นาคำปัน พวกเขาก็รักษาเช่นกัน (ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมจากที่ตีพิมพ์ในนิตยสารสวัสดี) และบทความเรื่อง พิณเปี๊ยะที่กำลังจะสูญหายไป (The Vanishing Pin Pia) ซึ่งนำเสนอเรื่องราวทางดนตรีภาคสนามที่เขาเก็บข้อมูลสอดแทรกกับภาพถ่ายจำนวนหลายภาพ
The Vanishing Pin Pia เป็นบทความทางวิชาการชิ้นแรกที่ศึกษาพิณเปี๊ยะด้วยวิธีการทางมานุษยดนตรีวิทยา ทั้งในด้านการอธิบายลักษณะทางกายภาพของเครื่องดนตรี การจัดหมวดหมู่ของพิณเปี๊ยะให้เป็นไปตามการจัดกลุ่มเครื่องดนตรีของซาร์ค_ฮอร์นบอสเทล (Sach-Honbostel Musical Instrument Classification) การศึกษาประวัติศาสตร์และพัฒนาการของพิณเปี๊ยะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์เท่าที่ค้นพบได้ในช่วงสมัยนั้น ตลอดจนเน้นหนักไปที่งานดนตรีภาคสนามที่เขาลงพื้นที่อันเป็นเสน่ห์ของการศึกษาแบบชาติพันธุ์วรรรณา อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นงานศึกษาพิณเปี๊ยะชิ้นแรก ไดค์ยังไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับโน้ตเพลงหรือลักษณะเฉพาะทางดนตรีที่เกิดขึ้นมากนัก อีกทั้งมุ่งนำเสนอภาพและสิ่งที่กฎในช่วงเวลาที่เขาเก็บข้อมูล หรือที่เขากล่าวว่าเป็นภาพเล่าเรื่อง (Photos Story) อย่างไรก็ตาม บทความชิ้นนี้นี่เองที่เป็นต้นเค้าให้นักวิชาการดนตรีไทยรุ่นหลังได้ลงพื้นที่ศึกษาพิณเปี๊ยะอย่างจริงจัง อันนำมาสู่การรื้อฟื้นพิณเปี๊ยะในเวลาต่อมา
ประสิทธิ์ เลียวศิริพงษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ซึ่งเกษียณอายุราชการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในบุคคลที่ได้รับอิทธิพลจากงานเขียนของไดค์ข้างต้น ประสิทธิ์กล่าวถึงแรงบันดาลใจจากบทความของไดค์ว่า ขณะนั้นประสิทธิ์ยังศึกษาระดับปริญญาโทสาขาดนตรีวิทยา ณ มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปินส์ เขาได้มีโอกาสได้อ่านวารสารดังกล่าวและบทความเรื่องพิณเปี๊ยะด้วย ช่วงสุดท้ายของบทความเป็นงานศพของนายตั๋น เขียวสวัสดิ์ และภาพสุดท้ายที่ปรากฏในบทความนั้นเป็นภาพ…ของนายตั๋นกำลังดีดพิณเปี๊ยะ ทำให้เขาสะเทือนใจอย่างมากว่า พิณเปี๊ยะกำลังจะสูญหายไป ภายหลังสำเร็จการศึกษา ประสิทธิ์ได้ร่วมกันกับศิลปินและนักวิชาการล้านนาอีกหลายคนในการค้นหานักดีดพิณเปี๊ยะที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในราวทศวรรษ ๒๕๒๐_๒๕๓๐ ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดการรื้อฟื้นพิณเปี๊ยะมากขึ้นในปัจจุบัน เช่น ถวัลย์ ดัชนี ซึ่งได้ยินเสียงพิณเปี๊ยะครั้งแรกที่ประเทศเดนมาร์ก สุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์แห่งวิทยาลัยครูเชียงรายในสมัยนั้น ณรงค์ สมิทธิธรรมแห่งมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ยงยุทธ ธีรศิลป์, วิเทพ กันธิมา และรักเกียรติ ปัญญายศจากวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ หรือแม้กระทั่งศิลปินล้านนา จรัล มโนเพ็ชร์ ผู้ซึ่งได้นำพิณเปี๊ยะและกลิ่นอายของความเป็นล้านนาไปเผยแพร่อย่างวงกว้าง
