การเกิดขึ้นของ Safety Zone พื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่นควัน ในช่วงวิกฤตฝุ่นความปี 2562 เป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งเมื่อมองถึงความรุนแรงของปัญหาที่แหล่งกำเนิดควันมาจากหลายพื้นที่ในภูมิภาคอาเซียน และรายละเอียดของแหล่งกำเนิด ทั้งไฟในเขตป่า พื้นที่เกษตร และเขตเมือง สะท้อนถึงสถานะของปัญหาซับซ้อนและยากที่แก้ไขให้ลดลงไปในระยะเวลาสั้น ดังนั้นการรับมือกับสถานการณ์ในระยะเผชิญเหตุของคนทั่วไป คือการปรับพฤติกรรมตัวเองด้วยการใส่หน้ากาก และการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานให้ประชาชน เช่นการเกิด “ห้องหลบฝุ่นชุมชน” Safety Zone พื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่นควัน จึงเป็นเรื่องจำเป็น
30 มีนาคม 2562 Safety Zone พื้นที่ปลอดภัยจากฝุ่นควัน แห่งแรกเกิดขึ้น ที่ศูนย์เอสเอ็มอี ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ที่จุคนได้นับ 1000 คน และพัฒนาระบบการหมุนเวียนของอากาศ การติดตั้งเครื่องกรองอากาศเพิ่ม และกำหนดแนวปฏิบัติการใช้งานล้วนเป็นเรื่องใหม่ ที่ทำไปปรับไปและเรียนรู้ไป แต่ทั้งนี้ ก็ยังไม่อาจจะรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกระจายทั้วภูมิภาค Safety Zone ระดับย่อยจึงมีความจำเป็น แต่โจทย์ใหญ่อีกข้อคือ “เครื่องกรองอากาศขาดตลาด” แม้จะมีไอเดียสุดเจ๋งจากทีมวิศวกรอาสา ที่เสนอ “เครื่องกรองอากาศ DIY ราคาประหยัด” ที่ผลิตจากไส้กรอง และพัดลมดูดอากาศ แต่อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องก็ขาดตลาดเช่นกัน ระหว่างนี้ มีความพยายามทุกช่องทางที่จะทั้งขอรับบริจาคเครื่องกรองอากาศมือ 2 การดีลของจากต่างประเทศ รวมไปถึงดัดแปลงอุปกรณ์อื่นเพื่อให้เกิดเครื่องกรองอากาศช่วยลดค่า PM2.5 ในห้องให้ไม่เกินค่ามาตรฐาน
ขณะรอการบริหารจัดการของที่ยังขาดตลาด มีความพยายามสร้างฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ที่ต้องเกิด Safety Zone
นายแพทย์ธรณี กายี ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และหัวหน้าหน่วยการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า การเกิด Safety Zone ครั้งนี้เป็นโจทย์ร่วมในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งสายสาธารณะสุข ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย และท้องถิ่น โดยผู้ดูแลหลักคือป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขณะที่งานด้านสุขภาพของประชาชนทีมสาธารณสุขได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ให้วางแผนด้านความปลอดภัยในสุขภาพของประชาชน ซึ่ง Safety Zone ที่ให้บริการประชาชนทั่วไปด้วย ซึ่งที่จัดทำขึ้นที่ศูนย์ SME ทำเป็นตัวอย่าง หลักการคือ ทุกตำบลสามารถทำได้ อย่างน้อย 1 ตำบล 1 Safety Zone จะอยู่ในสังกัดใดก็ได้ ท้องถิ่น รพสต. วัด. โรงเรียน ที่มีความพร้อมให้บริการประชาชน
ความพร้อมที่ว่าคือ มีสถานที่เช่นห้องปิด มีเครื่องปรับอากาศ สามารถรองรับคนได้ บางจุดอาจไม่มีเครื่องปรับอากาศก็จะได้ดัดแปลงแก้ไข ในเบื้องต้นที่ทีมพิจารณาจากข้อมูลที่ส่งมาเห็นว่า ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลน่าจะเหมาะสมเพราะมีการออกแบบรองรับคนไว้ และเมื่อประชาชนใช้บริการแล้วมีปัญหาด้านสุขภาพต่อเนื่องก็จะดูแลรักษาได้ ซึ่งขณะนี้ได้ประสานของข้อมูลด้านการภาพและการจัดการจากส่วนที่เกี่ยวข้องไว้ มีรายงานเข้ามาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่งแล้ว
