(23 พฤษภาคม 2562) ณ ที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด มีการจัดเวทีเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอรายละเอียดโครงการขอบเขตการศึกษาและประเมินโครงการโรงงานไฟฟ้าชีวมวล(ชานอ้อย) ขนาด 80 เมกะวัตต์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ โดยก่อนหน้านี้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างโครงการโรงงานน้ำตาลขนาด 24,000 ตันอ้อย/วัน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และในการร่วมแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและกลุ่มองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ อ.ปทุมรัตต์ อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด และ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม มีประกาศแถลงการณ์เพื่อแสดงความคิดเห็นต่อโครงการ เนื่องจากกังวลว่าการดำเนินแผนอุตสาหกรรมดังกล่าว ว่าอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และวิถีชีวิตของคนในชุมชน
แถลงการณ์ฉบับที่ 1
หยุดโรงงานน้ำตาลและโรงงานไฟฟ้าชีวมวล(ชานอ้อย)ปกป้องนครหลวงข้าวหอมมะลิโลก
พวกเราชาวบ้านจากกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นรัศมี 5 กม. ประกอบด้วย 7 ตำบล 3 อำเภอ 2 จังหวัด ซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ที่จะเกิดขึ้นในพื้นของเรา ขอประกาศและแสดงจุดยืนว่าเราไม่ต้องการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย) ด้วยเหตุผลดังนี้
คุณค่าของพื้นที่
- พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ข้าวหอมมะลิได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI)
- พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของจังหวัดร้อยเอ็ดที่ส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิ
- พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เกษตรกรสามารถพัฒนาการเกษตรและผลิตข้าวหอมมะลิแบบอินทรีย์ จนได้รับการรับรองประกาศนียบัตรข้าวอินทรีย์ สามารถส่งออกไปยัง ยุโรป อเมริกา และญี่ปุ่น และเป็น คลัสเตอร์ ให้กับชาวนาอีก 22 จังหวัดที่ส่งออกข้าวอินทรีย์ไปต่างประเทศ
- พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ผลิตอาหารอินทรีย์ โดยเฉาะกลุ่มนาแปลงใหญ่ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งได้ทำมานานแล้ว
- พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหม ที่มีเสียงระดับชาติและเป็นสินค้า OTOP
- พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเลี้ยงวัว ควาย โดยอาศัยหญ้าและแหล่งน้ำตามธรรมชาติซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิม และเป็นธนาคารของคนจน
- พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น ป่าชุมชน ป่าโคก ป่าหัวไร่ปลายนา มีห้วย หนอง คลอง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารตามธรรมชาติของชุมชน เช่น เห็ดอย่างน้อย 24 ชนิด ปู ปลา ไข่มดแดง ฯลฯ อาหารจากธรรมชาติยังเป็นแหล่งรายได้เสริมของชาวบ้านในชุมชน นอกจากนั้นยังมีสมุนไพรหลากหลายชนิด
- พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์และบูรณาการในชีวิตประจำวัน จนได้รับรางวัลการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในระดับจังหวัดร้อยเอ็ด และเป็นตัวแทนระดับจังหวัด 2 ปี ติดต่อกัน
- พื้นที่ตำบลโนนสวรรค์ได้รับการสนับสนุนให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ โคก หนอง นา โมเดล ซึ่งเป็นต้นแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙
ความไม่ชอบธรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเรา
- ความไม่ชอบธรรมในการจัดเวที ค.1 เมื่อวันที่ 28 เดือนสิงหาคม 2561 จนชาวบ้านร้องเรียนทำให้มีการตกลงกัน 3 ฝ่าย คือ ราชการ บริษัท และชาวบ้าน ให้ยกเลิกผลการจัดเวที แต่บริษัทไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยได้จัดเวทีขึ้นมาอีก
- สถานที่ในการจัดเวที ค.1 โรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล(ชานอ้อย) ไม่เป็นไปตามข้อตกลงของที่ประชุม 3 ฝ่าย เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2562 ที่กำหนดให้จัดเวทีในพื้นที่รัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงงาน
- การจัดเวที ค.1 โรงงานน้ำตาลเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2562 ไม่เป็นธรรม ในเรื่องของ ผู้ที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นคนนอกพื้นที่ ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คนนอกพื้นที่ได้เวลาในการเสนอคิดเห็นมากกว่าพวกเราที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อีกทั้งยังมีการแจกจ่ายเงินให้กับคนที่เข้าร่วม ซึ่งเท่ากับเป็นการจูงใจ ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการทำลายประชาธิปไตยในระดับฐานราก
- การจัดเวทีที่ผ่านมาอาจเป็นการกระทำที่ขัดกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 และประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวที่ต้องการให้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ร้องเรียนถึงความไม่ชอบธรรม หลายครั้ง ทั้งในระดับจังหวัดและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ปรากฏว่าไม่มีการพิจารณาข้อเรียกร้องใด ๆ อีกทั้งยังปล่อยให้บริษัทที่ปรึกษาที่เคยจัดเวทีที่ขัดกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาจัดต่อ
ด้วยเหตุผลดังกล่าว พวกเราชาวบ้านในรัศมี 5 กม. จึงขอประกาศว่า
- เราจะไม่ยอมรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และการจัดทำ EIA ทั้งที่ผ่านมาทั้งหมดและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- เราขอประกาศจุดยืนไม่ต้องการให้มีการสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงงานไฟฟ้าชีวมวล (ชานอ้อย)
- เราขอยืนหยัดปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิพลเมืองในการกำหนดอนาคตตนเอง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของรัฐ สิทธิทางเศรษฐกิจที่จะมีวิถีการผลิตทางเศรษฐกิจของตนเอง และสิทธิในการมีชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ดี และพวกเราจะปกป้องทุ่งกุลาและสิทธิของพวกเราไม่ให้ถูกละเมิดจนถึงที่สุด
ประกาศ ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2562
กลุ่มชาวนาทุ่งกุลา
กลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ตำบลโนนสวรรค์
กลุ่มผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ตำบลสระบัว
กลุ่มนาแปลงใหญ่ตำบลโนนสวรรค์
กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตำบลโนสวรรค์
กลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหมตำบลสระบัว
กลุ่มทอผ้าไหมลายสก๊อต บ้านบักตู้
กลุ่มเลี้ยงโคขุน บ้านฮ่องแฮ่
กลุ่มอนุรักษ์ป่า บ้านน้ำคำ
เครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์