อย่างไรก็ตามภายในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันนี้ ได้มีบทความพิณเปี๊ยะเป็นภาษาไทยชิ้นแรกซึ่งพิมพ์รวมกันกับการละเล่นของเด็กล้านนาไทย ของสุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ งานของสุรสิงห์สำรวมยังคงเป็นการศึกษาอย่างชาติพันธุ์วรรณาเกี่ยวกับพิณเปี๊ยะ และกล่าวได้ว่าสุรสิงห์เองได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องพิณเปี๊ยะส่วนหนึ่งมาจากไดค์ด้วย ดังที่เขากล่าวในบทความว่า หากไดค์ได้ตีพิมพ์เรื่องพิณเปี๊ยะที่เขาได้ศึกษาไว้จะมีประโยชน์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามสุรสิงห์เข้าใจว่าไดค์ศึกษาพิณเปี๊ยะเพราะใช้ทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไดค์สนใจศึกษาเพราะเป็นนักมานุษยดนตรีวิทยาอยู่แล้ว เกี่ยวกับเรื่องนี้นั้นก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ไดค์เดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกา เพราะถูกกล่าวหาว่าใช้นักศึกษาเป็นเครื่องมือในการทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก
งานของสุรสิงห์สำรวมชิ้นนี้ได้พยายามศึกษาความเป็นมาของพิณเปี๊ยะ ตลอดจนศึกษาข้ามไปยังวิชาคติชนวิทยาในด้านนิทานหรือเรื่อเล่าของพิณเปี๊ยะในยุคสมัยดังกล่าว อย่างไรก็ตามก็ชี้ให้เห็นว่า พิณเปี๊ยะในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ ก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะสูญหายไป อย่างไรก็ตาม สุรสิงห์สำรวมได้ให้ฉายาพิณเปี๊ยะว่า “เครื่องดนตรีจากดวงใจ” อันเนื่องมาจากระเบียบจริยาในการปฏิบัติที่ต้องดีดและนำกะลาควบบริเวณหัวใจเยื้องมาด้านซ้าย และได้กลายเป็นภาพจำหนึ่งของพิณเปี๊ยะในฐานะเครื่องดนตรีที่เล่นเพลงออกมาด้วยหัวใจอีกด้วย
นับตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น ทำให้เกิดความตระหนักในการศึกษาศิลปวัฒนธรรมและกระจายตัวเป็นวงกว้างนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา ซึ่งวิทยาลัยครูอันเป็นสถาบันการศึกษาผลิตครูในภูมิภาคต่างๆ ได้รับนโยบายให้ก่อตั้ง “ศูนย์วัฒนธรรมประจำจังหวัด” มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าวิจัยองค์ความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่น ซึ่งหมายรวมถึงศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ ด้วย
ผลงานสำคัญของศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่ที่เริ่มต้นนับตั้งแต่การก่อตั้งศูนย์ คือ การจัดประชุมทางวิชาการล้านนาคดีศึกษา อันเป็นการรวมกลุ่มนักวิชาการที่มีความสนใจทั้งด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศิลปวัฒนธรรมล้านนา นำโดยอาจารย์ไกรศรี นิมมานเหมินท์. คหบดีชาวเชียงใหม่ที่สนใจในด้านนี้มายาวนาน การจัดประชุมทางวิชาการล้านนาคดีศึกษาดังกล่าวนั้นได้แยกหัวข้อเป็นครั้งๆ ครอบคลุมทุกประเด็นหัวข้อทางการศึกษาศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นทุกแขนง และหนึ่งในหัวข้อประชุม คือ ดนตรีและการแสดงพื้นบ้านล้านนา ซึ่งจัดประชุมขึ้นเมื่อวันที่ ๙_๑๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๔ ซึ่งมีบทความการศึกษาเรื่องพิณเปี๊ยะจาก ๒ นักวิชาการสำคัญที่ร่วมรื้อฟื้นพิณเปี๊ยะในขณะนั้น คือ สุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์ และประสิทธิ์ เลียวสิริพงษ์