ด้านวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อพิจารณาเลือกพื้นที่ในการสร้าง Safety Zone นายแพทย์ธรณีกล่าวว่าเนื่องจากขณะนี้ของมีจำกัด มีความจำเป็นต้องพิจารณาพื้นที่เร่งด่วน โดยการมีทีมฐานข้อมูลที่ทีมวิศวกรอาสา OASYS (Optimization theory and Applications for *-SYStems) และทีม C-Site ThaiPBS ร่วมกันจัดทำขึ้นเป็นระบบแผนที่ ทำให้ง่ายต่อการนำปัจจัยอื่นเข้าร่วมพิจารณา
โดยได้นำ พิกัดที่ตั้งของ รพสต.เป็นหลัก จากนั้นนำค่า PM 2.5 ช่วงเวลา 7 วันต่อเนื่องในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม จากแอพพลิเคชั่น cmaqhi.org https://www.cmaqhi.org/ ที่มีการติดตั้งรายตำบล มาพิจารณาร่วมกับข้อมูล จำนวนผู้ป่วยสะสมกลุ่มโรคหัวใจ หลอดเลือด ปอด ในรายอำเภอจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่คำนวนร่วม เพื่อจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนของพื้นที่ส่งต่อให้ทีมวิศวกรอาสาได้ลงพื้นที่เพื่อปรับห้อง เสริมเครื่องกรองได้ทันทีเมื่อมีเครื่องกรอง
ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า จะใช้จุดตัด ค่า PM 2.5 ที่ตรวจวัดจากเครื่อง cmaqhi.org ในระยะ 7 วันของปลายเดือนมีนาคม ที่มีค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเป็นสีม่วง คือเกิน 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยปัจจุบันมีเครื่องตรวจวัดทั้งสิ้น 21 อำเภอ อย่างไรก็ตามในอีก 4 อำเภอก็ยึดค่า PM 2.5 เกิน 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเป็นค่าคำนวณเช่นกัน สำหรับจำนวนผู้ป่วยสะสมในโรคกลุ่มเสี่ยงนำมาพิจารณาร่วมโดยจุดตัดอยู่ที่จำนวนรวมของผู้ป่วยที่สูงกว่า 5,000 คนในอำเภอนั้นๆ
โดยหลังจากทีมการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันพบว่า
1.กลุ่มที่มีค่าPM2.5 มากกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบว่า
1.1 อำเภอที่มีฐานผู้ป่วยสะสมในกลุ่มโรคเกี่ยวเนื่องมากกว่า 5,000 คน คือ อำเภอแม่แตง สันป่าตอง แม่ริม และสันทราย
1.2.อำเภอที่มีฐานผู้ป่วยสะสมในกลุ่มโรคเกี่ยวเนื่อง3,000 – 5,000 คนคืออำเภอแม่แจ่ม ฮอด อมก๋อย พร้าว เชียงดาว ดอยสะเก็ต สันกำแพง
1.3.อำเภอที่มีฐานผู้ป่วยสะสมในกลุ่มโรคเกี่ยวเนื่องน้อยกว่า 3,000 คนคืออำเภอเวียงแหง สะเมิง แม่ออน ดอยเต่า
2.กลุ่มที่มีค่าPM2.5 น้อยกว่า 150 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร พบว่า
2.1 อำเภอที่มีฐานผู้ป่วยสะสมในกลุ่มโรคเกี่ยวเนื่องมากกว่า 5,000 คน คือ อำเภอเมือง หางดง ฝาง
2.2 อำเภอที่มีฐานผู้ป่วยสะสมในกลุ่มโรคเกี่ยวเนื่องมากกว่า 3,000 – 5,000 คน คืออำเภอสารภี ชัยปราการ แม่อาย
2.3 อำเภอที่มีฐานผู้ป่วยสะสมในกลุ่มโรคเกี่ยวเนื่องน้อยกว่า 3,000 คืออ.แม่วาง ดอยหล่อ จอมทอง กัลยาณิวัฒนา
อย่างไรก็ตามในการประเมินการจัดทำ Safety Zone ก็นำปัจจัยพิจารณาจากพื้นที่ที่เกิด Hotspot สะสมต่อเนื่องและความพร้อมของสถานที่ร่วมด้วย
ผศ.ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวว่า ทันทีที่มีเครื่องกรองอากาศ หรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องมา ทีมวิศวะอาสาจะสามารถเซ็ททีมเพื่อไปจัดระบบอากาศภายในห้องเป้าหมายที่เตรียมไว้ และจัดเครื่องกรองอากาศเข้าไปให้เกิด Safety Zone ขึ้น อย่างไรก็ตามให้ความรู้ และให้เกิดกิจกรรมภายในห้องเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้เข้ามาทำความเข้าใจ ดูแลสุขภาพของตนเองเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องดำเนินการควบคู่กับไปด้วย ตลอดจนถึงแนวปฏิบัติและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นใน Safety Zone
ทั้งนี้นอกจากจุดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแล้ว ในแต่ละท้องถิ่นอำเภอ. โดยองค์การบริหารส่วนตำบลหลายแห่ง ก็มีการปรับปรุงห้องประชุมให้เป็นพื้นที่ Safety Zone ที่อยู่ในการดูแลของท้องถิ่นเช่นกัน ขณะเดียวกัน ได้มีกลุ่มประชาชนที่ช่วยเหลือประชาชนด้วยกันและสามารถทำเครื่องกรองอากาศราคาประหยัด มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการปรับระบบอากาศภายในห้อง ได้เริ่มมีการเข้าไปทำ Safety Zone ให้กับหลายพื้นที่แล้ว เช่น ทีมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทีม Clean Air For All โดยเข้าไปในกลุ่มเสี่ยงเช่นศูนย์เด็กเล็ก และชุมชน โดยมีการให้ความรู้ในการป้องกันตัวเองด้วย
ในด้านการสนับสนุนข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ และนำเสนอครั้งนี้ มีทีมวิศวกรอาสา OASYS (Optimization theory and Applications for *-SYStems) นักวิจัยที่สนใจระบบดาต้าเซนเตอร์ และคลาวด์ คอมพิวติ้ง จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาอาสาทำงานด้านระบบฐานข้อมูล และทีม CSite ThaiPBS ที่มี Platform เก็บข้อมูลและนำเสนอผ่านแอพพลิเคชั่น ก็มาร่วมเติมเต็มข้อมูลการเกิดขึ้นของ ห้องหลบฝุ่นชุมชนนำเสนอผ่านแอพพลิเคชั่น C Site ของ ThaiPBS เพื่อบริการการสื่อสารสาธารณะรูปแบบใหม่ นอกเหนือจากข่าวต่างๆ เพื่อให้บริการประชาชนรับทราบข้อมูล Safety Zone ที่มี เพื่อสามารถเข้าใช้บริการ หรือจุดใดที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็สามารถร่วมกันทำให้เกิดขึ้นได้ในอนาคต
ซึ่งในบ่ายวันที่ 9 เมษายน 2562 ตัวแทนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่เป้าหมาย 51. แห่งแรก ได้มาที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์แก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับทราบแนวทางการปรับปรุงห้องเบื้องต้นจากทีมแพทย์และทีมวิศวกรอาสาพร้อมรับเครื่องลงพื้นที่ โดยพื้นที่เป้าหมายที่จะสร้างSafetyZone ชุดแรกคือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลใน อ.แม่แตง 11 แห่ง อ.สันป่าตอง 10 แห่ง แม่ริม 9 แห่ง สันทราย 10 แห่ง เชียงดาว 5 แห่ง เวียงแหง 1 แห่ง พร้าว 1 แห่ง และ สถาบันเด็กราชนครินทร์ 1 แห่ง โดยรับมอบเครื่องบริจาคจากผู้สนับสนุนผ่านไทยพีบีเอส 25 เครื่อง และวปอ 26 เครื่อง
อย่างไรก็ตามเป้าหมายการกระจายให้เกิดSafety Zone ในจังหวัดเชียงใหม่มีกว่า 300 จุด จึงยังต้องการรับการสนับสนุนเครื่องกรองอากาศและอุปกรณ์เกี่ยวข้องอยู่เป็นจำนวนมาก ติดต่อได้ที่ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาหมอกควัน จ.เชียงใหม่