บทความชิ้นแรก คือ “การเล่นพิณเปี๊ยะ การส่งดนตรีจากดวงใจ” ของสุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์ เป็นบทความปรับปรุงจากงานที่เคยเผยแพร่ในหนังสือ “การละเล่นพื้นบ้านล้านนา” ของเขาเมื่อ ๔ ปีก่อนหน้านี้ ส่วนบทความที่สองคือ “พิณเปี๊ยะ เด็งพันเมาแห่งล้านนาไทย” ของประสิทธิ์ เลียวสิริพงษ์ ซึ่งขณะนั้นเขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทและได้ออกค้นหานักดีดพิณเปี๊ยะแล้ว โดยคำว่า “เด็งพันเมา” นี้เป็นคำที่ประสิทธิ์นำมาจากพ่อครูแปง โนจา นักดีดพิณเปี๊ยะชาวลำพูนที่อพยพไปมีครอบครัวที่จังหวัดเชียงราย พ่ออุ๊ยแปงได้ทำให้ประสิทธิ์เรียนรู้วิธีการดีดตลอดจนเรื่องเล่าต่างๆ ของพิณเปี๊ยะ
สำหรับบทความแรกของสุรสิงห์สำรวม ฉิมพะเนาว์นั้น ได้นำเสนอเกี่ยวกับข้อมูลของพิณเปี๊ยะในเชิงชาติพันธุ์วรรณา (ethnography) โดยใช้ข้อมูลจากบทความเรื่อง They also serve ของไดค์ก่อนหน้านี้เป็นต้นแบบ งานของสุรสิงห์สำรวมยังได้สอดแทรกประวัติในเชิงพัฒนาการของพิณเปี๊ยะ เรื่องเล่าทางคติชนวิทยาที่สุรสิงห์ได้สำรวจจากงานภาคสนามก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ยังพยายามค้นหานักดีดพิณเปี๊ยะหลังจากที่ไดค์ได้สำรวจก่อนหน้านี้ ซึ่งนำไปสู่การอธิบายในเชิงดนตรีวิทยาเชิงระบบด้วย ทั้งเรื่องของระบบเสียงพิณเปี๊ยะและวิธีการดีด ตลอดจนบทเพลงในสมัยนั้น ซึ่งในบทความที่รวมเล่มในงานประชุมวิชาการนี้สุรสิงห์สำรวมได้เพิ่มเติมจากงานศึกษาของเขาก่อนหน้านี้ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น ซึ่งเขาได้กล่าวในบทสรุปของบทความว่า ควรมีการเผยแพร่งานวิจัยปริญญาเอกของไดค์เกี่ยวกับพิณเปี๊ยะด้วย ซึ่งเข้าใจว่าเป็นความเข้าใจผิดของสุรสิงห์สำรวม เนื่องจากไดค์ก่อนหน้านี้ถูกกล่าวหาว่าใช้นักศึกษาวิทยาลัยพระคริสต์ธรรมเป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ไดค์ตัดสินใจกลับสหรัฐอเมริกา
บทความที่สองในงานประชุมวิชาการดังกล่าว เป็นบทความของประสิทธิ์ เลียวสิริพงษ์ เขาได้รับแรงบันดาลใจจากงานของไดค์เช่นกัน โชคดีที่ประสิทธิ์ได้พบกับนักดีดพิณเปี๊ยะที่เชียงราย นั่นคือพ่ออุ๊ยแปง โนจา ชาวลำพูนที่ย้ายครอบครัวมาตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งยังสามารถอธิบายวิธีการบรรเลงตลอดจนเทคนิคของพิณเปี๊ยะให้ประสิทธิ์ฟังได้ จุดเด่นของบทความของประสิทธิ์คือมีการกล่าวถึงเปี๊ยะในเชิงดนตรี เทียบเคียงกับทฤษฎีการตั้งเสียงของดนตรีตะวันตก ซึ่งพบว่าระบบเสียงพิณเปี๊ยะนั้นเป็นระบบเสียงเดียวกันกับระบบไพธากอเรียนสเกล อันเป็นต้นเค้าของการตั้งเสียงในดนตรีตะวันตกสืบต่อมา อย่างไรก็ตามหลังจากการตีพิมพ์สองบทความนี้ก็เริ่มมีคนสนใจศึกษาพิณเปี๊ยะมากยิ่งขึ้น ทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง บทความของประสิทธิ์ยังกล่าวถึงคำกล่าวในความยากของการฝึกหัดพิณเปี๊ยะ คือ “สามเดือนเป๋นปี่ สามปีเป๋นเปี๊ยะ” เนื่องจากใช้วิธีการดีดที่แตกต่างไปจากเครื่องดีดอื่นๆ นั่นคือวิธีการ “ป็อก” ให้เกิดเสียงตามจุดต่างๆ ของสายที่ขึงตึง นอกจากนี้ยังมีการเปรียบเทียบเสียงของพิณเปี๊ยะว่า “เด็งพันเมา” หมายถึง “เสียงระฆังที่ชวนให้หลงใหลในฉับพลัน” ซึ่งเป็นคำกล่าวของพ่อครูแปง โนจา อีกด้วย